สมาคมภัตตาคารไทยเปิดยุทธศาสตร์อาหารไทย อาหารโลก
ขับเคลื่อนด้วยออนไลน์- จัดงานNetwork is Power Matching day เปิดยุทธศาสตร์อาหารไทย อาหารโลก สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย พร้อมดันสมาคมภัตตาคารไทยผนึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบตลาดออนไลน์สู่ร้านอาหาร 4 แสนแห่งทั่วประเทศไทยรองรับตลาดอาหารมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ส่งเสริมอาหารไทยลุยแข่งรับAEC พร้อมจัด งาน Network is Power Matching day คู่หูดี มีแต่รุ่ง ครั้งที่ 3 ” ครั้งยิ่งใหญ่ รวบรวมร้านอาหาร - ผู้ผลิตวัตถุดิบ –สินค้า และ เกษตรกร เชื่อมต่อธุรกิจอาหารครบวงจรเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2559 มีการจัดแถลงข่าว “ยุทธศาสตร์อาหารไทย อาหารโลก และการจัดงาน Network is Power Matching day” ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน
นาย ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์ SME ไทยเป็นศูนย์รวมขององค์กรการค้าและองค์กรวิชาชีพกว่า 130 องค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมความสัมพันธ์และสร้างสรรค์โอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทยและเนื่องจากวันที่ 13 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา สมาพันธ์ฯได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ 21 เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้าง "สัมมาชีพเต็มพื้นที่ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สู่เศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน" ตามแนวทางประชารัฐ โดยมีสมาคมภัตตาคารไทยซึ่งเป็นหนึ่งใน 130 องค์กรของสมาพันธ์ถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญในการเชื่อมต่อผลิตผลจากภาคเกษตรกรรมและภาคชุมชน กับภาคเอกชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนทางการค้า และรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและผลิตผลที่มีการแปรรูปทางอาหาร เพื่อต่อเชื่อมแนวทางการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากตาม MOU ที่ได้ลงนามไป
นาย สมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาลัยมหิดล กล่าวว่า อาหารเป็นหนึ่งใน 6 ยุทธศาสตร์ของโครงการศึกษาผลกระทบเศรษฐกิจอาเซียนต่อผู้ประกอบการSMEs ในสาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยจะต้องสรุปเนื้อหาในส่วนของจุดเด่นจุดด้อยของไทยทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งพันธมิตรที่เราควรจะเลือกให้เหมาะกับระดับของธุรกิจ
สำหรับการเปิดตัวเองสู่ตลาด AEC ของ SMEs ปัจจัยสำคัญที่ก็คือ การรวมกลุ่มของรายย่อย เป็นเครือข่าย ที่เข้มแข็งเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลของกันและกัน รวมทั้งการใช้อำนาจของกลุ่มเป็นกลไกในการต่อรองกำหนดราคาและพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็ง โดยมีแนวทางดังนี้
1. ผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และในตลาดที่แข่งขันน้อย เช่น ผักปลอดสาร สัตว์น้ำราคาแพง
2. พัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตอาหาร เพื่อทดแทนแรงงานคนที่ขาดแคลน
3. ควรศึกษาลักษณะตลาดและความต้องการของตลาดให้แน่ใจ พัฒนา สื่อทาง internet เช่น Web Site, App ต่างๆเพื่อที่บริการและเข้าถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึง
