news on August 19, 2016, 11:09:15 AM
“ซอฟต์แวร์ ปาร์ค” จับมือ “สามารถ กรุ๊ป” เฟ้น “10 เจ้าของไอเดีย” สู่ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี”











โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สุขุมวิท 22 - เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์ ปาร์ค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันจัดเวทีนำเสนอผลงาน ในโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ประจำปี 2559 เพื่อสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่โดยการต่อยอดความคิดให้กับผลงานที่มีความพร้อม มีแนวทางความเป็นไปได้ทางการตลาด เพื่อผลักดันสู่ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่จับต้องได้และเป็นรูปธรรม โดยมีผู้ประกอบการ เข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงานเป็นจำนวนมาก

นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์ ปาร์ค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นการแสดงผลงานเทคโนโลยีและแผนธุรกิจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ โดยนำความรู้ที่เป็นหัวใจของการทำธุรกิจและประสบการณ์ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมในโครงการ ผ่านกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (สวทช.) ตั้งแต่เรื่องการจัดตั้งธุรกิจ การเขียนแผน การเจรจาต่อรอง จนถึงการออกไปปฏิบัติจริง มาปรับใช้กับผลงาน และกลับมานำเสนอให้กับนักลงทุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ ผู้ทรงอิทธิพลด้านออนไลน์จากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ รวมถึงนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม และนักลงทุนราย ซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์ ความรอบรู้ ที่ต้องการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีโอกาสเติบโต มาร่วมลงทุนและต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ หรือนำไปขยายตลาดต่อ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ตลอด 3 ปีที่จัดโครงการฯ มีถึง 15 ผลงาน ที่ก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจตัวจริง เกิดการจัดตั้งเป็นธุรกิจเทคโนโลยี เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีอีกกว่า 50 ผลงานที่กำลังพัฒนา และเตรียมพร้อมสู่ตลาดและการจัดตั้งธุรกิจต่อไป

นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จากัด (มหาชน) หรือ SAMART เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทสามารถ ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงาน “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการจัดงานเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน (Business Matching) ครั้งนี้เกิดการพบปะ เพื่อเจรจาต่อรองทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนกับเจ้าของผลงานที่ผ่านเข้ารอบและมีความพร้อมในเชิงพาณิชย์จากโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากเจ้าของผลงานจะได้พบปะกับนักลงทุนโดยตรงเพื่อโอกาสต่อยอดในเชิงพาณิชย์แล้ว นักลงทุนยังมีโอกาสได้พิจารณาผลงานที่มีศักยภาพเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจของตน โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีราคาแพงกว่า เป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคมากขึ้น ด้วยการสร้างผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ       

ตามนโยบายภาครัฐที่กําหนดให้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

“โครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนยี เป็นกิจกรรมที่สานต่อความมุ่งมั่นของกลุ่มสามารถที่ต้องการให้โครงการ SAMART Innovation Award ที่ก่อตั้งมานานถึง 14 ปี ได้มีส่วนในการสร้างและผลักดันให้เกิดนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีตัวจริงโดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกมัดใดๆ จากบริษัทฯ โดยผู้ชนะเลิศสุดยอดนักคิดนักพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ หรือรางวัล Samart Innovation Award 2016 จะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท (รางวัลชนะเลิศ) เงินรางวัล 100,000 บาท สำหรับรองชนะเลิศอันดับ 1 และเงินรางวัล 50,000 บาท สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นอกจากนั้น 3 อันดับแรกยังได้รับรางวัลศึกษาดูงานต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น รางวัลลำดับที่ 4-25 จะได้รับทุน (Business Startup Funds) ทุนละ 20,000 บาท  รวมมูลค่ารวมทั้งโครงการฯ กว่า 1,000,000 บาท เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิด เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ตัวจริงต่อไป” นายเจริญรัฐ ระบุ

อย่างไรก็ตาม 10 ผลงานที่เข้าร่วมนำเสนอต่อนักลงทุนครั้งนี้ คัดเลือกจากผลงานที่พร้อมที่สุดทั้งแนวคิดธุรกิจที่ชัดเจนและมีศักยภาพสูงพร้อมต่อยอดทางธุรกิจได้ทันที แบ่งเป็น 4 ประเภทเทคโนโลยี ได้แก่ ประเภทเทคโนโลยีเพื่อการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม มี 1 ทีม คือ Beernova วัสดุแทนไม้คุณภาพสูงจากกากเบียร์ ประเภทเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ มี 3 ทีม ประกอบด้วย 1.อะพาร่า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสกัดจากเซรั่มน้ำยางพารา 2.Zzzleepillow นวัตกรรมหมอนที่ช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ และ 3.FitMeUp แอพพลิเคชันช่วยแนะนำการออกกำลังกาย ประเภทเทคโนโลยีเพื่อการพาณิชย์และการขนส่ง มี 3 ทีม ประกอบด้วย 1.Handy Wings ระบบบริหารจัดการงานซ่อมแซมที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร 2.HOPS แอพพลิเคชันช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลการตลาด และ 3.Jord Sabuy บริการที่จอดรถ และประเภทเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มี 3 ทีม ประกอบด้วย 1.Gurr.com แพลตฟอร์มเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของนักศึกษา 2.จับจ่าย เทคโนโลยีที่สร้างบัญชีเงินฝากระหว่างนักเรียนกับโรงเรียนด้วยลายนิ้วมือ และ 3. มิวอาย เลนส์ที่เปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้เป็นกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งแต่ละผลงานล้วนแล้วแต่อยู่ในกลุ่มที่มีความต้องการในตลาด
« Last Edit: August 20, 2016, 10:34:39 PM by news »