MSN on November 17, 2016, 02:08:16 PM
12 โรงงานไฟฟ้า ร้องขอความเป็นธรรมจาก กฟภ.



นายคฑายุทธ์ เอี่ยมเล็ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุริยะพลัง จำกัด











นายคฑายุทธ์ เอี่ยมเล็ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุริยะพลัง จำกัด ในฐานะผู้แทนผู้เสียหายของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ จำนวนทั้งสิ้น 12 โรงไฟฟ้า กล่าวว่า “เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ภาครัฐได้เชิญชวนให้เอกชนมาร่วมลงทุนสร้างโรงผลิตไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในราคา 11 บาท ต่อหน่วย รวมค่า Adder ทำให้เอกชนนับร้อยรายพากันกู้หนี้ยืมสินมาร่วมลงทุน แล้วภาครัฐก็ไม่รักษาสัญญาปล่อยให้ผู้ลงทุนพากันตายหมู่ ทั้งๆ ที่ร่วมลงทุนไปแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท เสียเวลาทำมาหากินไป 5 ปี แถมธนาคารเจ้าหนี้ยังคอยติดตามทวงหนี้ดำเนินคดีกันเป็นแถว ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ไม่รับผิดชอบช่วยกันแก้ปัญหาแก่ผู้ประกอบการทั้ง 12 ราย ล่าสุด กกพ.ได้ออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนผู้บริหารของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้งๆ ที่ กฟภ.เดินหน้าทำงานตามมติของ กกพ.มาตลอด แต่ถูกกล่าวหาว่าทำงานผิดขั้นตอน ขณะเดียวกัน กกพ.ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ต้นสังกัดของ กฟภ. ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการ ตรวจสอบโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งๆ ที่ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 คณะกรรมการ กกพ.เองมีหนังสือเลขที่ สกพ. 5502/11762 ถึง สนผ. สรุปว่า การตั้งผู้แทนของแต่ละฝ่ายเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุสุดวิสัยนั้น อยู่ในอำนาจสัญญาและการตั้งผู้แทนของแต่ละฝ่ายเพื่อดำเนินการตรวจสอบนั้นก็เป็นการกระทำที่ไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าแต่อย่างใด หมายความว่า มีการยอมรับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในครั้งนั้น โดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งตัวแทนนั้นสามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องให้อนุญาโตตุลาการ ชี้ขาด ส่งผลให้ ข้ออุทธรณ์ต่างๆ จึงยุติไปแล้วในแง่นิติสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญา กกพ.”

นายคฑายุทธ์  กล่าวต่อ “เมื่อ กกพ.ปักธงที่จะให้เรื่องนี้ต้องผ่านการตรวจสอบจากอนุญาโตอีกครั้ง และได้บีบเงื่อนเวลาให้ กฟภ.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน โดยหลักการแล้วไม่มีทางเป็นไปได้ กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้ง กฟภ.กับกลุ่มผู้ประกอบการ หรือแม้แต่ กกพ.เองบางคน มองว่า กกพ.พยายามที่จะเบี่ยงประเด็นวางยาให้กลุ่มผู้ประกอบการ 12 โรงงานไฟฟ้า นำไปสู่การฟ้องร้องยกเลิกสัญญาในที่สุด และเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 กลุ่มผู้ประกอบโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ได้จึงได้ส่งหนังสือถึง นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขอให้ทบทวนรายชื่อและแก้ปัญหาข้ออุทธรณ์โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในเวลาต่อมา กกพ. ได้มีหนังสือชี้แจงคำอุทธรณ์การยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และบริษัทฯ จึงมีหนังสือถึง กฟภ. เรื่องการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ โดยระบุให้  ผศ.ดร.กิตติพันธุ์ เตชะกิตติโรจน์ ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน เป็นอนุญาโตตุลาการของฝ่ายบริษัท และต่อมา  กฟภ. ได้เชิญบริษัทฯ เข้าร่วมหารือพร้อมแจ้งว่า นโยบายในการดำเนินตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีได้เคยมีหนังสือ เลขที่ นร 0506/ ว 155 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2552 เรื่องการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน แจ้งให้หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนรับทราบและถือปฏิบัติต่อไป ดังนั้น การพิจารณาข้ออุทธรณ์ในการยกเลิกสัญญาระหว่าง  กฟภ. และ บริษัท ให้ใช้วิธีการตั้งผู้แทนของแต่ละฝ่ายขึ้นมาเพื่อร่วมกันพิจารณาข้อเท็จจริงและจัดทำรายงานสรุปผลเพื่อส่งให้ กกพ. พิจารณาตามมติของคณะกรรมการบริหารฯ ต่อไป และ กฟภ. ก็ได้มีหนังสือแจ้งแต่งตั้ง  นาย ประเจิด สุขแก้ว อดีตผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  เป็นผู้แทนของ กฟภ. ซึ่งหลังจากนั้นผู้แทนของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาตรวจสอบเอกสาร  ข้อเท็จจริง และจัดทำเป็นรายงานสรุปผลเป็นที่ยุติ ส่งไปยัง กกพ. เรียบร้อยแล้ว”

นอกจากนี้ กกพ. เองยังมีหนังสือเลขที่ สกพ 5502/11762 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ถึงผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ระบุว่า  ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 17 โครงการ ได้อ้างเหตุสุดวิสัย กับ กฟภ. อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้นั้น ย่อมอยู่ในอำนาจของคู่สัญญา กล่าวคือ อยู่ในอำนาจของ กฟภ. ที่พิจารณาและตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ เพื่อวินิจฉัยว่าเหตุที่ผู้ผลิตไฟฟ้าอ้างเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ และการตั้งตัวแทนของแต่ละฝ่ายเพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุสุดวิสัยของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 17 โครงการ กฟภ. จึงมิใช่การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าเนื่องจากในระหว่างคู่สัญญาสามารถดำเนินการพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันก่อนได้ นายคฑายุทธ์ กล่าวสรุป
« Last Edit: November 17, 2016, 02:57:25 PM by MSN »