MSN on November 07, 2016, 02:35:09 PM
พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช





          (http://www.thaiware.com/upload_misc/news/2016_10/images/8863_161031182413lR.jpg)
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธย เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
          เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึงสองพรรษา และได้เสด็จเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์ เดอี กรุงเทพฯ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงเสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระเชษฐา เพื่อทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนเมียร์มองต์ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ชืออิส โรมองต์ เมืองแชลลี ชือ โลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จาก ยิมนาส กลาชีค กังโดนาล แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์
          ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ และได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นการชั่วคราว แล้วเสด็จกลับไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงโดยเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้ประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
          ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันเดียวกันนั้น แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา จึงต้องทรงอำลาประชาชนชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยแห่งเดิม ในครั้งนี้ ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม
          ระหว่างที่ประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระนามเดิม หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศ ขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้านักขัตรมงคล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ และใน พ.ศ. ๒๔๙๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่าพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) และหม่อมหลวงบัว (สนิทวงศ์) กิติยากร ต่อมาทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์         
          ใน พ.ศ. ๒๔๙๓ เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ปีเดียวกัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
          ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
          หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งประสูติ ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์แรกเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นทรงย้ายที่ประทับไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และที่พระที่นั่งอัมพรสถานนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์ คือ
          สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕
          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘
          สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐
          ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงผนวช ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่ประชาชนของพระองค์เลื่อมใสกันอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เสร็จการพระราชพิธีทรงผนวชแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงผนวชอยู่
          และจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกันนั้นเอง และใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
          โดยเราขอสรุปรวม พระราชประวัติของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เอาไว้ดังนี้
          ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
          พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระปทุม
          ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคต ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึง ๒ พรรษา
          พ.ศ. ๒๔๗๖ เสด็จเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์ เดอี กรุงเทพฯ
          พ.ศ. ๒๔๗๙ สมเด็จพระบรมราชชนนีได้พระราชทานกล้องถ่ายรูปตัวแรก รุ่น Coronet Midget ให้แก่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
          เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงแรก แสงเทียน (Candlelight Blues)
          ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ และวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
          สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงศึกษาต่อในวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ แทนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่ทรงศึกษาอยู่เดิม
          ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
          ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร โดยจัดพิธีขึ้นภายใน วังสระปทุม
          ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ณ โรงพยาบาลมองซัวซีส์ เมืองโลซานน์
          พ.ศ ๒๔๙๕ ทรงตั้งสถานีวิทยุขึ้นมา พระราชทานนามว่า สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต เพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับประชาชน
          ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ         
          ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ
          ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ทรงเสด็จออกทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตลอดเวลา ๑๕ วันที่ทรงผนวช
พ.ศ. ๒๔๙๙ ทรงสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ขึ้นเป็น พระบรมราชินีนาถ
          ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
          ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของไทย ทำหน้าที่ได้ทั้งการกักเก็บน้ำ และผลิตกระแสไฟฟ้า
          ๑-๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการทำ ฝนหลวง เป็นครั้งแรก โดยเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลอง
          ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสเบื้องต้นเกี่ยวกับ เศรษฐกิจพอเพียง
          พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงมีผลงานแปลชิ้นแรกเรื่อง ติโต โดยทรงแปลจากหนังสือ Tito ของ Phyllis Auty
          ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ทรงเริ่มแปลหนังสือ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ จากต้นฉบับหนังสือ A Man Called Intrepid ของ William Stevenson และแปลหน้าสุดท้ายเมื่อ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓
          พ.ศ. ๒๕๓๐ ทรงพระราชทาน ส.ค.ศ. ฉบับแรกแก่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงพริ้นต์จากคอมพิวเตอร์ และส่งแฟกซ์พระราชทานไปยังหน่วยงานโดยทั่วถึงกัน
          ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ทรงพระราชทานรูปแบบ และพระราชดำริ เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยการเติมออกซิเจนลงในน้ำ เป็นที่มาของ "กังหันน้ำชัยพัฒนา"
          ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ทรงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับ หญ้าแฝก เป็นครั้งแรกกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และอนุรักษ์ ความชุ่มชื้นไว้ในดิน
          ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา
          ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ สมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ (IECA) มีมติถวายรางวัลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้ อนุรักษ์ดินและน้ำ         
          พ.ศ. ๒๕๓๗ ทรงเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท
          พ.ศ. ๒๕๓๘ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงสุดท้าย "เมนูไข่" โดยเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในอันดับที่ ๔๘ เนื้อร้องโดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์
          ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ทรงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างสะพานพระราม 8 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ (เปิดให้ใช้งาน ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕)
          พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ทรงพระราชทานพระราชดำริโครงการ แก้มลิง ซึ่งเป็นโครงการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
          พ.ศ. ๒๕๓๙ ทรงใช้สัญญานเรียกขาน VR009 ในการพระราชทานคำแนะนำทางด้านเทคนิค ให้กับกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่น ที่รวมกลุ่มกันออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน ในเหตุวาตภัยที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
พ.ศ. ๒๕๔๑ ตีพิมพ์พระราชนิพนธ์เรื่อง ทองแดง เป็นครั้งแรก
          ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงทำพิธีเปิด เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ พระราชดำริด้านการพัฒนาน้ำมันปาล์มเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล ได้ยื่นจดสิทธิบัตรที่กระทรวงพาณิชย์
พ.ศ. ๒๕๔๕ ทรงแปลเรื่องราวของ พระมหาชนก เป็นฉบับการ์ตูน เพื่อให้ประชาชนอ่านและเข้าใจได้ง่าย
          ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ทรงพระราชทานความหมายของ เศรษฐกิจพอเพียง เอาไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy
          พระราชประวัตินี้เป็นเพียงแต่โดยสังเขป โดยตลอดรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ และทรงพระราชทานโครงการนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร