MSN on November 28, 2016, 03:33:25 PM
“นวัตกรรมเพื่อการลดความเสี่ยง” จุดเปลี่ยนทางตันนโยบายสุขภาพ



ประเทศไทย 4.0 เป็นประเด็นร้อนเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ระบบใหม่ ขับเคลื่อนจากประเทศเกษตรกรรมไปสู่ยุคนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคม

แต่ในโลกธุรกิจนั้น ภาคธุรกิจเอกชนหรือองค์กรขนาดใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศเริ่มจับเทรนด์เทคโนโลยีกันมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ในอดีตเราจะเห็นว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีช่วยให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมลดลง เช่น การพัฒนาอุปกรณ์อย่างเข็มขัดนิรภัย แอร์แบ็ก เซ็นเซอร์จอดรถอัตโนมัติ เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงในแง่ความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การพัฒนาทางเทคโนโลยีไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น บริษัทยาสูบทั่วโลกต่างก็ตอบรับกระแสนี้เช่นกัน มีการลงทุนด้านการวิจัย คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ที่จะช่วยลดอันตรายต่อสุขภาพผู้สูบได้มากขึ้น ผลิตภัณฑ์แบบนี้เรียกรวมๆ ว่า ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยง (Reduced-risk products: RRPs) ซึ่งมีทั้งพวกบุหรี่ไฟฟ้า (E-cigarettes) บุหรี่แบบไม่เผาไหม้ (Non-combustible Tobacco Products) หรือพวกนิโคตินแผ่นแปะที่เห็นกันตามร้านขายยาหรือโรงพยาบาลทั่วไป

คนทั่วไปอาจยังไม่ทราบหรือเข้าใจผิดมาตลอดเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ ความจริงแล้ว นิโคติน ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ให้ใช้ในวงการแพทย์มากว่า 30 ปี  และนิโคตินในบุหรี่ ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคจากการสูบบุหรี่ แต่ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของบุหรี่ต่างหาก ที่มีสารอันตรายกว่า 7,000 เช่น ทาร์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ และร้อยกว่าชนิดในจำนวนพวกนั้นเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งถุงลมโป่งพอง

บทวิเคราะห์ขององค์การอนามัยโลกที่เคยกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่กว่าพันล้านคนในโลก คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ต่อไปแม้รู้ดีว่าควันเป็นอันตรายและก่อให้เกิดโรค  เมื่อสมัยทำงานกับโรงงานยาสูบ ผมคิดเสมอว่าจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากบุหรี่น้อยลงได้ เมื่อรู้ว่าตัวการทำให้เกิดควันคือการเผาไหม้ แล้วถ้าเราทำให้บุหรี่ไม่ต้องมีการเผาไหม้ เราก็จะเอาส่วนที่อันตรายที่สุดของบุหรี่ ซึ่งนั่นก็คือ ควัน ออกไปได้ ผู้บริโภคก็จะสามารถได้รับนิโคตินในรูปแบบที่มีความเสี่ยงน้อยลง

ผลวิจัยจากสถาบันชื่อดังระดับโลก ทั้งราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ประเทศอังกฤษ (The Royal College of Physicians “RCP”) และหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) ได้ออกมาแสดงผลวิจัยล่าสุดชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปถึง 90% และสนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการเลิกหรือลดการสูบบุหรี่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า  ซึ่งสอดคล้องกับรายงานล่าสุดของมหาวิทยาลัยเพทราท ประเทศกรีซ ที่ระบุว่า คนยุโรปว่า 6 ล้านคนสามารถเลิกบุหรี่ได้ และอีกกว่า 9 ล้านคน ลดการบริโภคบุหรี่ได้จากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่ายินดี ที่ได้เห็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสูบด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่อันตรายน้อยลง เป็นโอกาสดีที่จะพิจารณาเปิดโอกาสให้เทคโนโลยีเช่นนี้ มาเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้สูบชาวไทยที่ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้

โดย มงคลวัจน์ รุหานนท์ อดีตรองผู้อำนวยการ โรงงานยาสูบ

1.  http://www.cspdailynews.com/category-news/tobacco/articles/fda-must-have-open-mind-e-cig-benefits
2.  http://www.who.int/tobacco/publications/surveillance/reportontrendstobaccosmoking/en/index4.html
2.  https://www.rcplondon.ac.uk/projects/outputs/nicotine-without-smoke-tobacco-harm-reduction-0
4.  http://www.ecigarette-research.org/research/index.php/research/research-2016/241-eurob
« Last Edit: November 28, 2016, 03:36:10 PM by MSN »