MSN on April 12, 2016, 09:25:53 AM
กพร. เผยปริมาณน้ำขุมเหมืองเก่าทั่วประเทศ พร้อมเร่งตรวจสอบคุณภาพน้ำช่วยบรรเทาภัยแล้งภาคการเกษตร



นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่










กรุงเทพฯ 12 เมษายน 2559 - กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (กพร.) รุกช่วยภาคการเกษตรรับภัยแล้ง พร้อมเผยข้อมูลขุมเหมืองเก่าที่พัฒนาและสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้แล้วจำนวน 33 แห่งทั่วประเทศ รวมปริมาณน้ำกว่า 45.16 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งยังเร่งสำรวจคุณภาพเพิ่มเติมอีก 65 แห่ง รวมปริมาณน้ำ 34.56 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกันนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจวัดคุณภาพน้ำทั้งทางกายภาพและเคมี เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสามารถนำมาใช้ในการอุปโภคและการเกษตรกรรมได้อย่างปลอดภัย

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ตระหนักถึงสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 ที่มีความรุนแรงมาก จึงได้เตรียมแผนช่วยภาคการเกษตรรับมือกับภัยแล้งด้วยน้ำขุมเหมือง โดยการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ขุมเหมืองเก่าทั่วประเทศเบื้องต้นพบว่า มีพื้นที่เหมืองแร่ที่มีศักยภาพสามารถนำไปใช้เป็นแหล่งน้ำได้ทั้งสิ้น 105 บ่อเหมือง จากกลุ่มเหมืองแร่ในแผนที่จำนวน 36 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้นกว่า 166 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในเบื้องต้นมีขุมเหมืองจากจำนวนดังกล่าวได้รับการพัฒนาและสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์เพื่ออุปโภคและการเกษตรทั้งสิ้นแล้ว 33 บ่อเหมืองทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 45.16 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายชาติ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กพร. ได้เร่งสำรวจพื้นที่ขุมเหมืองที่มีศักยภาพเพิ่มเติมอีก 65 บ่อเหมือง (จากจำนวนทั้งสิ้น 105 บ่อเหมือง ขณะที่อีก 7 บ่อเหมือง อยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้แล้ว) เพื่อเตรียมพร้อมรองรับความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้ จะสามารถใช้เก็บน้ำได้เพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 34.56 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43 บ่อเหมือง ปริมาณน้ำ 8.16 ล้านลูกบาศก์เมตร และภาคเหนืออีก 22 บ่อเหมือง ปริมาณน้ำ 26.40 ล้านลูกบาศก์เมตร

พร้อมกันนี้ กพร. ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบคุณภาพน้ำทั้งทางกายภาพและเคมี อาทิ การตรวจค่าความเป็นกรดและด่าง (pH) ตรวจค่าการนำไฟฟ้า  (Electric Conductivity, EC) การตรวจค่าของแข็งที่ละลายน้ำทั้งหมด (Total Dissolved Solids, TDS) การตรวจค่าวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก โดยต้องมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดินตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสามารถนำมาใช้ในการอุปโภคและการเกษตรกรรมได้อย่างปลอดภัย นายชาติ กล่าวต่อ

ขณะเดียวกัน กพร. ได้ดำเนินการประสานงานกับผู้ประกอบการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อพัฒนาและนำน้ำขุมเหมืองไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งการจัดสรรน้ำให้ทั่วถึง โดยเน้นพื้นที่ประสบภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือเป็นลำดับแรก นายชาติ กล่าวทิ้งท้าย

สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯโทรศัพท์ 0-2202-3555หรือเข้าไปที่ www.dpim.go.th

ข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองเก่า
ขุมเหมืองเก่า คือ เหมืองแร่ที่หมดอายุประทานบัตรแล้ว โดยตามพระราชบัญญัติแร่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หลังจากการทำเหมืองแร่ พื้นที่ที่ทำเหมืองเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องมีการฟื้นฟูให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เช่น การปลูกป่า พื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ พื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่ที่พักอาศัย ตลอดจนการทำเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อใช้ในยามหน้าแล้ง
« Last Edit: April 12, 2016, 01:06:48 PM by MSN »