happy on July 31, 2016, 08:20:50 PM
ครูพายุ ณัฐศักดิ์  ท้าวอุดม อดีตนักกีฬาว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติ จับมือ สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (ลูกเหรียง)  นำโครงการสระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาส มุ่งหน้าลงใต้สุดแดนสยาม  จ.ยะลา  สอนการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดให้กับเด็กนักเรียน  โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านมลายูบางกอก) จ.ยะลา หวังเพื่อช่วยลดการเสียชีวิตจมน้ำในเด็ก

นายธรรมรงค์  คงวัดใหม่ ปลัดจังหวัดยะลา ( แถวหน้าที่  8 จากซ้าย)  เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการสระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาส จังหวัดยะลา” เมื่อวันศุกร์ที่  22  กรกฎาคม 2559  ณ อาคารเอนกประสงค์  โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านมลายูบางกอก)  ต.สะเตง  อ.เมืองยะลา จ.ยะลา โดยได้รับเกียรติพร้อมด้วยเครือข่ายสนับสนุนการจัดโครงการฯ ได้แก่  พันเอกระลึก  พันธุ์ลิมา เสนาธิการหน่วยเฉพาะกิจสันติสุข (ที่ 4 จากซ้าย), ดร.ศิริชัย  นามบุรี  รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (ที่ 3 จากซ้าย), พ.อ. เทิดศักดิ์ งามสนอง รอง ผบ.ฉก.ยะลา (ที่ 9 จากซ้าย), นายสมหมาย  ลูกอินทร์  รองปลัดเทศบาลนครยะลา (ที่ 10 จากซ้าย), นางทองมัน  สิทธิกัน รองผู้อำนวยการสถานศึกษาฝ่ายวิชาการและบริหารทั่วไป โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านมลายูบางกอก) ( ที่ 11 จากซ้าย),นางสาววรรณกนก  เปาะอิแตดาโอะ  นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (ลูกเหรียง) ( ที่ 12 จากซ้าย), พันตรีบุญทัน  ชื่นชม  รองผู้บังคับชุดควบคุมที่ 953 (หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข) (ที่ 13 จากซ้าย ), ครูพายุ – ณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม ผู้ดำเนินโครงการ (ที่ 7 จากซ้าย) โดยนำสระว่ายน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 5X10 เมตร เดินทางไปเพื่อฝึกสอนทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำให้แก่เด็กนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาสในพื้นที่จังหวัดยะลา

