หุ้นมีโอกาสไปต่อหากเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการสรุปภาพรวมเศรษฐกิจ และแนวโน้มการลงทุนในเดือนสิงหาคม
โดยภาพรวมในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในเอเซีย ตลาดเกิดใหม่ และสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยหลักเกิดจากเงินทุนไหลเข้าไปสู่สินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเม็ดเงินออกจากฝั่งยุโรปค่อนข้างมาก แต่ตลาดหุ้นฝั่งยุโรปมีการปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน นักลงทุนหาการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Yield) เมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล ที่ให้อัตราผลตอบแทนในระดับต่ำถึงติดลบหลังเกิดเหตุกาณ์ Brexit สภาพคล่องที่ล้นอยู่เป็นปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารกลางต่างๆที่ยังทำนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย (Accommodative/Expansionary Monetary Policy ) เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเงินในระบบเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าและอาจสร้างความผันผวนให้กับราคาสินทรัพย์หากมีการขายทำกำไรจากเหตุกาณ์ต่างๆ
เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวการบริโภคภายในประเทศของรายได้ รวมถึงแนวโน้มสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ ( NPL) ที่ทรงตัวหรือลดลง และการลงทุนจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกยังไม่ค่อยดีนักเพราะว่าอุปสงค์ยังไม่ฟื้นตัวมากประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่น่าจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ฝ่ายวิจัย บลจ.กรุงไทย เห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้ ในขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ เนื่องจากตัวเลขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและ Earning Yield ที่ยังอยู่ในระดับลงทุนได้และน่าสนใจกว่าพันธบัตรในระยะสั้น โดย Fund Flow จะยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการลงทุน
มุมมองการลงทุนในหุ้น สถานการณ์ Fund Flow ไหลเข้าได้เกิดขึ้นจริง โดยนักลงทุนต่างประเทศมีการเข้าซื้อสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเซียรวมถึงหุ้นไทยมากขึ้น เหตุผลหลักคือด้วยสภาพคล่องคงเหลือและยังต้องการหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ Earning Yield Gap ระดับความน่าสนใจยังอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะมีผลต่อเนื่องหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไม่มีการปรับตัวขึ้นมากจนเกินไป ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย คาดว่ายังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปได้ตาม Fund Flow ที่ไหลเข้ามา โดย Earning Yield Gap ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศจากข้อมูล NPL ที่อาจทรงตัวหรือลดลง รายได้ภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนจากภาครัฐ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กรอบการลงทุนเปิด Downside เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มความระมัดระวังเอาไว้ก่อน โดยคาดว่าอาจอยู่ราว 1,450-1,560 จุด+/- หาก Fund Flow ยังไหลเข้าต่อเนื่อง
ตราสารหนี้ต่างประเทศในกลุ่ม Investment Grade และ High Yield มีอัตราผลตอบแทนลดลง หลังตลาดเกิด Risk-on และวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล สำหรับตราสารหนี้ไทย Fund Flow ยังไม่ได้เข้าซื้อตราสารหนี้ไทยมากนัก โดยมีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นมากกว่า เราคิดว่าอัตราผลตอบแทนจะมีการปรับตัวขึ้น-ลง ผันผวน และคาดว่าโอกาสในการปรับตัวขึ้นมีมากกว่าปรับตัวลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากลงทุนระยะกลาง-ยาว ยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากได้ และมีส่วนช่วยลดความผันผวนของ Portfolio โดยรวมได้
ราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาก นักลงทุนยังมีความต้องการในการถือครองทองคำเพื่อปกป้องพอร์ตการลงทุนจากความผันผวนด้วยเหตุกาณ์ต่างๆ เป็นตัวช่วยหนุนราคาทองคำ รวมถึงการอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ของดอลล่าห์อีกเล็กน้อยเป็นปัจจัยสนับสนุน ทั้งนี้ทองคำยังเป็นสถานะที่ดีที่ควรมีติดพอร์ตการลงทุนเอาไว้เพื่อช่วยในการกระจายความเสี่ยงยามตลาดเกิดความผันผวน ในขณะที่การปรับลดลงของราคาน้ำมันเริ่มสร้างแรงจูงใจให้น่าติดตามมากขึ้น เนื่องจากคิดว่าราคา 26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้นเป็นจุดต่ำสุดไปแล้ว นักลงทุนสามารถทะยอยสะสมได้
ลยุทธ์การลงทุน ในเดือนสิงหาคม คาดว่าเงินทุนยังสามารถไหลเข้าหาสินทรัพย์ที่ยังให้ผลตอบแทนที่สูงได้ เช่นตลาดหุ้น ซึ่งสามารถดูได้จากอัตราผลตอนแทบของสินทรัพย์นั้นเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล หากมีส่วนต่างที่มากพอ ก็ยังดึงดูดให้สภาพคล่องที่มีอยู่ไหลเข้าซื้อสินทรัพย์นั้นต่อไป ด้านตราสารหนี้ยังเหมาะสำหรับการกระจายความเสี่ยงหรือถือระยะกลาง-ยาวเพื่อเพิ่มผลตอบแทนถ้าเทียบกับเงินฝาก สินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ ยังเป็นสินทรัพย์ที่ดีในการช่วยลดความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนและเพิ่มผลตอบแทนได้ในความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น น้ำมันเริ่มมีมูลค่าที่น่าสนใจในการลงทุนหากมีการปรับตัวลงมาลึกมากพอ รวมถึงหากมีสัญญาณเกี่ยวกับอุปสงค์และอุปทานที่ดีขึ้น สำหรับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน ในเดือนสิงหาคม อาจจะพิจารณาลงทุนในหุ้น 48% ตราสารหนี้ 35 % AI 12% และ Cash 5%