happy on January 07, 2018, 05:10:51 PM

ชื่อภาพยนตร์:    DARKEST HOUR
ชื่อไทย:           ชั่วโมงพลิกโลก
วันที่เข้าฉาย:     11 มกราคม 2561
จัดจำหน่าย:      บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์) จำกัด


                                    นักแสดง

วินสตัน เชอร์ชิลล์……………..………………………..…………..……………………….แกรี โอลด์แมน

เคลมมี เชอร์ชิลล์…….…………………………………………..………………คริสติน สกอตต์ โทมัส

อลิซาเบธ เลย์ตัน…………………….……………………………………………….……………ลิลี เจมส์

ไวเคานต์ฮาลิแฟกซ์……….……………………………………...……………………….....สตีเฟน ดิลเลน

เนวิลล์ เชมเบอร์เลน………………………………………..…………………...............โรนัลด์ พิกอัพ

พระเจ้าจอร์จที่หก…………………………………………………………….…...............เบน เมนเดลซอห์น


                                          ผู้สร้าง

กำกับโดย…………………..…………………………………….………………………………โจ ไรท์

อำนวยการสร้างโดย...ทิม เบแวน, เอริก เฟลล์เนอร์, ลิซา บรูซ, แอนโทนี แม็คคาร์เทน, ดักลาส เออร์เบินสกี

เขียนบทโดย...…………….…………….…………………………………………………แอนโทนี แม็คคาร์เทน



เรื่องย่อ

แกรี โอลด์แมน นักแสดงที่ได้รับรางวัลบาฟตาและเข้าชิงรางวัลออสการ์ รับบทนำใน Darkest Hour ผลงานล่าสุดของโจ ไรท์ ผู้กำกับที่ได้รับรางวัลบาฟตา  ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงช่วงสี่สัปดาห์แรกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของวินสตัน เชอร์ชิลล์ ในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง  บทภาพยนตร์ของแอนโทนี แม็คคาร์เทน ผู้เขียนบทที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ จะเปิดเผยเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อนของผู้ชายที่ซ่อนอยู่หลังบุรุษที่โลกยกย่อง

เชอร์ชิลล์เป็นนักการเมืองที่มีไหวพริบและฉลาดหลักแหลม เป็นสมาชิกรัฐสภาที่ไว้วางใจได้ แต่ในวัย 65 เขาดูเป็นตัวเลือกที่ไม่น่าเป็นไปได้สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  แต่สถานการณ์ในยุโรปกำลังเข้าตาจน เมื่อประเทศสัมพันธมิตรพ่ายแพ้ต่อกองกำลังนาซีลงเรื่อยๆ และกองทัพทั้งหมดของสหราชอาณาจักรติดอยู่ที่ฝรั่งเศส เชอร์ชิลล์จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วนในวันที่ 10 พฤษภาคม  ปี 1940

ขณะที่ภัยจากการถูกกองทหารของฮิตเลอร์บุกยึดสหราชอาณาจักรกำลังใกล้เข้ามา และทหารสหราชอาณาจักร 300,000 นายจนมุมอยู่ที่ดันเคิร์ก  เชอร์ชิลล์พบว่าพรรคการเมืองของเขาวางแผนต่อต้านเขา และพระเจ้าจอร์จที่หก (รับบทโดยนักแสดงรางวัลเอ็มมี เบน เมนเดลซอห์น) ก็ไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ของพระองค์จะรับมือกับปัญหานี้ได้  เขากำลังเผชิญกับทางเลือกที่สำคัญที่สุด  จะเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับนาซีเยอรมัน และช่วยชีวิตคนในสหราชอาณาจักร โดยมีผลเสียหายตามมาอย่างใหญ่หลวง  หรือจะต่อสู้กับสถานการณ์ที่ยากลำบาก

ด้วยกำลังใจจากเคลมมี (รับบทโดยนักแสดงที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ คริสติน สกอตต์ โทมัส) ภรรยาที่ร่วมชีวิตกันมา 31 ปี เชอร์ชิลล์ยึดเอาคนอังกฤษเป็นแรงบันดาลใจ ให้เขายืนหยัดและต่อสู้เพื่ออุดมการณ์, เสรีภาพ และอิสรภาพของชาติ  ด้วยความช่วยเหลือของเลขานุการผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย (รับบทโดยลิลี เจมส์) เขาต้องเขียนและกล่าวสุนทรพจน์เพื่อปลุกเร้าคนในชาติ เป็นการทดสอบพลังในคำพูดของเขาครั้งสำคัญที่สุด  ขณะที่เชอร์ชิลล์ยืนหยัดต้านทานช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุดของเขา เขาก็พยายามจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกไปตลอดกาล

ภาพยนตร์โดยโฟกัสฟีเจอร์ส ร่วมกับเพอร์เฟ็คต์เวิลด์พิคเจอร์ส ของบริษัทเวิร์คกิ้งไทเทิล  ผลงานภาพยนตร์ของโจ ไรท์  Darkest Hour นำแสดงโดยแกรี โอลด์แมน, คริสติน สกอตต์ โทมัส, ลิลี เจมส์, สตีเฟน ดิลเลน, โรนัลด์ พิกอัพ และเบน เมนเดลซอห์น  คัดเลือกนักแสดงโดยจินา เจย์,  ดนตรีประกอบโดยดาริโอ มาริอาเนลลี,  อุปกรณ์แต่งหน้าเทียม แต่งหน้า และออกแบบผมสำหรับแกรี โอลด์แมนโดยคาซูฮิโร ซูจิ,  แต่งหน้าและออกแบบผมโดยอิวานา พริโมแร็ก, ออกแบบเครื่องแต่งกายโดยแจ็คเกอลีน เดอร์แรน,  ตัดต่อโดยวาเลริโอ โบเนลลี,  ออกแบบงานสร้างโดยซาราห์ กรีนวู้ด,  กำกับภาพโดยบรูโน เดลบอนเนล, เอเอฟซี, เอเอสซี  ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร เจมส์ บิดเดิล, ลูคัส เวบบ์, ไลซา เชซิน  เขียนบทโดยแอนโทนี แม็คคาร์เทน  อำนวยการสร้างโดยทิม เบแวน, เอริก เฟลล์เนอร์, ลิซา บรูซ, แอนโทนี แม็คคาร์เทน และดักลาส เออร์เบินสกี  กำกับโดยโจ ไรท์


เกี่ยวกับงานสร้าง

ถ้อยคำและบริบท


ในวันที่มืด และคืนที่มืดยิ่งกว่า ในเวลาที่สหราชอาณาจักรยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว และคนส่วนใหญ่จะรักษาชีวิตคนอังกฤษ สิ้นหวังกับชีวิตของอังกฤษ  เขาระดมภาษาอังกฤษและส่งไปสนามรบ  ความสว่างเจิดจ้าของคำพูดเขา ฉายแสงให้ความกล้าหาญของเพื่อนร่วมชาติสว่างไสว

                                                                                                                                                                     -- ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี, 1963

“คำพูดเปลี่ยนโลกได้ และเปลี่ยนจริงๆ  นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตามนั้นผ่านทางวินสตัน เชอร์ชิลล์ในปี 1940” แอนโทนี แม็คคาร์เทน ผู้เขียนบทเจ้าของรางวัลบาฟตาและผู้อำนวยการสร้างกล่าวด้วยความทึ่ง  “เขาตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดทางการเมืองและความกดดันส่วนตัว แต่ยังทะยานขึ้นมาได้สูงมากในเวลาไม่กี่วัน ครั้งแล้วครั้งเล่า”   

แม็คคาร์เทนสนใจเรื่องราวชีวิตของรัฐบุรุษผู้เป็นตำนานผู้นี้มานานแล้ว  และเช่นเดียวกับหลายคน เขาได้แรงบันดาลใจจากสุนทรพจน์และศิลปะการพูดของเชอร์ชิลล์  บทภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ของเขา คือ The Theory of Everything ซึ่งได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ บอกเล่าเรื่องราวของสตีเฟน ฮอว์กิ้ง บุรุษผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งที่คำพูดของเขาเปลี่ยนแปลงโลก ถึงแม้จะหลังจากที่เขาพูดไม่ได้อีกแล้ว  แม็คคาร์เทนรู้สึกว่าช่วงเวลาที่ตึงเครียดระหว่างวันที่ “10 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน” ที่วินสตันพลิกสถานการณ์ จากความมืดมิดให้กลายเป็นแสงสว่าง ดึงดูดใจเขา

จุดเริ่มต้นสำคัญในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Darkest Hour ของเขา คือสุนทรพจน์สามบทที่เชอร์ชิลล์เขียนและกล่าว ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ปี 1940

อย่างที่กล่าวกันว่าสองสามวันแรกและสองสามสัปดาห์แรกของการทำงานเป็นสิ่งที่ยาก  สำหรับบุรุษวัย 65 ผู้นี้ การได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 1940  เกิดขึ้นในเวลาที่เดิมพันอาจจะสูงกว่านั้น  กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์แล้ว และประชาธิปไตยก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพนาซีประเทศแล้วประเทศเล่า  ตอนนี้อังกฤษกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้มีทางเลือกสองทาง ถ้าไม่ทำใจให้กล้าแกร่งและก้าวเข้าสู่การรบ ก็ถอยออกมาจากสงครามอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับผลกระทบที่ไม่อาจจินตนาการได้ ต่อสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษ

แม็คคาร์เทนบอกว่า “คำถามคือจะต่อสู้ตามลำพัง ซึ่งอาจจะถึงกับเป็นความพินาศของกองทัพและแม้แต่ประเทศชาติ หรือจะเลือกวิธีปลอดภัยไว้ก่อน อย่างที่ไวเคานต์ฮาลิแฟกซ์และนายกรัฐมนตรี (ที่เพิ่งลาออก) เนวิลล์ เชมเบอร์เลนเชื่อ และพิจารณาเรื่องการลงนามในสนธิสัญญากับฮิตเลอร์  วินสตันจำเป็นต้องสู้ในศึกครั้งนี้ และเขาพบว่าตัวเองกำลังรบกับกลุ่มชนชั้นนำของประเทศ

“เรื่องราวในหนังเกี่ยวข้องกับอดีต แต่มันก็สะท้อนมาถึงปัจจุบันด้วย  บ่อยครั้งมากทุกวันนี้ที่ ‘ผู้นำ’ ของเราเป็นผู้ตาม  การตัดสินใจเหล่านี้ที่ทำในเวลาไม่ถึงเดือน ส่งผลไปทั่วโลก”

หลายชีวิตยังแขวนอยู่บนเส้นด้ายระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ปี 1940 เมื่อทหารอังกฤษกว่า 200,000 นาย ซึ่งเป็นกองกำลังนอกประเทศทั้งหมดของสหราชอาณาจักรติดอยู่ที่หาดดันเคิร์ก, ประเทศฝรั่งเศส และรอคอยความช่วยเหลือและการอพยพออกจากที่นั่น

การค้นคว้าข้อมูลของแม็คคาร์เทน ทำให้เขาได้พบบันทึกการประชุมของคณะรัฐมนตรีสงครามของเชอร์ชิลล์ “บันทึกเหล่านี้เปิดเผยถึงช่วงเวลาของความไม่แน่ใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้นึกถึงเมื่อมองถึงความเป็นผู้นำที่แน่วแน่ของเขา  วินสตันรู้ว่าเขาเคยตัดสินใจผิดพลาดหลายครั้งในอดีต โดยเฉพาะการรบที่กัลลิโปลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง  การอ่านบันทึกการประชุมอย่างละเอียด ไม่เพียงบอกให้รู้ว่าผู้นำกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะถูกโจมตีจากรอบด้าน และไม่แน่ใจว่าควรจะเดินไปในทิศทางใด แต่ยังบอกให้รู้ว่าประเทศกำลังเข้าใกล้อันตรายมากแค่ไหนในการก้าวเข้าสู่ข้อตกลง ‘สันติภาพ’ กับศัตรู ที่ถ้าไม่ยกเลิก อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกไปตลอดกาล”

แม็คคาร์เทนบอกว่าบทภาพยนตร์ของ Darkest Hour เขียนขึ้นเพื่อ ”วิเคราะห์วิธีการทำงานและคุณสมบัติของความเป็นผู้นำ และกระบวนการทางความคิด  วินสตันเชื่ออย่างแรงกล้าว่าคำพูดมีความสำคัญ และเขาหยิบปากกาขึ้นมา เพื่อช่วยเขาและประเทศชาติของเขาต่อสู้กับภัยคุกคามที่น่ากลัว  ในขั้นตอนนั้นทำให้เกิดวีรบุรุษขึ้น จากความดื้อดึงของเขาเอง”

แม็คคาร์เทนบังคับให้ตัวเองทำงานตามตารางการทำงานอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เหมือนกรอบเวลาของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์  หลังจากแปดวัน เขามีบทหนังอยู่ในมือ 16 หน้า และเอาบทที่เขียนได้ไปให้ลิซา บรูซ ผู้อำนวยการสร้างที่ได้รับรางวัลบาฟตาและเข้าชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งเขาร่วมงานด้วยใน The Theory of Everything ดู ขณะที่หนังเรื่องนั้นกำลังจะเสร็จสมบูรณ์

บรูซเล่าว่า “พอฉันอ่านบท ฉันก็รู้ว่าแอนโทนีกำลังคิดเรื่องการมองอย่างใกล้ชิดในความเป็นปุถุชนของบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกแล้ว  เราทุกคนได้เรียนเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง และบางทีอาจจะคิดว่าเราจำได้มากกว่าที่จำได้จริงๆ ดังนั้นแอนโทนีจึงใส่ข้อมูลที่เป็นบริบทสำคัญเข้ามามากพอในบทหนังของเขา  ถึงแม้คุณไม่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับช่วงเวลานี้ คุณก็ยังสามารถติดตามเรื่องราวได้อย่างเข้าใจ ว่าเกิดอะไรขึ้นในโลกที่วินสตันกำลังจัดการอยู่

