เรื่องราวของครอบครัว
ตอนที่เราพบโปในภาคแรก เขาเป็นคนนอกที่ดูเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง เขารักอาปิงผู้เป็นพ่อ แต่ไม่ได้มีความฝันอยากทำกิจการขายติ่มซำเหมือนพ่อ โปใฝ่ฝันถึงความยิ่งใหญ่ในวิชากังฟู แต่ดูเหมือนเขายังขาดอีกหลายอย่างในการเป็นจอมยุทธกังฟู รวมถึงสภาพร่างกายและรูปร่างที่เหมาะสม
ความรู้สึกของการเป็นคนนอกเป็นสิ่งที่ผู้ชมทุกเพศทุกวัยในทุกๆ ที่เข้าใจได้ทันที ค็อบบ์กล่าวว่า "ทุกๆ วันคนเรามักรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกและไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพราะต่างก็คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่ว่าจะอายุมากแค่ไหนหรือประสบความสำเร็จมากเพียงใด ทุกคนก็เคยมีประสบการณ์อย่างนี้กันทั้งนั้น"
แต่ในไม่ช้าโปก็เรียนรู้ว่าเขามีสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเป็นกังฟูแพนด้าตัวแรกของโลก นั่นคือหัวใจที่ยิ่งใหญ่กว่าท้องพลังเทอร์โบของเขา และเขาก็เชี่ยวชาญในศิลปะการต่อสู้มากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวขนาดใหญ่ แน่นอนว่ามีอาปิง พ่อผู้ทุ่มเท แล้วโปก็ได้อยู่ภายใต้การดูแลของอาจารย์ชิฟูและเป็นสมาชิกในครอบครัวจอมยุทธทั้งห้า และใน KUNG FU PANDA 3 โปก็ได้พบพ่อทางสายเลือด หลี่ รวมถึงชุมชนแพนด้าซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในบรรดาเพื่อนพ้องที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ครอบครัวในรูปแบบต่างๆ กันช่วยให้โปเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจ และชี้ให้เห็นถึงคุณค่าอันไม่มีที่สิ้นสุดของการเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ไม่ว่าครอบครัวนั้นจะดู "หลุดกรอบ" เพียงใดก็ตาม "ผู้ชมเปิดรับความเป็นจริงที่ว่าเราอาจนิยามครอบครัวได้แตกต่างกันมากมาย แต่ครอบครัวก็ช่วยมอบความเข้มแข็งให้เราได้จริงๆ" ค็อบบ์กล่าว
ลูซี ลิว เสริมว่า "ชุมชนสามารถเป็นครอบครัวให้คุณได้ ไม่ใช่แค่ว่าคุณเกี่ยวข้องกับใครทางกรรมพันธุ์"
เช่นเดียวกับที่ครอบครัวรับบทบาทสำคัญในการเดินทางของโป ครอบครัวก็ใช้อธิบายถึงความสัมพันธ์ของทีมงานเบื้องหลังได้เช่นกัน KUNG FU PANDA สร้างขึ้นโดยครอบครัวคนทำหนัง ซึ่งหลายคนทำงานด้วยกันมาตั้งแต่เริ่มต้นไตรภาคเมื่อสิบสองปีก่อน ความรักที่ทีมงานมีต่อหนังกำลังภายในสะท้อนอยู่ในความรักที่โปมีต่อกังฟู ทำให้ทีมงานได้บูชาครูพร้อมกับสร้างหนังแนวนี้มาขึ้นมาใหม่ด้วยอารมณ์ขันและความน่าประทับใจ
ยูห์ เนลสัน กล่าวว่าเธอโตมากับหนังกังฟูและเปรียบเทียบการสร้างหนัง KUNG FU PANDA 3 กับ "การกลับไปเยี่ยมครอบครัว เพราะเราทำงานด้วยกันมานานและฟูมฟักตัวละครเหล่านี้มาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน เรารักตัวละครเหล่านี้มาก และปฏิบัติต่อตัวละครเหล่านี้ด้วยความเคารพ รวมทั้งใส่ความสนุกสนานลงไปด้วย"