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน - หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้บริโภคอาหารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่สามารถค้นหาร้านอาหารที่เหมาะสมต่อความต้องการ และมีคุณภาพ เนื่องจากขาดระบบการตลาดที่เหมาะสมกับยุคออนไลน์ในปัจจุบัน ดังนั้นทางสาขาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมมือกับสมาคมภัตตาคารไทยพัฒนาระบบการตลาดออนไลน์ สำหรับร้านอาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากการเปิดเสรีอาเซียน และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมมาท่องเที่ยวประเทศไทย โดยระบบที่พัฒนาขึ้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นระบบการตลาดดิจิตอล ให้กับร้านอาหารทั่วประเทศ ซึ่งระบบจะมี Feature ที่จำเป็นหลายอย่าง ระบบการค้นหาที่ละเอียดมากกว่าที่เคยมีมา เช่น การค้นหาลงไปในระดับเมนู และเงื่อนไข เช่น อาหารเจ, อาหารฮาลาล, อาหารสุขภาพ ที่มีการตรวจสอบมาตรฐานที่น่าเชื่อถือได้จากสมาคม และได้รับการรับรองคุณภาพจากนักชิมมืออาชีพที่เป็นที่ยอมรับ เช่น หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี, แม่ช้อยนางรำ, ฝาชีทอง, คู่สร้างคู่สม ฯลฯ โดยระบบจะสนับสนุนหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ จีน เป็นต้น
ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยจะนำข้อมูลเพื่อทำวิจัยวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค พร้อมสร้างระบบวิเคราะห์อัตโนมัติ เพื่อหาแนวโน้มกลยุทธ์ทางการตลาดโลกในอนาคต พร้อมใช้ระบบเพื่อประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์ เพื่อลดต้นทุนการประชาสัมพันธ์ ทำให้ต้นทุนต่ำ เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มรายได้ นอกจากนี้ยังมีแผนการที่จะพัฒนาระบบอื่นๆ เพื่อมาสนับสนุนร้านอาหารในอนาคตเช่น Hot-Line Call Center แบบ Smart Tourism และยังนำมาตรฐานของทางสมาคมภัตตาคารไทย ที่สอดคล้องกับ มาตรฐาน Michelin Star มาตรฐานอาหารของนักชิมที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก มาเป็นข้อมูลที่อยู่ในระบบเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยโครงการนี้จะสะท้อน GDP ของประเทศและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารของไทยต่อไป
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า อาหารโลกปัจจุบัน “อาหารไทย” ถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ในหลายด้าน จากสื่อระดับโลกไม่ว่าจะเป็น CNN, BCC, Lonely Planet, Thrillist ตั้งแต่เมนูยอดนิยม อุดมไปด้วย สมุนไพร และ เครื่องเทศ เพื่อสร้างรสชาติที่ซับซ้อน เหมือนกับวงดนตรีออเคสตร้าอย่าง ผัดไทย, แกงมัสมั่น, ต้มยำกุ้ง, น้ำตกหมู, ส้มตำ, แกงเขียวหวาน, ข้าวเหนียวมะม่วง เนื่องด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่มีถึง 4 ภาคและการหลอมรวมอาหารชาติอื่น เข้ามาเป็นอาหารของประเทศไทยเอง ทำให้สามารถกินอาหารได้หลากหลายภายในประเทศเดียว ประเทศไทยจึงได้รับการจัดเป็นประเทศที่น่าเดินทางมากินอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก
ในด้านวัตถุดิบ ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก ในหลายด้าน เช่น ความหลากหลาย ความอร่อย และความสามารถในการผลิต ซึ่งการส่งออกอาหาร เช่น อาหารทะเล ข้าว ผลไม้ ไก่ น้ำตาล เครื่องปรุง เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งของประเทศไทย ที่สร้างมูลค่าได้มากกว่า 1 ล้านล้านต่อปี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ายังไม่ได้มีการสนับสนุน ธุรกิจอาหารอย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม ดังเช่น อุตสาหกรรมอื่น ดังที่เราจะเห็นว่า บริษัทอาหารไทย และ ภัตตาคารไทย เป็นอันดับต้นของโลก ล้วนแต่เป็นของต่างชาติหมด แทนที่จะเป็นของไทย หรือโดนผูกขาดโดยกลุ่มนายทุน ยากที่ผู้ประกอบการไทยทั่วไปจะสามารถต่อสู้ได้
ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนร้านอาหารกว่า 4 แสนร้านอาหารทั่วประเทศไทย มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากมูลค่าของนักท่องเที่ยวประมาณ 7 แสนล้านบาท และการบริโภคภายในประเทศประมาณ 7 แสนล้านบาท
