Facebook on August 02, 2016, 08:21:32 AM
7 Book Awards ครั้งที่ 13 “นิยายภาพ” นำโด่งทำสถิติส่งผลงานสูงสุด สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของวงการนักเขียน นักอ่านสู่ยุค Pop Culture ชัดเจน



          ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น เผยความคืบหน้าโครงการเซเว่น บุ๊คอวอร์ด ปี 2559 ได้รับความสนใจจากนักเขียนส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 255 เล่ม ทั้งนักเขียนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เชื่อมั่นช่วยส่งเสริมการอ่านให้เยาวชนไทย ด้วยผลงานนิยายภาพที่ได้รับความนิยมส่งเข้าประกวดสูงสุด

          นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเลขานุการคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล 7 Book Awards ครั้งที่ 13 ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการประกวดรางวัล 7 Book Awards ว่า คณะกรรมการได้ใช้เวลากว่า 4 เดือน ในการพิจารณาคัดเลือกหนังสือดีเด่นและมีคุณภาพประเภทต่างๆ ประกอบด้วย กวีนิพนธ์, นวนิยาย, นิยายภาพ (การ์ตูน), รวมเรื่องสั้น, วรรณกรรมสำหรับเยาวชน, สารคดี (ทั่วไป) ทั้งประเภททั่วไปและประเภทนักเขียนรุ่นเยาว์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมนักเขียนคุณภาพ และสนับสนุนผลงานที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคมมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาตนเองด้านการอ่าน การเขียนและการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ

          โดยในปีนี้มีผลงานจากนักเขียนทั่วประเทศส่งเข้าประกวดรวมจำนวนทั้งสิ้น 255 เล่ม โดยประเภทที่มีผู้สนใจส่งเข้ามามากเป็นอันดับที่ 1คือ นิยายภาพ มีจำนวน 77 เล่ม อันดับ 2 คือ ประเภทสารคดี (ทั่วไป) จำนวน 65 เล่ม และอันดับ 3 คือ กวีนิพนธ์ จำนวน 32 เล่ม สะท้อนให้เห็นการเติบโตของงานเขียนประเภทนิยายภาพและความเปลี่ยนแปลงด้านการอ่านการเขียนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะสอดคล้องกับกระแสป๊อบ คัลเจอร์ (Pop Culture) หรือวัฒนธรรมสมัยนิยมที่สังคมกำลังให้ความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน

          "นิยายภาพ เป็นวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ไม่นานนัก แต่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักเขียนนักอ่านรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพราะสอดคล้องกับวัฒนธรรมการดู (Visual Culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญที่กำหนดพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อสื่อสมัยใหม่ในกระแสวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture) ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ๆ จะดูดซึมซับข้อมูลข่าวสารหรือสิ่งต่างๆผ่านรูปภาพมากกว่าอ่าน เช่น ดูโซเชียลมีเดีย ดูโทรทัศน์ ภาพยนตร์ต่างๆ เพราะฉะนั้นในนิยายภาพนอกจากจะมีองค์ประกอบของเรื่องเล่า ที่เป็นตัวอักษรเล่าเรื่องราวแบบเดิมๆแล้ว ภาพประกอบก็มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยถ่ายทอดมุมมองและแก่นของเรื่องที่นักเขียนต้องการสื่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่จากผลงานของนักเขียนนิยายภาพที่ส่งเข้าประกวด ในช่วงปีหลังๆ มีมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงฝีมือของนักเขียนนิยายภาพของไทยที่มีพัฒนาการที่ดีมีคุณภาพและมีความน่าสนใจมากขึ้น และที่น่าสนใจหลายคนเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อยมาก ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นแนวโน้มนิยายภาพว่าน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ เพราะสอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนรุ่นปัจจุบัน และเป็นวรรณกรรมที่มีลักษณะของ Pop Culture สูงมากอีกด้วย" นายสุวิทย์กล่าว

          นายสุวิทย์ยังกล่าวด้วยว่าสำหรับผลงานประเภทอื่นนั้น ปีนี้มีนักเขียนรุ่นใหม่ๆสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากขึ้น และทุกผลงานล้วนแต่เป็นผลงานคุณภาพ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา "รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด" ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเขียนนักอ่าน จนสามารถดำเนินการต่อเนื่องก้าวสู่ปีที่ 13 ได้อย่างมั่นคงและสง่างาม และ จะสานต่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง

          "องค์ความรู้ต่างๆที่เกิดจากการอ่านและผลงานเขียนคุณภาพที่เผยแพร่สู่สาธารณะ ล้วนแต่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยให้สังคมเจริญก้าวหน้า การให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ด้วยการพัฒนาด้านข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดความรู้และความคิดที่สามารถนำไปต่อยอดวิเคราะห์ เพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งในชีวิตประจำวันและหน้าที่การงานให้ก้าวหน้า เซเว่น ฯจึงมุ่งมั่นส่งเสริมหนังสือดีมีคุณภาพให้สังคมไทย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ให้แก่คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน"

          ด้านนายนิวัติ ธาราพรรค์ ประธานคณะกรรมการประเภทนิยายภาพการ์ตูน โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล 7 Book Awards ครั้งที่ 13 เปิดเผยว่า ภาพรวมของผลงานประเภทนิยายภาพการ์ตูนที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้นั้น มีการพัฒนาขึ้นอย่างเด่นชัดในแง่ของคุณภาพผลงาน โดยมีการนำเสนอที่ร่วมสมัยทั้งเนื้อหาและกลวิธี และมักนำเสนอประเด็นที่สะท้อนสภาพแวดล้อมสังคมชีวิตของคนในยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างมีจินตนาการและมีเอกลักษณ์

          ขณะที่นายปิยพัชร์ จีโน เจ้าของนามปากกา Art Jeeno ซึ่งคว้ารางวัลจากการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล 7 Book Awards ครั้งที่ 12เมื่อปีที่ผ่านมา แสดงทัศนะว่าการเติบโตของนิยายภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับวัฒนธรรมร่วมสมัยในปัจจุบันที่สื่อออนไลน์มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการบริโภคสื่อต่างๆ รวมถึงลักษณะของการเขียนการอ่านที่แปรเปลี่ยนไป

          "การเกิดขึ้นของสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันทำให้นักเขียนมีโอกาสในการเปิดเผยตัวตนและผลงานให้คนได้เห็นมากขึ้น คนทั่วไปจึงได้รับรู้ว่ามีกลุ่มคนที่เขียนงานด้านนี้อยู่ ประกอบกับสังคมของคนรุ่นใหม่มีมุมมองในการทำงานที่อิสระมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ สามารถหารายได้จากการทำงานอิสระได้ และการเขียนการ์ตูนหรือนิยายภาพก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้น

          "ในอดีต ผู้ใหญ่มักมองว่าการอ่านการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก พอมาถึงในปัจจุบันเมื่อกลุ่มเด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาก็ยังคงอ่านหนังสือการ์ตูนหรือนิยายภาพกันอยู่ นี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นิยายภาพเติบโตขึ้น ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก เพราะนิยายภาพเองก็มีหลายประเภท มีทั้งทำเพื่อให้เด็กอ่าน ผู้ใหญ่อ่าน มีทั้งเรื่องของปรัชญา เรื่องของวิทยาศาสตร์ ถ้านักเขียนคนไหนแต่งเรื่องได้เก่ง แต่งเรื่องได้ลึกซึ้ง ก็ไม่ต่างจากวรรณกรรมชั้นดีเลยทีเดียว อย่างนิยายภาพเรื่อง 'Watchmen' ก็ถูกจัดอันดับให้ติดหนึ่งในร้อยวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดจากทั่วโลก ถ้าเป็นเด็กไปอ่านเรื่องนี้ก็คงจะไม่เข้าใจ แต่พอโตขึ้นมาหน่อย ประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมาจะทำให้เข้าใจความลึกซึ้งของเนื้อเรื่องได้มากขึ้น ดังนั้นก็อยู่ที่ตัวนักเขียนเองแล้วว่า ต้องการจะเขียนให้ใครอ่าน" นายปิยพัชร์กล่าว

          สำหรับโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล "เซเว่นบุ๊คอวอร์ด" ครั้งที่ 13 เป็นหนึ่งนโยบาย CSR ของ ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนในรูปแบบส่งเสริมการอ่านการเขียนสู่สังคม ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากกว่า 13 ปี