news on September 28, 2016, 08:06:56 AM
ประเทศไทยก้าวสู่ผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของภูมิภาค ETDA เผยผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดการณ์ปี 59 โตถึง 12.4%



สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ที่ 5 จากซ้าย) แถลงผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2558 พร้อมตบท้ายงานด้วยเสวนาเรื่อง “เข้าสู่ตลาดออนไลน์อย่างไร ให้ปังและเข้าเป้า” จากภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand: BOT) และผู้ประกอบการเอกชน อาทิ บริษัท เซ็นทรัลออนไลน์ จำกัด (มหาชน), ไลน์ (ประเทศไทย), การีน่า ออนไลน์ (ประเทศไทย) และ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมจัดบูธจากผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอุตสาหกรรมต่างๆ ณ ห้อง Universe 1 ศูนย์ประชุมสเปซ ชั้น 12 โรงแรม Space by Miracle อาคารเดอะ ไนน์ ทาวเวอร์ แกรนด์ พระราม 9

จากซ้ายไปขวา
1.   ดร. พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา หัวหน้าฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ไลน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
2.   คุณณัฐพร  วุ่นกลิ่นหอม รองประธานฝ่ายปฏิบัติการและเทคโนโลยี กลุ่มธุรกิจเซ็นทรัลออนไลน์ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน)
3.   คุณณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้บริหารส่วนนโยบายการชำระเงินในประเทศ  ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
4.   คุณจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า)
5.   คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า)
6.   คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด และนายกสมาคม E-Commerce ประเทศไทย
7.   คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด
« Last Edit: September 28, 2016, 08:16:06 AM by news »

news on September 28, 2016, 08:08:14 AM
ประเทศไทยก้าวสู่ผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของภูมิภาค ETDA เผยผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดการณ์ปี 59 โตถึง 12.4%
 

Surangkana Wayuparb, CEO and Executive Director of ETDA


Jirawat Boonperm, Chairman of the Executive Board of Directors, ETDA







สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2559 พบว่า ในปี 2558 มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ไทย มีมูลค่ากว่า 2.24 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภทธุรกิจขายให้กับธุรกิจ (B2B) 1.33 ล้านล้านบาท มูลค่าขายที่ธุรกิจขายให้กับผู้บริโภค (B2C) ประมาณ 0.51 ล้านล้านบาท และมูลค่าขายที่ธุรกิจขายให้กับภาครัฐ (B2G) ประมาณ 0.40 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ปี 2559 จะเติบโตแบบก้าวกระโดด 12.42% มูลค่ารวมสูงถึง 2.52 ล้านล้านบาท

ETDA ดำเนินการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่องมาจนถึงครั้งนี้ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยให้มีความครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อีคอมเมิร์ซของไทย สามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือเปรียบเทียบ รวมถึงใช้ประกอบการวางนโยบาย จัดทำแผนบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์และกำหนดแผนการดำเนินธุรกิจ ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกลายเป็นโอกาสเติบโตสำคัญของผู้ประกอบการไทยทั้งรายเก่าและรายใหม่ ท่ามกลางความซบเซาของตลาดรูปแบบเดิม ๆ ทำให้มีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการวางรากฐานของประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ทำให้อีคอมเมิร์ซเป็นกลไกสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปอีกขั้น โดยเราเชื่อมั่นว่าผลการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมของไทย”

การสำรวจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่มีความครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถนำไปใช้อ้างอิงหรือเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ได้ รวมถึงเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถนำข้อมูลจากผลการสำรวจไปใช้ประกอบการวางนโยบาย การบริหารจัดการกลยุทธ์ การวางแผนการดำเนินธุรกิจ ทั้งในระดับองค์กร รวมถึงระดับประเทศ เพื่อปรับตัวให้ทันกับสภาพเศรษฐกิจดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

ETDA ดำเนินการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 527,324 ราย ซึ่งได้รายชื่อและความร่วมมือจากสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ การสำรวจครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จัดแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 2 กลุ่ม โดยใช้เกณฑ์ผลประกอบการ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาทต่อปี ในกลุ่มนี้ใช้วิธีการสัมภาษณ์ (Face to Face Interview) อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลประกอบการมูลค่าอีคอมเมิร์ซน้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี กลุ่มนี้ใช้การสำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์ (Online Survey) โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน– กันยายน 2559 ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งหมด 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง อุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร อุตสาหกรรมการประกันภัย อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และอุตสาหกรรมการบริการด้านอื่น ๆ

