MSN on July 25, 2016, 08:20:17 AM
วช. แถลงข่าว “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 (Thailand Research Expo 2016)”

          สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ แถลงข่าวการจัดงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 (Thailand Research Expo 2016)"



          เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมโลตัส 1 – 4 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดย นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าว นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการ วช. เปิดเผยว่า มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo) เป็นกิจกรรมสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี 2549 และจัดต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ และองค์กรต่างๆทุกภาคส่วนอาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร(สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ( (สวรส.)และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เป็นต้น

          การจัดงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 หรือ Thailand Research Expo 2016" ในปีนี้ จะขนทัพผลงานวิจัยในระบบทั่วประเทศหลายร้อยผลงานจาก 9 กลุ่ม ได้แก่ งานวิจัยเพื่อการผลิตและเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรและอาหาร งานวิจัยเพื่อพลังงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม งานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรม งานวิจัยเพื่อสร้างธุรกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งานวิจัยเพื่อสุขภาพ การแพทย์ สังคมผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส งานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปกรรม และการศึกษา งานวิจัยเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการพัฒนาชุมชน งานวิจัยเพื่อสร้างความมั่นคงของรัฐและการเสริมสร้างธรรมมาภิบาล และงานวิจัยเพื่อรองรับการสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 และให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการนำผลงานวิจัยที่พร้อมใช้ประโยชน์ และเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ ระดับประเทศและนานาชาติ ภายใต้แนวคิด "วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน (Research for Development Country Toward Stability , Prosperity and Sustainability)" โดยมี น้องปัญญาเป็น Mascot ของงานกิจกรรมภายในงานแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ภาคนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรูปแบบนิทรรศการแสดงองค์ความรู้ "ศูนย์เรียนรู้ 89 พรรษา พระบิดาแห่ง

          การวิจัย" แสดงถึงพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ ด้วยพระอัจฉริยภาพทางการวิจัยในหลากหลายด้าน โดยมีงานวิจัยในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุขและ ด้านส่งเสริมอาชีพ ที่ทรงนำองค์ความรู้สู่กระบวนการวิจัยพัฒนามาเป็นผลงานเพื่อประโยชน์สุขแก่พสกนิกรชาวไทย นิทรรศการภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ นิทรรศการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการตามแนวพระราชดำริในด้านต่าง ๆ นิทรรศการของพระบรมวงศานุวงศ์ นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานในระบบวิจัยโดยรวม " ผลงานวิจัยเชิงศิลปะ " ที่คัดผลงานเด่นจาก4 ภาคมาร่วมจัดแสดง และ "ผลงานวิจัยตอบโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่ " นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างการจัดงานวันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2559 ยังมีการประชุม/สัมมนาในหลากหลายประเด็น ได้แก่ การประชุม/สัมมนาขนาดใหญ่ 4 รูปแบบ มากกว่า 100 หัวเรื่อง ได้แก่ การประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ในหัวข้อสำหรับการบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ การประชุม/สัมมนาขนาดกลางในประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ควรเร่งแก้ไข การประชุมกลุ่มเฉพาะเรื่องในประเด็นเฉพาะที่น่าสนใจ การนำเสนอผลงานวิจัยThailand Research Symposium และการถ่ายทอดเทคนิคและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย (Twilight Program) รวมทั้งเวทีกลาง (Highlight Stage) ในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นที่น่าสนใจ การประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา การมอบรางวัล Thailand Research Expo 2016 Award ให้แก่หน่วยงานที่จัดแสดงนิทรรศการผลงานในแต่ละกลุ่มเรื่อง มีมุมเจรจาธุรกิจการต่อยอดงานวิจัยเพื่อเป็นเถ้าแก่น้อยของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัยและภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดระยะเวลาการจัดงาน และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน วช. จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน [Huaqiao University,HQU] และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ไทย-จีน จัดให้มี "การสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 5 [The 5th Thai-Chinese Strategic Research Seminar] ภายใต้หัวข้อ " หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-จีน : ปัจจุบันสู่อนาคต]"ในระหว่างวันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2559 โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อความร่วมมือทางวิชาการเพื่อร่วมกันพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยยุทธศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวกับประเด็น ไทย-จีน การแลกเปลี่ยนนักวิจัย ร่วมทำการศึกษา และการฝึกอบรมสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้ข้อตกลงให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

          สำหรับพิธีเปิดงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 วช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดงานภาคนิทรรศการ

          วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2559 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมเวิลด์ บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ และพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานภาคการประชุมและปาฐกถาพิเศษ เรื่องนโยบาย การขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม และมอบรางวัล 2016 National Ethics Committee Accreditation System in Thailand (NECAST) เวลา 09.30 น. การวิจัยถือเป็นกุญแจสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้น และจำเป็นในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การวิจัยนำมาซึ่งความรู้ที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งและการแข่งขันได้ของประเทศ ของชุมชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย นักวิจัย นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา อาจจะมองว่างานวิจัยเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคน เพราะงานวิจัยที่นักวิจัยผลิตออกมานั้นล้วนมุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อคนในชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศชาติก็สามารถพัฒนาไปได้ ในแง่ของเศรษฐกิจผลงานวิจัยก็ก่อให้เกิดนวัตกรรม เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนในชาติ ทุกคนล้วนได้ประโยชน์จากงานวิจัยทั้งสิ้น ถ้าได้มาชมงานนี้แล้วท่านจะรู้ว่า งานวิจัย สร้างสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนจริง ๆ" เลขาธิการ วช. กล่าว

          ขอเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจเข้าชมงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559 (Thailand Research Expo 2016)"ระหว่างวันที่ 17 - 21 สิงหาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. ณ ชั้น 22 และ 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

          ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดหัวข้อการประชุม/สัมมนาได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th หรือ www.nrct.go.th ชมฟรีตลอดงาน
« Last Edit: July 31, 2016, 05:03:17 PM by MSN »

MSN on August 04, 2016, 03:21:41 PM
"หนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว" วช. เตรียมโชว์สุดยอดงานวิจัยเพื่อคนไทย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2559









          ก้าวสู่ปีที่ 11 สำหรับงานใหญ่ประจำปีที่ทุกคนรอคอยเพื่ออัพเดทผลงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ใหม่ๆ จากนักวิจัยไทย ซึ่งปีนี้ "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2559" หรือThailand Research Expo 2016 โดย สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" (Research for Development Country Toward Stability, Prosperity and Sustainability) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ปีนี้ขนทัพงานวิจัยในระบบทั่วประเทศนับพันผลงานจาก 9 กลุ่มงานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมมาจัดแสดงระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

          นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการ วช. กล่าวถึงงานวิจัยว่า "การวิจัยถือเป็นกุญแจสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้น และจำเป็นในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การวิจัยนำมาซึ่งความรู้ที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งและการแข่งขันได้ของประเทศ ของชุมชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย นักวิจัย นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา อาจจะมองว่างานวิจัยเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคน เพราะงานวิจัยที่นักวิจัยผลิตออกมานั้นล้วนมุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อคนในชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศชาติก็สามารถพัฒนาไปได้ ในแง่ของเศรษฐกิจผลงานวิจัยก็ก่อให้เกิดนวัตกรรม เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนในชาติ ทุกคนล้วนได้ประโยชน์จากงานวิจัยทั้งสิ้น ถ้าได้มาชมงานนี้แล้วท่านจะรู้ว่า งานวิจัย สร้างสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนจริงๆ" เลขาธิการ วช. กล่าว

          โดยในปีนี้มีงานวิจัยที่มีความโดดเด่น นำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก เป็นจำนวนมากอาทิ ผลงานวิจัย ข้าวจ้าวพันธุ์ "ทับทิมชุมแพ"(กข69) ผลงานของ นายรณชัย ช่างศรี นักวิจัยชำนาญการ ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่สร้างข้าวจ้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ปลูกได้ในทุกพื้นที่ ตลอดทั้งปี โดยนำข้าว 2 สายพันธุ์มาผสมกัน คือข้าวจ้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และข้าวเจ้าพันธุ์สังข์หยดของพัทลุง จนได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า ทับทิมชุมแพ มีลักษณะเด่น เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ต้านทานโรคไหม้ ให้ผลิตสูง ประมาณ 970 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อนำไปหุงสุกจะมีสีแดงดุจทับทิม มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพ นอกจากนี้เมื่อหุงสุกจะมีความเหนียว สามารถนำไปแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ ได้ เช่นข้าวปั้นญี่ปุ่นหน้าต่างๆ ข้าวเกรียบ ข้าวพองกรอบ

          นางสาวณัฐพร สนเผือก มหาวิทยาลัยราชัฎราชนครินทร์ ตัวแทนคณะผู้ทำวิจัย การสกัดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติในพื้นที่ตำบลเสม็ดใต้เพื่อผ้าบาติก ประสบความสำเร็จในการค้นหาสีธรรมชาติทดแทนสีสังเคราะห์นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ สีน้ำเงินอ่อนจากดอกอัญชัน สีน้ำตาลเข้มจากหมาก และสีชมพูจากดอกหางนกยูง ได้สีสันสดใสใกล้เคียงกับสีสังเคราะห์ไร้สารเคมี ทำให้ลดต้นทุนการผลิตและได้สีที่มีราคาถูก และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้จัดอยู่ในกลุ่มงานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปกรรม การศึกษา

