MSN on March 25, 2016, 02:54:59 PM
กระทรวงวิทย์จับมือประชารัฐหนุนเศรษฐกิจประเทศด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมผลักดันหลายมาตรการเพื่อSMEsและ Startups พร้อมเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% ขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม เอกชนขานรับร่วมงาน CEO Innovation Forum 2016















25 มีนาคม 2559 :กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน.) ร่วมกันจัดงาน “CEO Innovation Forum 2016  และเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300% สำหรับการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม” โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน ภายในงานมีการเสวนาพิเศษ หัวข้อ “การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม”โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์คุณวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคุณกานต์ ตระกูลฮุนประธานร่วมคณะทำงานร่วมประชารัฐ ด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ พร้อมเปิดตัวมาตรการยกเว้นภาษี 300%ขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรม

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) และจะต้องเชี่อมโยงประสานพลังกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งเป็นที่มาของคณะทำงานร่วมประชารัฐ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัจจุบันกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีมาตรการในหลายๆด้านเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเอกชน โดยออกแบบให้เหมาะกับขนาดธุรกิจ ได้แก่ มาตรการยกเว้นภาษี 300% สำหรับค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรมมาตรการลดภาษีเงินได้สำหรับผู้ประกอบการ SME ให้เหลือ 10% ในระยะเวลา2รอบบัญชี มาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ระยะเวลา 5รอบบัญชีสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ในกลุ่ม New Growth Engine การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ จำนวน 2,000 ล้านบาท การตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคเอกชน โครงการคูปองนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจSME ให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรม โดยมีงบประมาณสนับสนุนในรูปแบบคูปอง โครงการบัญชีนวัตกรรม
   
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)ได้ประกาศผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนา และกิจกรรมนวัตกรรม ประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติและดัชนีชี้วัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศ โดยตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ผ่านมามีจำนวน 6.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.48% ของจีดีพี โดยมีสัดส่วนในการลงทุนภาคเอกชนต่อภาครัฐ 54:46 สำหรับตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนาภาคเอกชน จำนวนเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้ประกอบการกว่า 5,500 ราย สถิติการลงทุนภาคเอกชนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 29% ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีมากที่ภาคเอกชนตื่นตัวและเห็นประโยชน์ของการพัฒนาธุรกิจด้วย วทน. สำหรับตัวเลขบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนามีจำนวน 84,216 คน เพิ่มมากขึ้นกว่า 20% คิดสัดส่วนบุคลากรวิจัยและพัฒนา 13 คน ต่อประชากร 10,000คน จากสถิติดังกล่าว ชี้วัดความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนากำลังคนด้าน วทน.ที่ กระทรวงฯ ได้ผลักดัน เช่น โครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวทน.ภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน (Talent Mobility) หรือโครงการพัฒนากำลังคนสะเต็มที่ยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เป็นต้น

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงมาตรการยกเว้นภาษี 300% เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรมว่าการเปิดเสรีทางค้าทำให้ทุกประเทศเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รวดเร็วและรุนแรง ประเทศไทยต้องปรับตัวจากประเทศที่ขับเคลื่อนโดยประสิทธิภาพ (efficiency-driven) มาเป็นนวัตกรรม (innovation-driven) ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมในรูปของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตใหม่ๆเพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักที่จะนำพาประเทศบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-income trapped country) รวมทั้งเป้าหมายปี 2559 ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1 ของจีดีพี

โดยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฏีกาออกตามความในประมวลรัษฏากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ.2559 ให้เพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็น 3 เท่าของรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง(ยกเว้นภาษี 300%) โดยกำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลา 5 ปี โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 จนถึง31 ธันวาคม พ.ศ. 2562ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าวมีการกำหนดวงเงินการใช้สิทธิในการหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า หากผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะใช้สิทธิหักรายจ่ายฯ ได้ในวงเงินสูงสุดร้อยละ60 ของรายได้ แต่หากมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายฯ ได้อีกร้อยละ 9 และส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท หักรายจ่ายฯ ได้เพิ่มเติมอีกร้อยละ 6 โดยทั้งสองกระทรวงฯ ได้ศึกษาแล้วว่าการกำหนดวงเงินอย่างเป็นขั้นบันไดนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับกิจการทุกขนาด และจะไม่ส่งผลให้กิจการที่ทำวิจัยมากอยู่แล้ว ลดค่าใช้จ่ายวิจัยเพราะถูกจำกัดวงเงินการหักค่าใช้จ่ายฯ มาตรการนี้กำหนดไว้ในระยะเริ่มต้น 5 ปี เพื่อศึกษาถึงผลกระทบว่ามาตรการยกเว้นภาษีจะเป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน และอาจพิจารณาขยายระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ได้อีกในอนาคต

สวทช. มีบทบาทเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกรมสรรพากร ให้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน สำหรับการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา มีโครงการวิจัยฯ ได้รับการรับรองแล้ว จำนวน 2,834 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวม9,886 ล้านบาทโดยประเภทอุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับรองโครงการวิจัยฯ สูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมยาและเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุตามลำดับทั้งนี้จากผลการสำรวจมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจของโครงการวิจัยที่ได้รับรองจาก สวทช. ในช่วงปีงบประมาณ 2553 - 2558คิดเป็นมูลค่าผลกระทบฯ รวม16,489 ล้านบาท หรือสร้างผลกระทบฯ ได้ประมาณ 8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับภาษีที่ได้รับยกเว้นรวม 2,082 ล้านบาท

นอกจากนี้ สวทช. ยังมีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการพิจารณารับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเปิดให้บริการระบบ RDC Online ยื่นขอรับรองโครงการวิจัยผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างความสะดวกรวดเร็ว มีความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูล และตรวจสอบติดตามผลได้ง่าย2) การเพิ่มช่อง ช่องทาง Fast Track ซึ่งสามารถทราบผลการรับรองโครงการภายใน 1 เดือน 3) การจัดหลักสูตรฝึกอบรมการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอการรับรองฯให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งถือว่าเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการพร้อมทั้งผลักดันมาตรการทางภาษีที่จะเพิ่มความสามารถด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในภาคเอกชน มุ่งหวังให้เอกชนร่วมมือและให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
« Last Edit: March 25, 2016, 03:20:38 PM by MSN »