ก่อนมารับหน้าที่เป็นผู้กำกับในหนังภาคสอง ยูห์ เนลสันเป็นผู้ควบคุมฉากแอ็คชันและผู้กำกับฉากความฝันใน KUNG FU PANDA "ถ้าจะมีใครรู้จักโลกใบนี้และตัวละครเหล่านี้เป็นอย่างดี ก็ต้องเป็นเจนนี่ล่ะค่ะ" ค็อบบ์กล่าว
คาร์โลนีเองก็อยู่กับทีมนี้มาตั้งแต่ภาคแรก จึงเอื้อให้เกิดการทำงานสร้างสรรค์และการสื่อสารแลกเปลี่ยนกับยูห์ เนลสันอย่างเข้าขากัน เจ เค ซิมมอนส์เปรียบเทียบการจับคู่ระหว่างยูห์ เนลสันกับคาร์โลนีว่าเหมือนการทำงานของสองคู่หูอย่างพี่น้องโคเอน "เช่นเดียวกับโจเอลและอีธาน เจนกับอเลสซานโดรเข้าใจกันและกันดี แต่ขณะเดียวกันก็นำเสนอแนวคิดที่แตกต่างกันด้วย ช่วยให้นักแสดงมีอิสระที่จะเล่นกับตัวละครได้เต็มที่เพราะคุณมั่นใจว่าทั้งสองจะตัดสินใจเลือกได้อย่างถูกต้อง"
มือเขียนบทโจนาธาน เอเบลและเกลนน์ เบอร์เกอร์ ซึ่งเขียนบทหนังทั้งสามภาค ชี้ให้เห็นว่าการที่ทีมงานสื่อถึงกันได้ในเชิงสร้างสรรค์ช่วยให้สามารถ "มุ่งตรงไปยังแนวคิดที่ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นของคุณหรือไม่ สิ่งนี้เองที่จะช่วยให้เราได้หนังที่ดีที่สุด" เบอร์เกอร์กล่าว
เอเบลเสริมว่า "เรารู้จุดแข็งของกันและกันและไว้เนื้อเชื่อใจกันเต็มที่ การแลกเปลี่ยนสื่อสารแนวคิดต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น"
เรย์มอนด์ ซิบาค นักออกแบบงานสร้างเห็นพ้องด้วย "ไม่มี 'กำแพง' ด้านการสื่อสารให้เราต้องทลาย ดังนั้นเราจึงสามารถลงมือทำตามแนวคิดต่างๆ ได้ทันที"
"เราสื่อสารกันได้ในความเงียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจน ผมรู้ว่าเธอชอบสิ่งนี้หรือไม่โดยไม่ต้องพูดกันเลยซักคำเดียว นับเป็นการเดินทางที่พิเศษจริงๆ ค่ะ" มือตัดต่อ แคลร์ ไนท์กล่าว
การเดินทางของไนท์ในหนังทั้งสามเรื่องไม่เพียงพิเศษสุดแต่ยัง "ครอบคลุมหลายประเด็นในแง่ชีวิตและการทำงาน รวมถึงสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานด้วย" ซึ่งก็มีเหตุผลอยู่เพราะระหว่างทำหนัง KUNG FU PANDA เธอได้พบ หมั้น และแต่งงานกับสามีนักแสดง เวย์น ไนท์ ซึ่งมาพากย์เสียงให้ตัวละครตัวหนึ่งในหนังภาคนั้น ใน KUNG FU PANDA 2 เธอได้ลูกชาย (ซึ่งให้เสียงเป็นโปในวัยทารก) และตอนนี้ทั้งสามีและลูกชายของเธอก็มาพากย์เสียงใน KUNG FU PANDA 3
สมาชิก "ครอบครัว" อีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่กันมานานก็คือหัวหน้าฝ่ายแอนิเมชันตัวละคร แดน แวกเนอร์ ซึ่งเป็นผู้กำหนดสไตล์แอนิเมชันให้ตัวละครแต่ละตัว หัวหน้าฝ่ายเนื้อเรื่อง ฟิล คราเวน ซึ่งทำงานร่วมกับมือเขียนบทและผู้กำกับอย่างใกล้ชิดเพื่อระดมแนวคิดในการแต่งเรื่องนี้ ผู้ควบคุมแอนิเมชัน รูดอล์ฟ กิวโนเดน ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการต่อสู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านกังฟูให้หนังเรื่องนี้ และนักแต่งเพลงผู้ชนะรางวัลออสการ์ ฮานส์ ซิมเมอร์ ซึ่งนอกเหนือจากไตรภาค KUNG FU PANDA แล้ว ยังมีผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ได้แก่ "The Lion King", ไตรภาค "The Dark Knight", "Gladiator" และหนังในตระกูล "Pirates of the Caribbean"
