MSN on August 18, 2016, 10:43:30 AM
เทรนด์การสร้างบ้าน 2017-2020




          ผู้บริโภคได้เปลี่ยนจากกลุ่มอายุ 45 -60 ปีมาเป็นผู้บริโภคอายุ 25-40 ปี มีอัตราที่จะสร้างบ้านด้วยตัวเองมากขึ้น เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของตนและตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐาน โดย "บ้าน" มักจะถูกสื่อสารออกไปในสัญญะของเกียรติและตัวตนของเจ้าของบ้าน จากประสบการณ์การสร้างบ้านของรอแยลเฮ้าส์กว่า 30 ปี พบว่าผู้ต้องการสร้างบ้านจะใช้เวลาในการตัดสินใจสร้างบ้านประมาณ 3 เดือน โดยระยะเวลานี้เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจว่าอยากจะสร้างบ้าน การหาแบบบ้าน การหาข้อมูลในการสร้าง การเลือกวิธีการสร้าง การเลือกวัสดุ การเลือกบริษัทรับสร้างบ้าน ไปจนถึงการเซ็นสัญญาสร้างบ้าน และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจนี้ เป็นเรื่องของการให้ข้อมูล แบบบ้านที่สวยงาม มาตรฐานการก่อสร้าง และความน่าเชื่อถือของบริษัทรับสร้างบ้าน ซึ่งนอกจากกระบวนการตัดสินใจในการสร้างบ้านของผู้ต้องการสร้างบ้านแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่รอแยลเฮ้าส์ให้ความสำคัญคือการพัฒนางานก่อสร้างและการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างบ้านเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ต้องการสร้างบ้านในปัจจุบันและอนาคต
          รอแยลเฮ้าส์ได้ทำการหาข้อมูลและสรุปข้อมูลจากประสบการณ์การสร้างบ้านกว่า 30 ปี จนได้เทรนด์การสร้างบ้านในปี 2017-2020 ดังนี้
          1. Eco Friendly บ้านประหยัดพลังงานและรักษ์โลก : จุดประสงค์หลักคือการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าโดยไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม บ้านประเภทนี้จึงมักถูกออกแบบให้โปร่ง โล่ง สบาย เพื่อรับลมและความเย็นจากธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็ป้องกันความร้อนที่จะสะสมในบ้าน โดยทั่วไปการออกแบบบ้านประหยัดพลังงานจะเน้นวิถีทางธรรมชาติ (Passive Cooling) เป็นหลัก แต่ต้องผสมผสานการออกแบบ ที่เตรียมการสำหรับการทำให้เกิดความเย็น ด้วยวิธีกลไกและการพึ่งพาเทคโนโลยี (Active Cooling) โดยอาจมีการติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อช่วยประหยัดพลังงานเพิ่มในบ้าน รวมทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อเก็บเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านไปในที่สุด
          2. Small is cool บ้านพื้นที่เล็กแต่ประโยชน์ใช้สอยคุ้มค่า : จากรายงานของ IFDA (International Furnishings and Design Association) พบว่า 49% ของคนอเมริกัน ต้องการบ้านที่มีขนาดเล็กลง แต่ตอบสนองได้ทุกความต้องการ ซึ่งมีแนวโน้มว่าเทรนด์นี้จะได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยอาจลดทอนห้องบางห้องที่ใช้ประโยชน์น้อยที่สุดออก หรือรวมห้องบางห้องเข้าด้วยกันแล้วใช้งานแบบมัลติฟังก์ชั่น โดย 76% ของสมาชิก IFDA มีแนวโน้มที่จะตัดห้องทานอาหาร หรือห้องนั่งเล่นอย่างเป็นทางการออก แล้วเปลี่ยนเป็นห้องที่ใช้งานได้อย่างหลากหลายสำหรับสมาชิกทุกคนในบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับ 92% ที่บอกว่า ห้องที่สร้างขึ้นมาสำหรับคนแค่คนเดียวภายในบ้าน เช่น ห้องทำงานของพ่อ ห้องเก็บเสื้อผ้าของแม่ จะต้องกลายเป็นพื้นที่ส่วนรวมของทุกคนในบ้านภายในปี 2020
          3. Home Tech บ้านอัจฉริยะ : ในอนาคต การสร้างบ้านจะต้องคำนึงถึงการรองรับกับระบบเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาไปอย่างรุดหน้าและแพร่ขยายการใช้งานจนกลายเป็นมาตรฐานเดียวกัน นั่นหมายความว่าทุกบ้านจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการอำนวยความสะดวกสำหรับการอยู่อาศัย โดยคาดว่าปี 2020 บ้านที่สร้างใหม่ทุกหลังจะเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบบางอย่าง เช่น การควบคุมระบบไฟด้วยรีโมต, Gesture Control หรือการสั่งการด้วยเสียง นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงขั้นตอนการสร้างบ้านและนวัตกรรมการสร้างบ้านที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือเทคนิคการสร้างแบบใหม่เข้ามาใช้ เช่น บ้านโครงสร้างเหล็ก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นบ้านที่ออกมาตรงตามความต้องการทุกอย่าง
