happy on July 17, 2016, 09:33:26 PM

อพท. จับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินตัวเลขการทวีคูณของรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรือ Multiplier Effect of Tourism พบภาคีเครือข่าย อพท. นำรายได้จากการให้บริการนักท่องเที่ยวกลับสู่ชุมชนท้องถิ่นได้ถึง 2.09 เท่า ตอกย้ำท่องเที่ยวยั่งยืนมีส่วนช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น มั่นคง


                   พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการ “แก้ไขปัญหาความยากจน” (Pro-Poor Tourism)และ “ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ” การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ไม่เพียงแค่แสวงหาวิธีในการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่การส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว และเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวให้สามารถเข้าไปร่วมรับผลประโยชน์ในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก หน่วยงานภาครัฐควรจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งมีความเสรีในการประกอบธุรกิจ หันมาเลือกใช้ปัจจัยการผลิตและการจ้างแรงงานในท้องถิ่น ส่งผลให้ชุมชนสามารถยกระดับเศรษฐกิจ นำสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง อพท.

                   จากการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง ผลลัพธ์ที่ออกมาในรูป สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มองเห็นและสัมผัสได้ แต่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ หลายคนยังมีคำถามว่ามีบทพิสูจน์แค่ไหน เพราะยากที่จะจับต้องได้จริง ดังนั้น อพท. จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TU-RAC จัดทำการประเมินผลลัพธ์ของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ในมิติด้านเศรษฐกิจ โดยอาศัยทฤษฎีทวีคูณของรายได้จากการท่องเที่ยวหรือ Multiplier Effect of Tourism เป็นแนวทาง กลุ่มตัวอย่างคือภาคีเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวของ อพท. เปรียบเทียบกับกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวในภาพรวมของพื้นที่พิเศษ




                   ผลจากการประเมินพบว่า ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการกับ อพท. มีตัวเลขการทวีคูณของรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือมีการนำรายได้ที่ได้รับจากการให้บริการนักท่องเที่ยวกลับสู่ชุมชนท้องถิ่นได้ถึง 2.09 เท่า มากกว่าผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไปที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่ายซึ่งมีผลการประเมินในระดับ 1.38 เท่า

                   ผลการประเมินของ TU-RAC ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ที่มาของตัวเลขดังกล่าว มาจากความสามารถในการขายปัจจัยการผลิตสินค้าและบริการของภาคีเครือข่ายเป็นตัวเลขที่สูงกว่าผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่ายฯในทุกพื้นที่พิเศษ นอกจากนั้นภาคีเครือข่ายของ อพท. ยังมีการจ้างแรงงานในท้องถิ่นกว่าร้อยละ 59 เป็นตัวเลขซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่ายฯ ซึ่งมีการจ้างแรงงานในท้องถิ่นเฉลี่ยร้อยละ 40

                   “จากตัวเลขดังกล่าว เป็นสิ่งยืนยันว่าภาคีเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. มีส่วนในการสร้างความมั่นคงยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่น จากการที่รายได้ของนักท่องเที่ยว  สามารถกระจาย กลับสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นธรรมมากขึ้น”

                   อย่างไรก็ตาม ผลจากการประเมินนี้ อพท.จะต้องนำไปขยายผล โดยเพิ่มภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้มีจำนวนมากขึ้น และสร้างกระบวนการส่งต่อองค์ความรู้เรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของภาคีเครือข่ายรุ่นพี่ สู่ภาคีเครือข่ายรุ่นน้อง ตลอดจนเข้าไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปัจจัยการผลิตและเสริมสร้างศักยภาพของแรงงานในท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มภาคภูมิ