news on December 03, 2016, 12:33:18 PM
สวทช. จัดกิจกรรมทำความดีถวายพ่อหลวง “นวัตกรรมทำเองได้ DIY Spacer อุปกรณ์พ่นยาโรคหืด” จำนวน 99 อัน ส่งมอบให้ชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ













(2 ธันวาคม 2559) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี - รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะผู้บริหาร พนักงาน และประชาคมในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (ครบ 50 วัน แห่งการเสด็จสวรรคต) และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ได้มีกิจกรรม “ทำความดีถวายพ่อหลวง” ด้วยการเชิญชวนจิตอาสามาร่วมทำอุปกรณ์พ่นยาโรคหืด DIY Spacer จำนวน 99 อัน เพื่อส่งมอบให้กับผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุผ่านทางชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ผู้บริหาร พนักงาน สวทช. และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ได้มาร่วมกันทำบุญและทำความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตครบ 50 วัน โดยในช่วงเช้าได้มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 10 รูป และช่วงบ่ายได้ร่วมกันทำกิจกรรม “ทำความดีถวายพ่อ” โดยเชิญชวนเพื่อนพนักงาน สวทช. และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยที่มีจิตอาสามาร่วมกันทำ “อุปกรณ์พ่นยาโรคหืด DIY Spacer” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานการคิดค้นของทีมนักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคหืดจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ โดยผลงานวิจัยนี้ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน และนำไปใช้ได้จริงในการรักษาผู้ป่วยมาแล้ว และยังได้รับการการันตีด้วยรางวัลจากทั้งในและต่างประเทศมากมาย ได้แก่

•   รางวัลระดับดีเด่นจากการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยทักษิณ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2555

•   รางวัลเหรียญเงินจากงาน “Seoul International Invention Fair (SIIF)2012” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี โดยสมาคมส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และการวิจัยของเกาหลี

•   รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ "สิ่งประดิษฐ์คิดค้นระดับดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์" ประจำปี 2556 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

•   รางวัลระดับเหรียญทองเกียรติยศ จากงานนิทรรศการใหญ่ระดับโลก “International Exhibition of Inventions of Geneva” ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในกลุ่มงานวิศวกรรมทางการแพทย์สำหรับผู้ทุพพลภาพและด้อยโอกาส และยังได้รับรางวัลพิเศษหรือ Special Prize จากประเทศไต้หวัน (Taiwan Invention Association) เมื่อปี 2556

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนกูล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โรคหืด เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม และหลอดลมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ  เมื่อเจอสิ่งกระตุ้น หลอดลมจะหดเกร็งตัวแคบลง เยื่อบุภายในหลอดลมบวมขึ้น และสร้างเมือกเหนียว ทำให้ช่องทางเดินอากาศในหลอดลมแคบลง และเกิดอาการหอบหืด คือ หายใจหอบ เหนื่อย หายใจไม่เต็มอิ่ม บางรายต้องมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินหรือนอนโรงพยาบาล และในบางรายอาจเสียชีวิตได้ โดยปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคหอบหืดประมาณ 5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 1,000 คน ซึ่งการเสียชีวิตดังกล่าวนี้ สามารถป้องกันได้ หากมีการใช้ยาที่เหมาะสม และการใช้อุปกรณ์พ่นยา DIY Spacer ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนการเสียชีวิตของผู้ป่วย และช่วยลดการสูญเสียรายได้ของประเทศ

“ที่ผ่านมาเวลาที่เด็กมีอาการโรคหอบหืด ผู้ปกครองจะต้องพาเด็กมาทำการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อพ่นยาด้วยการครอบหน้ากากเหมือนครอบออกซิเจน หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือ การใช้แผ่นพลาสติกม้วนเป็นรูปกรวย แล้วนำมาครอบที่จมูกและปากของเด็ก จากนั้นก็พ่นยาเข้าที่ปากกรวยด้านที่แคบกว่า แต่ก็มีปัญหาว่าเวลาครอบต้องกดปากกรวยให้แนบกับใบหน้า ทำให้เด็กเจ็บและเกิดรอยแผลที่จมูก และเด็กต้องสูดยาพร้อมสูดหายใจเข้าทางปาก พร้อมกับต้องกลั้นหายใจเป็นเวลา 10 วินาที ซึ่งเด็กเล็กจะยังควบคุมการหายใจได้ไม่ดีนัก จึงทำให้การพ่นยาในเด็กเป็นไปได้ยาก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยในการพ่นยาคือ การใช้ท่อต่อ หรือที่เรียกว่า Spacer มาใช้ร่วมกับยาพ่น เป็นกระบอกที่ครอบเข้ากับใบหน้าของเด็ก แต่เป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพงประมาณ 1,400-1,500 บาท”

จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับทีมนักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ด้วยการสร้างผลงาน DIY Spacer ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยพ่นยาแบบมีวาล์วเปิด-ปิดควบคุมทางเดินอากาศสำหรับการรักษาโรคหอบหืดในเด็กและผู้สูงอายุ โดยนำวัสดุที่สามารถหาได้ง่ายๆ ใกล้ตัวในราคาต้นทุนเพียงแค่ 50-60 บาทเท่านั้น

