happy on May 15, 2016, 08:35:33 PM
งานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ทำดีได้ ด้วยปลายนิ้ว”


                  วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2559 เวลา 10.00 น.  ณ  ลานพาร์คพารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะร่วมไปเป็นเกียรติในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “ทำดีได้ ด้วยปลายนิ้ว” โดยมี ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วยผู้บริหารจาก AIS, CAT, DTAC, TOT และ TRUE ร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้ ร่วมด้วยศิลปินดาราใจบุญ ได้แก่  จาก True, แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์, นนท์-ธนนท์ จำเริญ (The Voice), เนส-นิศาชล สิ่วไธสง / จากช่อง 3  เคน ภูภูมิ, ธนิน  มนูญศิลป์ (บอมบ์), อริศรา  โรเซ็นดาห์ล (แคโรไลน์), เอกพงศ์  จงเกษณ์กร (เฟิสท์), การัญชิดา  คุ้มสุวรรณ (พราว), กิตติธัช  ประดับ (เบิร์ด), ภาสกร  บุญวรเมธี (บอย), น้องเบส ชนิดาภา พงศ์ศิลป์พิพัฒน์ / จาก สังกัด Music Move Entertainment แท้ป ศริล  สุขุม, แหนม รณเดช  วงศาโรจน์, อีฟ  พุทธธิดา ศิระฉายา, เจนี่ ศุทราอร หาญถนอม, ถังเบียร์ ภูริวัชร์ ธีระชาติ / จาก สังกัด KPN Award  ซาย หทัยชนก สวนศรี, พลอย ธันยาภัทร ศิริโชติ / จาก GMM 25 ปังปอนด์ อัครวุฒิ มงคลสุต, รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น. ปัณฑา พัฒนอำไพวงศ์ / จาก ช่อง 7 ไมค์ ภัทรเดช, เอส กันตพงศ์, เบนซ์ ปุณยาพร, โหน ธนากร, แจมมี่ ปณิชาดา และ Miss International Thailand มารวมพลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อการให้ที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ พร้อมเชิญชวนประชาชนผู้สนใจร่วม “ทำดีได้ ด้วยปลายนิ้ว” ด้วยการกด *984*100 # โทร.ออก บริจาคให้โรงพยาบาลศิริราช ครั้งละ 100 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินได้ เพื่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา โรงพยาบาลศิริราช

อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา

1.ความเป็นมาของการก่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา  (ทำไมถึงต้องสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา)

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เริ่มจาก ปี พ.ศ. 2431 ที่โรงศิริราชพยาบาล  (ชื่อเดิมของโรงพยาบาลศิริราช ณ เวลานั้น)  เปิดให้บริการรักษาโรคจวบจนปัจจุบัน 128ปี แล้ว

ในแต่ละปีมีผู้ที่มารับบริการรักษามาก และเพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลมีผู้ป่วยนอก ประมาณปีละ 3,000,000 คน และผู้ป่วยในอีกปีละประมาณ  87,000 คน

อาคารต่างๆ ซึ่งมีอายุใช้งานมากกว่า 50 ปี มีสภาพที่ไม่สามารถใช้งานต่อไปได้แล้ว  ตลอดจนระบบสาธารณูปโภค การจราจรสัญจรภายในโรงพยาบาลก็มีปัญหาอย่างมาก  จากปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อย วุ่นวาย ไม่เป็นระเบียบ   เราจึงได้มีการประชุมและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

สรุปคือต้องมีการสร้างอาคารใหม่ทดแทนอาคารเก่า จึงมีการทุบอาคารเก่า 3 หลังประกอบด้วย ตึกหริศจันทร์-ปาวา, ตึกผะอบ นพ.สุภัทราระเบียบ และตึกเวชศาสตร์ป้องกัน เพื่อนำพื้นที่มาสร้างอาคารใหม่คือ "อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา"  ทำให้เรามีพื้นที่ใช้สอยถึง  67,500  ตารางเมตร สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ได้

2.วัตถุประสงค์ของการสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เพราะอะไร

ในการสร้างอาคารหลังใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานชื่อศูนย์การแพทย์ พร้อมระบบสาธารณูปโภคว่า "อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา"  ตั้งแต่วันที่ 28  กันยายน  2556  และชื่อกำกับภาษาอังกฤษว่า "Navamindrapobitr 84th Anniversary Building"  เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556  ซึ่งมีความหมายว่า อาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเป็นใหญ่ รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยมีวัตถุประสงค์

-  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84  พรรษา
-  เพื่อทดแทนอาคารเก่าที่มีอายุใช้งานมากกว่า 50 ปี  เพื่อแก้ไขปัญหางานด้านบริการสาธารณสุข  ปัญหาระบบสาธารณูปโภค  ระบบการจราจรสัญจรภายในโรงพยาบาล ระบบภูมิทัศน์ภายในโรงพยาบาล  ก่อให้เกิดความคล่องตัว สวยงาม ความมีระเบียบ และปลอดภัยสำหรับผู้ที่มารับบริการจากทางโรงพยาบาล
-  เพื่อให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยสามัญ และเพิ่มคุณภาพการให้บริการ   และลดความแออัดในอาคารผู้ป่วยนอก ตลอดจนรองรับการบริการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

 3.ประชาชนและวงการแพทย์ จะได้ประโยชน์อะไร อย่างไรบ้าง

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ โรงพยาบาลศิริราชจะสามารถตอบสนองในด้านบริการสาธารณสุขให้กับประชาชน และในด้านวิชาการ ดังนี้

-  เป็นศูนย์บริการทางการแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ เวชศาสตร์ป้องกัน จิตเวชศาสตร์ และออร์โธปิดิกส์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ โดยสอดคล้องกับพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ด้านการบริการ ด้านการเรียนการสอน และการวิจัย
- ให้บริการทางห้องปฏิบัติการ  เพื่อให้บริการผู้ป่วยด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการวินิจฉัยโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และขยายศักยภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อให้บริการกับหน่วยงานภายนอก
- บริหารจัดการแบบครบวงจรและเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ผู้ป่วยนอก การตรวจเฉพาะทาง การส่งต่อ การสังเกตอาการ  และผู้ป่วยใน
- เพิ่มคุณภาพการบริการ ช่วยลดความแออัดในตึกผู้ป่วยนอกและเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลส่งต่อผู้ป่วย  นอกมายังผู้ป่วยพักค้าง
- มีระบบการใช้พื้นที่และทางสัญจร ทั้งทางเดินเท้า และทางสัญจรหลักของรถที่มีความชัดเจนและมีระเบียบ ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทางสัญจรและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการใช้พื้นที่
- เกิดสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี เพิ่มพื้นที่เปิดโล่งและภูมิทัศน์ที่สวยงามภายในโรงพยาบาลศิริราช

4.ระยะเวลาในการก่อสร้าง อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา จากจุดเริ่มต้นถึงช่วงเวลาของการเสร็จสิ้นสามารถเปิดให้บริการได้เมื่อไร

เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558  นอกจากนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานอำนวยการจัดหาทุน เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558  ณ บริเวณหน้าอาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลโรงพยาบาลศิริราช  ระยะเวลาก่อสร้างจะแล้วเสร็จเดือนสิงหาคม 2561 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562
เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์กลางให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทางที่ทันสมัยครบวงจร  เป็นการเพิ่มคุณภาพการบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้รับบริการทุกหมู่เหล่าอย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  จึงมีความจำเป็นและเป็นที่น่ายินดีที่จะเชิญชวนให้ทุกท่านได้ร่วมกันช่วยเหลือแบ่งปันทุนทรัพย์คนละเล็กคนละน้อย เพื่อให้การดำเนินงานแล้วเสร็จตามเป้าหมาย อันจะส่งผลให้ผู้มารับบริการได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

5.ไฮไลท์ที่น่าสนใจในอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา มีอะไรบ้าง

อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เป็นอาคารสูง 25 ชั้น  มีชั้นดาดฟ้า  และลานจอดเฮลิคอปเตอร์ จะเป็นอาคารที่ทันสมัย มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 67,500 ตารางเมตร สามารถขยายงานด้านบริการได้ ดังนี้.     
                             
 - งานบริการผู้ป่วยนอก สามารถรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มจากเดิมได้อีก  500,000 รายต่อปี  จากเดิม 3,000,000 รายต่อปี  รวมเป็น 3,500,000 ราย  ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป  และโรคเฉพาะทาง ให้บริการอย่างครบวงจร   ประกอบด้วย

•         ด้านอายุรกรรม (Internal Medicine)
•         ด้านโรคทางเดินอาหารและตับ (Digestive and Liver Diseases)
•         ด้านประสาทวิทยา (Neuroscience)
•         ด้านต่อมไร้ท่อ (Endocrine Diseases)
•         ด้านเบาหวาน (Diabetes)
•         ด้านไต (Nephrology)
•         ด้านระบบทางเดินหายใจและความผิดปกติด้านการนอน (Respiratory and Sleeping Disorder)
•         ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine)
•         ด้านจิตเวช (Psychiatry)
•         ด้านกระดูกและข้อ (Orthopedics)
•         ด้านรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา (Radiation Diagnosis and Therapy)

-  งานบริการผู้ป่วยในให้บริการผู้ป่วยด้านอายุรกรรม เวชศาสตร์ป้องกัน จิตเวชศาสตร์ ประสาทวิทยา ออร์โธปิดิกส์ ห้องผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อ และบริการผู้ป่วยวิกฤต มีหอผู้ป่วยสามัญ  376  เตียง รองรับผู้ป่วยในจากเดิม  87,000 ราย  เพิ่มอีก 20,000 ราย  รวมเป็น 107,000 ราย และหอผู้ป่วยวิกฤต อีก  62 ห้อง

- งานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ  โดยนำมารวมไว้ที่จุดเดียวกัน ประกอบด้วย
•         ศูนย์หทัยวิทยา (Cardiac Center)                           
•         ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและส่องกล้อง (Gastrointestinal and GI Endoscopy Center)       
•         ศูนย์อุรเวชช์วินิจฉัย (Intervention Pulmonary Center)
•         ศูนย์ปฏิบัติการอุรเวชช์ (Pulmonary Function Laboratory)
•         ศูนย์วักกะวิทยา (Nephrology Center)
•         ศูนย์ต่อมไร้ท่อ (Endocrinology Center)
•         ศูนย์นิทรรักษ์ (Sleep Center)
•         ศูนย์ห้องปฏิบัติการกลาง (Central Laboratory Center)   
•         ศูนย์รับบริจาคเลือดศิริราช (Siriraj Blood Donation Center)
•         ศูนย์รังสีรักษา (Radiotherapy Center)
•         ศูนย์รังสีวินิจฉัย (Diagnostic Radiology Center)
•         ศูนย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine Center)
•         ศูนย์ผู้ป่วยบาดเจ็บกระดูกสันหลัง (Spinal Center)
•         ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา (Sport Medicine Center)

6.ต้นทุนในการก่อสร้าง, งบประมาณจากที่ไหน, ยังต้องระดมทุนอีกเป็นจำนวนเท่าไร

งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ  5,000  ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ประมาณ  2,000 ล้านบาท  ส่วนที่เหลือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจำเป็นต้องระดมทุนจัดหางบประมาณมาดำเนินการเอง   โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปที่ร่วมบริจาคสมทบทุนก่อสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา โรงพยาบาลศิริราช 

7.Theme "ให้ เท่ากับ การรักษา" มาจากอะไร

เพราะเราเชื่อว่าพลังแห่ง “การให้” เป็นพลังแห่ง “ความสุข”  การที่เราให้เงินบริจาคสมทบร่วมโครงการอาคารนวมินทรบพิตร  ๘๔ พรรษา  ทางโรงพยาบาลศิริราช  จะนำไปก่อสร้างอาคาร จัดซื้ออุปกรณ์   เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย นำไปทำห้องตรวจปฏิบัติการ ค้นคว้า วิเคราะห์  เพื่อเป็นข้อมูล แนวทางในการรักษาผู้ป่วยที่ถูกต้องและแม่นยำ  เงินที่บริจาค สามารถต่อชีวิต รักษาชีวิต ของผู้ป่วยอีกมากมาย การให้ของเราในวันนี้   มีพลังมากมายมหาศาล จาก   1 เป็น 2....ต่อ ๆ กันไปเพิ่มขึ้น ๆ  จนเป็นพลังอันยิ่งใหญ่  คนเราทุกคนควรเป็นผู้ให้ ยิ่งให้ยิ่งได้

8.สำหรับผู้สนใจที่จะบริจาค จะติดต่อได้ที่ไหน อย่างไรบ้าง

ท่านผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา บริจาคสบทบทุนได้ ดังนี้

วิธีที่ 1. บริจาคด้วยตนเอง ที่ "ศิริราชมูลนิธิ" ตึกมหิดลบำเพ็ญ ชั้น 1  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เลขที่ 2 ถนนวังหลัง  แขวงศิริราช  เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700

โทรศัพท์ 0-2419-7658-60 , 0-2419- 7688 ต่อ 101-104    โทรสาร  0-2419- 7687, 0-2-419-7658-60 ต่อ 9
วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 07.30-17.30  น. วันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์   เวลา  08.30-16.30   น.

วิธีที่ 2. บริจาคทางไปรษณีย์  ส่งธนาณัติ ในนาม ศิริราชมูลนิธิ สั่งจ่าย ปท.ศิริราช หรือเช็คขีดคร่อม A/C PAYEE ONLY  สั่ง จ่าย ศิริราชมูลนิธิ

วิธีที่ 3. บริจาคทางธนาคาร โอนเข้าบัญชีออมทรัพย์  ชื่อบัญชี ศิริราชมูลนิธิ  (กองทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา)

• ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาศิริราช   เลขที่บัญชี 016-4-37544-4

• ธนาคารทหารไทย  สาขาศิริราช เลขที่บัญชี 085-2-21890-8

• ธนาคารกสิกรไทย  สาขาศิริราช เลขที่บัญชี 638-2-00888-8

• ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาอรุณอมรินทร์ เลขที่บัญชี 157-1-28870-3

• ธนาคารกรุงเทพ  สาขาโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เลขที่บัญชี 901-7-02699-9

• ธนาคารกรุงไทย  สาขาเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เลขที่บัญชี 031-0-49552-0

• ธนาคารออมสิน  สาขาศิริราช เลขที่บัญชี 050-58-11486-5-2

• ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาย่อยพรานนก เลขที่บัญชี 020-03-14272-2-6

• ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาสี่แยกบ้านแขก เลขที่บัญชี  034-7-000644-3

กรุณาส่งสำเนาใบนำฝากธนาคาร พร้อมระบุ ชื่อ-สกุล  วัน/เดือน/ปีเกิด  ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ โดยส่งผ่านทางโทรสาร หรือส่งทางไปรษณีย์มายังศิริราชมูลนิธิ เพื่อจะได้จัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ท่านต่อไป

ศิริราชมูลนิธิ เป็นองค์กรสาธารณกุศล ลำดับที่ 85  ตามประกาศกระทรวงการคลัง  สามารถนำเงินบริจาคไปลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีตามกฎหมายกำหนด
« Last Edit: May 15, 2016, 08:37:27 PM by happy »