MSN on November 18, 2016, 02:15:10 PM
PwC เผยความเชื่อมั่นของซีอีโอเอเปคต่อเศรษฐกิจและรายได้ต่ำสุด 2 ปีซ้อน แต่ยังเดินหน้าลงทุนเพิ่ม



กรุงเทพฯ, 18 พฤศจิกายน 2559 – PwC เผยความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและรายได้ของ ‘ซีอีโอเอเปค’ ต่ำติดกัน 2 ปีซ้อน หลังภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่สดใสและความต้องการในตลาดลด แต่ซีอีโอเกินครึ่งยังเดินหน้าลงทุนต่อ เพราะเชื่อมั่นศักยภาพในระยะยาว โดยเน้นเพิ่มการลงทุนในจีน-สหรัฐอเมริกา-สิงคโปร์-อินโดนีเซีย ชี้การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบข้อบังคับของแต่ละประเทศสมาชิกส่งผลต่อต้นทุนและการตัดสินใจลงทุนของผู้บริหาร พร้อมเห็นสัญญาณธุรกิจในภูมิภาคเริ่มตื่นตัวอัพเกรดองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และหวังเป็นแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต

นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ APEC CEO Survey 2016: Thriving in a slow-growth world ที่ใช้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit ประจำปี 2559 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอและผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำ จำนวนกว่า 1,1oo ราย จากสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) จำนวน 21 ประเทศว่า ความเชื่อมั่นของซีอีโอเอเปคต่อการเติบโตของธุรกิจและรายได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับต่ำเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยในการสำรวจปีนี้พบว่า มีซีอีโอเพียง 28% เท่านั้นที่เชื่อมั่นว่า รายได้ของพวกเขาในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นอัตราเดียวกันกับปีก่อน

“ผลสำรวจในปีนี้ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจและดีมานต์ที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจยังคงมีจำกัดและการเกิดขึ้นของคู่แข่งหน้าใหม่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้แนวโน้มจะยังไม่สดใส แต่เราก็เชื่อว่า ประเทศสมาชิกในกลุ่มเอเปคจะยังคงขยายตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ โดยผู้บริหารต้องพยายามหาจุดสมดุลในการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงในระยะสั้น แต่ต้องมีมุมมองต่อการลงทุนในระยะยาว” นาย ศิระ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจในปีนี้ระบุว่า ความเชื่อมั่นของซีอีโอเอเปคในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วบางประเทศ กลับปรับตัวดีขึ้น เช่น ฟิลิปปินส์ (ความเชื่อมั่นของการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 65% ในปีนี้ จาก 51% ปีก่อน) และเวียดนาม (50% ในปีนี้ จาก 44% ในปีก่อน) เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และการลงทุนจากต่างประเทศ

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกพบว่า ซีอีโอเกือบครึ่งมองว่า จีดีพีของจีนในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตอยู่ที่ 5-6% ต่อปีโดยเฉลี่ยหรือต่ำกว่านี้ อย่างไรก็ดี ซีอีโอเอเปคยังคงต้องการเข้าไปขยายตลาด สร้างแบรนด์ รวมถึงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทในประเทศจีนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า จีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนกับไทยปี 2558 สูงถึง 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 2.3 ล้านล้านบาท  รองลงมาคือ ญี่ปุ่น มีมูลค่า 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.8 ล้านล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.3 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

“จีนยังคงเป็นประเทศผู้นำและเป็นตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ซีอีโอส่วนใหญ่ยังมองว่า จีนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการลงทุนของพวกเขา” นาย ศิระ กล่าว

เดินหน้าลงทุนเพิ่ม
นาย ศิระ กล่าวว่า แม้ว่าความไม่เชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ในระยะสั้นยังคงมีอยู่ แต่ซีอีโอเอเปคมากกว่าครึ่ง (53%) มีแผนจะขยายการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งผู้บริหารมากกว่า 2 ใน 3 ที่ทำการสำรวจต้องการลงทุนเพิ่มในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปคด้วยกันและส่วนที่เหลือจะกระจายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยในผลสำรวจในปีนี้ระบุว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย จะเป็นประเทศที่ดึงดูดเงินเงินลงทุนจากซีอีโอเป็นส่วนใหญ่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า 