จากการสำรวจ พบว่า ในปี 2558 ประเทศไทยมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 2,245,147.02 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 43.47% ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B ประมาณ 1,334,809.46 ล้านบาท (59.45%) รองลงมาคือ มูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2C ประมาณ 509,998.39 ล้านบาท (22.72%)  และมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2G ประมาณ 400,339.17 ล้านบาท (17.83%) ในส่วนของการแบ่งมูลค่าอีคอมเมิร์ซออกเป็นประเภทอุตสาหกรรมทั้ง 8 หมวดอุตสาหกรรม หากไม่รวมมูลค่าจาก e-Auction พบว่า อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

o   อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 559,697.54 ล้านบาท (30.21%)

o   อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 536,725.26 ล้านบาท (28.97%)

o   อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 428,736.23 ล้านบาท (23.14%)

ตามด้วยอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ซึ่งมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 232,721.36 ล้านบาท (12.56%) อุตสาหกรรมการขนส่ง (3.46%) อุตสาหกรรมบริการด้านอื่นๆ (1.03%) อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ (0.51%) ส่วนอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซน้อยที่สุด คือ อุตสาหกรรมการประกันภัย (0.11%)

ส่วนการคาดการณ์แนวโน้มมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2559 พบว่า มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2,523,994.46 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 40.08% ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็น 12.42% ส่วนมูลค่าขายนั้นส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,381,513.39 ล้านบาท (54.74%) ซึ่งเพิ่มจากปี 2558 คิดเป็น 3.50% รองลงมาคือ มูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2C จำนวน 729,292.32 ล้านบาท (28.89%) ซึ่งเพิ่มจากปี 2558 คิดเป็น 43.00% และมูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2G จำนวน 413,037.84 ล้านบาท (16.37%) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็น 3.21% และหากไม่รวมมูลค่า e-Auction ในปี 2558 มูลค่าอีคอมเมิร์ซประเภท B2B, B2C และ B2G คิดเป็น 72.05%, 27.53% และ 0.43% ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในปี 2558 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาพรวมของการคาดการณ์อุตสาหกรรมในปี 2559 หากไม่รวมมูลค่า e-Auction จะพบว่า อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่

o   อุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 731,828.33 ล้านบาท (34.55%)

o   อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 643,033.15 ล้านบาท (30.35%)

o   อุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 343,866.80 ล้านบาท (16.23%)

ตามด้วยอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ซึ่งมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งสิ้น 281,866.93 ล้านบาท (13.30%) อุตสาหกรรมการขนส่ง (3.32%) อุตสาหกรรมบริการด้านอื่นๆ (1.65%) อุตสาหกรรมศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ (0.53%) ส่วนอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซน้อยที่สุดยังคงเป็นอุตสาหกรรมการประกันภัย (0.08%)
 

เมื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้นในรายละเอียด พบว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย (รวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ) มีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง โดยมีผู้สนใจลงทุน ค้าขาย รวมถึงใช้บริการในจำนวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสถิติใน 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงค์โปร์ และอินโดนีเซีย พบว่าไทยกำลังก้าวเป็นผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของภูมิภาค
 

จากข้อมูลสถิติที่กล่าวมาข้างต้น ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่มีวิวัฒนาการไปอย่างมาก ก่อให้เกิดรูปแบบการสื่อสาร เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่ขาดสาย ปัจจัยด้านนโยบายของภาครัฐที่พยายามขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซสู่อาเซียนและตลาดโลก ผนวกกับปัจจัยด้านรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความก้าวหน้าและเป็นไปมาตรฐานสากล เช่น Any ID หรือพร้อมเพย์ การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและลดต้นทุนในกระบวนการทางธุรกิจของภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐเอง ซึ่งหากกระบวนการในการทำธุรกรรมสะดวก รวดเร็ว สามารถเข้าถึงได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในประเทศที่จะพัฒนาการค้าในธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เนื่องจากสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ได้รับความสะดวกสบายและมีปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย
« Last Edit: September 28, 2016, 08:18:47 AM by news »