สมาคมภัตตาคารไทย จึงเห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการท้องถิ่น และ รายย่อย ให้มีความสามารถทัดเทียมกับต่างชาติ และกลุ่มนายทุน เพื่อก้าวขึ้นสู่การแข่งขันระดับโลก โดยอาศัยการร่วมมือกันของร้านอาหารที่เป็นสมาชิกของสมาคม กว่า 30,000 ร้าน สมาคมการตลาดท่องเที่ยว ผู้ผลิตวัตถุดิบ เกษตรกร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ผ่านทางสมาพันธ์SMEs เพื่อผนึกกำลังกัน สร้างเครือข่ายทั้งประเทศ ทำงานด้วยกันทั้งห่วงโซ่อาหาร เพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย ให้พร้อมสู่ตลาดโลก
นางฐนิวรรณ กุลมงคล ยังกล่าวถึง จะมีการจัดงานNetwork is Power "Matching Day คู่หูดี มีแต่รุ่ง ครั้งที่3“ ในงานนี้รวบรวมกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร - ผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวเนื่องกับร้านอาหารเป็นสินค้าการเกษตรจากเกษตรกรตัวจริง และผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรเป็นการนำนโยบายประชารัฐมาสร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน นอกจากนี้จะมีกิจกรรมพิเศษ “Digital Matching” เฉพาะผู้ร่วมงานนี้เท่านั้น เทคโนโลยีใหม่เพียงสแกน QR code ก็สามารถสร้างเครือข่ายธุรกิจ พร้อมเจรจาได้เลยในวันงาน
นายสุภัค หมื่นนิกร ที่ปรึกษาสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารจำเป็นต้องมีความรู้ในการบริหารจัดการร้านอาหารเป็นการเฉพาะอย่างลงลึกและลึกซึ้ง เนื่องจากศาสตร์ว่าด้วยธุรกิจร้านอาหารจัดเป็นธุรกิจบริการประเภทหนึ่งที่มีอาหารเป็นสินค้า แต่ต้องเข้าใจว่าอาหารนั้นเป็นสินค้าที่มีอายุ(shelf ife)สั้น หรือแค่เพียงว่าอาหารที่บริโภคนั้นต้องร้อน แต่นำออกมาเสิร์ฟถึงมือลูกค้าแล้วไม่ร้อนตามที่ควรจะเป็นปัญหาก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่เหมือนสินค้าสำเร็จรูปหรือสินค้าอุปโภคอื่นๆที่การจัดการง่ายและสะดวกกว่า เท่านั้นยังไม่พอความคาดหวังของลูกค้าที่จะได้รับการบริการจากร้านอาหารยังมีความอ่อนไหวมากกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆอยู่มาก
ส่วนกระแสการดูแลและรักษาสุขภาพของคนในเวลานี้ที่นอกจากจะสรรหาแต่ของดีมีคุณภาพเพื่อการบริโภคแล้ว การเจ็บป่วยอันเนื่องจากความไม่สะอาดก็ตระหนักกันมากขึ้นในทุกวันนี้เช่นกัน ผู้บริโภคในวันนี้พิจารณาตั้งแต่ตัวร้าน ภาชนะใส่อาหาร ตัวพนักงานทั้งชุดที่สวมใส่และสุขอนามัย รวมถึงครัวหรือส่วนที่ปรุงอาหารว่าสะอาดเพียงใด
อาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของคนที่ไม่หยุดนิ่งเหมือนปัจจัยอื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม หรือยารักษาโรค ที่คนไม่จำเป็นต้องซื้อบ้าน,ซื้อเสื้อผ้า หรือต้องป่วยทุกวัน แต่คนกลับต้องกินทุกวัน และคนก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกและเปลี่ยนใจในการกินได้ทุกวันอีกเช่นกัน
นี่คือประเด็นที่ผู้ประกอบการร้านอาหารจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ของตัวเองเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ การเสวนา “ฝ่าวิกฤติธุรกิจอาหารด้วยยุทธศาสตร์เจ๋งๆ” โดยกูรูที่มากประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารระดับมืออาชีพถึง 4 ท่านที่จะช่วยเปิดมุมมองให้ผู้ฟังได้เกิดความคิด เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในอันที่จะนำกลับไปพิจารณาปัญหาหรือวิกฤติที่ตัวเองเผชิญอยู่เพื่อค่อยๆหาทางออกอย่างมีแนวทางที่ชัดเจน และเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น
งาน Matching ในครั้งนี้มีทั้งผู้ขายพบผู้ซื้อและผู้ซื้อพบผู้ขายได้ในเชิงลึก จากองค์กรต่างๆประมาณ 30 บูธและสินเชื่อสุดพิเศษ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากธนาคารกสิกรไทย เฉพาะงานนี้ ค่าบัตรร่วมกิจกรรมพร้อมรับประทานอาหารเต็มอิ่ม สไตล์ Cocktail เพียง 600 บาท งานนี้จะมีขึ้นในวันเสาร์ ที่ 26 มีนาคม 2559 ณ สโมสรรัฐสภา สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 089-0099461, 084-7172264 หรือ อีเมลล์ networkispower@gmail.com