                  นายณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม (ครูพายุ) อดีตนักกีฬาว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติไทย ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการว่ายน้ำคนพิการ และความชำนาญนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการเรียนในโรงเรียน หากแต่เป็นการศึกษาทดลองสอนเด็กพิการด้วยตนเอง  และอุปสรรคที่ได้พบขณะทำโครงการเพื่อเด็กพิการ คือ หลายแห่งจำเป็นต้องเรียนว่ายน้ำ  แต่ไม่มีสระว่ายน้ำ  จึงมีการเขียนโครงการขึ้นมาในปี 2555 ชื่อว่า 'โครงการสระว่ายน้ำเดินได้'  โดยใช้เวลาระดมทุนอยู่เป็นเวลานานยังไม่สำเร็จ    จนที่สุด มีดารานักแสดงชาวต่างชาติจากประเทศสวีเดน  คุณแชลล์ เบอร์กควิส์ท (Mr. Kjell Bergqvist ) ที่มาสร้างบ้านพักตากอากาศไว้ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบฯ  ที่มีโอกาสได้รู้จักกับครูพายุเป็นการส่วนตัว  เนื่องจากครูพายุไปช่วยสร้างครูสอนว่ายน้ำในชุมชนของท่าน โดยหลังจากได้รับฟังถึงความฝันของครูพายุ จึงช่วยบริจาคเงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อเป็นทุนนำไปซื้อสระว่ายน้ำแบบถอดประกอบได้   โดยได้เริ่มดำเนินโครงการสระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาส เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2558  ณ โรงเรียนน่านปัญญานุกูล จ.น่าน  และ โรงเรียนบ้านขอบด้ง ดอยอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่  โดยแต่ละแห่ง ล้วนแล้วแต่มีประวัติเรื่องของการที่นักเรียนในโรงเรียนเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตมาแล้วทั้งสิ้น และเรื่องราวดังกล่าว ได้จุดประเด็นให้ครูพายุ มีความคิดที่จะยกสระว่ายน้ำไปติดตั้งและทำการสอนว่ายน้ำในโรงเรียนทั้งสองพื้นที่  หนทางแห่งการทำงานจิตอาสา ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ระยะทางหลายร้อยกิโล มุ่งหน้าสู่จังหวัดน่าน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่โรงเรียนน่านปัญญานุกูล ให้ได้เรียนว่ายน้ำ  โดยประสบความสำเร็จ กว่า 100 ชีวิตที่มีโอกาสได้เรียนว่ายน้ำ หรือแม้ โรงเรียนบ้านขอบด้ง สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1900 เมตร ที่ทีมครูสอนว่ายน้ำต้องยกสระว่ายน้ำ ขนาดหลายตัน ขึ้นไปบนดอยสูงส่งต่อโอกาสในการเรียนว่ายน้ำ  สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานแต่อย่างใด พวกเขารู้เพียงอย่างเดียวว่า  'คำว่าเด็กด้อยโอกาส จะสูญหายไปจากโลกนี้ หากเราช่วยกันมอบโอกาสให้แก่เด็กๆ นั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางการศึกษา'  โดยในปี 2559 นี้นับเป็นการเดินทางครั้งสำคัญอีกครั้ง สำหรับการเดินทางกว่า 1000 กิโลเมตร ที่ไกลจากบ้านเกิดของครูพายุในจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่โรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ อ.บางสะพาน  จ.ประจวบฯ จากที่เมื่อกลางปี 2558 ครูพายุได้มีโอกาสเดินทางมาสำรวจที่โรงเรียนแห่งนี้ และได้พบว่าพื้นที่ของโรงเรียนอยู่ติดกับชายหาดทะเล และนั่นคือโอกาสเสี่ยง หากนักเรียนบกพร่องทางการได้ยิน ไม่มีทักษะในการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “คนหูดีถ้าว่ายน้ำไม่เป็นแล้วเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ยังมีตัวเลือกคือตะโกนเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ แต่เด็กหูหนวกหากว่ายน้ำไม่เป็น พูดไม่ได้ มีตัวเลือกเดียว คือเสียชีวิต” โครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กด้อยโอกาส โดย ครูพายุ ณัฐศักดิ์  ท้าวอุดม ร่วมกับ แผนกว่ายน้ำ กองทัพอากาศ และ กองบิน 5   ณ โรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ อ.บางสะพาน  จ.ประจวบคีรีขันธ์   จึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยครั้งนี้เป็นอีกครั้งสำคัญ ที่จะมีการส่งต่อโอกาสการเรียนว่ายน้ำให้กับเด็กพิการอีกครั้ง โดยมี คุณแชลล์ เบอร์กควิส์ท (Mr. Kjell Bergqvist )  ผู้ให้ทุนสนับสนุนโครงการสระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาสในครั้งนี้ รับหน้าที่ครูอาสามาช่วยสอนว่ายน้ำแก่เด็กพิการผู้บกพร่องทางการได้ยิน  นอกจากนั้นยังได้รับการช่วยเหลือจาก แผนกกีฬาว่ายน้ำ กองทัพอากาศ และ กองบิน 5 ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นกำลังพลทหารในการประกอบสระว่ายน้ำ รถขนน้ำที่ใช้เติมในสระว่ายน้ำนี้  และความฝันสูงสุดของโครงการในครั้งนี้ ครูพายุหวังเพียงว่า สักวันหนึ่งโครงการของเขา จะได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานของรัฐ เพื่อที่สระว่ายน้ำเคลื่อนที่ได้นี้  จะสามารถมอบให้แก่โรงเรียนนั้นๆเป็นการถาวร กล่าวคือเมื่อมีการติดตั้งสระว่ายน้ำสอนที่ใด ก็มอบสระว่ายน้ำให้กับที่นั่น เพราะนั่นคือความยั่งยืนแห่งการได้เรียนอย่างถาวร


ครูพายุ ณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม กับ คุณแชลล์ เบอร์กควิส์ท






