Facebook on June 07, 2016, 02:52:25 PM
นานมีบุ๊คส์จัดอบรมนัก (อยาก) เขียน “เติมไฟใส่ฝันผ่านแนวทางการทำงานของประภัสสร เสวิกุล” หวังพัฒนาวงการนวนิยายขนาดสั้นอีกครั้ง









          รูดม่านปิดฉากลงไปแล้วอย่างอบอุ่น สำหรับงานอบรมภายใต้หัวข้อ "เติมไฟใส่ฝันผ่านแนวทางการทำงานของประภัสสร เสวิกุล" ที่จัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ณ อาคารนานมีบุ๊คส์เฮาส์ ซอยสุขุมวิท 31 ที่ผ่านมา แม้จะเพิ่งจัดเป็นครั้งแรก แต่ก็มีนัก (อยาก) เขียนเข้าร่วมงานกว่า 100 คนเลยทีเดียว

          คิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า "นานมีบุ๊คส์จัดงานอบรมครั้งนี้ขึ้นเพื่อจุดประกายให้นักอ่านและผู้ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ แนวคิด และวิธีการทำงานของคุณประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 ผ่านผู้ใกล้ชิดซึ่งก็คือคุณชุติมาและคุณชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล เพื่อไปปรับปรุงและพัฒนางานเขียนของท่านสำหรับส่งเข้าประกวดโครงการ 'รางวัลประภัสสร เสวิกุล' เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับองค์ความรู้ แนวคิด และวิธีการทำงานของประภัสสร เสวิกุลอย่างเต็มเปี่ยม เพื่อกลับไปเติมไฟและเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนางานเขียนต่อไป"

          ภายในงานได้รับเกียรติจากนักเขียนและภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของประภัสสร เสวิกุล อย่าง ชุติมา เสวิกุล มาร่วมถ่ายทอดการเขียนสไตล์ประภัสสร เสวิกุล ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า "คุณประภัสสรมีคอนเซ็ปต์ในการเขียนผลงานแต่ละเรื่องชัดเจนเสมอ เริ่มต้นจากการคิดพล็อตให้แข็งแรง ต่อให้ครบถ้วน แล้วนำเสนอให้เป็นภาพต่อเนื่อง โดยเตรียมค้นหาข้อมูลไว้อย่างละเอียด เช่น กำหนดโลเคชั่นสำหรับดำเนินเรื่องไว้พร้อมสรรพ นอกจากนี้ งานประพันธ์ของคุณประภัสสรยังเน้นความกลมกล่อมพอดิบพอดี คือ ไม่เป็นจินตนาการมากไปเพราะทำให้เรื่องดูฟุ้ง ไม่ให้ตัวละครฉาบฉวยเกินไปเพราะทำให้เรื่องดูล่องลอย ไม่จริงจังเกินไปเพราะจะทำให้เรื่องดูเครียด คุณประภัสสรมักสอดแทรกมุมมองที่น่าขบคิดไว้อย่างแยบยลอยู่เสมอ รวมทั้งมักมีบทกลอนไพเราะประกอบอยู่ ทั้งหมดเกิดจากการบ่มเพาะของบิดามารดาของคุณประภัสสรที่ส่งเสริมให้เขาอ่านและท่องกลอนต่างๆ ตั้งแต่เยาว์วัย ส่งผลให้คุณประภัสสรรักการอ่านและชื่นชอบในบทกลอน จนกระทั่งเป็นนักประพันธ์ในเวลาต่อมา"

          ชุติมา เสวิกุล ได้ฝากถึงการหาแรงบันดาลใจในการเขียนว่า "แรงบันดาลใจมีอยู่ทุกที่ อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นหน้าที่ของนักเขียนที่ต้องหาให้เจอ และหาวิธีนำเสนอออกมา โดยนักเขียนควรมีศิลปะในการนำเสนอ ใช้แนวทางที่ทำให้ผู้อ่านได้ความรู้คู่ความบันเทิง"

          ด้านชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ลูกชายผู้เป็นดั่งลูกไม้ใต้ต้นที่สืบทอดอาชีพนักเขียน ได้ถ่ายทอดคุณสมบัติของนักเขียนแบบประภัสสร เสวิกุล ไว้ว่า "การจะเป็นนักเขียนแบบประภัสสร เสวิกุล ต้องประกอบไปด้วยห้าลักษณะ คือ หนึ่ง มีวินัยในการทำงาน คุณพ่อจะแบ่งเวลานอกการทำงานมาเขียนหนังสือ ให้เกียรติกับตัวเองในฐานะนักการทูตและฐานะนักเขียน ไม่ใช้เวลางานหลักมาเขียนผลงาน แบ่งเวลาสวมหมวกให้ถูกต้อง สอง แบ่งเวลาให้เป็น รู้จักบริหารเวลา สาม ช่างสังเกต มองความเป็นไปรอบตัว สี่ มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม (งานเขียนและผู้อ่าน) ห้า อ่านเยอะ และลงมือเขียน"

          ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ฝากถึงนัก (อยาก) เขียนไว้ว่า "นักเขียนทำได้เพียงยื่นสิ่งที่ดีที่สุด สุดความสามารถของเราให้กับผู้อ่าน เพราะเราไม่อาจทำให้ทุกคนชอบงานเขียนทุกหน้าทุกข้อความของเราได้ เช่นเดียวกับการทำอาหารที่ผู้ชิมล้วนพึงพอใจในรสเค็ม เปรี้ยว หวานต่างกัน แต่เราอย่าแกว่งไปตามเขา ให้ปรุงรสกลมกล่อมพอดิบพอดีที่สุดแทน เผื่อว่าวันหนึ่งคนชอบหวานอาจจะอยากลองรสเปรี้ยวก็ได้ สิ่งสำคัญคือทุกคนควรมีแนวทางเป็นของตัวเอง คุณจะต้องไม่เป็นแค่คุณประภัสสรคนที่สอง แต่เป็นคุณคนที่หนึ่ง"

          นอกจากนี้ นักเขียนชื่อดัง กีรตี ชนา วิทยากรอีกท่านได้ร่วมแบ่งปันสิ่งสำคัญ 3 ประการที่นักเขียนนวนิยายควรมีว่า "นักเขียนนิยายควรมีสิ่งสำคัญสามประการ ได้แก่ หนึ่ง Style คือ สิ่งที่ทุกคนอยากมีเป็นของตนเอง แต่ไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าคืออะไรกันแน่ ทางลัดคือการศึกษาสไตล์ของคนอื่นเพื่อค้นหาสไตล์ของตนเอง ยิ่งศึกษาเยอะเท่าไรยิ่งดี แต่อย่าลอกเลียนแบบเขา ให้สไตล์เข้ามาหาคุณเอง สอง Voice คือ น้ำเสียง หรือสำนวนที่ใช้ในการเขียน บุคลิกภาพที่คุณมีเป็นเอกลักษณ์ สาม Tone คือ 'อารมณ์' การผสมผสานการเลือกใช้คำ โครงสร้างประโยค จังหวะการใช้คำ และการสะกดออกเสียง ซึ่ง Tone และ Voice จะเป็นธรรมชาติที่สุดเมื่อผู้เขียนเขียนด้วยความเครียดน้อยที่สุด ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ช่วยให้นักเขียนสร้างสามสิ่งข้างต้นขึ้นได้คือ คุณจะต้องเขียนทุกวันอย่างสม่ำเสมอ หากไม่ได้เขียน อย่างน้อยก็ต้องอ่าน"

          จุดประสงค์สำคัญอีกประการของการจัดอบรมในครั้งนี้คือเพื่อจุดประกายให้นัก (อยาก) เขียนทุกคนนำองค์ความรู้ แนวคิด และวิธีการทำงานของประภัสสร เสวิกุลไปปรับปรุงและพัฒนางานเขียนสำหรับส่งผลงานเข้าประกวดโครงการประกวดต้นฉบับนวนิยายขนาดสั้น "รางวัลประภัสสร เสวิกุล" ชิงเงินรางวัลกว่า 100,000 บาท เพื่อค้นหานักประพันธ์รุ่นใหม่ซึ่งมีวิสัยทัศน์ มีมุมมองต่อโลก และชีวิตใกล้เคียงกับประภัสสร เสวิกุลที่สุด โดยมีเกณฑ์การตัดสินจากสาระสำคัญของการเล่าเรื่องในรูปแบบนวนิยายขนาดสั้น บนพื้นฐานความคิดและการสร้างสรรค์ ไม่ใช่การเลียนแบบหรือพยายามเป็นประภัสสร เสวิกุลคนต่อไป พิจารณาจากการวางโครงเรื่อง การถ่ายทอดด้วยทัศนคติ มุมมองและการเล่าเรื่องอย่างมีคุณค่าและชวนติดตามได้ใกล้เคียงกับผลงานของประภัสสร เสวิกุลที่มีอยู่กว่า 60 เรื่อง

          ส่งผลงานที่ ชุติมา เสวิกุล บ้านที่เลข 10 ซ.เพชรเกษม 100 บางแคเหนือ บางแค กรุงเทพฯ 10160 หรือ chutimasevikul@gmail.com ปิดรับต้นฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 และประกาศผลวันที่ 1 กันยายน 2559 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.nanmeebooks.com

          มีโครงการดีๆ แบบนี้เกิดขึ้น...นัก (อยาก) เขียนทั้งหลายคงได้แสดงความสามารถกันได้เต็มที่ เห็นทีวงการนวนิยายขนาดสั้นจะกลับมาครึกครื้นอีกครั้งก็คราวนี้แหละ