ย้อนรอยประวัติศาสตร์ “แฮร์รี่ พอตตเตอร์” วรรณกรรมที่สร้างปรากฏการณ์การอ่านไปทั่วประเทศไทย
ในบรรดาหนังสือที่มีกลิ่นอายเวทมนตร์และแฟนตาซีจนเรียกได้ว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ด้านการอ่านมากที่สุด จะต้องมีนวนิยายชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนึ่งในนั้น ด้วยสถิติการแปลถึง 79 ภาษา และมียอดขายมากถึง 450 ล้านเล่มทั่วโลก จากจุดเริ่มต้นเพียง 500 เล่มในอังกฤษ เจ.เค. โรว์ลิ่ง ผู้เขียน กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะในเล่มสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ที่มียอดจำหน่ายเฉพาะในอเมริกาสูงถึง 12 ล้านเล่ม เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 และทุกครั้งที่มีการวางจำหน่าย วรรณกรรมเยาวชนชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็จะติดอันดับหนังสือขายดีทั้งใน New York Times และ USA Today ทุกตอน
วรรณกรรมเยาวชนชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ นอกจากจะสร้างปรากฏการณ์หนังสือแฟนตาซียอดเยี่ยมในอังกฤษตลอดหลายปีนับตั้งแต่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ เล่มแรกของชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์วางจำหน่าย ในวันที่ 26 มิถุนายน 2540 จนถึงเล่มที่ 3 แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน แล้ว "สุมาลี" ซึ่งขณะนั้นอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ เห็นความตื่นตัวด้านการอ่านของเด็กในประเทศอังกฤษอย่างมาก จึงได้ติดต่อตรงมายังคุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา ผู้บริหารสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ขอให้ซื้อลิขสิทธิ์มาตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและอาสาที่จะแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์ด้วยตนเอง ซึ่งทางคุณสุวดีเคยให้สัมภาษณ์ว่าการซื้อลิขสิทธิ์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ มาตีพิมพ์ภาษาไทยนั้น นับเป็นราคาค่างวดที่แพงที่สุดที่เคยซื้อลิขสิทธิ์มา และตลอด 7 เล่ม ก็มีค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท แต่ก็เป็นตัวเลขที่น่าลงทุน เพราะทำให้เกิดปรากฏการณ์ปลุกกระแสการอ่านในประเทศไทยให้ตื่นตัวอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ด้าน คุณพิมพ์อนงค์ ริมสินธุ บรรณาธิการอาวุโส ผู้ดูแลการผลิตหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาไทยในขณะนั้น เปิดเผยว่า ดิฉันเป็นคนแรกที่ได้อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาไทย จากต้นฉบับงานแปลของ 'สุมาลี' รู้สึกตื่นเต้นมาก และเมื่อได้อ่านแล้วสนุกตั้งแต่บรรทัดแรกจนบรรทัดสุดท้าย ดิฉันทำหนังสือมาหลายร้อยเล่ม ยังไม่เคยเจอเนื้อหาที่มีความสดและแปลกใหม่แบบนี้มาก่อน ครั้งแรกที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาไทยวางจำหน่ายนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ผ่านไปแค่ 1 เดือน ทางสำนักพิมพ์ก็ได้รับจดหมายจากผู้อ่านจำนวนมากส่งเข้ามาทุกวันบอกว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์สนุกมากๆ ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกัน เพราะสมัยนั้นวรรณกรรมยังไม่แพร่หลายนัก เรื่องราวมักจะเหมือนๆกันหมด แฮร์รี่ พอตเตอร์จึงถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับคนไทย จนทำให้เกิดกระแสความนิยมในกลุ่มผู้อ่านแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งสมัยนั้นเป็นยุคแรกๆของรถไฟฟ้าบีทีเอส ใครถือแฮร์รี่ พอตเตอร์อ่านบนรถไฟฟ้าถือว่าอินเทรนด์มากๆ เหมือนสมัยนี้ที่คนจะดูมือถือบนรถไฟฟ้า
ทันทีที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ ฉบับภาษาไทยวางจำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. 2543 กลุ่มนักอ่านชาวไทยก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียกว่าเป็นหนังสือที่ดึงดูดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้หลงอยู่ในโลกแห่งเวทมนตร์ ชนิดที่เรียกว่า "หัวปักหัวปำ" ก็คงจะได้
