happy on March 16, 2016, 05:51:57 PM
“Social Business Venture”
ธุรกิจ “ทำดี” แบบ “มีกำไร”




หลายครั้งที่ผู้ประกอบธุรกิจมีคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน...ไม่ใช่แค่สามารถสร้างผลกำไรให้อยู่รอดได้ แต่ต้องอยู่รอดอย่างมั่นคง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การแข่งขันเสรีในโลกเศรษฐกิจทุนนิยมที่ทุกคนต่างมุ่งสร้างผลกำไรให้องค์กร ผู้ชนะในเกมธุรกิจคือผู้ที่สามารถแสวงหากำไรให้ได้มากที่สุด ขยายปีกให้ธุรกิจเติบใหญ่ มั่งคั่ง ร่ำรวย มีผลประกอบการดีเลิศ ในทางกลับกัน กลับกลายเป็นส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติจนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาเป็นจำนวนมาก  สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า โมเดลธุรกิจแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำให้องค์กรเติบใหญ่มั่งคั่ง ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนได้อีกต่อไป



ศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ โรจนกิจอํานวย คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ โรจนกิจอํานวย คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า “ความยั่งยืนขององค์กรต้องสอดคล้องไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล แนวคิดการทำธุรกิจที่เรียกว่า Social Business Venture หรือธุรกิจเพื่อสังคม จึงเกิดขึ้นมาเป็นโมเดลในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสมดุลให้ธุรกิจ “ทำดีแบบมีกำไร”

หลายปีที่ผ่านมาในบ้านเราคุ้นชินกับรูปแบบกิจกรรมการดำเนินงานเพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility)...ในหลายๆ องค์กร โดยส่วนใหญ่มักมีเป้าหมายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่หน่วยงาน หรือเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกแก้ไขได้ในระยะใดระยะหนึ่ง

ในขณะที่ ธุรกิจเพื่อสังคม เริ่มต้นกันตั้งแต่รากฐาน แนวคิดและพันธกิจขององค์กร ครอบคลุมถึงการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไรให้กับองค์กร

“ทำธุรกิจต้องมีกำไร” แต่ผลกำไรไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องคลอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ บริษัท พนักงาน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อธุรกิจมีกำไร บริษัทและชุมชนจะสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยไม่หวังเงินช่วยเหลือ หรือเงินบริจาค ในขณะเดียวยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนที่เกี่ยวข้องไปในทางที่ดีขึ้นไปด้วย


ในปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่างเริ่มนำเอาแนวคิด “ธุรกิจเพื่อสังคม” เข้ามาใช้ในการทำธุรกิจ หรือเช่นเดียวกัน องค์กรระดับโลกหลายองค์กรก็ได้ใช้แนวคิดนี้ดำเนินกิจการมานาน ตัวอย่างขององค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด ได้แก่ Body Shop แบรนด์สกินแคร์ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ และไม่ทดสอบกับสัตว์ รวมถึงซื้อวัตถุดิบด้วยระบบการค้าบนพื้นฐานความยุติธรรม (Fair Trade) จากประเทศที่กำลังพัฒนา หรือ แบรนด์ไอศกรีมพรีเมียมอย่าง Ben & Jerry’s ที่เกิดจากความตั้งใจที่จะช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่กระบวนการผลิต การซื้อนมจากฟาร์มที่มีการเลี้ยงวัวในระบบเปิด และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีคุณภาพ การใช้บราวนี่จากร้านเกรย์สตันเบเกอรี่ที่เป็นร้านเบเกอรี่ที่ช่วยเหลือคนตกงาน หรือคนไร้บ้านให้มีงานทำในการทำไอศกรีมรสช็อกโกแลตฟัดจ์บราวนี่ รวมถึงการซื้อทุกวัตถุดิบที่ได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้า Fair Trade และรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้บริหารยังมีกิจกรรมคืนกำไรให้แก่ผู้บริโภคโดยจัด Free Cone Day เพื่อแจกไอศกรีมฟรีให้แก่ลูกค้าในวันครบรอบวันเปิดร้านอีกด้วย