          4. Elderly Care บ้านสำหรับผู้สูงอายุ : ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุดในอาเซียน โดยคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด ตามมาด้วยสิงคโปร์ 9% และอินโดนีเซีย 7% ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุของไทยจะมีจำนวนมากถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 20 ปีข้างหน้าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสุดยอด คือมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า ร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น การสร้างบ้านที่มีสมาชิกครอบครัวเป็นผู้สูงอายุจึงต้องออกแบบและปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและสอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุด้วย เนื่องจากใน 1 วัน ผู้สูงอายุมักจะใช้เวลาอยู่ในบ้านไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง "บ้าน" จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผู้สูงอายุ
          5. Cluster บ้านหลายหลังในพื้นที่เดียวกัน : แนวโน้มของราคาที่ดินที่สูงขึ้น และความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยที่เริ่มกระจายตัวออกไปเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดความนิยมสร้างบ้านที่ใช้พื้นที่ส่วนรวมด้วยกัน โดยเป็นความนิยมแบบไทยและการมองถึงประโยชน์ร่วมของการอยู่รวมกันแบบเป็นครอบครัวใหญ่ โดยบ้านลักษณะนี้ มักเป็นบ้านของพ่อแม่ ลูกชาย ลูกสาว หรือพี่น้อง ที่ตัดสินใจสร้างบ้านอาศัยอยู่บนพื้นที่เดียวกัน และพื้นที่ส่วนรวมของบ้านก็มักจะเป็น ที่จอดรถ สระว่ายน้ำ หรือสวนของบ้านนั่นเองหรืออาจจะเป็นลักษณะ Multi Family เป็นการอยู่อาศัยแบบหลายครอบครัวแต่เป็นการขยายไปแนวสูง คือ หลายชั้นแต่มีส่วนบริการและสันทนาการร่วมกัน เช่น สระว่ายน้ำ ห้องทานอาหาร ฟิตเนส
          6. Back to nature บ้านอิงธรรมชาติ : กระแสการหวนคืนสู่ธรรมชาติกำลังมาแรงเป็นอย่างมาก และมีทีท่าว่าจะเป็นที่นิยมไปอีกหลายปี เนื่องจากผู้คนในยุคปัจจุบันรักตัวเอง รักสุขภาพ และรักธรรมชาติกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความนิยมการสร้างบ้านแบบใกล้ชิดธรรมชาติ และสัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เช่น การสร้างบ้านแบบเปิดโล่งเพื่อรับลมและรับแสงธรรมชาติ การแบ่งพื้นที่ของบ้านทำสวน ปลูกผัก ปลูกสมุนไพร โดยสมาชิกของ IFDA ยืนยันว่าบ้านจะต้องมีพื้นที่ส่วนนอกที่ไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามากเพื่อให้ได้สามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติได้ในทุกวัน
          7. Personalization Selected บ้านตามความต้องการส่วนบุคคล : ลักษณะพื้นฐานของบ้านแบบ 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องรับแขก จะต้องเปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคลให้มากขึ้น โดยอิงกับเทรนด์ของการลดขนาดบ้านและการลดทอนห้องบางห้อง เพื่อให้บ้านกลายเป็นบ้านอย่างแท้จริง เช่น บางบ้านไม่มีห้องรับแขกแต่มีห้องซ้อมดนตรีของพ่อกับลูกชาย บางบ้านไม่มีห้องทานอาหาร แต่มีห้องสมุดและห้องทำงานของทุกคนในครอบครัว เป็นต้น นำมาซึ่งการสร้างบ้านแบบ Open Plan ที่สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้อย่างหลากหลายตามความต้องการของแต่ละบุคคล
          นอกจากนี้ รอแยลเฮ้าส์ยังพบเทรนด์การตกแต่งบ้านปี 2017-2020 ที่น่าสนใจ คือ
          • เน้นความสำคัญของห้องน้ำมากขึ้น : ด้วยมีการใช้เวลาที่มากขึ้นในห้องน้ำสำหรับการอาบน้ำและดูแลตัวเอง การตกแต่งห้องน้ำที่ได้รับความสนใจมาในระยะหนึ่งจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นไปอีกเพื่อสร้างช่วงเวลาของการผ่อนคลาย โดยจะมีการใช้อ่างอาบน้ำ และติดตั้งจอโทรทัศน์ในห้องน้ำเพิ่มมากขึ้น
          • เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้สอยได้หลากหลาย : ลักษณะของเฟอร์นิเจอร์ที่ปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้หลากหลายจะได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก เพื่อตอบโจทย์ให้สอดคล้องกับบ้านในยุคสมัยใหม่ที่พื้นที่เล็กลง แต่ใช้งานได้คุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งได้รับความนิยมนำหน้าการบิลด์อินและเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่แน่นอน
          • สร้างสีสันด้วย LED : ไฟแบบ LED จะเข้ามาเติมเต็มจินตนาการแนว sci-fi ให้กับบ้าน และมากไปกว่านั้นคือการสร้างสีสันและบรรยากาศที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา จนกล่าวได้ว่าระบบไฟ LED นั้นเป็นงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งของบ้าน
          • เพิ่มโต๊ะทานข้าวในห้องครัว : มีแนวโน้มว่าห้องครัวของบ้านจะถูกใช้งานเพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากการใช้ประกอบอาหารเพียงอย่างเดียว นั่นคือการใช้เป็นสถานที่ทานข้าวของครอบครัวไปด้วย โดยการออกแบบห้องครัวจะต้องเพิ่มพื้นที่และโต๊ะสำหรับทานข้าวเข้าไป ซึ่งเป็นการประหยัดพื้นที่และค่าใช้จ่าย รวมทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นให้กับครอบครัวอีกด้วย