          "ยามศึกเรารบ ยามสงบ เราวิจัย " ไม่เป็นคำกล่าวอ้างเกินจริงเมื่อปีนี้มีงานวิจัยสุด " ปัง " จาก แผนกวิจัยและตรวจทดลอง กองวิทยาการ กรมพลาธิการทหารอากาศ นำโดย นาวาอากาศโทชูพงศ์ ไชยหลาก หัวหน้าแผนกวิจัยและตรวจทดลอง คิดค้น ถุงเท้าป้องกันเชื้อราและไมโครแคปซูลกลิ่นหอม มาโชว์ เพื่อแก้ไขปัญหาของกำลังพลในที่ประสบปัญหา เชื้อรา โรคผิวหนังที่เท้า อันเนื่องมาจากความอับชื้นที่ไม่สามารถเปลี่ยนถุงเท้าเป็นระยะเวลาหลายวันขณะปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม โดยคิดค้นนำถุงเท้าไปเคลือบซิงค์ออกไซด์ช่วยยับยั้งการเกิดแบคทีเรียและเชื้อรา และลดกลิ่นอับชื้นด้วยไมโครแคปซูลที่มีกลิ่นหอม ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถเพิ่มเข้าไปได้กระบวนการทอผ้า หรือใช้กับถุงเท้าสำเร็จรูปได้เลย ซึ่งถุงเท้าที่เคลือบซิงค์ออกไซด์และไมโครแคปซูลหอมนี้ ทำให้สามารถใส่ถุงเท้าคู่เดิมได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนนานถึง 3 วัน นอจากนี้ยังมีการนำสาร นาโนซิลิกอนไดออกไซด์ ช่วยลดความหมองคล้ำของดิ้นและทองชุบบนเครื่องหมายอินทรธนู และเครื่องหมายแสดงความสามารถให้ความสวยงามเหมือนใหม่เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีพาเหรดงานวิจัยที่น่าสนใจอีกมากมายอาทิ แฮมเบอเกอร์-แซนวิช –ไส้อั่ว ใส้แมงสะดิ้ง(จิ้งหรีดขาว) โดย นายดรุณศักดิ์ ตติยะลาภะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ที่ทำงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาชุมชนในการลดรายจ่ายครัวเรือน นวัตกรรมการออกแบบภาชนะบนโต๊ะอาหาร ของ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นำทะลายปาล์มน้ำมันที่เหลือทิ้งปีละกว่า 4 ล้านตันมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ร่วมสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื่อกก ของวิกรม วงษ์สุวรรณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ " เท " วิธีนำกก มาทอเป็นเสื่อ เปลี่ยนมาเป็นเครื่องใช้ตกแต่งบ้าน สำนักงานได้อย่างมีสไตล์ ผลิตภัณฑ์จากส่วนต่างๆของ มะเกี๋ยง พืชอนุรักษ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยผศ.อุมาพร อุประ ในหลากรูปแบบอาทิ บรั่นดี ไวน์ น้ำส้มสายชู สมุนไพรเครื่องแกงไทยอบครบรสครบกลิ่นในฟิล์มบริโภคได้พร้อมปรุง โดย ผศ.ดร.ปุณฑริกา รัตนตรัยวงศ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น

          นี่เป็นเพียงเสี้ยวเดียวจากงานวิจัยนับพันผลงาน ที่พร้อมจะเฉิดฉายอวด "ออร่า" อย่างพร้อมเพรียงกันใน งาน " มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ2559 หรือ Thailand Research Expo 2016" ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม ศกนี้ ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

          งานนี้ ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะนักวิจัยในแวดวงวิชาการ หากแต่งานวิจัยทุกวันนี้ เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน ที่ใครมาชมแล้วจะฉกฉวยโอกาสนั้นมาสร้างความสำเร็จให้กับตัวเองได้อย่างไร เพราะงานวิจัยในพ.ศ.นี้ต่างมุ่งเป้าที่นำไปใช้ต่อได้จริง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า งานวิจัยในวันนี้ เป็นงานวิจัยที่ ลงจากหิ้ง สู่ห้าง เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง ทุกแนวทางที่นักวิจัยสร้างสรรค์ อาจเป็นเส้นทางนำทุกท่านก้าวสู่โลกแห่งธุรกิจพิชิตเงินล้านได้ง่ายๆ นักวิจัยพร้อมพัฒนานวัตกรรมสู่ชุมชน อยู่ที่คนอย่างเราๆท่านๆเท่านั้น ที่จะสละเวลามาค้นหาโอกาสทองให้กับตัวเองหรือไม่

          สืบค้นข้อมูลก่อนชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th