happy on July 11, 2016, 07:27:51 PM
ปลุกกระแสผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรมอาหาร 4.0
ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยี



                    นักวิชาการชี้ผู้ประกอบการต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมืออุตสาหกรรม 4.0  ทำความเข้าใจเรื่องการเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลแบบเรียลไทม์เข้ากับระบบการผลิต พัฒนาบุคลากร และให้ความสำคัญกับระบบการจัดเก็บข้อมูล  ขณะที่ภาครัฐควรสนับสนุนให้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า และไอซีที มีความเสถียรและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เผยผลการศึกษาเฉพาะอุตสาหกรรมปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน  สับปะรด และข้าวโพดหวานกระป๋อง พบเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ในระดับอุตสาหกรรมยุค 2.5 คาดอุตสาหกรรมอาหารอาจต้องรับศึกหนัก เพราะวัตถุดิบทางการเกษตรไม่ได้มาตรฐานเหมือนอุตสาหกรรมอื่น ใช้ระบบอัตโนมัติไม่ได้ทุกขั้นตอน การแปรรูปยังต้องอาศัยความชำนาญจากแรงงานคน หากจะก้าวกระโดดไปสู่ยุค 4.0 ต้องปรับปรุงหลายด้าน แนะให้ทยอยทำทีละส่วน ใช้วิธีพัฒนาและต่อยอด พร้อมแปลงร่างเป็น Smart Factory หากคุ้มค่าแก่การลงทุน วอนภาครัฐสนับสนุนมาตรการด้านภาษี แหล่งเงินทุน อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจ


นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์

                    นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “เปิดแนวคิด Industry 4.0 เรียนรู้ รับ รุก อุตสาหกรรมอาหารไทย” ที่สถาบันอาหารจัดขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมอาหารปี2559 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมว่า อุตสาหกรรม 4.0 จะมีส่วนช่วยยกระดับผลิตภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้พบว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้าสู่ 4.0 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ราว 3-5% ขณะที่ต้นทุนการซ่อมบำรุงเครื่องจักรจะลดลง 10-40%  การพยากรณ์การผลิตมีความแม่นยำมากขึ้นมากกว่า 85% ระยะเวลาในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดลดลง  20-50%  ต้นทุนในการถือครองสต็อคลดลง 20-50% ประสิทธิภาพแรงงานทักษะเพิ่มขึ้น 45-55% อัตราการหยุดทำงานของเครื่องจักรลดลง 30-50% และต้นทุนในการประกันคุณภาพลดลง 10-20%


ดร.กมลพรรณ  แสงมหาชัย

                    ดร.กมลพรรณ  แสงมหาชัย ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการพลังงานและเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 คือการทำให้กระบวนการผลิตสินค้าเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล หรือแม้กระทั่งทำให้ตัวสินค้าเองเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ในรูปแบบ “Internet of Things” (IoT) นั้น คาดกันว่าในปี 2568 Internet of Things ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมทุกประเภททั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 1.2 - 3.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสัดส่วน 60% อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว และอีก 40% ในประเทศกำลังพัฒนา  เฉพาะในอาเซียนจะมีการนำ Internet of things และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ซึ่งจะสามารถทำกำไรให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ราว 25 – 45 พันล้านเหรียญ เนื่องจากสามารถนำข้อมูลที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าในแบบเรียลไทม์(real time)มาวิเคราะห์ และวางแผนการผลิตให้เหมาะสม เป็นการลดต้นทุน และลดความสูญเสียจากการผลิตได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการใช้พลังงานได้ 10 – 20% และลดการใช้แรงงานคนได้ 10 – 25%

                    “ยืนยันว่าอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน ในหลายๆ ประเทศทำแล้ว ทำได้จริง แม้จะยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็น Smart Factory ในทุกขั้นตอนการผลิต 100% แต่เป้าหมายของการเป็นโรงงานในยุค 4.0  ก็คือมีการผลิตแบบอัตโนมัติอย่างชาญฉลาด โดยมีข้อมูลเป็นฐานรองรับ มีการส่งข้อมูลเชื่อมต่อกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อทราบเป้าหมายการผลิตที่ชัดเจน ขณะนี้จีนประกาศจะทำ Smart Factory ให้ได้ 30,000 โรง ภายใน 5 ปี หวังเป็นแหล่งผลิตสินค้าต้นทุนต่ำและมีสินค้าหลากหลายมากที่สุดในโลก ขณะที่เกาหลีใต้ กำลังเดินหน้าทำ Smart Factory ให้ได้เป้าหมาย 10,000 โรงภายใน 5 ปี เช่นกัน”