“ใน Darkest Hour ถึงแม้ไหวพริบและความฉลาดหลักแหลมที่คนรู้จักเกี่ยวกับเขาจะปรากฏเป็นหลักฐานมากมาย  แต่คุณจะเห็นเขาในแบบที่แตกต่างอย่างมาก  สิ่งที่แอนโทนีมุ่งความสนใจ ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดนั้น  คือการถ่ายทอดวิสัยทัศน์และความคิดเห็นของเชอร์ชิลล์ในฐานะผู้นำ และความสามารถของเขาในการประเมินค่าสิ่งที่สำคัญ  เชอร์ชิลล์สามารถเมินเฉยต่อเสียงที่ไม่พึงปรารถนา และทำให้คนหนุนหลังเขาได้ แม้แต่สมาชิกพรรคที่เป็นฝ่ายตรงข้าม  เขาทำให้ทุกคนเห็นด้วยกับความคิดในการลุกขึ้นสู้กับฮิตเลอร์ และเข้าใจเรื่องภัยคุกคามและภาพรวมที่ใหญ่กว่านั้น ใหญ่กว่านั้นมากๆ

“Darkest Hour มาในเวลาที่เหมาะสมมาก เพราะทุกวันนี้เรารู้สึกถึงการขาดแคลนความเป็นผู้นำ  เราต้องการคนที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากและผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างที่วินสตันทำ  ชื่อของหนังมาจากการประเมินของเขาเองต่อสถานการณ์ในช่วงเวลานี้ ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่เขาเคยเผชิญมา  ทั้งชีวิตของเขานำมาสู่ช่วงเวลาที่สำคัญมากนี้”

ขณะที่แม็คคาร์เทนส่งบทหนังมาให้อีก บรูซก็ดำเนินการเพื่อให้โปรเจ็คต์มีความคืบหน้า ด้วยการนำไปปรึกษาเพื่อนผู้อำนวยการสร้าง คือทิม เบแวน และเอริก เฟลล์เนอร์แห่งเวิร์คกิ้งไทเทิล ที่ร่วมงานกันใน The Theory of Everything

เฟลล์เนอร์รู้สึกว่าเรื่องราวของ “รัฐบุรุษคนหนึ่งที่พบความสง่างามภายใต้ความกดดัน” จะดึงดูดใจเพื่อนร่วมสร้างสรรค์งานคนสำคัญคนหนึ่งของเวิร์คกิ้งไทเทิล คือโจ ไรท์ ผู้กำกับที่ได้รับรางวัลบาฟตา  เวิร์คกิ้งไทเทิลและไรท์ประสบความสำเร็จอย่างมากในการร่วมงานกัน ในจำนวนนั้นรวมถึง Atonement ซึ่งมีฉากที่ยากจะลืมหลายฉากของสงครามโลกครั้งที่สอง  ไรท์บอกว่า “ความสัมพันธ์ของเราเติบโตและพัฒนาขึ้น  มีทัศนคติแบบ ‘เราทำได้’ เสมอที่เวิร์คกิ้งไทเทิล  นี่บทหนัง, นี่ผู้กำกับ, นี่นักแสดง เรามาทำหนังกันเถอะ และเราก็ทำ”

สัญชาตญาณของเฟลล์เนอร์ถูกต้อง เพราะไรท์บอกว่าเขาจดจ่อกับการอ่านบทหนังที่สนุกจนวางไม่ลง “ผมคิดมาตลอดว่าสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเหตุการณ์ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20  มันเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง  ถ้าคนดูสมัยนี้สามารถเชื่อมโยงกับบุคคลสำคัญของยุคนั้นในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นคุณสมบัติในความเป็นผู้นำของเขาก็จะยิ่งเป็นแรงบันดาลใจมากขึ้น”

หลังจากไรท์ตกลงรับกำกับหนังเรื่องนี้ เขาก็ติดตามความคืบหน้าของบทหนังอย่างใกล้ชิด  แม็คคาร์เทนเล่าว่า “โจกลายมาเป็นเหมือนคู่หูในขั้นตอนนี้ ผมใช้เวลาหลายสัปดาห์กับการทำงานที่เขากดดันผมทุกประโยคของบทหนัง ผมต้องไปที่บ้านเขาประมาณ 20 ครั้ง และแต่ละครั้งเขาจะทักทายผมว่า ‘ดีใจที่ได้เจอคุณ โอเค หน้าแรก…’  ความใส่ใจในรายละเอียดและการตรวจสอบทุกเหตุการณ์สำคัญ ทำให้บทหนังถูกต้องสมบูรณ์ขึ้นจริงๆ”

ไรท์บอกว่า “ผมวาดภาพให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังของคนทั้งโลก ไม่ใช่แค่คนดูที่เป็นคนอังกฤษเท่านั้น  เราทุกคนเคยดูหนังที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำ  แต่ Darkest Hour ค่อนข้างเป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่แน่ใจ และวิกฤติของความมั่นใจมากกว่า  สิ่งที่มีเสน่ห์มากเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือคุณอยู่กับบุรุษผู้เป็นตำนานในเวลาที่เขาเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่เราทุกคนต่างก็เคยเจอมา”

ลิซา บรูซบอกว่า “ฉันเรียนรู้จากโจเยอะมากระหว่างการทำงานในหนังเรื่องนี้  โจคิดออกมาเป็นภาพเลย และรู้ว่าเขาอยากพาอารมณ์คนดูไปทางไหน”

เมื่อนึกถึงปัจจัยเรื่องความกลัวสำหรับนักแสดงในการรับบทเป็นบุคคลสำคัญ ทีมผู้สร้างคาดการณ์ได้ถึงความท้าทายในการคัดเลือกผู้แสดง 

แม็คคาร์เทนบอกว่า  “ผมหวังว่าการตีความใหม่สามารถทำได้ในการแสดงบทนี้  ผมอยากเห็นนักแสดงที่ปรับเปลี่ยนความรู้สึกของเราใหม่อย่างสิ้นเชิงว่าวินสตันคือใคร  และผมวาดภาพของนักแสดงคุณภาพแบบเดียวกับแกรี โอลด์แมน” 

ที่จริง เมื่อไหร่ก็ตามที่ชื่อของนักแสดงเจ้าของรางวัลบาฟตาและเข้าชิงรางวัลออสการ์คนนี้ถูกพูดถึง ชื่อของนักแสดงอีกหลายคนที่อยากประสบความสำเร็จในอาชีพแบบเขาก็จะผุดขึ้นในใจ  แต่เฟลล์เนอร์คิดว่าการตรงไปที่ต้นฉบับเลยจะดีที่สุด นั่นคือแกรี โอลด์แมนเอง ซึ่งเป็นนักแสดงที่เขาร่วมงานด้วยตอนเริ่มต้นอาชีพด้านภาพยนตร์เมื่อปี 1986 คือเรื่อง Sid and Nancy ซึ่งบังเอิญเป็นหนังเรื่องแรกของโอลด์แมนเช่นกัน
« Last Edit: January 07, 2018, 05:18:17 PM by happy »

happy on January 07, 2018, 05:15:16 PM

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ดักลาส เออร์เบินสกี ผู้อำนวยการสร้างที่ได้รับรางวัลบาฟตาซึ่งร่วมผลิตภาพยนตร์กับแกรี โอลด์แมนมายาวนาน ให้ความเห็นว่า “การทำหนังเกี่ยวกับวินสตัน เชอร์ชิลล์เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีเหตุผล ยกเว้นคุณกำลังตรวจสอบเหตุการณ์เฉพาะ หรือกรอบเวลา ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ Darkest Hour ทำ

“ตอนที่เอริก เฟลล์เนอร์เริ่มนัดคนมาเจอกันเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับโปรเจ็คต์ เราก็รู้ว่านี่จะเป็นการทำงานที่คุ้มค่า เป็นหนังที่จะให้ความบันเทิงกับคนดู แต่ก็ทำให้พวกเขาหยุดและคิดเกี่ยวกับเสียงสะท้อนของประวัติศาสตร์ด้วย”

โจ ไรท์บอกว่า “ตอนที่ผมได้ยินว่า ‘แกรี โอลด์แมนจะเล่นเป็นวินสตัน เชอร์ชิลล์’ ผมคิดในใจว่า ‘จะเป็นการแสดงที่น่าดูอะไรเช่นนี้’ เขาเป็นนักแสดงคนโปรดของผมตั้งแต่ผมเป็นวัยรุ่น ทั้ง Sid and Nancy, Prick Up Your Ears, The Firm…”

แต่นักแสดงที่เคยรับบทเป็นบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริงมาแล้วหลายคน ตั้งแต่ซิด วิเชียส ถึงเบโทเฟน ถึงลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ จะอยากเล่นเป็นวินสตัน เชอร์ชิลล์ไหม

โอลด์แมนบอกว่า  “ผมสนใจในตัวเชอร์ชิลล์มาตลอด เพราะเขาเป็นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจริงๆของเรา  แต่เขาก็ไม่ใช่คนที่ผมอยากแสดง  จริงๆแล้วผมมีโอกาสจะได้เล่นเป็นเขาหลายปีมาแล้ว แต่ผมปฏิเสธข้อเสนอนั้นไป”

“สิ่งที่เป็นอุปสรรคไม่ใช่ความท้าทายทางด้านจิตใจหรือสติปัญญา แต่เป็นทางด้านกายภาพ  ผมหมายถึง คุณลองดูผมแล้วดูเชอร์ชิลล์สิ...”

แต่เขาก็ยอมรับว่า “พอถึงเรื่องที่ว่าใครบ้างจะมาร่วมงานกันใน Darkest Hour คำปฏิเสธของผมก็กลายเป็นคำตอบรับ

“สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับบทหนังที่เยี่ยมมากของแอนโทนีเรื่องนี้ คือนี่ไม่ใช่ ‘หนังชีวประวัติ’  มันเล่าเรื่องราวตลอดช่วงสองสามสัปดาห์สำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศเรา ดังนั้นจึงไม่มีการเล่าเรื่องย้อนกลับไปกลับมา และไม่มีการแก่ขึ้น”

Darkest Hour ยังมีปัจจัยที่ดึงดูดใจมากกว่านั้นสำหรับโอลด์แมน “ผมอยากกล่าวคำพูดพวกนั้น  สุนทรพจน์ของเชอร์ชิลล์ ซึ่งเขาเขียนด้วยตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาษาอังกฤษ  เขาน่าทึ่งมาก เพราะเขาไม่ได้ใช้คำที่สวยหรูหรือเต็มไปด้วยอุปมาอุปไมยหรือจินตนาการ  เขาอาจใช้คำเหล่านั้นได้เมื่อจำเป็น  แต่เขาเข้าใจคนที่เขากำลังพูดด้วย และมั่นใจว่าสิ่งที่เขาพูดจะเข้าถึงหัวใจของคนในชาติ

“ตลอดช่วงเวลานั้น เขากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก  รัฐบาลของเขาไม่ต้องการเขา  มีความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรีสงคราม และเชอร์ชิลล์ก็เป็นห่วงชีวิตคนหลายพันคนที่ติดอยู่ที่ดันเคิร์ก  การอยู่ในสถานการณ์ที่บีบบังคับแบบนั้น ภายใต้ความกดดันแบบนั้น และเขียนถ้อยคำที่เป็นการใช้ภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งออกมา... เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก”

Darkest Hour ทำให้โอลด์แมนได้ทดสอบทฤษฎีหนึ่งของเขา “ทั้งหมดเริ่มต้นจากเสียง  ผมต้องทำให้ตัวเองเชื่อ ว่าจะสามารถมีเสียงเหมือนเชอร์ชิลล์ได้ ผมเลยเลือกเอาสุนทรพจน์ของเขามาบทนึง และเครื่องบันทึกเสียง แล้วเริ่มทดลอง”

“จากนั้นผมก็ค้นคว้างานเขียนนอกเหนือจากบทหนัง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ชายที่เผชิญหน้ากับเผด็จการ  ผมอยากเข้าถึงด้านของจิตใจและความฉลาดหลักแหลม  ผมอยากสร้างเขาขึ้นมาทีละนิด”

เออร์เบินสกีบอกว่า “บทหนังเล่าเรื่องราวแค่ไม่กี่สัปดาห์ที่สำคัญนั้น แต่แกรีก็อยากอ่านเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับเขา ซึมซับทุกอย่างที่เขาจะสามารถทำได้เกี่ยวกับเชอร์ชิลล์”

”ดร. แลร์รี พี. อาร์น นักประวัติศาสตร์และผู้เขียนชีวประวติของเชอร์ชิลล์ แนะนำในสิ่งที่โอลด์แมนเรียกว่า “เล่มสำคัญที่ควรอ่าน ซึ่งช่วยได้มาก เพราะคงมีหนังสือเกี่ยวกับเขาเป็นพันๆเล่ม  คงใช้เวลาอ่านเรื่องราวของเขาหลายปีเลยทีเดียว!”

