news on October 07, 2016, 03:05:09 PM
“จับจ่าย ฟอร์ สคูล” คว้าสุดยอดนักนวัตกรรมต้นแบบ SIA 2016 “สามารถกรุ๊ป-สวทช.” เดินหน้าเฟ้นหาเจ้าของธุรกิจปี 2017 รับนโยบาย Thailand 4.0



ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล (คนกลาง) ร่วมแสดงความยินดรกับทีม จับจ่าย ฟอร์ สคูล ที่คว้ารางวัลชนะเลิศในปีนี้


รองชนะเลิศอับดับ1 คือ ทีม HOPS


รองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีม O Orchid


ทีมผู้เข้าแข่งขันทั้ง25 ทีม ร่วมถ่ายรูปกับผู้สนับสนุน


ผู้บริหาร สวทช. และ ผู้บริหาร สามารถ ผู้สนับสนุนโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี 2016


เครื่องสแกนนิ้ว จับจ่าย


แอปพลิเคชั่น จับจ่าย



(6 ตุลาคม 59)  ที่ ห้องอโศก 1 ชั้น C โรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พอยต์ เทอมินัล 21: กลุ่มสามารถ และ สวทช. ประกาศผลให้ทีม “จับจ่าย ฟอร์ สคูล”  ได้รับรางวัลสุดยอดนักคิ นักพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ หรือ Samart Innovation Award (SIA) ในโครงการ Young Technopreneur 2016 ตอบโจทย์การนำแนวคิดด้านนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การเป็นเถ้าแก่น้อยด้านเทคโนโลยีตัวจริง พร้อมประกาศร่วมมือกันจัดโครงการต่อเป็นปีที่ 6 หวังสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศต่อเนื่อง เพิ่มความเข้มข้นทั้งการให้ความรู้ การปรับเพิ่มทุนสนับสนุน และหัวข้อการประกวดที่ตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐยุค Thailand 4.0 ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปีนี้โครงการ Young Technopreneur หรือ เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี 2016 ที่กลุ่มบริษัทสามารถ จับมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ได้ทีมชนะเลิศคว้ารางวัลสุดยอด Samart Innovation Award พร้อมรับเงินรางวัล 200,000 บาท คือ ทีม “จับจ่าย ฟอร์ สคูล” (JabJai For School) เทคโนโลยีที่สร้างบัญชีเงินฝากให้กับนักเรียน ผูกเข้ากับการใช้ลายนิ้วมือของนักเรียน เพียงสแกนนิ้วมือผ่านเครื่องจับจ่ายที่ติดตั้งในโรงเรียน เพื่อซื้ออาหารกลางวัน ซื้อสินค้าในสหกรณ์ของโรงเรียน โดยไม่ต้องพกเงินสด ระบบจะรายงานผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อควบคุมการใช้จ่ายของนักเรียน หรือจะนำไปประยุต์ใช้เพื่อบันทึกลงเวลาเรียน และรายงานผลผ่านแอปพลิเคชั่น แบบ Real time ก็ช่วยให้การบริหารจัดการในสถานศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนำไปใช้จริงแล้วที่โรงเรียนกงลี้จงซัน สถาบันสอนภาษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับ รองอันดับ 1 คือ ทีม HOPS แอปพลิเคชั่นที่ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลการตลาด โดยให้บริการเจาะกลุ่มร้านค้าแฟชั่น ในย่านสยามแควร์ ที่เป็นระบบออฟไลน์ อาทิ แก๊สโซลีน SOS  มานีมีนา เป็นต้น ซึ่งแอปพลิเคชั่น มีจุดเด่นดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเยี่ยมชมร้านค้าด้วยการมอบคะแนนสะสมทันที เพียงแค่ลูกค้าเดินเข้าร้าน (walk-in point) จึงช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้า เดินเข้าร้านค้าได้มากขึ้น