                    ดร.กมลพรรณ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการนำอุตสาหกรรมของไทยเข้าสู่ยุค 4.0 นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าที่มีความเสถียร  โรงงานต้องมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเพียงพอ หากมีปัญหาไฟฟ้ากระตุกหรือดับจะกลายเป็นอุปสรรคทันที  นอกจากนี้ต้องมีการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมและรองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โรงงานต้องมีการจัดการศูนย์ข้อมูล ประมวลผล วิเคราะห์ และมีระบบรักษาความปลอดภัยสูง จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการออกแบบโรงงาน การใช้เครื่องจักร และระบบการผลิตอันชาญฉลาดต่อไป


จีระศักดิ์ คำสุริย์

                    นายจีระศักดิ์ คำสุริย์ ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร เผยผลการศึกษาวิจัย “เตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมอาหารสู่ Industry 4.0” เพื่อทราบระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยว่าอยู่ในยุคใด  และเพื่อประเมินความพร้อมในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0  โดยศึกษาเฉพาะอุตสาหกรรมปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน  สับปะรด และข้าวโพดหวานกระป๋อง จากองค์ประกอบในการชี้วัดคุณลักษณะด้านการผลิต อาทิ ประเภทเครื่องจักร/ระบบการผลิต, ระบบการควบคุมและสั่งงาน,พลังงานที่ใช้,ลักษณะการควบคุม, จำนวนแรงงาน, ของเสียจากการผลิต เป็นต้น และคุณลักษณะของสินค้า อาทิ รูปแบบสินค้า,ปริมาณ, ความหลากหลาย,คุณภาพ,กลุ่มผู้บริโภค เป็นต้น พบว่า มีเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ในระดับอุตสาหกรรมยุค 2.5

                    “อุตสาหกรรมอาหารมีความแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปอาหาร  ที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งมักอยู่นอกเหนือการควบคุม ทั้งขนาด สี กลิ่น รสชาติ มีรูปร่างลักษณะไม่สม่ำเสมอ เราไม่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติได้ทุกขั้นตอน การแปรรูปวัตถุดิบบางประเภทยังต้องอาศัยความชำนาญพึ่งพาแรงงานคน การก้าวกระโดดจากยุค 2.5 ไปสู่ 4.0 จำเป็นต้องศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อเข้าถึงเครื่องจักรและเทคโนโลยี  อย่างไรก็ตามอาจต้องพิจารณาระบบการผลิตในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ ซึ่งเท่าที่ทราบปัจจุบันโรงงานผลิตเครื่องดื่มขนาดใหญ่ของไทยส่วนใหญ่มีระบบการผลิตอยู่ในยุค 3.0 ซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมจะก้าวเข้าสู่ยุค4.0 ได้ทันที หากสามารถเข้าถึงข้อมูลจากผู้บริโภคแบบเรียลไทม์”

                    จากการศึกษาพบว่า ปัญหาของผู้ประกอบการในการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 แบ่งเป็น 5 ด้านได้แก่ ด้านเทคโนโลยี พบว่าเครื่องจักรเก่าและล้าสมัย, การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี/เครื่องจักร ด้านบุคลากรพบว่าบุคลากรในสายงานการผลิตขาดความรู้/ความชำนาญด้านเทคนิค, ขาดแคลนบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีด้านการผลิต ด้านองค์ความรู้  พบว่าผู้บริหารโรงงานไม่มีองค์ความรู้ในระบบ ทำให้เป็นอุปสรรคในการต่อยอดเทคโนโลยี  ด้านเงินทุน พบว่าขาดแคลนเงินทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงาน  ด้านการจัดการ พบว่าผู้บริหารมองไม่เห็นถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการพัฒนาไปเป็น 4.0 และการผลิตในบางขั้นตอนไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้


นายพรชัย  พูลสุขสมบัติ

                    นายพรชัย  พูลสุขสมบัติ ประธานกรรมการ บมจ.สยามอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร กล่าวว่า “ผู้บริหารภาคเอกชนต้องเข้าใจเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 จึงจะพัฒนาไปได้  จะให้ทำ Smart Factory ก็ทำได้ แต่ประเด็นอยู่ที่เรามีเงินลงทุนขนาดไหน และถึงเวลาหรือยัง อุตสาหกรรมอาหารกำไรต่อหน่วยค่อนข้างน้อย แต่ก็ยอมรับและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง คิดว่ายังไงเราก็ต้องไปสู่ 4.0 ถ้าเราไม่ตามกระแส หมายถึงเราตกขบวน และเราก็ต้องออกจากอุตสาหกรรม สุดท้ายถ้าไม่มีแรงงานต่างชาติจะทำอย่างไร เครื่องจักรก็ต้องมาแทนที่ เพราะมีความแม่นยำ เชื่อถือได้ หากดูแลรักษาให้ดีก็จะลดต้นทุนได้มาก อุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเพื่อซื้ออนาคต แต่ขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนทั้งมาตรการด้านภาษี แหล่งเงินทุน อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในระดับผู้เชี่ยวชาญแก่บุคลากรในองค์กรเพื่อลดต้นทุนการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ”



« Last Edit: July 11, 2016, 07:34:31 PM by happy »