ซิมเมอร์สรุปสิ่งที่ทำให้เขาสนใจแฟรนไชส์นี้ว่ามาจากความขัดแย้งกันของคำสองคำในชื่อเรื่อง "กังฟูกับแพนด้า! ผมเคยดูหนังกังฟูมาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นหนังพวกนี้ตรงใจผมอยู่แล้ว"
ขณะที่ศิลปะการต่อสู้และความตลกของหนังเป็นสิ่งดึงดูดนักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียงรายนี้ เขายังได้ระบุด้วยว่า พื้นฐานในวัฒนธรรมจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องดนตรี ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ที่จริงแล้วใน KUNG FU PANDA 3 ซิมเมอร์ได้ร่วมงานกับนักดนตรีชาวจีนผู้มีชื่อเสียงระดับโลกไม่น้อยกว่าสี่คน คือ นักเปียโน หลาง หลาง, นักเชลโล เจียน หวาง, นักเล่นผีผา (pipa) หวู่ มั่น และนักเล่นเอ้อหู กัว กาน
ซิมเมอร์กล่าวว่าการทำงานกับศิลปินผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้สอดคล้องกับความสนุกสนานภายในหนัง "เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทดลอง เราทำให้สายชื้นและทารุณกรรมเปียโน Steinway ที่น่าสงสาร เหมือนได้ออกผจญภัยครั้งใหญ่กับนักดนตรีที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ครับ"
ความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับซิมเมอร์ เช่นเดียวกับนักทำหนังอีกหลายรายคือการก้าวไปให้ไกลกว่าและเหนือกว่าสิ่งที่เคยทำมาในสองภาคแรก "เราต้องการให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์"เขาอธิบาย พร้อมกับยกฉากหมู่บ้านแพนด้ามากล่าวถึงเป็นพิเศษ "หมู่บ้านแพนด้าต้องให้ความรู้สึกเหมือนสถานที่ที่คุณอยากอยู่ตลอดเวลา ฉากเปิดตัวหมู่บ้านขณะที่โป หลี่ และปิงมาถึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ มันเป็นที่หลบภัยอันสงบสุขในดินแดนห่างไกล ทั้งงดงามและมีเสน่ห์น่าค้นหา"
ซิมเมอร์พบความท้าทายในเชิงสร้างสรรค์ในบางโอกาสที่ไม่บ่อยนัก "ผมก็แค่เตือนตัวเองว่า 'นี่คือแจ็ค แบล็ค'" เขากล่าว "เสน่ห์ของหนังไตรภาคนี้มาจากการพูดและจังหวะในการเล่นตลกที่มีความพิเศษตามแบบฉบับของเขา ดังนั้นสำหรับผมแล้วกุญแจสำคัญในการแต่งเพลงคือดูการแสดงของแจ็คว่าเขาจะทำอะไรต่อไป"
ส่วนที่เข้ามาเสริมเพลงประกอบของซิมเมอร์คือการออกแบบเสียงโดยหัวหน้าผู้ตัดต่อเสียงที่ชนะรางวัลออสการ์ อีริค อาดาห์ลและอีธาน แวน เดอร์ ริน ("Argo") หลังจากทั้งคู่เคยทำงานในหนังสองภาคแรก สำหรับฉากศิลปะการต่อสู้นั้น "ความท้าทายของเราคือการสร้างสมดุลระหว่างความมันของฉากต่อสู้กับความสนุกสนานขี้เล่น" แวน เดอร์ รินกล่าว ส่วนอาดาห์ลเสริมว่า "เราต้องการให้ซาวด์มีทั้งความสนุกและความไพเราะเพื่อที่ว่าผู้ชมจะได้รับประสบการณ์ทางโสตประสาทอย่างเต็มอิ่ม"
ฉากการต่อสู้อันน่าตื่นเต้นของหนังเรื่องนี้เป็นโอกาสอันดีสำหรับทีมงานทั้งสอง "สิ่งที่ประทับใจผมในหนังภาคแรกคือการต่อสู้มีจังหวะจะโคนคล้ายดนตรีมาก" อาดาห์ลกล่าว "จากจุดนั้นเราจึงต้องการสร้างเสียงดนตรีที่ร่าเริงเพื่อช่วยเพิ่มความสนุกให้ตัวหนัง เรานำเสียงที่เป็นสัญลักษณ์ของหนังกังฟูมาขยาย พวกเสียงเตะต่อยอะไรแบบนั้น และใน KUNG FU PANDA 3 เราได้สร้างเสียงพวกนี้ขึ้นมากว่าพันแบบเพื่อใช้ในฉากต่อสู้"