นายปริญญา จันทร์หุณีย์ วิศวกรอาวุโส เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่บุตรสาววัย 1 ขวบของตนป่วยด้วยอาการโรคหอบหืด ทำให้ต้องติดตามรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง และด้วยแนวคิดการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้นึกถึงผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส ที่อาจเข้าไม่ถึงการรักษา เพราะอุปกรณ์พ่นยามีราคาสูง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มคิดค้นการทำอุปกรณ์ DIY Spacer ร่วมกับคุณหมออรพรรณขึ้น ด้วยอุปกรณ์ที่หาง่ายได้ใกล้ตัว ซึ่งในช่วงแรกได้นำมาทดลองใช้รักษาบุตรสาวของตนเองจนมีอาการดีขึ้น ประกอบกับการดูแลและปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในที่พักอาศัยควบคู่กันไปด้วย จึงทำให้ปัจจุบันหายจากอาการป่วยแล้ว ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวได้จดอนุสิทธิบัตรร่วมกันระหว่าง สวทช. และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เพื่อให้เป็นผลงานที่ทำขึ้นเพื่อสาธารณะประโยชน์เท่านั้น

“สำหรับหัวใจสำคัญของอุปกรณ์ Spacer คือ ต้องมีวาล์วปิดเปิด โดยวาล์วจะเปิดเมื่อเด็กสูดหายใจเอาตัวยาเข้าไป แต่เมื่อเด็กหายใจออกวาล์วจะต้องปิด เพื่อไม่ให้ลมหายใจที่ปล่อยออกมาไปรวมกับตัวยาในกระบอก ซึ่ง Spacer ที่วางขายในท้องตลาดจะมีวาล์วปิดเปิดลักษณะเหมือนไดอะแฟรม เป็นแผ่นบางๆ แต่สำหรับ DIY Spacer ทีมวิจัยเอ็มเทคนำลิ้นวาล์วในอุปกรณ์สูบน้ำด้วยมือ หรือ ไซฟ่อนปั๊ม มาเป็นตัวควบคุมทิศทางการไหลของลมหายใจให้ไปทางเดียว เหมือนเวลาเราบีบไซฟ่อนปั๊มเพื่อสูบน้ำ เวลาเราบีบหัวไซฟ่อนปั๊ม น้ำจะถูกดันไปยังภาชนะหนึ่ง เมื่อปล่อยมือจากหัวไซฟ่อนปั๊มน้ำก็ถูกดูดขึ้นมาไว้ที่หัว พอบีบใหม่น้ำที่ถูกดูดขึ้นมามันจะไม่ไหลกลับไปทางเดิมเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ทำให้น้ำไหลไปทางเดียวกันในแต่ละจังหวะการบีบและคลาย เราจึงนำมาใช้ทำหน้าที่เหมือนวาล์วควบคุมทางเดินอากาศ เวลาสูดหายใจเข้า ตัวยาก็จะไหลเข้าปอด เวลาหายใจออก อากาศจะไหลออกทางช่องเปิดด้านบน ไม่ไหลกลับเข้าไปผสมกับยา”

สำหรับการทำอุปกรณ์นั้น นายปริญญา กล่าวว่า  DIY Spacer ทำได้ง่าย โดยตัวกระบอกพ่นยา ใช้ขวดน้ำขนาด 500 มิลลิลิตร มาเจาะรูที่ปลายกระบอกด้วยการตัดเจาะจากของมีคมหรือความร้อน เพื่อเป็นช่องสำหรับใส่อุปกรณ์พ่นยา ส่วนปากขวดน้ำนำมาต่อกับลิ้นปิดเปิดที่ได้มาจากที่สูบน้ำด้วยมือ เพื่อบังคับทิศทางการหายใจ สุดท้ายคือการนำส่วนหัวของขวดน้ำขนาดใหญ่ เช่น ขนาด 2 ลิตร มาตัดให้เข้ากับรูปหน้าของผู้ป่วย แล้วนำสายท่อลมยางซิลิโคนมาหุ้มขอบเพื่อลบความคมของขอบรอยตัด และทำให้นุ่มนวลกับหน้าของผู้ป่วยเมื่อใช้งาน ส่วนปากขวดนำมาต่อกับลิ้นปิดเปิดอีกด้านหนึ่ง เท่านี้ก็จะได้อุปกรณ์พ่นยาโรคหอบหืดที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยใช้เวลาในการทำต่อชิ้นไม่เกิน 10 นาที เท่านั้น 

ปัจจุบัน อุปกรณ์ DIY Spacer สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์พ่นยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้เปิดรับจิตอาสาในการทำอุปกรณ์เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ  สำหรับผู้ที่ต้องการเป็นจิตอาสา หรือผู้ป่วยที่ต้องการขอรับอุปกรณ์สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ โทร. 02-926-9999
« Last Edit: December 03, 2016, 12:37:10 PM by news »