                  และในเดือนกรกฎาคม 2559 นี้ จากในแต่ละปีมีเด็กไทยจมน้ำถึง 1500 คนต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ขาดโอกาสในการเรียนว่ายน้ำ เพราะกีฬาว่ายน้ำเป็นกีฬาที่หากไม่มีทักษะแล้วอาจจะเสียชีวิตได้ มีพื้นที่จำนวนมากที่ห่างไกลความเจริญและไม่มีโอกาสเข้าถึงสระว่ายน้ำ ประกอบกับจังหวัดยะลาเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงทำให้ครูส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกมาสอนในพื้นที่นี้นั่นหมายถึงโอกาสทางการศึกษาที่น้อยลงด้วยเช่นกัน ในวันแรกที่ผมลงมาสำรวจพื้นที่ในการทำโครงการฯที่นี่ มีเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิต เป็นน้องชาวมุสลิม อยู่ในโครงการของลูกเหรียง จมน้ำเสียชีวิตบริเวณแม่น้ำปัตตานี จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผมอยากมาทำโครงการที่นี่  เป็นการจับมือร่วมกับ สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติ ภาพชายแดนใต้ (ลูกเหรียง) มีเป้าหมายเพื่อมอบโอกาสในการเรียนว่ายน้ำให้เท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกพื้นที่ ไม่เลือกศาสนา เพราะว่าทุกคนควรจะมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกัน โดยมีเป้าหมาย จากนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 120 คน ( เด็กที่สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้)  80% ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด  ดังนั้นโครงการสระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาสจึงเลือกพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับโอกาสการเรียนว่ายน้ำ และเป็นแรงบันดาลใจให้ครูอาสาที่คิดจะมาทำโครงการต่างๆ ต่อไปในอนาคต  ผมรู้สึกดีใจและมีความสุขกับการที่ได้มาทำโครงการให้น้องๆในจังหวัดยะลา นอกจากนั้นยังเห็นด้วยว่าในพื้นที่นี้ยังต้องการบุคลากรเฉพาะทาง อีกหลายสาขาวิชาชีพ และยังมีอีกหลายโอกาสที่ยังต้องการการสนับ สนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางการศึกษาจึงอยากขอเชิญชวนทุกคนรวมถึงครูอาสา ให้เข้ามาจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับน้องๆในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้   สำหรับการจัดโครงการสระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาสในครั้งต่อไป ผู้สนใจสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมสนับสนุนโครงการฯ ติดต่อได้ที่ www.facebook.com/krupayufc เพื่อมอบโอกาสการว่ายน้ำให้แก่เด็กๆ ทั่วประเทศ เพื่อจะได้นำเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการและมีการนำเสนอเป็นโครงการต่อไปในอนาคต ขอบคุณครับ”


นางสาววรรณกนก  เปาะอิแตดาโอะ

                  ด้าน นางสาววรรณกนก  เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (ลูกเหรียง) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า

                  “ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณโครงการสระว่ายน้ำเดินได้ ที่ได้เดินทางมาถึงจังหวัดยะลา เพราะพื้นที่จังหวัดยะลาเป็นพื้นที่ที่มีอัตราเด็กจมน้ำเพราะไม่สามารถว่ายน้ำเอาตัวรอดได้สูงมาก ประกอบด้วยความ ไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนว่ายน้ำ  ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับเด็กๆที่นี่ โครงการสระว่ายน้ำเดินได้เป็นโครงการที่จะสามารถช่วยชีวิตเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัย สามารถเอาตัวรอดได้ โครงการสระว่ายน้ำเดินได้ เป็นโครงการที่มีความสำคัญ เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็กในการจมน้ำ  มีเด็กอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตของพวกเขา โครงการนี้จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการ และมีประโยชน์ต่อเด็กๆในสังคมมาก โดยในครั้งนี้ ลูกเหรียง ได้มีส่วนร่วมในการประสาน งานหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ จ.ยะลาและโรงเรียนในการนำเด็กนักเรียนเข้าร่วมโครงการ  อยากให้โครงการนี้เดินทางต่อไปให้ครบทั้ง 3 จังหวัด คือ ปัตตานี และ นราธิวาส  ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้  และยินดีและพร้อมสนับสนุน อยากมีส่วนร่วมในทุกๆครั้งที่โครงการฯนี้จะเดินทางมาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ในอนาคตอยากให้มีการสอนว่ายน้ำร่วมกับเครือข่าย องค์กร และสระว่ายน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ และให้เข้าถึงเด็กในจำนวนที่มากขึ้นครบ 3 จังหวัด และประสานความร่วมมือกับองค์กรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องต่อไปค่ะ”















« Last Edit: July 31, 2016, 08:22:48 PM by happy »