โจ้-อภิชาติ ตรีตรุยานนท์ แฟนพันธุ์แท้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ประจำปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและดูแลเว็บไซต์ Muggle-v.com กล่าวว่า "แม้แต่ตัวผมเองที่ไม่เคยชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ แค่ได้เจอภาพปกที่วาดโดย Mary GrandPre ในขณะนั้นก็ทำให้ผมเผลอพลิกอ่านเนื้อหาด้านในทันที และเพียงแค่ 15 หน้าของบทที่หนึ่ง ผมก็โดนมนตร์สะกดของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง เข้าอย่างจัง จนทำให้ต้องหามาอ่านต่อจนจบ และติดงอมแงมนับแต่นั้น ชนิดที่สามารถอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ จำนวน 1,047 หน้า ซึ่งเป็นเล่มที่หนาที่สุดจบได้ในเวลาเพียงสองวัน และอ่านจนจบรวดเดียว 7 เล่ม ในเวลา 1 สัปดาห์ช่วงปิดภาคเรียน"
"ในยุคสมัยที่ผมเติบโตมากับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ผมมีเพื่อนสนิทที่ชอบแฮร์รี่เหมือนกัน เราแข่งกันอ่านแฮร์รี่เล่มละหลายรอบ เรารอคอยอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มใหม่ด้วยกัน ถามตอบแข่งกันว่าใครจำได้แม่นกว่า และทันทีที่ใครอ่านล้ำหน้าไปก่อน ภาพความสนุกสนานที่อยากเล่าความลับที่ตัวเองกุมเอาไว้ทำให้อีกฝ่ายแทบคลั่งตาย! แถมคำขู่ของมาดามพินซ์ในหนังสือ 'ควิดดิชในยุคต่างๆ' ก็ทำให้พวกเราทั้งรักการอ่านและเพิ่มเติมด้วยความหวงแหนหนังสืออีกด้วย ชนิดที่แค่เศษบิสกิตนิดเดียวก็ทำให้พายุโหมกระพือในบ้านได้" โจ้กล่าวเสริม
เหตุการณ์ที่จัดว่าเป็นปรากฎการณ์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในเมืองไทยมากที่สุดนั้น เห็นจะเป็นการจำลองตรอกไดแอกอนขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับการเปิดตัวหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม ซึ่งเป็นเล่มที่ 6 ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในวันที่ 2 ธันวาคม2005 ณ อุทยานเบญจสิริ ในวันนั้นเป็นงานเปิดตัวหนังสือที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นการรวมตัวแฟนๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์จากทั่วประเทศ เพียงเพราะทุกคนต้องการได้รับสิทธิ์ครอบครองหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม ก่อนใครในเวลาเที่ยงคืนก่อนเข้าสู่วันที่ 3ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นวันวางจำหน่ายวันแรก และไม่ใช่แค่ที่งานเปิดตัวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการต่อคิวรอร้านหนังสือเปิดในจังหวัดต่างๆ ด้วย
แม้เรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ จะได้รับการถ่ายทอดออกมาในโลกของภาพยนตร์ แต่เชื่อเถอะว่านั่นเป็นแค่จินตนาการของคนอื่น ทว่าในโลกของหนังสือ คุณจะได้จินตนาการทุกอย่างขึ้นเอง ได้เห็นความน่าทึ่งในความละเอียดอ่อนของเนื้อหาที่ลึกซึ้งจนคุณไม่อาจพบได้ในภาพยนตร์ คุณจะได้ปลดปล่อยอารมณ์ร่วมไปกับตัวอักษรที่จะสะกดคุณจนวางไม่ลง
และปรากฏการณ์พลังแห่งการอ่านด้วยความรักของแฟนๆแฮร์รี่ พอตเตอร์ชาวไทยกำลังจะหวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ประกาศอย่างเป็นทางการว่าได้รับลิขสิทธิ์เป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือบทละคร "Harry Potter and the Cursed Child Parts One and Two" ฉบับภาษาไทย ในชื่อ "แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป ภาคหนึ่งและสอง" หนังสือที่จะบอกเล่าเรื่องราวลำดับที่แปด อีก 19 ปีต่อมา หลังสงครามฮอกวอตส์สิ้นสุดลงในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายของชุด เมื่อปี พ.ศ. 2550 นับเป็นเวลายาวนานถึง 9 ปี โดย "สุมาลี" หวนกลับมารับหน้าที่แปลอีกครั้ง มีกำหนดวางจำหน่ายในวันที่ 30พฤศจิกายน 2559 เวลา 18.00 น. พร้อมกันทั่วประเทศ
หากคุณกำลังตัดสินใจว่าจะอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ดีไหม ขอแนะนำให้ลองอ่านดูก่อนสัก 13 หน้า ถ้าอ่านแล้วไม่อยากอ่านต่อขอให้วางมันลงเสีย เพราะนั่นหมายความว่าคุณอาจไม่มีเวทมนตร์มากพอที่จะได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือดังกล่าว...แต่เชื่อเถอะว่าเมื่ออ่านถึง 13 หน้า คุณเองนั่นแหละที่จะวางมันไม่ลง!
เขียน : โจ้-อภิชาติ ตรีตรุยานนท์ แฟนพันธุ์แท้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ประจำปี พ.ศ. 2557
เรียบเรียง : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด