happy on May 01, 2016, 08:09:04 PM
นิสสัน ยกระดับเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพแข่งขัน
เปิดศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ในไทย

สนับสนุนฐานการผลิต ในภูมิภาคเซียน รองรับตลาด ใน 90 ประเทศทั่วโลก


บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด  สำนักงานใหญ่ของ นิสสัน ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ขยายขอบข่ายการดำเนินงานของศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ ในประเทศไทย ให้ครอบคลุม และเพิ่มศักยภาพการออกแบบและพัฒนารถยนต์  โดยเปิดศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ (Nissan Motor Asia Pacific R&D Test Center) พร้อมห้องทดสอบยานยนต์ล้ำสมัย เป็นแห่งแรก ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมดูแลการวิจัยและพัฒนาใน 5 ประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน


Mr. Kazutaka Nambu - President of Nissan Motor (Thailand) Co., Ltd

นายฮิโรชิ นากาโอกะ รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด  ได้กล่าวว่า ปัจจุบันนิสสัน มีฐานการวิจัยพัฒนา อยู่ใน 13 ประเทศทั่วโลก  โดยศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์แห่งใหม่ในประเทศไทยนี้  จะทำหน้าที่สนับสนุนฐานการผลิตของนิสสัน 7 แห่ง ใน 5 ประเทศภูมิภาคอาเซียน คือ ประเทศไทย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม  รองรับการพัฒนารถยนต์ เพื่อตอบสนองตลาดใน กว่า 90 ประเทศทั่วโลก

“การเปิดศูนย์ครั้งนี้  จะเป็นการสร้างบทบาทใหม่ของประเทศไทย สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์รถยนต์รุ่นใหม่ๆ  ซึ่งไม่เพียงจะรองรับงานในส่วนทดสอบยานยนต์ในด้านต่างๆ  ยังรวมถึงการสร้างรถยนต์ต้นแบบ  เพื่อตอบสนองพันธกิจและวิสัยทัศน์ของบริษัท  ในการขยายไปสู่การวางแผนการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด”

ด้านนายคะซุทากะ นัมบุ ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า  การเปิดศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ แห่งใหม่ของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค นี้ ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทย ที่มีต่อนิสสันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพัฒนาในภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย และยังจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก



“การเปิดของศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์ในครั้งนี้ นับเป็นการยกระดับศักยภาพของนิสสัน จากเดิมที่เป็นศูนย์กลางทางการผลิต ก้าวสู่ศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในระดับภูมิภาคได้ดีมากยิ่งขึ้น ด้วยการวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านชิ้นส่วน และการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่นวัตกรรมของเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคนั้นๆได้  โดยปัจจุบัน เรามีวิศวกรชาวไทยมากกว่า  300 คน ปฏิบัติงานในศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้ และเพื่อรองรับต่องานวิจัยพัฒนาในก้าวต่อไปของนิสสัน เราได้ส่ง วิศวกรชาวไทยประมาณ 100 คน ไปร่วมงานกับทีมวิศวกรของนิสสันทั่วโลก ซึ่งบุคลากรของไทย ได้รับการยอมรับถึงศักยภาพและทักษะด้านวิศวกรรมที่สูงมาก”

ศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์นิสสัน  ภายใต้ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (NMAP) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6,600 ตารางเมตร บนถนนบางนา-ตราด กม. 22  ก่อตั้งขึ้นด้วยเงินลงทุนกว่า 1,087 ล้านบาท  โดยมีขอบข่ายการทำงานของ ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนวิจัยพัฒนา ทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจร รวมถึงการมุ่งให้เกิดการพัฒนาชิ้นส่วนภายในประเทศ

ศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์นิสสัน ได้รับการการออกแบบและติดตั้งเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะห้องทดสอบยานยนต์อาทิ ห้องทดสอบสัญญาณรบกวนทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Anechoic chamber) ห้องทดสอบคุณภาพเสียง (Acoustic chamber) และห้องทดสอบประสิทธิภาพความทนทานของชิ้นส่วนรถยนต์และสมรรถนะของระบบช่วงล่างในห้องควบคุมอุณหภูมิและสภาพแวดล้อม (Vibration simulator with Environment Chamber) ซึ่งให้ผลการทดสอบที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำสูงสุด  และนับว่ามีความทันสมัยที่สุดในประเทศไทย

สำหรับการเปิดศูนย์วิจัยพัฒนาครั้งนี้ นิสสัน ได้รับเกียรติจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธี โดยรองนายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวว่า “ขอชื่นชมต่อพันธะสัญญาของนิสสัน ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลกร ผ่านการลงทุนครั้งสำคัญนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างการเจริญเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของประเทศรวมถึงตอบสนองความต้องการทั้งจากตลาดภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้ในส่วนของรัฐบาลไทยนั้น พร้อมร่วมมืออย่างแข็งขันกับผู้ผลิตยานยนต์จากทั่วโลก ผ่านนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ”

สำนักงานใหญ่ของนิสสันประจำภูมิภาค เอเชีย แปซิฟิค ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2554  โดยศูนย์วิจัยฯที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการนี้  ได้รับการมอบหมายให้ดำเนินการวิจัยพัฒนาและทดสอบรถยนต์รวม 12 รุ่น รวมถึงรถยนต์รุ่นหลักๆ ของนิสสัน อย่าง นาวารา รถกระบะพันธุ์แกร่ง อัลเมรา รถอีโคคาร์ ซีดานที่มียอดจำหน่ายสูงสุด รวมไปถึง เอ็กซ์-เทรล ไฮบริด รถยนต์ SUV ยอดนิยม


###

เกี่ยวกับนิสสัน มอเตอร์:
นิสสัน เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีรถครอบคลุมทุกตลาด จำนวนกว่า 60 รุ่น ที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์ นิสสัน, อินฟินิตี และดัทสัน โดยในปีงบประมาณ 2557 สามารถสร้างยอดจำหน่ายทั่วโลกได้มากกว่า 5.3 ล้านคัน สร้างรายได้ 1.13 แสนล้านเยน และยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีรถพลังงานไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก คือ นิสสัน ลีฟ นิสสันมีสำนักงานใหญ่ อยู่ที่เมือง โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งควบคุมบริหารจัดการตลาดทั่วโลกที่แบ่งออกเป็น 6 ภูมิภาค ประกอบไปด้วย อาเซียนและ โอเชียเนีย, แอฟริกา, ตะวันออกกลางและอินเดีย,จีน, ยุโรป, ลาตินอเมริกาและอเมริกาเหนือปัจจุบันนิสสันมีพนักงานทั่วโลก 247,500 คน และเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของฝรั่งเศส คือ “เรโนลต์” ภายใต้ชื่อ “เรโนลต์-นิสสัน” ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2542

รายละเอียดของห้องทดสอบยานยนต์ ในศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์ของนิสสัน

ห้องทดสอบ (Test rooms)

1. ห้องทดสอบสัญญาณรบกวนทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Anechoic Chamber)


ครั้งแรกในประเทศไทย  ที่สามารถรองรับการทดสอบการส่งสัญญาณคลื่นรบกวนทั้งจากภายใน ที่เกิดจากการขับเคลื่อนของเครื่องยนต์ และสัญญาณคลื่นจากภายนอก ที่จะส่งผลกระทบต่อกลการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในเครื่องยนต์ ซึ่งให้ผลการทดสอบที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสุด  ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของนิสสัน

2. ห้องทดสอบปริมาณมลพิษจากไอเสียรถยนต์ (Chassis Dynamometer with Emission Test Room)

ทดสอบปริมาณสารมลพิษไอเสียรถยนต์ ด้วยการจำลองสถานการณ์การขับขี่เสมือนบนถนนจริง เพื่อควบคุมให้เป็นไปตามข้อกำหนดของการควบคุมค่ามาตรฐานไอเสีย และรองรับค่ามาตรฐานสูงสุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. ห้องทดสอบประสิทธิภาพและความคงทนของเครื่องยนต์(Engine Dynamometer Chamber)


ด้วยการใช้เทคโนโลยีการทดสอบที่สามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ แก๊สโซลีนและเครื่องยนต์ดีเซล และสามารถทดสอบได้ต่อเนื่องมากกว่า 1,000  ชม. พร้อมทั้งสามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และปรับตั้งค่าให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

4. ห้องทดสอบประสิทธิภาพความทนทานของชิ้นส่วนรถยนต์และระบบช่วงล่างในห้องควบคุมอุณหภูมิและสภาพแวดล้อม (Vibration Simulator and Environment Chamber)


นับเป็นการทดสอบในห้องควบคุมอุณหภูมิและสภาพแวดล้อม ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย เพื่อหาเสียงที่ผิดปกติ เช่น เสียงกระพือ เสียงเสียดสี และสั่นสะเทือน ภายใต้การขับขี่ในสภาพถนนรูปแบบต่างๆ และตรวจสอบการเสื่อมสภาพ (การเสียรูป และการเปลี่ยนสี) ของชิ้นส่วนประเภทพลาสติกและยาง ทั้งภายในและภายนอกของรถยนต์

5. ห้องทดสอบคุณภาพเสียง  (Acoustic Chamber)

ครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับการทดสอบคุณภาพเสียงในห้องควบคุมเสียงรบกวนจากภายนอก สำหรับใช้ทดสอบคุณภาพเสียง เพื่อค้นหาและป้องกันเสียงรบกวนที่อาจเกิดจากการสั่นสะเทือน (Rattle Noise) ของชิ้นส่วนภายในรถยนต์  ได้แก่ บริเวณรอบๆ ลำโพงประตูรถยนต์ รวมทั้งยังสามารถจำลองสภาพการขับขี่ในเวลากลางคืน ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อทดสอบความสว่างของแสงจากมิเตอร์ ป้องกันการรบกวนทัศนวิสัยต่อการขับขี่รถยนต์

6. ห้องทดสอบความทนทานของฝากระโปรงหน้าและฝากระโปรงท้าย (Door Endurance Robot)


ให้การทดสอบที่มีเสถียรภาพสูงสุด  ด้วยการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ ในการทดสอบ ภายใต้การจำลองสภาพ  การใช้งานจริง ควบคุมการเปิด ปิด  ด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้สามารถควบคุมน้ำหนัก ความแรง ระยะห่าง ความสูง ระดับความเร็วของการเปิด-ปิด และจำนวนรอบการทดสอบ ทำให้ได้ผลการทดสอบที่เที่ยงตรง แม่นยำ ตามมาตรฐานที่กำหนด
« Last Edit: May 01, 2016, 08:12:34 PM by happy »