news on October 20, 2016, 09:55:47 PM
กทปส. ปลื้มทีมนักวิจัยไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โชว์กึ๋นผลิตแอพพลิเคชั่น “Homekit ระบบบ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ” ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ Smart Healthcare 



รศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต หัวหน้าโครงการวิจัย “การออกแบบและพัฒนารูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายภายในบ้านอัจริยะสำหรับผู้สูงอายุ”



ฟังก์ชั่นการใช้งานของแอพพลิเคชั่น Homekit บนสมาร์ทโฟน

แอพพลิเคชั่น Homekit บน Smart Watch



อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ กทปส. หรือสำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. ที่ได้ร่วมสนับสนุนโครงการวิจัย “การออกแบบและพัฒนารูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายภายในบ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ” โดยได้คิดค้นพัฒนาด้วยฝีมือคนไทย จากทีมนักวิจัยพัฒนาศูนย์เครือข่ายความรู้เฉพาะด้านเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีรศ. ดร. วรรณรัช สันติอมรทัต เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งนับเป็นอีกโครงการที่ภาครัฐและเอกชนควรให้การสนับสนุน เนื่องด้วยได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และผู้พิการในประเทศไทย เพื่อสอดรับการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และยังตอบโจทย์เรื่อง Smart Healthcare หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันประเทศก้าวสู่ Thailand 4.0

โครงการวิจัย “การออกแบบและพัฒนารูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายภายในบ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ” มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการในเวลาที่อยู่ตามลำพัง โดยการทำงานของเซนเซอร์ที่ทีมนักวิจัยได้พัฒนาประกอบด้วย การวัดคลื่นสมอง จับสัญญาณชีพ และเตือนเมื่อเกิดสภาวะหลงลืม ได้แก่ ลืมปิดประตู ลืมปิดน้ำ ปิดไฟ หรือ ปิดแก๊ส ซึ่งจะเป็นการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมพร้อมฐานข้อมูลสำหรับเฝ้าระวัง แจ้งเตือนกรณีที่ผู้สูงอายุล้ม และมีสัญญาณชีพแบบ Heart Attack และเตือนเมื่อลืมปิดน้ำ ไฟหรือแก๊ส กำหนดให้ระบบจะต้องทำการเก็บบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ไว้ โดยจะทำการพัฒนาบนเครือข่ายคลาวน์  โดยมีหลักการคือให้สิ่งของ คน หรือสิ่งมีชีวิต สามารถส่งข้อมูลแลกเปลี่ยนระหว่างกันโดยความร่วมมือกับเครือข่ายที่หลากหลายให้สามารถเชื่อมถึงกันไปยังเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และยังทราบถึงตำแหน่งที่เกิดเหตุได้  เช่น ทราบตำแหน่งที่ผู้ป่วยล้มบริเวณบันได หรือในห้องน้ำ หรือสั่งการให้อุปกรณ์ที่มีความผิดปกติให้สามารถกลับมาทำงานได้ตามเดิม เช่น สั่งให้ปิดแก๊สเมื่อระบบตรวจจับควันแจ้งเตือน เป็นต้น

รศ. ดร. วรรณรัช สันติอมรทัต ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ได้เล่าว่า “ทีมได้ออกแบบพัฒนาตั้งแต่อุปกรณ์ขนาดเล็กที่พกพาได้สำหรับผู้สูงอายุเพื่อตรวจจับการล้ม และอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพหรือวัดข้อมูลทางด้านสุขภาพที่จำเป็น มีการพัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้าและวิทยุสำหรับให้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น หลอดไฟ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์หรือประตูสามารถรับคำสั่งให้เปิด-ปิดแบบรีโมทผ่านสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตได้ รวมทั้งการออกแบบและพัฒนาวงจรเข้ารหัสข้อมูลที่ใช้บนอุปกรณ์ขนาดเล็กให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล และให้ข้อมูลในเครือข่ายมีความปลอดภัย รวมถึงพัฒนาอุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างเกตเวย์ เพื่อให้เครือข่ายไร้สายต่างๆ สามารถติดต่อออกสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้”