รองอันดับ 2 คือ ทีม O Orchid ระบบดูแลและจัดการฟาร์มกล้วยไม้ ออกแบบแพลตฟอร์มที่ควบคุมความชื้นให้กับพืชประเภทกล้วยไม้ ช่วยให้สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี โดยใช้อัลตร้าโซนิคแบบหมอกควัน
ช่วยเพิ่มความชื้นที่เหมาะสมกับกล้วยไม้บริเวณลำต้นและใบ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงได้ดี ซึ่งผลจากการทดสอบพบว่าการเพิ่มความชื้นที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มผลผลิตดอกกล้วยไม้มากขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ อีกทั้งยังทำให้ดอกกล้วยไม้มีดอกขนาดใหญ่ขึ้น ได้มาตรฐานมากขึ้นด้วย   

ทั้งนี้ 3 ทีมได้รับการพิจารณาจากแผนธุรกิจที่โดดเด่นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ ควบคู่กับนวัตกรรมที่ต่างและสร้างมูลค่าได้มากกว่าเป็นสำคัญ และมีโอกาสได้รับสิทธิ์ไปดูงานด้านนวัตกรรมที่สาธารณรัฐเกาหลี อีกด้วย อย่างไรก็ตามโครงการ Young Technopreneur ปี 2017 ยังเน้นเจาะไอเดียคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมใหม่ๆ และมีแผนธุรกิจชัดเจน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยทุกผลงานที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 15 ทีม จะได้รับเงินทุนในการพัฒนาผลงานเพิ่มขึ้นจาก 20,000 เป็น 30,000 บาท เพื่อให้ได้ทีมที่มีศักยภาพความพร้อมที่สุด ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีในประเทศเข้าสู่โมเดล Thailand 4.0 เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดนวัตกรรมและธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้สามารถแข่งขันกับประชาคมโลกต่อไป

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ผ่านการอบรมด้านทักษะความรู้พื้นฐานทางธุรกิจและเทคโนโลยีแล้วกว่า  660 คน เกิดการจัดตั้งธุรกิจจำนวน 30 ราย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นเป็นที่น่ายินดีกับโครงการฯ ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ของประเทศไทย
   
สำหรับโครงการฯ ในปีหน้า จะมีการปรับหลักสูตรอบรมให้สอดรับกับเทรนด์เทคโนโลยีและหัวข้อการประกวด โดยนำผลที่ได้จากโครงการฯทั้ง 5 รุ่น มาปรับปรุงเนื้อหากิจกรรมให้เหมาะกับนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่มากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว สวทช. จะมีการปรับหลักสูตรการอบรมให้เข้มข้นขึ้น ทั้งเนื้อหา การลงมือปฏิบัติจริง และการคัดกรองผู้ผ่านเข้ารอบ ภายใต้หัวข้อประเภทการประกวด 5 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายที่โครงการ Thailand 4.0 ของภาครัฐให้ความสำคัญ ได้แก่ 1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) 2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) 3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล (Smart Devices, Robotics & Mechatronics, Smart Logistic, Smart Energy) 4. กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับ อุปกรณ์ต่างๆ  (Digital, Internet of Things ,Fin tech, Ecommerce, Education Technology) และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services ,Life style, Tourism)

ทั้งนี้โครงการฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการนำแนวคิดสู่ธุรกิจทำเงินต่อไป ซึ่งมั่นใจได้ว่าหากน้องๆ มีการเตรียมความพร้อม ทั้งการมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ มีการศึกษาความต้องการตลาด ต่อยอดจนเกิดแนวคิดธุรกิจที่ใช่ บวกกับมีความตั้งใจ โครงการฯ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีให้รวดเร็วขึ้น 

อย่างไรก็ตามในปีหน้าโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี 2017 เปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทร. 02-583-9992 ต่อ 1510 www.nstda.or.th/bic/ หรือ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  โทร. 02-502-6522  www.samartsia.com
« Last Edit: October 07, 2016, 03:17:23 PM by news »