เออร์เบินสกีบอกว่า “ดร. อาร์นและฟิล รีดที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ของเรา จะตรวจสอบทุกอย่างที่เราส่งไปให้เพื่อความถูกต้อง  และยังมาที่กองถ่ายทุกครั้งที่เราขออีกด้วย”

โอลด์แมนเล่าว่า “ผมฝึกเรื่องเสียงไปเรื่อยๆ และดูสารคดีมากมายเกี่ยวกับผู้ชายวัย 65 ที่มีพลังและแรงขับเคลื่อนมหาศาล” 

แต่เขายังถึงกับตะลึงเมื่อรวบรวมผลงานและความสำเร็จของเชอร์ชิลล์  “เขาอยู่ในรัฐบาลนานกว่า 50 ปี, เขียนหนังสือ 50 เล่ม ซึ่งต่อมาก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม,   ได้รับการประดับเหรียญจากสงครามสี่ครั้ง, มีผลงานภาพเขียน 500 ภาพ และมีนิทรรศการแสดงภาพของเขา 16 ครั้งที่รอยัลอะคาเดมี”

“ถ้าไม่ใช่เพราะเขา โลกเราจะเป็นยังไง  ไม่มีใครเทียบเขาได้ ยังไม่มีใครเหมือนเขา”

โอลด์แมนรู้สึกว่าเขาเข้าใจและรับมือกับการแสดงเป็นเชอร์ชิลล์ได้ แต่ในแง่ของกายภาพเขายังไม่ค่อยแน่ใจ  เขารู้สึกว่าไม่สามารถแสดงบทนี้ได้จนกว่าเขาจะ “ไม่เพียงได้ยินเสียงเขา แต่ยังรู้สึกถึงความเป็นเขาในทางร่างกายด้วย วิธีการเดินเหินของเขา และ...ผมต้องสามารถมองกระจกแล้วเห็นเขา หรืออย่างน้อยก็จิตวิญญาณของเขา มองตอบกลับมา”

“ผมรู้สึกว่าคาซูฮิโรคือคนนั้น คนเดียวเท่านั้นที่จะช่วยพาผมไปถึงจุดนั้นได้  ในสิ่งที่เขาทำ คาซูเป็นเหมือนปิกัสโซ”

เป็นที่รับรู้ในวงการภาพยนตร์ ว่าคาซูฮิโร ซูจิเป็นสุดยอดฝีมือที่ไม่มีใครเทียบในเรื่องการแต่งหน้าโดยใช้อุปกรณ์เทียม  เขาได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สองครั้งในช่วง 25 ปีของการเป็นช่างแต่งหน้าเทคนิคพิเศษ แต่เลิกทำงานในภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 2012 เพื่อทุ่มเทให้กับการทำงานด้านประติมากรรมไฮเปอร์เรียลลิสต์ร่วมสมัย (Hyperrealism คือการจำลองความเหมือนของภาพถ่ายด้วยการใช้มือวาด หรือปั้นขึ้น)
 
โอลด์แมนทาบทามซูจิด้วยตัวเอง  เขาเล่าว่า “แกรีบอกผมว่า ‘ผมจะเล่นหนังเรื่องนี้ถ้าคุณยอมทำ’ ผมก็แย้งเขาไป แต่ก็ปฏิเสธแกรีไม่ลง  เขาไม่เหมือนหลายคน เขารู้และเข้าใจจริงๆเรื่องกระบวนการของการแต่งหน้าและใส่อุปกรณ์เทียม”

ทีมผู้สร้างโล่งอกมากที่รู้ว่าโอลด์แมนโน้มน้าวซูจิได้สำเร็จ และจะยอมรับบทเชอร์ชิลล์ “ดีใจจนแทบกระโดดออกจากเครื่องบิน”

ซูจิประเมินสิ่งที่ต้องทำสำหรับแผนการทำงานของเขาอย่างรวดเร็ว  เขายอมรับว่า “มันก็น่ากลัว สำหรับแนวคิดเรื่องการทำให้เหมือนภาพที่อยู่ในใจทุกคนอยู่แล้ว  ส่วนที่ยากที่สุดคือสัดส่วนและขนาดของศีรษะของพวกเขาต่างกันมาก  ศีรษะแกรีเป็นรูปไข่ ส่วนเชอร์ชิลล์หน้ากลมและแบนกว่า  ตาของแกรีจะชิดกันหน่อย แต่ของเชอร์ชิลล์จะห่างกัน  ผมต้องแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้

“แต่ด้วยศิลปะของการแต่งหน้า เมื่อคุณมีนักแสดงที่สวมวิญญาณเข้าไป  เขาสามารถกลายเป็นคนที่เราตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นได้เลย”

การทำงานในส่วนของการใส่อุปกรณ์เทียม, การแต่งหน้า และทำผม ต้องใช้การสร้างสรรค์อย่างมาก  โอลด์แมนบอกว่า ตั้งแต่แรก ทุกคนรู้ว่าพวกเขาต้องการหา “สิ่งที่เป็นลูกผสม เหมือนการผสมเกสรข้ามสายพันธุ์  มันต้องเป็นทั้งเชอร์ชิลล์และแกรี ใบหน้าต้องเป็นอะไรที่ผมจะสามารถแสดงผ่านมันออกมาได้ และแสดงด้วยใบหน้านั้นได้”

พวกเขาใช้เวลาถึงหกเดือน กว่าจะพัฒนาและทดสอบจนได้จุดที่เหมาะสมลงตัว  ทั้งการลองสวม, การปั้น, การปรับ, การแก้ไข, การเพิ่ม และการเอาออก  กระบวนการที่ต้องใช้แรงกายและฝีมืออย่างมากค่อยๆพัฒนาไป ในขณะที่แม็คคาร์เทนก็แก้ไขบทหนัง และไรท์ก็ค้นคว้าข้อมูลและประชุมทีมงานสำคัญๆ

ซูจิหล่อแม่พิมพ์ตัวโอลด์แมน ใช้ตัวเขาเป็นแบบ ทำแม่พิมพ์แบบเต็มตัว และแม่พิมพ์ส่วนศีรษะ “และเราทดสอบการแต่งหน้าห้าแบบ จนกระทั่งเราเจอแบบที่เหมาะ  ในฐานะผู้กำกับ คนคนนั้นต้องมีสายตาที่แหลมคม แต่โจ ไรท์มีสายตาที่แหลมคมจริงๆ และเขาช่วยให้คำแนะนำกับเรา

อิวานา พริโมแร็กทึ่งในกระบวนการนี้มาก  เธอเป็นนักแต่งหน้าและออกแบบทรงผมที่ได้เข้าชิงรางวัลบาฟตาหกครั้ง เป็นหนึ่งในเพื่อนร่วมงานที่ไรท์ชื่นชอบและเขาเลือกเธอมาทำงานตั้งแต่ช่วงแรก เพื่อ “ออกแบบรูปลักษณ์ให้คนอื่นๆ” ใน Darkest Hour

“รูปร่างของเชอร์ชิลล์มีลักษณะเฉพาะมาก คนทั้งโลกรู้จักดี จนไม่มีนักแสดงคนไหนที่แสดงเป็นเขาโดยไม่มีหุ่นแบบนั้น  แกรีต้องการรูปร่างแบบนั้นเพื่อเป็นเชอร์ชิลล์ทางกายภาพในการกล่าวสุนทรพจน์และการเคลื่อนไหว  การแปลงโฉมเริ่มขึ้นทีละนิดๆ และทุกขั้นตอนมันน่าอัศจรรย์มาก  สิ่งที่คาซูทำสำเร็จกับแกรีมันเหลือเชื่อจริงๆ  ฉันไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน”

รูปหล่อของโอลด์แมนเป็นแม่พิมพ์เนกาทีฟ ซึ่งนำมาใช้ทำเป็นแม่พิมพ์ “โพสิทีฟ”  ซูจิใช้รูปถ่ายตัวจริงและวิดีโอเกี่ยวกับเชอร์ชิลล์ในการปั้นรูปร่างหน้าตาของเขาขึ้น โดยใช้ดินเหนียวปั้นหุ้มแม่พิมพ์โพสิทีฟ  จากนั้นเขาก็ “ทำแม่พิมพ์ที่หน้าเหมือนตัวจริง และหล่อยางซิลิโคนในแม่พิมพ์นั้น และวางทาบลงบนหน้าของแกรี  เรายังทำวิกผมและผมปลอมขึ้นด้วย  นั่นคือวิธีการที่เราออกแบบแกรีให้กลายเป็นวินสตัน”

เนื่องจากการแต่งหน้าด้วยอุปกรณ์เทียมนี้ทำจากซิลิโคน ซึ่งเป็นวัสดุยืดหยุ่นได้ที่มีการเติมของเหลวพิเศษลงไปเพื่อให้นุ่มขึ้น ผลที่ได้จึงเหมือนของจริงและพื้นผิวที่เหมือนผิวจริง ซึ่งเมื่อติดลงบนหน้าของโอลด์แมนจะตอบสนองต่อการขยับใบหน้าของเขา เพื่อให้เขาสามารถแสดงความรู้สึกผ่านเครื่องแต่งหน้าได้อย่างเต็มที่

บางส่วนของใบหน้าจะไม่มีการติดผิวเทียม โดยเฉพาะหน้าผากและริมฝีปาก ซึ่งตอนทดสอบพบว่าการติดผิวหนังเทียมทั้งสองบริเวณนั้นจะทำให้อ่านความรู้สึกจากสีหน้าได้ยาก และเป็นอุปสรรคกับการแสดง  เพื่อให้ตรงกับการแสดงสีหน้าของโอลด์แมน อุปกรณ์เทียมต้องติดตรงตามตำแหน่งที่ต้องอยู่ ไม่สามารถติดผิดจากตำแหน่งได้แม้แต่มิลลิเมตรเดียว

ซูจิยังทำบอดี้สูทที่ทำดวยโฟมให้โอลด์แมนด้วย “คุณอาจจะเรียกว่า ‘ชุดอ้วน’ ก็ได้ เพียงแต่มันมีน้ำหนักเบา  ไม่เพียงช่วยในเรื่องรูปร่างเท่านั้น แต่ยังช่วยในเรื่องท่าทางด้วย”   

เมื่อถึงเวลาที่หนังเริ่มถ่ายทำในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2016  การแต่งหน้าเต็มรูปแบบในแต่ละวันใช้เวลาวันละสามชั่วโมงครึ่ง ซึ่งทำให้เวลางานในวันทำงานของโอลด์แมนยาวนานถึงวันละ 18-20 ชั่วโมง  “ผมจะมาถึงสตูดิโอตอนตีสามเพื่อใส่อุปกรณ์เทียมและแต่งหน้า  การแต่งกายก็จะใช้เวลาอีกครึ่งชั่วโมง จนถึงเวลาที่ทีมงานมาตอนเจ็ดโมงเช้า”

มันคงจะใช้เวลานานกว่านั้นถ้าโอลด์แมนไม่เตรียมการไว้ก่อน ด้วยการโกนผมของเขาหมดทั้งศีรษะ จึงไม่มีผมเหลือให้ต้อง “เก็บผม” “เดวิด มาลินาวสกี กับลูซี ซิบบิคมาช่วยแต่งหน้าให้ผมทุกวัน เติมสีและติดทุกอย่างตามคำสั่งของคาซู  เป็นทีมงานที่น่าทึ่งมาก”

ทั้งสองคนจะใช้เครื่องหมายตามธรรมชาติบนใบหน้าของโอลด์แมนช่วยกำหนดตำแหน่ง  คือคอ, ตา และปาก เพราะแต่ละแนวเส้นจะเหมือนกันกับด้านในของหน้ากากเทียมจากแม่พิมพ์ต้นฉบับ  ใบหน้าของโอลด์แมนกลายมาเป็นแผนที่สำหรับการวางใบหน้าของวินสตัน

มาลินาวสกีบอกว่า  “ส่วนที่เป็นศีรษะนุ่มมาก  เหมือนกำลังถือถุงน่องที่มีถั่วอบอยู่ข้างใน  เวลาคุณพยายามวางลงบนใบหน้า  ถ้ามันไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องมันจะงอและยับ

โอลด์แมนเชื่อมั่นมากกับการแต่งหน้าในแต่ละวัน เพราะทันทีที่ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย เขาก็มุ่งสมาธิไปที่การแสดงของเขาได้เต็มที่  ด้วยเหตุนี้ พริโมแร็กและแผนกของเธอจะใช้เวลาในการตรวจสอบการแต่งหน้าให้น้อยที่สุด  และยังเข้าใจดีว่านักแสดงนำของพวกเขากำลังแบกอุปกรณ์ปลอมและชุดนวมหนักประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัวเขาอยู่

การถอดอุปกรณ์แต่งหน้าออกใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงในแต่ละวัน  มันไม่สามารถดึงออกง่ายๆแบบการถอดหน้ากากในหนังได้แม้แต่ครั้งเดียว เพราะการทำแบบนั้นจะทำร้ายผิวของแกรี
ไรท์บอกว่า  “ระหว่างถ่ายทำ สำหรับผมมันเป็นความจริงมาก ผมลืมไปอย่างสิ้นเชิงว่านั่นคือแกรีที่กำลังใส่อุปกรณ์แต่งหน้าอยู่”

บ่อยครั้งที่มาลินาวสกีต้องเติมสีบนผิวหนังเทียม เพราะจมูกของเชอร์ชิลล์จะเห็นเป็นเส้นเลือดบางๆ  กระบวนการแต้มสีจะเริ่มด้วยการลงสีพื้นของซิลิโคนบนผิวหนังเทียม  จากตรงที่มีโทนสีผิวต่างกัน เติมไล่ไปตามโครงหน้า  ไฝทุกเม็ดบนใบหน้าของเชอร์ชิลล์จะเติมสีลงไปอย่างบางเบา  เมื่อเติมโทนสีผิวและไฝทุกเม็ดเสร็จเรียบร้อย มาลินาวสกีจะใช้พู่กันอันที่ดีที่สุดแต้มเส้นบางๆสีม่วงแดงหลายร้อยเส้น ให้คล้ายเส้นเลือดบางๆ

การปรับแต่งที่ต้องใช้ความอุตสาหะพยายามนี้ ต้องสะท้อนให้เห็นช่วงเวลาของวันว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืนด้วย รวมทั้งสภาพร่างกายของเชอร์ชิลล์ที่บอกไว้ในฉากนั้นๆ รวมไปถึงแม้กระทั่งผื่นจากการโกนหนวด

มาลินาวสกีบอกว่า  “เราพยายามสร้างตัวละครที่ดูเหมือนคนในชีวิตจริง  เราไม่อยากให้คนดูหนังแล้วเห็นการแต่งหน้า  และการใช้เลนส์ดิจิตอลทำให้กล้องสามารถเห็นได้มากขึ้น ดังนั้นเวลาคุณใส่รายละเอียดลงไป ต้องให้แน่ใจว่าจะดูเหมือนคนในชีวิตจริงมากที่สุดที่จะเป็นไปได้”

หนังถ่ายทำนาน 54 วัน  เป็นการทำงานทุกวันไม่ได้ขาดสำหรับโอลด์แมนและทีมแต่งหน้า, ทำผม  และใส่อุปกรณ์เทียม  ซูจิบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาเยี่ยมกองถ่ายหลายครั้ง  เขาพบว่าตัวเอง “ฟังแกรีพูดด้วยเสียงของวินสตันในการแสดงของเขามากกว่ามองเขา  สิ่งที่เยี่ยมมากคือการได้เห็นความคล้าย แล้วก็ได้ยินเสียงที่พูดออกมา”   

เออร์เบินสกีบอกว่า  “แกรีก้าวขึ้นมาถึงจุดที่สูงมากในการแสดงเป็นวินสตัน  การแสดงของเขาทำให้ผมนึกถึงจอร์จ ซี. สกอตต์ ใน Patton ถึงแม้พวกเขาจะเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง  แต่คุณจะตะลึงอ้าปากค้างตอนคุณดูการแสดง

“พรสวรรค์เรื่องความตั้งใจของแกรีมีมากซะจนเขาจะมาที่กองถ่ายทุกวันด้วยพลังที่มากกว่าใคร  ซึ่งที่จริงเขาน่าจะเหลือน้อยที่สุด แต่แทนที่จะเป็นแบบนั้น พลังของเขากลับพาทุกคนไปด้วยกัน”

โอลด์แมนปิดท้ายว่า “นี่คืองานที่ยากที่สุดที่ผมเคยทำมาในฐานะนักแสดง  แต่ก็เป็นงานที่มีอิสระที่สุด  ผมแทบรอไม่ไหวที่จะได้ไปทำงานและเป็นวินสตัน  ผมไปทำงานทุกวันและคิดในใจว่า ‘ฉันโชคดีมากที่ได้ทำงานนี้’”

happy on January 07, 2018, 05:20:43 PM

พูดและแต่งตัวให้สมบท

สุนทรพจน์ที่วินสตัน เชอร์ชิลล์กล่าวในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ปี 1940 เป็นสุนทรพจน์ที่ไม่เคยหมดพลังหรือสถานะของการเป็นสุนทรพจน์ที่มีชื่อเสียง หรือศักยภาพในการสร้างแรงบันดาลใจ  เขาเป็นหนึ่งในผู้กล่าวสุนทรพจน์ที่มีอิทธิพลต่อผู้ฟังที่สุดของศตวรรษที่ 20  สุนทรพจน์ของเขาที่ระดมกำลังคนในชาติยังคงถูกนำไปอ้างถึง, กล่าวซ้ำ และดัดแปลงอยู่ตลอด    คำกล่าวของเขาอยู่เหนือกาลเวลาและสถานที่ และตอนนี้อยู่ในโลกไซเบอร์  ไม่ว่าจะเข้าไปเว็บไซต์ที่มีการอ้างอิงคำกล่าวของบุคคลต่างๆเว็บใดในอินเทอร์เน็ต คำกล่าวของวินสตันจะโดดเด่นอยู่ที่นั่น

โจ ไรท์บอกว่า “ใน Darkest Hour เราถ่ายทอดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสุนทรพจน์ที่น่าทึ่งมาก และสถานการณ์ไม่ปกติที่ทำให้มีการเขียนมันขึ้นมา  สิ่งที่คนมักไม่ค่อยนึกถึงคือวินสตันเริ่มต้นด้วยการเป็นนักหนังสือพิมพ์  การเขียนเป็นความสามารถที่ยอดเยี่ยมสิ่งแรกของเขา เป็นความสามารถที่จะเป็นประโยชน์กับเขาอย่างมาก”

แอนโทนี แม็คคาร์เทนเสริมว่า “เขาเป็นนักเขียนก่อนที่เขาจะเป็นอะไรอย่างอื่นเลย  และคำกล่าวของเขาก็กลายเป็นมรดกที่ยืนนาน”

ถึงแม้หลายเดือนในการเตรียมตัวของโอลด์แมนสำหรับบทนี้จะเริ่มต้นด้วยเสียง แต่เพื่อนร่วมงานก็ยังคงตะลึง เมื่อเขามาที่กองถ่ายและพูดด้วยโทนเสียงแบบเชอร์ชิลล์ที่ฝึกมาอย่างดี ตั้งแต่สำเนียงจนถึงการใช้ถ้อยคำ

โอลด์แมนสังเกตบางสิ่งที่หลุดรอดหูคนที่ฝึกการฟังมาอย่างดีหลายคน “พอฟังสุนทรพจน์ที่เขากล่าว ไม่ใช่แค่ส่วนที่เรานำมาถ่ายทอดในหนัง ผมสังเกตว่าวินสตันออกเสียงตัวเอส (S) ไม่ชัด  เขายังพูดแบบเสียงขึ้นจมูกด้วย  ผมต้องตัดสินใจว่าตอนไหนควรเน้น ตอนไหนไม่ควร”

ไรท์รู้เกี่ยวกับสิ่งที่โอลด์แมนทำ แต่เก็บเป็นความลับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความไว้วางใจกันระหว่างผู้กำกับกับนักแสดง  โอลด์แมนส่งเทปที่เขาบันทึกไว้ช่วงแรกๆส่วนหนึ่งมาให้ไรท์เพื่อประเมิน  “ตอนนั้นผมอยู่ที่อังกฤษและแกรีอยู่แอล.เอ.  เขาอัดเสียงเขาตอนกล่าวสุนทรพจน์บทนึง โดยอัดเสียงในห้องโถง เพื่อจะได้เสียงจริงและเสียงก้องแบบที่ถูกต้อง แล้วก็ส่งมาให้ผมทางไปรษณีย์  ผมรู้สึกเหมือนกำลังฟังเชอร์ชิลล์เลย  แต่ก็ไม่ใช่การเลียนแบบ  แกรีเรียนรู้วิธีการพูดของเชอร์ชิลล์”

สิ่งสำคัญมากเช่นกันสำหรับโอลด์แมนในการสร้างสรรค์การแสดงของเขา คือ “รายละเอียดของเครื่องแต่งกาย  มันเป็นเหมือนของใช้ส่วนตัว เพราะเป็นสิ่งที่นักแสดงสัมผัส”

ในขณะที่โอลด์แมนแสดงจากภายในผ่านการแต่งหน้าและเสียง การแต่งกายของเขาก็เป็นการแสดงภายนอก  ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายที่ได้รับรางวัลออสการ์ แจ็คเกอลีน เดอร์แรน ซึ่งทำงานในหนังของไรท์มาแล้วหลายเรื่อง  รับหน้าที่ออกแบบเครื่องแต่งกายให้โอลด์แมนเป็นครั้งแรกนับจากเรื่อง Tinker, Tailor, Soldier, Spy ของเวิร์คกิ้งไทเทิล แต่ด้วยลักษณะทางกายภาพที่ต่างจากเดิมมาก

โอลด์แมนบอกว่า  “ผมวางใจเธอเต็มที่ และเธอเป็นคนที่ทำงานด้วยแล้วมีความสุข”  ส่วนไรท์เสริมว่า “แจ็คเกอลีน ผมขอบคุณเธอมาก เธอทำงานใน Darkest Hour ด้วยความหลงใหลและกระตือรือร้น แบบที่เธอทำในหนังเรื่องอื่นๆที่เราร่วมงานกันมา ถึงแม้เรื่องนี้จะมีผู้ชายใส่สูทสีเข้มเต็มไปหมดก็ตาม!”

ที่จริง เดอร์แรนทุ่มเทเวลามากเป็นพิเศษกับการทำงานกับแกรี, ไรท์ และคาซูฮิโร ซูจิใน Darkest Hour  ซึ่งยาวนานถึงหกเดือน โดยเริ่มมาตั้งแต่ก่อนที่หนังจะเปิดกล้อง เธอบอกว่า  “เมื่อพูดถึงการแต่งกายเป็นวินสตัน เชอร์ชิลล์ หัวใจสำคัญคือการดูสิ่งที่เขาใส่ให้ละเอียด และพยายามถอดแบบมาอย่างถูกต้อง  สิ่งที่ฉันอยากทำมาก คือให้เครื่องมือต่างๆกับแกรีในการเป็นวินสตันที่เขาต้องการเป็น  และให้ได้ภาพตามที่โจต้องการ”

โอลด์แมนบอกว่า  “มีของที่เฉพาะเจาะจงมากหลายอย่าง  ซิการ์, นาฬิกา, แหวน, แว่นตา และหมวก เขาเป็นคนที่ชอบใส่หมวก”

หมวกของเชอร์ชิลล์ทำและส่งให้เขาโดยเฉพาะจากร้านหมวกล็อก แอนด์ โค. ซึ่งเป็นร้านทำหมวกที่เก่าแก่ที่สุดในโลก  ร้านนี้ก่อตั้งเมื่อปี 1676 หมวกของพวกเขาเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน ตั้งแต่ลอร์ด เนลสัน จนถึงเดวิด เบ็กแคม  ทีมงานตรงไปที่ร้านนี้ทันที  โอลด์แมนบอกว่า “เหมือนการไปเยี่ยมชมประวัติศาสตร์เลย”
 
เดอร์แรนบอกว่า “แกรีเลือกหมวกที่เข้ากับบุคลิกตัวละครของเขา  เขามีหมวกฮอมเบิร์ก (หมวกสักหลาดปีกแคบ), หมวกเคมบริดจ์ (Cambridge Bowler หมวกทรงมน สูงกว่า Bowler), หมวกทรงสูง  และยังมีหมวกทหารเรือและหมวกตุรกีด้วย แต่ในที่สุดเราก็ไม่ได้ใช้หมวกพวกนั้นเลย”

สำหรับสูท ทีมผู้สร้างค้นหาร้านตัดสูทร้านดั้งเดิมของเชอร์ชิลล์  คือเฮนรี พูล แอนด์ โค. ที่ถนนซาวิล ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1806 โอลด์แมนบอกว่า  “ร้านนี้ตัดเสื้อผ้าให้เขา  การใส่เสื้อผ้าเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกสัมผัสได้มากขึ้นในการแสดงเป็นเขา”

จากเสื้อผ้า ทีมงานประดับอุปกรณ์เสริมของเชอร์ชิลล์ให้โอลด์แมน คือซิการ์ยี่ห้อโคฮิบาซิโกล และนาฬิกาพกยี่ห้อเบรเกต์  รองเท้ามาเป็นสิ่งสุดท้าย และกลายเป็นข้อยกเว้นเดียวของกฎที่กำหนดว่าต้องสั่งตัด เพราะร้านดั้งเดิมที่เคยทำปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว

โอลด์แมนบอกว่า “มันเหมือนนักมวยที่เตรียมพร้อมและสวมนวมแล้ว ซึ่งเป็นพิธีของการเตรียมพร้อมจะขึ้นชก  ทันทีที่แต่งหน้าเสร็จและสูทกับเสื้อผ้าพร้อม ก็ใช่เลย นั่นคือวินนี”

การมีรูปลักษณ์และเสียงตามบทบาทที่แสดง สามารถพานักแสดงไปได้ไกลมาก  แต่การตัดสินคุณภาพจะอยู่ที่การแสดง 

ในการถ่ายทำ ลิซา บรูซพบว่าเธอ “ขนลุก  ทุกนาที ฉันรู้สึกเหมือนกำลังยืนอยู่กับวินสตันตัวจริง  สิ่งที่แกรีแสดง ผ่านทางสายตา ท่าทาง การเคลื่อนไหว ได้สร้างวินสตันขึ้นในแบบที่ถึงแก่นมาก

“การแต่งหน้าและติดอุปกรณ์เทียมที่ออกมาเหลือเชื่อมากพาคุณไปที่ประตู  แต่เป็นแกรี โอลด์แมนที่พาคุณเดินเข้าไปในความเป็นวินสตัน เชอร์ชิลล์”

ไรท์พบว่าการพูดคุยสื่อสารกับดารานำของเขา ทำให้เกิดมิติในการทำงานที่น่าแปลกใจ “ใน Darkest Hour แกรีเป็นคู่หูผม เพราะตัวเขาเองก็เป็นผู้กำกับ  หนังเรื่อง Nil by Mouth เป็นงานที่น่าทึ่งมาก  ผมสามารถพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับการทำงานในหนัง ในแบบที่เรามักไม่ค่อยเจอในนักแสดง

“ตอนเข้ามารับหน้าที่นี้ ผมคิดว่าเขาอาจจะทำงานในส่วนของเขาด้วยตัวเอง และผมคงทำส่วนอื่นๆ  แต่แกรีเป็นเพื่อนร่วมงานที่ยอดเยี่ยมมาก  เขาอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และอยากทำตามสิ่งที่ผมบอกให้ทำ  การทำ Darkest Hour ด้วยกันของเรา จึงกลายงานที่ทำให้ตื่นเต้นจริงๆ”