ในส่วนของการเจรจาทางการค้าและข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ในภูมิภาคที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซีอีโอเอเปคมากกว่าครึ่ง (53%) มองว่า ความคืบหน้าของการดำเนินไปสู่การค้าเสรียังคงมีความล่าช้าในปีที่ผ่านมา ขณะที่ 14% ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจกลับมองว่า ไม่มีความคืบหน้าเลย สาเหตุมาจากการคุ้มครองทางการค้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้า ความต้องการในการบริโภคของตลาดหลักที่ลดลง อีกทั้ง ความล้มเหลวของข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ปัจจุบันบางข้อตกลงยังคงเป็นปัจจัยกดดันภูมิภาค อย่างไรก็ดี ยังมีผู้บริหารในภูมิภาคอาเซียนบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม ที่มีมุมมองที่เป็นบวกต่อการเปิดกว้างทางการค้าและมองว่าส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศของตน

“ในส่วนของแนวโน้มของการค้าในภูมิภาคที่ยังคงมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐ เรามองว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีความสัมพันธ์และมีความร่วมมือที่ดีต่อกันในหลากหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นดิจิทัลในการขับเคลื่อนเป็นหลัก” นาย ศิระ กล่าว

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ความไม่แน่นอนของต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและนโยบายยังคงเป็นความกังวลลำดับต้นๆ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของซีอีโอในภูมิภาคนี้ โดยซีอีโอเพียง 14% เท่านั้นที่มั่นใจว่า ตนสามารถคาดการณ์ต้นทุนขององค์กรและภาระภาษีได้ดีกว่าปีก่อน ขณะที่ซีอีโอถึง 58% มองว่า สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ อาทิ ความโปร่งใส ความชัดเจนของข้อกฎหมาย และการปราศจากคอรัปชั่นจะยิ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของตนใน 3-5 ปีข้างหน้า

อัพเกรดธุรกิจสู่ดิจิทัล
นาย ศิระ กล่าวว่า ซีอีโอในกลุ่มเอเปคต่างเห็นตรงกันว่า เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยมโฉมและพัฒนาธุรกิจในหลากหลายด้าน โดยปัจจุบันองค์กรต่างๆได้มีการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การบริหารต้นทุน การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลสินทรัพย์ และอื่นๆ ผลสำรวจระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้บริหารคาดว่า การเชื่อมโยงอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ เข้ากับธุรกิจจะทำให้เกิดแหล่งรายได้แห่งใหม่ของกิจการในอนาคต
“ในอนาคตบทบาทของดิจิทัลในการเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้กับองค์กรจะยิ่งเพิ่มขึ้น หากผู้บริหารเร่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และตอบสนองความต้องการของตลาดได้ตรงจุด จะยิ่งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และทำให้องค์กรแตกต่างไปจากคู่แข่ง” นาย ศิระ กล่าว

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า การเก็บรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-time) หรือใกล้เคียงกับเรียลไทม์ในการขนส่ง (Logistics) และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลการขาย และการบันทึกค่าใช้จ่าย (Point of sale devices) จะยิ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

“เราจะเห็นบริษัทต่างๆ หันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจกันมากขึ้น เพื่อปรับปรุงคุณภาพการดำเนินงาน ขยายฐานลูกค้า และนำไปสู่แหล่งรายได้ใหม่ของบริษัทในอนาคต ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีให้กับธุรกิจในภูมิภาค” นาย ศิระ กล่าวทิ้งท้าย

เกี่ยวกับ PwC

PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 223,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 58 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับ และได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,600 คนในประเทศไทย
« Last Edit: November 18, 2016, 02:38:39 PM by MSN »