“ปัจจุบัน ทีมได้พัฒนาระบบการสั่งงานควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านผ่านแอพพลิเคชั่น Homekit และยังสามารถสั่งงานด้วยเสียง ผ่านการเรียกใช้ Siri เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงวัยที่ใช้สมาร์ทโฟนไม่เป็น รวมถึงยังรองรับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย โดยผู้ใช้งานสามารถเรียกดูข้อมูลหรือสั่งงานอุปกรณ์ภายในบ้านได้ผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ โดยสามารถสื่อสารได้บนโทรศัพท์มือถือไอโฟน และสมาร์ทวอซซ์ หรืออุปกรณ์สวมใส่ โดยผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้สูงอายุก็สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและคล่องตัว ที่น่าภาคภูมิใจคือทีมได้นำไปใช้งานได้จริงในบ้านผู้อยู่อาศัยในเทศบาลนครภูเก็ต รวมถึงบ้านอาสาสมัครแล้วเช่นกัน” รศ. ดร. วรรณรัช กล่าวปิดท้าย
« Last Edit: October 20, 2016, 09:59:41 PM by news »

news on October 20, 2016, 10:35:03 PM
กทปส. สนับสนุนทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเทคโนโลยีใหม่สร้างระบบบ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ (Internet of Things for Elderly People)



รศ.ดร.วรรณรัชสันติอมรทัต หัวหน้าโครงการวิจัย“การออกแบบและพัฒนารูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายภายในบ้านอัจริยะสำหรับผู้สูงอายุ


รศ.ดร.วรรณรัชสันติอมรทัต หัวหน้าโครงการวิจัย และทีมนักวิจัย“เครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้านเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย” ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


แอพพลิเคชั่น Homekitบนสมาร์ทโฟน


แอพพลิเคชั่น Homekitบน Smart Watch



ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตามมา เนื่องจากลูกหลานหรือวัยแรงงานซึ่งกำลังขาดแคลนมากขึ้น ไม่สามารถอยู่ดูแลผู้สูงอายุได้เท่าที่ควร ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพังและต้องพึ่งพาตนเองในการทำกิจกรรมต่างๆ จากข้อมูลกรมควบคุมโรคได้รายงานถึงสถิติการเสียชีวิตจากการหกล้มสูงถึงปีละ1,600 คน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนน โดย 1 ใน 3 พบว่ามักเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 30 ปีขึ้นไป และจะเพิ่มความเสี่ยงตามอายุที่มากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน การขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน การแจ้งเตือนไปยังลูกหลาน เป็นต้น

ทีมนักวิจัยจาก “เครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้านเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย” ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ศึกษาและพัฒนาโครงการวิจัย “การออกแบบและพัฒนารูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายภายในบ้านอัจริยะสำหรับผู้สูงอายุ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช.

รศ.ดร.วรรณรัชสันติอมรทัต ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า “ปัจจุบันนวัตกรรมเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือการดำรงชีพของผู้สูงอายุภายในบ้าน ให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยทีมนักวิจัยและพัฒนาจากเครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้านเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย ได้มีการสร้างระบบต้นแบบ Internet of Things (IoT) สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุภายในบ้าน โดยได้ศึกษาและพัฒนาตั้งแต่อุปกรณ์ขนาดเล็กที่พกพาได้ เพื่อตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจหรือข้อมูลด้านสุขภาพที่จำเป็นการแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน มีการพัฒนาระบบสำหรับควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น หลอดไฟ เครื่องปรับอากาศ ประตู เป็นต้น ให้สามารถรับคำสั่งจากผู้ใช้งานผ่านอุปกรณ์ SmartPhone หรือ Smart Watch รวมทั้งมีการออกแบบและพัฒนาวงจรการเข้ารหัสข้อมูลที่ใช้บนอุปกรณ์ขนาดเล็กให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญต่างๆได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์ Smart Gateway เพื่อให้เครือข่ายไร้สายต่าง ๆ สามารถติดต่อออกสู่เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้”

รศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเซนเซอร์สำหรับผู้สูงอายุที่จะพัฒนาประกอบด้วย การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ การแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น การหกล้ม การลืมปิดประตู การลืมปิดน้ำ ปิดไฟ หรือ ปิดแก๊สเป็นต้น ซึ่งจะเป็นการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมพร้อมฐานข้อมูลสำหรับเฝ้าระวัง (Monitoring) แจ้งเตือน (Alarm) ระบบจึงต้องมีการเก็บบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ บนเครือข่ายคลาวน์ (Cloud) โดยมีหลักการคือการทำให้อุปกรณ์ต่างๆภายในบ้านและอุปกรณ์สำหรับเฝ้าระวังและติดตามผู้สูงอายุสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ เพื่อให้ผู้ใช้งานระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลและสั่งงานอุปกรณ์ภายในบ้าน รวมถึงเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพของสูงอายุได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับผู้สูงอายุจึงทำให้ผู้ดูแลทราบได้ทันที ทำให้เข้าถึงผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็วและช่วยเหลือได้ทันเวลา

ปัจจุบัน ทีมนักวิจัยและพัฒนา “เครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้านเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย” ได้เพิ่มฟังก์ชันการสั่งงานอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านด้วยเสียง ผ่านการเรียกใช้งาน Siri โดยในครั้งนี้ได้ดำเนินการติดตั้งแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์ Smart Phone และ Smart Watchให้ผู้ใช้งานซึ่งเป็นผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุ สามารถสั่งงานอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเสียงได้ ซึ่งช่วยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาทีมวิจัยได้เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารไร้สายและเซนเซอร์ต่างๆที่จำเป็นในบ้านผู้สูงอายุซึ่งอยู่ในเทศบาลนครภูเก็ต และจะติดตั้งเพิ่มเติมในบ้านอาสาสมัตรที่มีเจตจำนง ซึ่งทางทีมวิจัยสามารถรองรับได้เพียงไม่กี่หลัง เนื่องด้วยงบสนับสนุนที่ยังมีค่อนข้างจำกัด

รศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต กล่าวทิ้งท้ายว่า “เครือข่ายศูนย์ฯ มีเป้าหมายว่าการพัฒนางานวิจัยนี้ จะสามารถช่วยปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและรองรับความต้องการของผู้สูงอายุหรือผู้พิการให้สามารถใช้ชีวิตตามลำพังได้อย่างสะดวกและปลอดภัย และหากมีหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนที่ต้องการสนับสนุนโครงการฯ เพื่อต่อยอดและนำต้นแบบไปใช้งานได้จริง อาทิ โครงการหมู่บ้าน คอนโด บ้านพักคนชรา บ้านผู้สูงอายุ บ้านพักผู้พิการ หรือโรงพยาบาล เพื่อเป็นต้นแบบในการนำร่องได้ ทางศูนย์เครือข่ายฯ มีทีมที่พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำรวมถึงการวางระบบให้ครบวงจร และหวังว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการสาธารณะต่างๆ และระบบ WiFiที่สามารถเชื่อมโยงระบบกันได้ทั้งประเทศ รวมถึงเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย”

โครงการดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการที่ทาง กทปส.ได้ให้การสนับสนุนเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในสาขาโทรคมนาคม  ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลให้มีความแข็งแกร่งตอบโจทย์ตรงตามวัตถุประสงค์ของ กทปส. โดยผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของโครงการได้ที่เว็บไซต์ของ กทปส.https://btfp.nbtc.go.th หรือ ดาวน์โหลดผลงานวิจัยได้ที่ http://dept.npru.ac.th/vlc
« Last Edit: October 20, 2016, 10:40:10 PM by news »