โอลด์แมนบอกว่า  “มีหนังหลายเรื่องที่ผมเคยทำงานด้วย ที่ผมไม่ได้เจอและคุยกับผู้กำกับเลยด้วยซ้ำ จนกระทั่งถึงตอนที่ผมเดินเข้าไปในกองถ่าย  มันจึงดีมากที่ได้ทำงานกับโจ ซึ่งเป็นคนละเอียดมาก ตั้งแต่การอ่านสคริปต์ออกเสียงดังๆตอนช่วงแรก  จนถึงบรรยากาศของหนังที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นตอนถ่ายทำ  โจมีวิสัยทัศน์สำหรับการทำงานใน Darkest Hour”


สตรีผู้อยู่เบื้องหลังบุรุษ

ดังที่ภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ เบื้องหลังบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ทุกคน คือสตรีที่ยิ่งใหญ่กว่า  ผู้หญิงที่สำคัญที่สุดในชีวิตของวินสตัน เชอร์ชิลล์ในช่วงสี่สัปดาห์ที่ตึงเครียดของฤดูใบไม้ผลิ ปี 1940 คือภรรยาที่ร่วมชีวิตกันมา 31 ปีของเขาและจะยังเคียงข้างกันต่อไป เธอคือเคลเมนทีน รู้จักกันในชื่อเคลมมี  เขากล่าวว่าการแต่งงานกับเธอเป็นความสำเร็จที่งดงามที่สุดของเขา

เธอเป็นเพื่อนที่เขาไว้ใจ, เป็นจิตสำนึกของเขา และเป็นนักวิจารณ์ของเขา  เป็นคนที่เชอร์ชิลล์ไว้ใจมากกว่าใครทั้งหมด  โจ ไรท์พูดถึงเธอว่า  “เคลมมีเป็นหุ้นส่วนของวินสตันในเรื่องนโยบาย มากพอๆกับการเป็นหุ้นส่วนชีวิต  เธอเป็นคนที่เปิดกว้างทางความคิดมากกว่าเชอร์ชิลล์ และนั่นทำให้โต้เถียงกันบ่อยๆเรื่องเสรีนิยม  บางครั้งเขาก็ฟังเธอ แต่ไม่ทุกครั้ง แต่เธอเป็นส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่งในขั้นตอนการตัดสินใจของเขา”

ในการแสดงเป็นเคลมมี บทที่ต้องการนักแสดงที่สามารถถ่ายทอดความสง่างามและโดดเด่น, ความฉลาดและหัวไว  เอริก เฟลล์เนอร์บอกว่า “จะมีใครเหมาะไปกว่าท่านผู้หญิงคริสติน สกอตต์ โทมัสอีก”

ไรท์เห็นด้วยว่านักแสดงหญิงที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์คนนี้จะเป็นคู่ที่เหมาะสมมากกับแกรี โอลด์แมนบนจอ “คุณจะฟังคริสตินทุกครั้งที่เธอพูด  ผมอยากร่วมงานกับเธอมาตลอด และอาจจะหลงรักเธอนิดหน่อยมาตั้งแต่สมัยผมเป็นวัยรุ่น”

สกอตต์ โทมัสชื่นชมผลงานเรื่อง Pride & Prejudice และ Atonement ของไรท์  “และการทำงานกับโจเป็นอย่างที่ฉันจินตนาการไว้เลยจริงๆ  เขาจะให้นักแสดงได้ทดลอง และเปิดรับความคิดทุกอย่าง ไม่ยึดติดอยู่กับวิธีใดวิธีหนึ่ง”

เธอมองว่า  “เคลมมีเป็น ‘เสาหลัก’ เธอและเชอร์ชิลล์รักและให้เกียรติกันมาก และพวกเขามีการทะเลาะกันที่น่าทึ่งที่สุด

“วิธีการจัดการของเขาช่วงหลายสัปดาห์นั้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เพื่อปลูกฝังความรู้สึกรักชาติ, ความกล้าหาญ และความภาคภูมิใจในประเทศอังกฤษ เป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก”

เช่นเดียวกับโอลด์แมน เธอพบว่า “ข้อมูลในการทำการบ้านน่ากลัวมาก  ฉันได้หนังสือมาเต็มกล่องจากทีมงาน และหนังสือทุกเล่มหนาเตอะ แต่ฉันก็ลงมืออ่านเลย และการหาข้อมูลก็น่าสนใจมาก  ฉันยังคำนึงถึงเรื่องที่คนก่อนๆที่เคยแสดงบทเคลมมีถ่ายทอดออกมายังไงด้วย  ฉันต้องหาวิธีแสดงของฉันเอง  การตีความ และภาพเคลมมีของฉันเอง”

เป็นอีกครั้ง ที่คำพูดของวินสตันช่วยนำทางให้  สกอตต์ โทมัสบอกว่า “เชอร์ชิลล์บอกไว้ในจดหมายฉบับนึงของเขา ว่าเขาคงไม่สามารถมีชีวิตผ่านพ้นช่วงสงครามมาได้ถ้าไม่มีเคลมมีอยู่เคียงข้าง  ชัดเจนว่าเธอเป็นกำลังใจให้เขาอย่างมาก แต่เธอก็มีความคิดที่เข้มข้นเกี่ยวกับการเมืองและเรื่องที่ควรจะทำในโลก และควรจะทำสิ่งต่างๆยังไง  และเธอก็บอกวินสตันอย่างนั้น”
ลิซา บรูซให้ความเห็นว่า “ทั้งทางด้านอารมณ์และความฉลาดหลักแหลม เคลมมีและวินสตันมีเท่าเทียมกัน  ไม่มีใครสามารถมองผ่านภาพภายนอกของวินสตันได้แบบที่เคลมมีทำได้  คริสตินเข้าใจเรื่องนี้ดีมาก และเธอนำมาใช้ในฉากที่เธอแสดงกับแกรี  มันเหมือนการเต้นรำกันของทั้งสองคน และการดูพวกเขาแสดงด้วยกันเป็นความสุขมาก”

โอลด์แมนบอกว่า “ผมเชื่อว่าเคลเมนทีนของคริสตินสมบูรณ์ที่สุด  เป็นการสร้างตัวละครที่น่าทึ่งมาก  ผมคิดว่าเธอกับผมเคมีเข้ากันได้ดีมากใน Darkest Hour”

สกอตต์ โทมัสบอกว่า  “ฉันลืมไปอย่างสิ้นเชิงว่านั่นคือแกรี เราเป็นวินนีและเคลมมีจริงๆ”

นักแสดงดาวรุ่งลิลี เจมส์ตอบรับงานที่เธอมองว่าเป็น “เรื่องราวที่ทรงพลังของประวัติศาสตร์ของเรา,  ประวัติศาสตร์ของทุกคน ที่เราควรจดจำและใคร่ครวญ”  เธอรับบทเป็นอลิซาเบธ เลย์ตัน เลขานุการส่วนตัวของเชอร์ชิลล์  “ฉันดีใจที่ได้เล่นหนังที่ฉันไม่ต้องเล่นเป็นแฟนใคร และไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความรัก แต่มีสายสัมพันธ์ที่สวยงามที่พัฒนาขึ้น ระหว่างเชอร์ชิลล์และอลิซาเบธ”

แอนโทนี แม็คคาร์เทนผู้เขียนบทได้แรงบันดาลใจจากอลิซาเบธตัวจริง ที่ตีพิมพ์บันทึกความทรงจำ โดยใช้ชื่ออลิซาเบธ เนล ซึ่งเป็นชื่อหลังแต่งงานของเธอ บอกเล่าเรื่องราวหลายปีที่เธอทำงานกับเชอร์ชิลล์  แม็คคาร์เทนเขียนให้ตัวละครตัวนี้ทำให้คนดูได้เห็นผู้ชายคนหนึ่งอย่างใกล้ชิดถึงข้างเวที คนที่โลกของเขาแตกต่างและห่างไกลจากชีวิตธรรมดาทั่วๆไป และไรท์ก็นำแนวคิดนี้มาถ่ายทอดในการถ่ายทำฉากเลขากับเจ้านาย
 
ไรท์บอกว่า “อลิซาเบธเป็นเหมือนตาของหนัง  ผมไม่อยากให้มีสิ่งกีดขวางระหว่างลิลีกับคนดู  มุมมองของเธอเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นมุมมองที่เข้าใจได้ง่าย และนำไปสู่แง่มุมสำคัญแง่มุมหนึ่งของเรื่องนี้ในความคิดผม นั่นคือความห่างเหินกันของวินสตันกับคนอังกฤษ แล้วก็กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ได้ใหม่ และแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม

“ส่วนหนึ่งเพราะเขาอยู่ในบรรยากาศที่ค่อนข้างเป็นความลับ รู้กันเพียงแค่ไม่กี่คน  ในเวลาที่ความเป็นผู้นำที่แท้จริงเป็นสิ่งสำคัญ เขาต้องก้าวออกมาจากหลุมหลบภัยของเขา และสัมผัสกับผู้คนตามท้องถนน  การพบปะกับประชาชนธรรมดาและรับฟังความวิตกกังวลของพวกเขาเท่านั้นที่เขาจะสามารถเข้าใจเสียงสะท้อนได้ดีที่สุด  นั่นเป็นผลของการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่เขากำลังทำอยู่”

เจมส์บอกว่า  “ฉันชอบอ่านหนังสืออัตชีวประวัติของอลิซาเบธ  เธอรู้ว่าเธอมีหน้าที่ที่ต้องทำ และมีจิตวิญญาณในการต่อสู้  หนังสือของเธอเต็มไปด้วยความเคารพยกย่อง และคุณจะเห็นได้เลยว่าเธอรักเชอร์ชิลล์จริงๆ  ฉันคิดว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานใกล้ชิดกับเขาทุกคนก็เช่นกัน  เขาเป็นคนที่ดุดันอย่างไม่น่าเชื่อ และเข้มงวด และต้องการให้สิ่งต่างๆเป็นอย่างที่เขาต้องการ แต่ก็มีความเอื้ออาทร และมีไหวพริบและอารมณ์ขันที่น่าทึ่งมาก

“ฉันแทบไม่ได้เห็นแกรี โอลด์แมนในแบบที่ไม่ได้แต่งตัวแต่งหน้าเต็มในบทเชอร์ชิลล์   เขากล้าหาญมากและใจดีกับฉันมาก ในแบบที่นักแสดงมีต่อกัน”  เธอเสริมว่า “โจสร้างบรรยากาศในการถ่ายทำ ที่ทำให้คุณสัมผัสถึงความเป็นปุถุชนของตัวละครได้ มากกว่าความหนักของการเมืองและประวัติศาสตร์ 

“การสร้างสรรค์รูปลักษณ์ของตัวละครร่วมกับแจ็คเกอลีน เดอร์แรนและอิวานา พริโมแร็กรู้สึกถึงความเป็นทีมมาก โจไว้ใจให้ทุกคนทำงานร่วมกัน”

อิวานา พริโมแร็กผู้ออกแบบการแต่งหน้าและทรงผมบอกว่า  “ลิลีมีความเป็นสาวยุคใหม่มากๆ แต่เราก็สามารถเปลี่ยนเธอให้เป็นผู้หญิงธรรมดาคนนึงในยุคทศวรรษที่ 40”

ตลอดการถ่ายทำ เจมส์จำรายละเอียดที่เจาะจงหลายอย่างได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ “อลิซาเบธต้องตามเขาตลอด แม้กระทั่งในรถเขา เธอจะอยู่ที่นั่นพร้อมกระดาษจดโน้ตหรือพิมพ์ดีด  ฉันใช้เวลาสองสามเดือนเรียนการพิมพ์ดีดอย่างมืออาชีพโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นโบราณ 

“พูดง่ายๆ คืออลิซาเบธจะอยู่ในหน้าที่ตลอด และฉันต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในมุมมองของการเป็นหญิงสาววัยต้นยี่สิบ ที่ได้ทำงานใกล้ชิดมากกับคนที่เป็นอัจฉริยะ ทำงานเกี่ยวกับสุนทรพจน์และโทรเลขที่อาจจะเปลี่ยนแปลงอนาคตของเรา” 
เดอร์แรนให้ตัวละครตัวนี้มีพัฒนาการของเสื้อผ้ามากกว่าตัวละครอื่นๆในหนัง  ในขณะที่ตอนแรกอลิซาเบธจะใส่ชุดกระโปรงแบบน่ารัก แต่หลังจากนั้นเราจะเห็นเธอแต่งตัวด้วยความมั่นใจมากขึ้น ด้วยชุดสูทเข้ารูปและเสื้อไหมพรมถัก เมื่อเธอก้าวตามให้ทันการทำงานในหน้าที่รับผิดชอบของเชอร์ชิลล์

ลิซา บรูซบอกว่า  “อลิซาเบธเป็นเหมือนดอกไม้สดใสที่โผล่ขึ้นมาที่ห้องใต้ดิน ท่ามกลางบุรุษอาวุโสที่ทรงอำนาจเหล่านี้  เธอนำพลังที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงมาสู่เรื่องราวและความสัมพันธ์  เชอร์ชิลล์สามารถลดความระมัดระวังตัวลงได้นิดหน่อยเวลาอยู่กับเธอ และเธอทำให้คุณเห็นร่องรอยบางอย่างในความเป็นเขา ที่คุณจะไม่ได้เห็นถ้าไม่ใช่เพราะเธอ

“ลิลีมีธรรมชาติของความอยากรู้อยากเห็นอยู่ในตัวเธอ แต่เธอก็แสดงให้เห็นถึงความไร้เดียงสาของอลิซาเบธ และความจงรักภักดีต่อเชอร์ชิลล์ที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน   อลิซาเบธตัวจริงเขียนหนังสือเล่าเรื่องที่ว่าเขาทำงานด้วยยากแค่ไหน แต่เป็นคนที่เป็นแรงบันดาลใจมาก และเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตเธอ และการแสดงของลิลีทำให้เรื่องราวที่เรากำลังบอกเล่ายอดเยี่ยมขึ้นไปอีก”

happy on January 07, 2018, 05:23:08 PM

คนร่วมยุคสมัย

แม้จะอยู่ในรัฐสภามาหลายปี แต่วินสตัน เชอร์ชิลล์ไม่เคยถูกมองในฐานะคนที่มีความไปได้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี  ความคิดนั้นดูเหมือนจะเปลี่ยนไปในวันที่ 10 พฤษภาคม 1940 เมื่อพระเจ้าจอร์จที่หกแต่งตั้งเขาขึ้นดำรงตำแหน่ง เพียงแต่ว่า เมื่อเขารับหน้าที่นั้น เขาก็ยังได้รับการสนับสนุนน้อยมากจากพรรคการเมืองของเขาเอง คือพรรคอนุรักษ์นิยม (หรือทอรีส์) หรือจากกลุ่มชนชั้นนำของอังกฤษ

ถึงแม้เขาจะเชิญนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่ง คือเนวิลล์ เชมเบอร์เลน และไวเคานต์ฮาลิแฟกซ์ (รู้จักกันในชื่อเอ็ดเวิร์ด) เข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรีสงครามของเขาในทันที เชอร์ชิลล์ก็รู้ดีว่าเชมเบอร์เลนยังคงมีอิทธิพลในพรรคอนุรักษ์นิยม และฮาลิแฟกซ์เคยเป็นตัวเลือกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของหลายคน รวมถึงพระเจ้าจอร์จที่หก

นักแสดงที่ได้รับรางวัลเอ็มมี เบน เมนเดลซอห์น ซึ่งได้รับเลือกให้มารับบทพระเจ้าจอร์จที่หกบอกว่า “Darkest Hour สำรวจความรู้สึกของพระเจ้าจอร์จที่หกที่มีต่อเชอร์ชิลล์และสงคราม  เป็นช่วงเวลาที่กดดันอย่างที่สุดสำหรับทั้งสองคน และมีเส้นทางที่แคบมากที่พวกเขาต้องนำทางไปด้วยกัน
“ผมดีใจมาก แต่ก็แปลกใจ ตอนถูกทาบทามให้มารับบทเป็นพระองค์  ผมคิดว่าการรับบทเป็นคนอังกฤษที่มีสถานะสูงส่งเช่นนี้ เป็นความท้าทายที่ดีเกินกว่าจะปฏิเสธได้”

ลิซา บรูซเล่าว่า “เป็นความคิดของโจในการเลือกเบนมารับบทนี้  การเป็นคนออสเตรเลียทำให้เบนต้องทำการบ้านอย่างหนักเรื่องสำเนียงการพูด รวมถึงร่องรอยการพูดติดอ่างของพระองค์ ซึ่งเขาทำได้  ส่วนเรื่องรูปร่างหน้าตา ยิ่งคล้ายเข้าไปใหญ่”

โจ ไรท์อธิบายว่า “ตั้งแต่แรกเลย ผมรู้ว่าผมอยากได้เบนมาแสดงบทนี้  ผมชอบการแสดงของเขาใน Starred Up และผมเห็นพลังในตัวเขาที่สามารถไปถึงจุดที่เข้มข้นที่สุดของการแสดง  เบนเป็นคนที่มีอะไรอยู่ข้างในมากมาย ซึ่งทำให้ฉากระหว่างพระเจ้าจอร์จที่หกกับวินสตันมีพลังมากยิ่งขึ้น”

อิวานา พริโมแร็กเล่าว่า  “โจจะเลือกนักแสดงที่ดีที่สุดสำหรับบทนั้นเสมอ และแจ็คเกอลีน เดอร์แรนกับฉันและแผนกของเราจะร่วมมือกันกับนักแสดง ในการสร้างสรรค์ตัวละคร 

“เบนแทบจะออกไปอยู่หน้ากล้องในแบบที่เขาเป็นได้เลย แต่เราต้องการความรู้สึกของการเป็นกษัตริย์อีกนิด  เราแต่งตัวให้เขาเพิ่มขึ้น รวมถึงทรงผม เพื่อให้มีส่วนของความเป็นพระเจ้าจอร์จที่หก และนั่นทำให้เบนยืนและเดินในแบบที่ต่างจากเดิม  เขาทำให้บทที่แสดงมีตัวตนอย่างสมบูรณ์  ตอนคุณเห็นเชอร์ชิลล์กับพระองค์อยู่ด้วยกันมันเยี่ยมมาก เพราะเชอร์ชิลล์เป็นตัวละครที่สำคัญมาก แต่ทันใดนั้นเขาก็ดูเหมือนตัวเล็กนิดเดียว ดูยุ่งเหยิงและยับย่นไปหมด และฉากเหล่านี้ทำให้คุณประหลาดใจ”

แกรี โอลด์แมนบอกว่า “โคลิน เฟิร์ธ (รับบทเป็นพระเจ้าจอร์จที่หก ใน The King’s Speech) แสดงไว้ดีมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่มาทีหลัง แต่เบนทำออกมาได้เยี่ยมมาก เขามีการตีความบทพระเจ้าจอร์จที่หกในแบบของเขา

“เบนโทรหาโจและพูดว่า ‘มีตัวอาร์เยอะเกินไปในฉากของผม’  เขาละเอียดอ่อนกับความรู้สึกของคนที่พูดติดอ่าง ซึ่งเรารู้ว่าพระเจ้าจอร์จที่หกทรงเป็น และหลีกเลี่ยงคำบางคำเพื่อคนอื่น  เบนอ่านบทหนังทั้งหมด และสิ่งที่เขาเสนอมาก็มีเหตุผลมาก  ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนั้นในฉากที่เราแสดงร่วมกัน”

เมนเดลซอห์นบอกว่า “คุณไม่อยากตกหล่นอะไรในสิ่งที่คุณกำลังทำ ในแง่ของความพยายามที่คุณใช้ในการทำสิ่งนั้น  ในขณะที่ผมไม่ได้พยายามเลียนแบบให้เหมือนพระเจ้าจอร์จที่หก ผมก็พยายามจะถ่ายทอดออกมาในแง่ของการตีความ และมีหลายสิ่งที่เราอยากถ่ายทอดออกมาให้ถูกต้อง”

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ถูกชวนให้มาแสดงร่วมกับแกรี โอลด์แมน เพราะเขาเป็นนักแสดงของนักแสดง  นี่เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดแล้ว ที่เราจะได้อยู่ในห้องเดียวกับวินสตัน เชอร์ชิลล์”

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเชอร์ชิลล์กับพระเจ้าจอร์จที่หกพัฒนาขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1940  ยุทธวิธีและความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันที่เชอร์ชิลล์มีกับเชมเบอร์เลน, ฮาลิแฟกซ์ และคนอื่นๆ ถูกบันทึกไว้ในรายงานการประชุมที่แม็คคาร์เทนได้อ่าน  หลายเรื่องถูกถ่ายทอดแบบคำต่อคำใน Darkest Hour

สำหรับไรท์ ฉากในวอร์รูม “เป็นส่วนสำคัญที่สุดของหนัง และเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวที่เราถ่ายทอด  บทสนทนาในบทหนังของแอนโทนีสำหรับฉากเหล่านั้น นำมาจากบันทึกการประชุม ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้น  ผมอยากลองจัดฉากเหล่านั้นเป็นละครเวทีที่ถ่ายทำในมุมมองแบบภาพยนตร์ ที่มีนักแสดง 17 คนอยู่ในที่เดียวกัน  บ่อยครั้ง คนมักจะนึกถึงการถ่ายภาพแบบหนังว่าคือการถ่ายภาพทิวทัศน์ในมุมกว้าง ในขณะที่สำหรับผม ภาพยนตร์เป็นเรื่องของจุดมุ่งหมายในการนำเสนอ มากกว่าการเป็นผืนผ้าใบ”

“มีการจัดตำแหน่งของตัวละครให้ผมด้วย โดยวินสตันเอง  เขาจะให้คนในวอร์รูมที่มีความเห็นตรงข้ามกับเขานั่งเผชิญหน้าเขา  การทำแบบนี้ป้องกันไม่ให้พวกนั้นพูดอะไรลับหลังเขา”

แม็คคาร์เทนบอกว่า  “ข้างนึงคือฝ่ายที่สนับสนุนการเจรจาสันติภาพกับนาซี อีกข้างคือฝ่ายที่ปลุกเร้าให้คนในชาติยืนหยัดและสู้กับฮิตเลอร์  ความขัดแย้งของวินสตันกับฮาลิแฟกซ์ทำให้การโต้เถียงเหล่านี้ตกผลึก  การดูและฟังพวกเขาจะทำให้คนดูต้องพิจารณาสิ่งที่สหราชอาณาจักรและเชอร์ชิลล์กำลังเผชิญอยู่เช่นกัน”
 
ไรท์บอกว่า “เราไม่ต้องการทำหนังที่บอกแค่ว่าเชอร์ชิลล์ยิ่งใหญ่  เรารู้สึกว่าจริงๆแล้วคนดูควรจะได้ฟังการโต้แย้งกัน และไคร่ครวญเรื่องเหล่านั้น  สิ่งสำคัญที่สุดเกี่ยวกับเชอร์ชิลล์คือเขาเองก็ทำแบบนั้น   ในฐานะผู้นำ เขาฟังและพิจารณามุมมองของคนอื่น แล้วจึงตัดสินใจ  เราแสดงให้เห็นแบบนี้มากกว่าหนึ่งครั้งใน Darkest Hour

“ในฉากเหล่านั้น ผมหวังว่าคนดูจะฟังฮาลิแฟกซ์ และพิจารณาจุดยืนของเขาอย่างถี่ถ้วน  ถ้าอังกฤษไม่ชนะสงคราม ฮาลิแฟกซ์อาจจะเป็นฝ่ายถูกก็ได้ใช่ไหม  นอกจากนี้ เชอร์ชิลล์ก็คงไม่ได้เป็นวีรบุรุษ  การชนะสงครามประกอบด้วยทางเลือกมากมาย, โชคมากมาย, ความย่อยยับ และอย่างอื่น”

เขาบอกด้วยความโล่งใจว่า “ประวัติศาสตร์พิสูจน์ว่าเชอร์ชิลล์ตัดสินใจถูก และนั่นควรค่าแก่การฉลอง  แต่ในเดือนพฤษภาคม 1940 การพิจารณาวิถีทางของการเจรจาสันติภาพเป็นสิ่งที่มีเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่อังกฤษไม่มีกองทหารอีกแล้ว  กำลังของกองทัพบกติดอยู่ที่ดันเคิร์ก อีกฟากของช่องแคบ  ถ้าพวกเขาจะทำลายให้สิ้นซาก ตอนนั้นสหราชอาณาจักรก็คงไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลย”

สำหรับบทฮาลิแฟกซ์ ชนชั้นสูงที่มีความศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า ไรท์รู้สึกว่าเขาต้องการนักแสดงที่สามารถแสดงให้เห็นถึงอำนาจและความเชื่อมั่น มากกว่าจะล้อเลียนความเป็นศัตรูกัน  ชื่อของสตีเฟน ดิลเลน นักแสดงเจ้าของรางวัลโทนีผุดขึ้นมาในตอนคัดเลือกนักแสดง และไรท์ก็สนใจ  “สตีเฟนเป็นนักแสดงที่ละเอียดถี่ถ้วน ผมรู้ว่าเขาจะสามารถสื่อสารการโต้แย้งออกมาได้ครบถ้วนชัดเจน ในแบบที่จะทำให้คนดูต้องพิจารณาข้อถกเถียงเหล่านั้น  เขาแสดงให้เห็นถึงความจริงจังทางศีลธรรม และผมคิดว่าเขาจะโน้มน้าวคนดูได้ว่าฮาลิแฟกซ์อาจมีประเด็น  การโต้แย้งของเขามีเหตุผล”

แม็คคาร์เทนให้ความเห็นว่า “เราไม่สามารถทำหูทวนลมต่อการถกเถียงกันเพื่อสันติ แต่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเชอร์ชิลล์บอกเขาว่าประเทศที่ยอมแพ้อย่างน่าสังเวช ไม่เคยฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่ง  ในขณะที่ประเทศที่ต่อสู้จะมีชีวิตรอด เพื่อสู้อีกครั้ง”

ในการทำให้บทฮาลิแฟกซ์มีตัวตนขึ้นมา ดิลเลนทำงานอย่างใกล้ชิดกับพริโมแร็ก เธอบอกว่า “รวมถึงการโกนผมครึ่งศีรษะของเขาด้วย”  และในการหาข้อมูล ดิลเลนพบว่ามีงานที่หนักและยากรอเขาอยู่  “หาคนที่เต็มใจจะพูดเข้าข้างเขายากมาก  ฮาลิแฟกซ์กลายเป็นบุคคลที่อยู่ผิดฝั่งของประวัติศาสตร์ และมันยากที่จะมองเรื่องนั้นด้วยความคิดที่เป็นกลาง แทนที่จะมองด้วยความเข้าใจผิดๆ  สิ่งน่าสนใจที่น่าคิด คือเขาเชื่ออย่างไรและเมื่อไหร่ ว่าเขาจะสามารถเป็นผู้นำของพรรคอนุรักษ์นิยมได้ และจะมีการใช้กำลังทหารหรือไม่”

ลิซา บรูซบอกว่า  “สตีเฟนตั้งคำถามในทุกแง่มุมเกี่ยวกับฮาลิแฟกซ์ในอีกหลายด้านของเขา   เขาเพิ่มความลึกในการสร้างลักษณะของตัวละคร ทำให้ฉากวอร์รูมมีพลังยิ่งขึ้น”

นักแสดงอาวุโสมากประสบการณ์ โรนัลด์ พิกอัพ เข้ามารับบทเป็นเนวิลล์ เชมเบอร์เลนหลังการเสียชีวิตของจอห์น เฮิร์ต ซึ่งเป็นผู้ที่จะรับบทนี้ในตอนแรก  “เนวิลล์ เชมเบอร์เลนเห็นชอบกับการเจรจาสันติภาพกับฮิตเลอร์ และสภาผู้แทนราษฎรคัดค้าน ทำให้เขาต้องลาออก  แต่ยังคงเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และยังมีอิทธิพลในพรรคอยู่ค่อนข้างมาก  เขาสวมเครื่องแบบที่บอกถึงความเป็นคนในยุคของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด (ที่ 7)”

ดักลาส เออร์เบินสกีบอกว่า “รอนผสมผสานความอ่อนแอและเข้มแข็งให้กับบทนี้  ในการแสดงของเขา แค่สายตาเขา คุณจะเห็นอะไรมากมายในเชมเบอร์เลนในช่วงหลายสัปดาห์นั้น

“หลายคนคิดว่าเชอร์ชิลล์กับเชมเบอร์เลนเป็นคู่แข่งกัน  แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ คือเชอร์ชิลล์กล่าวคำสดุดีไว้อาลัยที่ไพเราะมากต่อหน้าสภาผู้แทนราษฎร หลังการเสียชีวิตของเชมเบอร์เลน”

พิกอัพพบว่าการแสดงกับโอลด์แมน “ทั้งกลัวจนหนาว ทั้งประทับใจ กับการที่แกรีทำให้วินสตันมีตัวตนขึ้นมาจริงๆ  มีพลังชีวิตในการแสดงของเขา  ผมคิดว่าเขาเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะเขาทำโดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ  บทหนังที่เขียนอย่างสวยงามของแอนโทนีไม่ตัดสินใครหรืออะไรใดๆทั้งสิ้น โจกันเราจากสิ่งที่มากเกินความจำเป็น และเขารักตัวละครทุกตัวของเขา”

ทีมนักแสดงได้ประโยชน์จากการเป็นคน “ใส่ใจในรายละเอียดมาก” ของไรท์  บรูซบอกว่า “ฉันไม่เคยทำหนังเรื่องไหนที่ผู้กำกับจะใช้เวลาสองสัปดาห์ในการซ้อมอย่างเต็มที่กับนักแสดง และให้พวกเขาได้ค้นหาจริงๆ ว่าตัวละครเป็นใคร  นักแสดงหลายคนบอกว่าเป็นสิ่งที่หายากมาก”

โอลด์แมนบอกว่า “นั่นคือ 10 สัปดาห์ที่เป็นความสนุกสุดๆสำหรับผม เพราะผมไม่ได้ซ้อมมากขนาดนี้นับตั้งแต่สมัยเล่นละครเวที”

บรูซเสริมว่า “โจนำนักค้นคว้าและนักประวัติศาสตร์มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักแสดง จัดพาไปทัศนศึกษาหลายที่  เขาเป็นคนทำหนังในอีกระดับหนึ่งเพราะแนวทางการทำงานแบบนี้   เห็นได้ชัดเจนในหนังที่ออกมา เพราะคุณไม่รู้สึกว่ากำลังดูอะไรที่เลียนแบบ การทำการบ้านในการตีความของเขาละเอียดมาก”


การสร้างฉาก

ฉากหลังของ Darkest Hour คืออังกฤษที่อยู่ในสภาพผุกร่อน  สงครามโลกครั้งที่หนึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศและแรงงาน และเวลาสองทศวรรษ ประเทศก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวด้านอุตสาหกรรมหรือกองทัพอย่างที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น และเตรียมเผชิญกับมาตรการรัดเข็มขัดต่อไปอีกเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น
ในการถ่ายทอดสภาพของประเทศ โจ ไรท์ใช้บริการของทีมนักออกแบบงานสร้างและผู้สร้างฉากที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ ซาราห์ กรีนวู้ดและเคที สเปนเซอร์ “เราทำงานด้วยกันเป็นทีม และซาราห์กับเคทีก็มีบทบาทสำคัญมากในขั้นตอนนั้น  หลังจากทำงานด้วยกันมาหลายเรื่อง เราสื่อสารสั้นๆก็เข้าใจกัน”

หนึ่งในการสื่อสารสั้นๆก็เข้าใจกัน คือฝ่ายฉากต้องออกแบบฉากให้เป็นวงกลม เพราะไรท์ชอบให้มีความยืดหยุ่นสำหรับการทำงานของกล้องและนักแสดง

ไรท์ให้คำนะนำกับทั้งคู่ว่า “ลอนดอนปี 1940 ไม่เหมือนตอนนี้  มันสกปรกและเลอะกว่านี้  ดังนั้นเราจึงหลีกเลี่ยงสถานที่เก่าแก่ของลอนดอน”

โซฟาขาดหลุดลุ่ยสีเหลืองหม่น สีฟ้าซีด และพรมที่ใช้จนเก่าถูกขนเข้ามา  ฉากภายในบ้านพักของนายกรัฐมนตรีที่เลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ถูกลดโทนสีลงเพื่อให้สอดคล้องกับงานภาพของผู้กำกับภาพที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ บรูโน เดลบอนเนล  กรีนวู้ดบอกว่า  “การทำฉากภายในของบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง เราโชคดีมากที่เจอบ้านแบบสถาปัตยกรรมจอร์เจียถูกทิ้งร้างในยอร์กเชียร์ ซึ่งเราสามารถทำอย่างที่เราต้องการได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงการปรับให้เป็นวงกลมอย่างที่โจต้องการ”

ฝ่ายศิลป์ไม่ได้ถูกขอให้ทำออกมาให้เหมือนบ้านเลขที่ 10 ทุกอย่าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีข้อมูลไม่มากว่าภายในของบ้านเป็นอย่างไรในปี 1940  ฝ่ายศิลป์จึงใช้ข้อจำกัดนี้ให้เป็นประโยชน์กับพวกเขา  “มันให้อิสระกับเราในการสร้างสรรค์ของเราเอง ความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง แต่ก็ไม่มีอะไรเหมือนบ้านเลขที่ 10  อย่างเช่นบันไดก็หันไปคนละด้าน”

ฉากพระราชวังบัคกิงแฮมก็ใช้สถานที่อื่นแทน คือเวนท์เวิร์ธ วู้ดเฮาส์ ซึ่งเป็นบ้านแบบนีโอคลาสสิกที่ครองตำแหน่งบ้านที่เป็นของเอกชนหลังใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร 

เดลบอนเนลต้องจัดแสงฉากภายในผ่านทางช่องเล็กๆหลายช่อง เพราะกรีนวู้ดและทีมงานของเธอ “ปิดหน้าต่างด้วยบานเกล็ดใหญ่ยักษ์ที่มีแต่ไม้ระแนง อีกอย่าง พระราชวังบัคกิงแฮมก็ไม่สว่างไสวมากนักในช่วงเวลาที่ตึงเครียดแบบนั้น ให้อารมณ์ความรู้สึกของคนในชาติ มันดูสงบกว่าเยอะเลย”

ส่วนการสะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลาสี่สัปดาห์ของเชอร์ชิลล์ที่ถ่ายทอดออกมาในหนัง สถานที่สองแห่งที่งานด้านภาพมีลักษณะโดดเด่นที่สุด คือสภาผู้แทนราษฎร และวอร์รูม (ห้องบัญชาการสงคราม)   และความถูกต้องในสองฉากนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด

ห้องวอร์รูมของจริงถูกเก็บรักษาเป็นพิพิธภัณฑ์ และไม่สามารถเข้าไปถ่ายทำได้  แต่ทีมผู้สร้างได้ไปวัดสถานที่และถ่ายรูปห้องนั้นมา  แกรี โอลด์แมนใช้เวลาหลายชั่วโมงซึมซับบรรยากาศของห้องอย่างเต็มที่ และได้รับอนุญาตให้นั่งที่เก้าอี้ของเชอร์ชิลล์

สำหรับการจำลองห้องนี้ขึ้น  หลายเดือนของการวางแผนงานและค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ทีมงานจำลองหลุมหลบภัยเพดานต่ำที่เชอร์ชิลล์และคณะรัฐมนตรีสงครามของเขาประชุมวางแผนยุทธศาสตร์และถกเถียงกันออกมาได้น่าทึ่งมาก  ฉากนี้สร้างขึ้นที่โรงถ่ายอีลิงของอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ภาพยนตร์คลาสสิกหหลายเรื่องถ่ายทำที่นี่ เช่น The Ladykillers และ It Always Rains on Sunday  ฝ่ายออกแบบและสร้างฉากเก็บรายละเอียดได้ครบไม่มีอะไรหลงหูหลงตา แม้กระทั่งแบบและสีของหมุดที่ใช้ปักแผนที่

โอลด์แมนบอกว่า  “หมุดปักตรงตามตำแหน่งนั้นจริงๆ  มันเหมือนห้องวอร์รูมของจริงจนขนลุก  เป็นฉากที่ออกแบบได้เยี่ยมที่สุดฉากหนึ่งในหนังที่ผมเคยแสดงมาเลย  การเก็บรายละเอียดดีจนน่าตะลึง  ผมเปิดดูหนังสือสองสามเล่มที่ ‘วางอยู่ทั่ว’ และมันกลายเป็นสมุดบันทึกและบันทึกประจำวันที่ทำเลียนแบบขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง”

ลิลี เจมส์ช่วยยืนยัน “มันน่าทึ่งจริงๆ ฉันเปิดลิ้นชักออกมา มีน้ำตาลที่ได้รับการปันส่วนมา รวมทั้งดินสอที่เหลาจนสั้นเพราะใช้มานาน”

ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ ฟิล รีด เคยทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ห้องวอร์รูมของจริงนานถึง 23 ปี ซึ่งเขาบอกว่า “อาจจะเป็น 23 ปีที่ดีที่สุดในชีวิตผม”  รีดชื่นชมฉากที่แผนกของกรีนวู้ดและสเปนเซอร์จำลองขึ้น “งานอิฐ, งานคาน แม้แต่ระบบการเติมอากาศก็ยังเหมือนของดั้งเดิม  สำหรับส่วนประกอบบางอย่างต้องทำในอัตราส่วนที่ต่างจากของเดิม เพราะกล้องจะต้องเข้าไปถ่ายข้างในและอื่นๆอีก  แต่บรรยากาศและความรู้สึก พวกเขาทำออกมาได้ตรงมาก กระตุ้นความทรงจำอย่างมาก”

ฝ่ายศิลป์สร้างสรรค์สถานที่ที่เป็นจุดศูนย์กลาง มีความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง  ในห้องเต็มไปด้วยโทรศัพท์, เอกสารกองพะเนิน, แผนที่ทวีปยุโรป และบริเวณที่นอนที่ยับยู่ยี่  กรีนวู้ดบอกว่า “วอร์รูมเป็นเหมือนความยุ่งยากที่ค่อยๆซับซ้อนขึ้น และจากตรงนั้นทำให้เชอร์ชิลล์มองการณ์ไกลว่าควรจะทำอะไร  บทสนทนาในบทหนังถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก เรื่องที่พวกเขาเก็บข่าวที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งไว้ และการตัดสินใจว่าควรจะบอกกับคนในชาติมากแค่ไหน และเมื่อไหร่”

เจมส์บอกว่า  “ข้างล่างนั่นค่อนข้างยุ่งเหยิง และคุณจะเห็นเลยว่าคนอาจจะเกิดอาการคลุ้มคลั่งได้  โจและบรูโนถ่ายทำฉากของเราออกมาดีมาก คนดูต้องประหลาดใจแน่นอน”

ดักลาส เออร์เบินสกีเล่าว่า “ฝ่ายศิลป์ทำฉากออกมาได้น่าทึ่งมาก มีผนังห้องค่อนข้างหนา แต่ก็สามารถยกผนังออกได้ เพื่อโจจะได้มองภาพในมุมอื่น และกล้องของเดลบอนเนลจะเข้าใกล้ตัวละครได้มากขึ้น”

ไรท์บอกว่า  “เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญของหนังเกิดขึ้นในห้องข้างล่างนั่น  เราจึงอยากได้บรรยากาศอึดอัดของการอยู่ในที่แคบ และความกดดันที่มีต่อคนในห้องนั้น แต่ก็มีความรู้สึกของความมุ่งมั่นด้วยเช่นกัน  ไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยใดๆในวอร์รูม และยิ่งน่าประทับใจขึ้นไปอีก เมื่อคุณคิดว่าพวกเขาทำงานกันยังไงด้วยอุปกรณ์พื้นฐานขนาดนั้น  ผมคิดว่านั่นก็น่าสะเทือนใจเช่นกัน”

ฉากสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ข้างบนถูกสร้างให้สูงเด่น เพื่อให้แตกต่างกับวอร์รูมที่อยู่ข้างล่าง  สภาผู้แทน (ในสภาพดีที่เป็นอยู่ ก่อนจะได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดที่กรุงลอนดอนของฝ่ายเยอรมันในอีกไม่กี่เดือนต่อมาของปี 1940)  ถูกสร้างจำลองขึ้นที่โรงถ่ายลีฟส์เดนของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ 

กรีนวู้ดบอกว่า  “การสร้างฉากขึ้นทำให้โจและบรูโนมีพื้นที่ในการทำงานมากขึ้น มีตอนนึง เรากำลังจะเข้าไปถ่ายทำในสถานที่จริงของสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้มันจะถูกบูรณะขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แต่พวกเขาบอกว่าเรา หรือนักแสดงคนไหนก็ตาม จะนั่งเก้าอี้ยาวในสภาไม่ได้”

โจ ไรท์หัวเราะ “มีแค่สมาชิกรัฐสภาด้านหลังเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้นั่งที่นั่งของสภา  เราเลยต้องทำที่นั่งของเราเอง  เราเลือกไม้เนื้อดีกว่า สีเข้มกว่า ทำให้มันดูเหมือนยุควิกทอเรียมากกว่า”

กรีนวู้ดบอกว่า  “มันเป็นฉากที่ใหญ่และยาก และนิค กอตต์ชอลค์ (ผู้ดูแลฝ่ายศิลป์)  ก็คิดอย่างรอบคอบว่าเราจะทำได้มากแค่ไหน รวมทั้งเรื่องงบประมาณด้วย แต่สุดท้ายแล้วมันก็คุ้ม เพราะทำให้เรามีพื้นที่และอัตราส่วน ทำให้บรูโนจัดแสงและเคลื่อนกล้องไปมาได้” 

ไรท์บอกว่า “บทหนังทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเพื่อไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่น คือสุนทรพจน์ที่ไม่มีวันลืมของวินสตัน ในวันที่ 4 มิถุนายน 1940” 

นักแสดง 450 คนที่อยู่ด้านหลัง เป็นตัวแทนสมาชิกทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงาน ได้รับการดูแลเครื่องแต่งกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าโดยแผนกของแจ็คเกอลีน เดอร์แรน  “กลุ่มคนที่อยู่ที่นั่นจะถูกปลุกเร้าให้ตอบสนองต่อสุนทรพจน์ของวินสตัน และส่งเสียงโห่ร้องและสนับสนุนเขา”  ไรท์พยายามรักษาพลังที่เกิดขึ้นไว้ในระหว่างพักแต่ละเทค ด้วยการเปิดเพลงให้พวกเขาฟัง รวมทั้งเพลง “Hey Jude” ของเดอะ บีทเทิลส์ 

กรีนวู้ดบอกว่า  “มีหลายช่วงที่แกรีกล่าวคำพูดเหล่านั้นและคุณรู้สึกทึ่งมาก ไม่ว่าจะเป็นตอนอยู่ในหลุมหลบภัย หรือในสภา  คุณจะรู้สึกว่าคุณอยู่ตรงนั้นด้วย และได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานตอนที่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์กำลังเกิดขึ้น”

happy on January 07, 2018, 05:24:36 PM
การเดินตามรอยเท้า

ใน Darkest Hour ตอนที่เชอร์ชิลล์ก้าวยาวๆผ่านห้องโถงเซนต์. สตีเฟน’ส แล้วถอดหมวกและยกไม้เท้าแสดงความเคารพรูปปั้นของนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆในอดีต  ฉากนั้นแกรี โอลด์แมนเดินผ่านชั้นนั้นของรัฐสภาจริงๆ 

ทีมผู้สร้างขออนุญาตและได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในอาคารรัฐสภา หรือที่รู้จักกันในชื่อพระราชวังเวสต์มินสเตอร์  Darkest Hour เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปข้างใน เรื่องแรกคือ Suffragette  ขั้นตอนการอนุญาตตามคำขอใช้เวลานานหกเดือน

นักแสดงและทีมงานต้องเจอกับการตรวจสอบด้านความปลอดภัยระดับสูงสุดในการถ่ายทำ อุปกรณ์ทุกชิ้นและรถทุกคันต้องถูกนำไปตรวจในสถานที่เฉพาะ และเมื่อผ่านการตรวจสอบ พวกเขาต้องปฏิบัติตามตารางการถ่ายทำและการใช้เส้นทางที่กำหนดอย่างเข้มงวดในการขนคนและอุปกรณ์มายังรัฐสภา ถ้ามีการคลาดเคลื่อนใดๆจากเส้นทางที่กำหนดไว้ ทุกคนและทุกอย่างจะต้องกลับไปที่จุดตั้งต้นอีกครั้ง  โชคดี ที่เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว

รัฐสภาอนุญาตให้ Darkest Hour เข้าไปที่ห้องโถงเซนต์. สตีเฟน’ส และพระราชวัง โดยไม่มีคำสั่งให้ปรับเปลี่ยนสคริปต์แต่อย่างใด และอนุญาตให้สูบซิการ์ของเชอร์ชิลล์ในฉากนั้นด้วย
ในขณะที่ฉากภายในบ้านพักของนายกรัฐมนตรีที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ แต่ภายนอกของบ้านคือสถานที่จริง  มีการตรวจทุกอย่างอย่างละเอียดเช่นกัน และหนังเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สองเท่านั้นที่ได้เข้าไปในที่ที่หนังหลายเรื่องไม่สามารถเข้าไปได้  ก่อนหน้านั้นจนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ บ้านเลขที่ 10 เคยอนุญาตให้เฉพาะทีมงานของภาพยนตร์สารคดีและข่าวเท่านั้นเข้าไปถ่ายทำที่นั่น  เป็นอีกครั้งที่ขั้นตอนการอนุญาตที่ใช้เวลาหลายเดือนทำให้ได้เข้าไปถึงสถานที่ที่ช่วยให้ภาพในหนังสมจริงมากขึ้น  มีการตรวจสอบประวัติของทีมงานและรถ แต่ทุกคนตื่นเต้นมากที่กล้องของบรูโน เดลบอนเนลจะตามโอลด์แมนในบทเชอร์ชิลล์ผ่านถนนเข้าไปได้ ไม่ใช่แค่จับภาพเขาตรงทางเข้า

วันที่เศร้าที่สุดของการถ่ายทำ คือวันรำลึกถึงผู้ที่สละชีวิตในสงครามโลกทั้งสองครั้ง (Remembrance Sunday) ของปี 2016 (ซึ่งตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน วันจริงของวันรำลึกเหตุการณ์) ตอนที่ป้อมคาเลส์ (ซึ่งถูกโจมตีเมื่อเดือนพฤษภาคม 1940) ถูกจำลองขึ้นใหม่ที่ป้อมแอมเฮิร์สต์ ในเมืองแชแธม  นักแสดงประกอบ 110 คนในชุดทหารแสดงในฉากที่ฝ่ายเยอรมันบุกยึดป้อมคาเลส์  ไรท์ขอให้เปิดเพลง “Sleep” ของแม็กซ์ ริกเทอร์เพื่อสร้างอารมณ์  กองกำลังผสมของทหารฝรั่งเศสและอังกฤษรวมพลังกันต้านทานการโจมตีอย่างหนักของทหารเยอรมันไว้ถึงสามวัน เพื่อให้มีเวลาอพยพกำลังพลที่ดันเคิร์ก แต่ก็แลกมาด้วยความพินาศของที่ตั้งกองทหารแห่งนี้ 

เดลบอนเนลและไรท์วางแผนการถ่ายทำฉากนี้ ว่ากล้องจะเริ่มตรงไม้กางเขนที่จุดเทียนให้ความสว่าง ซึ่งเป็นแท่นบูชาที่ทำขึ้นชั่วคราว ก่อนจะเคลื่อนตามการเดินของพลจัตวาขณะที่เขาอ่านโทรเลขที่บอกถึงชะตากรรมทหารของเขา  ฉากนี้เป็นการถ่ายในเทคเดียวโดยใช้กล้องสเตดดี้แคม และผูกตัวช่างภาพไว้กับสายเคเบิ้ล เพื่อที่เวลากล้องแพนลงมาเพื่ออ่านโทรเลข เครนจะยกตัวเขาขึ้น และขึ้นไปสูงประมาณ 40 ฟุตเพื่อให้เห็นภาพเบื้องล่าง  จากตรงนั้นจะมีการเปลี่ยนฉากอย่างแนบเนียนไปเป็นมุมมองจากบนเครื่องบิน ซึ่งกำลังจะทิ้งระเบิด

ไรท์บอกว่า “นี่เป็นการทำงานครั้งแรกของผมกับบรูโน และสนุกมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาท้าทายผม  เขาเป็นส่วนสำคัญมากในการสร้างสรรค์ภาพใน Darkest Hour”

วาเลริโอ โบเนลลี คนตัดต่อที่ทำงานกับไรท์ครั้งแรกในงานภาพยนตร์ ถูกผู้กำกับจับคู่ให้ทำงานในส่วนของเขาตั้งแต่ช่วงแรกของหนัง ร่วมกับดาริโอ มาริอาเนลลี คนทำดนตรีประกอบที่ร่วมงานกับไรท์บ่อยครั้ง มาริอาเนลลีแต่งดนตรีประกอบไว้หลายเพลงก่อนหนังจะเปิดกล้อง ไรท์จะเปิดเพลงที่มาริอาเนลลีแต่งไว้ในตอนถ่ายทำ ในขณะที่โบเนลลีจะตัดต่อหนังตั้งแต่เริ่มแรก และบ่อยครั้งตัดต่อโดยใช้ดนตรีประกอบร่วมด้วย

ไรท์เสริมว่า “บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องที่ลงตัวพอดี ที่หนังเรื่องนี้พูดถึงจุดเปลี่ยนของโลก และเรามีคนอังกฤษ, ฝรั่งเศส. และอิตาเลียนที่มีความสามารถมาทำงานร่วมกัน”


ความเป็นเจ้าของ

แอนโทนี แม็คคาร์เทนยอมรับว่า “มีหลายฉากใน Darkest Hour ที่วินสตัน เชอร์ชิลล์ดูไม่มีความเป็นนายกรัฐมนตรีเอาซะเลย”

โจ ไรท์บอกว่า “อาหารในเวลากลางวันของวินสตัน มักจะเคียงคู่ด้วยไวน์ขาวหนึ่งแก้ว และ/หรือวิสกี้หนึ่งแก้ว  และเนื่องจากชั่วโมงการทำงานที่ยืดยาว จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับเขาที่จะประชุมงานจากบนเตียง หรือแม้กระทั่งตอนอาบน้ำ  เขาบอกจดบันทึกสั่งการจากบนเตียง รับแขกและพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์โดยใส่เสื้อคลุมและสวมเสื้อนอน

“และสุดท้าย ไม่ว่าจะกำลังเกิดอะไรขึ้น เขาจะงีบตอนบ่ายสี่โมงทุกวัน เขามีเตียงเดี่ยวที่เล็กมากเตียงนึงอยู่ในวอร์รูม  เป็นคนอังกฤษที่แปลกของแท้เลย”

แม็คคาร์เทนบอกว่า “ในการเข้าถึงผู้ชายที่อยู่หลังบุรุษที่โลกยกย่อง การสร้างบุคลิกลักษณะเฉพาะขึ้นในตัวเชอร์ชิลล์เป็นสิ่งสำคัญ  เรากำลังถ่ายทอดเรื่องราวที่ตื่นเต้นเร้าใจในช่วงเวลาที่เจาะจง แต่ทุกอย่างในหนังมาจากการค้นคว้าข้อมูลของเรา 

“บางสิ่งที่หนังสือประวัติศาสตร์ไม่ได้อ้างถึงบ่อยนัก  ซึ่งเปิดเผยสิ่งที่เราไม่รู้มาก่อน คือเรื่องที่เขาเป็นคนคิดเรื่องเรือช่วยชีวิตในปฏิบัติการไดนาโมที่ดันเคิร์ก ซึ่งฝ่ายพลเรือนเป็นคนสร้าง และมีการระดมประชาชนทั่วไปมาช่วยกันทำ เพื่อพาเพื่อนร่วมชาติของพวกเขากลับบ้าน  การช่วยชีวิตที่ดันเคิร์กเป็นความคิดของวินสตัน เชอร์ชิลล์ และช่วยชีวิตคนไว้ได้หลายพันคน ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส”

สุดท้ายแล้ว แม็คคาร์เทนบอกว่าเขาต้องการ “ขยายขีดจำกัดของความเข้าใจที่เรามีต่อเขา  ผมรู้สึกว่าอุปนิสัยใจคอทุกแง่มุมของเขาถูกซ่อนไว้ใต้เปลือกของประวัติศาสตร์  ยิ่งบุคคลในประวัติศาสตร์มีชื่อเสียงมากเท่าไหร่ ความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นสมบัติของชาติก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

“จุดอ่อน และความไม่แน่ใจของวินสตันถูกลบออกไป แม้แต่ในหนังสือชีวประวัติที่ละเอียดที่สุดของเขา   ทุกวันนี้เขามักจะถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะของคนที่มีความแน่วแน่  ผมคิดว่าเราถ่ายทอดตัวตนของเขาออกมาได้ถูกต้องมากกว่าเมื่อเราแสดงให้เห็นข้อด้อยทั้งหมดของเขา  ในการศึกษาอย่างจริงจังช่วงสิบปีที่ผ่านมา เริ่มมีการเปิดเผยเรื่องราวในมิติอื่น ดังนั้น Darkest Hour จึงเป็นส่วนหนึ่งของความคิดในมุมมองใหม่”

ฟิล รีด ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นโอบีอี ประธานเกียรติคุณในวอร์รูมของเชอร์ชิลล์ ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ของ Darkest Hour ให้ความเห็นว่า “วินสตัน เชอร์ชิลล์มักจะถูกมองว่าเป็นคนที่ป้องกันประเทศของเขาและของโลกไว้   หนังเรื่องนี้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับช่วงเวลานั้นในชีวิตเขา ตอนที่เขาไม่ยอมแพ้ และก้าวเดินไปบนเส้นทางนั้น

“การเปลี่ยนแปลงของเขา คือจากการอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่ไว้ใจเขา หรือไม่ให้เกียรติเขา กลายมาเป็นผู้นำที่ต้องฝากสิ่งที่เขาสร้างไว้ ให้อยู่ในความทรงจำของรัฐบาล, ของคนในชาติ และของโลก และเขาทำสำเร็จ”