บลจ.กรุงไทยขายตราสารหนี้3เดือนชู1.45%ต่อปี
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 116 (KTFF116) อายุ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 5-11 ตุลาคม 2559 อายุ 3 เดือน เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภทเงินฝากประจำ Bank of China ( Macau ) , PT BANK RAKYAT INDONESIA ( PERSERO ) Tbk , China Construction Bank , Ahli Bank QSC และ First Gulf Bank PJSC ผลตอบแทนประมาณ 1.45% ต่อปี
อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ โดยรวมปรับตัวลดลงตามเงินลงทุนที่ไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังไม่มีตารางเวลาที่แน่นอนในการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินถึงแม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเป็นยอดซื้อสุทธิจำนวน 29,817 ล้านบาท สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามจะเป็นปริมาณการออกพันธบัตรในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2560 ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทิศทางของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ
อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับตัว โดยตราสารระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในขณะที่ตราสารระยะกลางถึงยาวปรับตัวลดลงตามแรงซื้อจากกระแส Risk-off จากความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของธนาคารดอยซ์แบงก์ และธนาคารเวลฟาโก ถึงแม้ว่า GDP ไตรมาส 2 ปี 2559 ของสหรัฐอเมริกาจะออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวลดลง 1 bps. มาอยู่ที่ 0.76% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 1 bps. มาอยู่ที่ 1.15% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 3 bps.มาอยู่ที่ 1.59% ต่อปี
สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามจะเป็นปริมาณการออกพันธบัตรในไตรมาส1ของปีงบประมาณ2560 ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทิศทางของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ ส่วนต่างประเทศ ปัจจัยที่ต้องติดตาม จะเป็นความคืบหน้าของธนาคารดอยซ์แบงก์ แนวโน้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลก แนวโน้มราคาน้ำมัน ผลกระทบของ Brexit ต่อ EU และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