เช่นเดียวกันกับในบ้านเราที่ธุรกิจเพื่อสังคมได้เริ่มเติบโตและได้รับการยอมรับอย่างเห็นได้ชัดล้วนเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากเจตนาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเป็นจุดเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Wheel Go Round ที่เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตบนรถเข็นให้สามารถออกจากบ้านไปใช้ชีวิตข้างนอกได้อย่างสะดวก โครงการนี้เริ่มต้นจากการสร้างเครือข่ายออนไลน์ผ่านทาง Facebook  เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร กิจกรรม แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และเผยแพร่ความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็น และพัฒนาเป็นเว็บไซต์ www.wheelgoround.in.th ที่ได้รับความร่วมมือจาก Microsoft YouthSpark รวมไปถึงการสร้างแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่อสร้างฐานข้อมูลอันเป็นประโยชน์ให้กับผู้ใช้รถเข็นให้สามารถเดินทางไปยังสถานที่ที่มีบริการสำหรับพวกเขาได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ร้านอาหาร โรงแรม และเส้นทางการเดินทางต่างๆ อีกทั้งยังให้ผู้ใช้บริการเองได้แบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่กันผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ที่ใช้รถเข็นสามารถศึกษาข้อมูลข่าวสารก่อนออกจากบ้านได้สะดวกมากขึ้น

เช่นเดียวกับ บริษัท กล่องดินสอ ผู้ผลิตอุปกรณ์การสอนสำหรับผู้พิการทางสายตา เริ่มต้นจากการผลิตชุดวาดเขียนชื่อว่า “เล่นเส้น” โดยใช้ปากกาไหมพรมและแถบหนามเตยในการสร้างเส้นนูนเพื่อให้เด็กพิการทางสายตาสามารถสัมผัสถึงรูปทรงต่างๆ ได้ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาที่จำเป็นต้องมีการวาดภาพประกอบ แนวคิดหลักของกล่องดินสอ มุ่งเน้นไปที่การสร้างการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเท่าเทียมของผู้พิการทางสายตา จึงก่อให้เกิดโครงการต่างๆ ตามมา ได้แก่ โครงการพาน้องตาบอดดูหนังที่มีการใช้ระบบ Audio Description, โครงการวิ่งด้วยกัน ส่งเสริมเรื่องสุขภาพของคนตาบอดโดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมทำกิจกรรมนี้ด้วย และการสร้างระบบ Eco System เพื่อเอื้อต่อการออกกำลังกายของคนตาบอดในอนาคต
   
ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์กับคำถามที่ว่า เราสามารถดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนอย่างแท้จริงได้อย่างไร สามารถสร้างสมดุลให้กับธุรกิจโดยสามารถทำกำไร ไปพร้อมๆ กับสร้างผลกระทบเชิงบวกเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดนี้ยังสามารถต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เสมอ จะเห็นได้จากการที่ University of California at Berkeley สหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่มการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม (Global Social Venture Competitation-GSVC) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 นับว่าเป็นการจัดการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมเก่าแก่ที่สุดของโลก และโครงการนี้ได้สร้างธุรกิจเพื่อสังคมแล้วมากกว่า 70 โครงการ ในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี พลังงานทดแทน ฯลฯ


เป็นที่น่าสนใจว่าในปีนี้โครงการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมกำลังจะจัดการประกวดรอบชิงแชมป์โลก หรือ Global Social Venture Competition 2016 -The Final Global Round เพื่อเฟ้นหาแผนธุรกิจเพื่อสังคมที่ดีที่สุดในโลก ระหว่างวันที่ 1-2 เมษายน 2559 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ และที่น่าสนใจไปกว่านั้น การแข่งขันในครั้งจะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ บ้านเรา โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ  Thammasart Business School คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นการประกวดรอบชิงแชมป์โลกครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมการแข่งขัน สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.gsvc.org