อาดาห์ลและแวน เดอร์ ริน ใช้วิธีการที่ไม่ธรรมดาในการสร้างเสียงของการกระโดดและการเหินอันเป็นเอกลักษณ์ของโป "ที่โรงถ่ายของ 20th Century Fox เราตั้งไมโครโฟนหลายๆ ตัวไว้ตามความยาวของโรงถ่าย จากนั้นก็ปล่อยเชือกบันจี้ที่ขึงตึงลงมา" อาดาห์ลอธิบาย "คุณจะได้เสียงที่น่าทึ่งนานห้าวินาทีซึ่งมีคุณสมบัติการยืดหยุ่นและดูดซับ สำหรับผม เสียงนั้นเชื่อมโยงกับความเป็นโป"
สำหรับฉากในโลกแห่งวิญญาณ อาดาห์ลและแวน เดอร์ ริน ได้สร้างเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ให้พลังชี่ด้านลบของไคและพลังชี่ด้านบวกของโป สำหรับพลังชี่ด้านลบ "เราต้องการเสียงที่น่ารำคาญจนแทบจะแสบแก้วหู" อาดาห์ลระบุ "และเราต้องการให้พลังชี่ของโปฟังดูไพเราะงดงาม เราต้องการให้มันทรงพลังแล้วก็เป็นประกายสว่างไสวด้วย ดังนั้นเราจึงใช้เครื่องดนตรีจีนหลายชนิดเพื่อสร้างโทนเสียงเหล่านี้ขึ้นมา"
บางครั้งสิ่งสำคัญในฉากเหล่านั้นขึ้นอยู่กับเสียงที่คุณไม่ได้ยิน "เราตัดเสียงออกหลายส่วนในฉากโลกแห่งวิญญาณ" แวน เดอร์ รินกล่าว "ฉากเหล่านั้นมักเกี่ยวข้องกับความสงบภายใน ซึ่งหมายถึงการเน้นเสียงไม่กี่เสียงที่ถ่ายทอดภาวะทางอารมณ์ของตัวละครอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการใช้ที่ว่างเชิงลบมากกว่า"
อาดาห์ลกล่าวว่าโทนเสียงสำหรับหมู่บ้านแพนด้านั้นก็ฟังดูเป็น...แพนด้า "เสียงโปรดเสียงหนึ่งของผมคือเสียงแพนด้ากลิ้งตัวและกระแทกกัน นั่นเป็นสิ่งที่เรานำมาเล่นตั้งแต่ในหนังภาคแรก" เขาอธิบาย "เราทดลองหลายครั้งเพื่อให้ได้เสียงกระทบเด้งดึ๋งแบบนั้น และสร้างสิ่งที่เราเรียกว่าเครื่องดนตรี 'gut-bucket' ซึ่งหลักๆ แล้วก็คือถังดีบุกใบใหญ่เอามาคว่ำและเจาะรูด้านบน โดยมีก้านไม้ติดอยู่และมีสายให้เราดีดได้
"ตอนโปรดของผมในหนังเรื่องนี้ก็คือตอนที่แพนด้าทุกตัวกำลังกินและกลิ้งตัวลงมาตามภูเขาเหมือนดินถล่ม พร้อมกับมีเสียงกลิ้งประสานรวมกันเหมือนเป็นซิมโฟนี"
ในบรรดาผู้มาใหม่ของครอบครัว KUNG FU PANDA คือศิลปิน ช่างเทคนิค และที่ปรึกษาของ Oriental DreamWorks ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งทำงานร่วมกับทีมงานในเกลนเดล แคลิฟอร์เนียอย่างใกล้ชิด ทีมงานเหล่านี้ได้สร้างก้าวใหม่ด้วยการทำ KUNG FU PANDA 3 ออกมาเป็นสองเวอร์ชั่น โดยตัวละครจะเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับการพูดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนกลาง โดยหลักๆ แล้วทีมงานได้สร้างหนังสองเรื่องโดยมีเนื้อเรื่องและตัวละครเดียวกัน เวอร์ชั่นภาษาจีนกลาง ซึ่ง Teng Huatao เป็นผู้กำกับที่ปรึกษาชาวจีน เพิ่มรายละเอียดความแตกต่างในการเล่นมุข รวมถึงมีการด้นสดโดยนักพากย์ชาวเอเซีย แบบที่ไม่สามารถทำได้จากการทำซับไทเทิลหรือการพากย์ทั่วไป
การสร้างเวอร์ชั่นภาษาจีนกลางต้องอาศัยทรัพยากรและเวลาเพิ่ม แต่ก็นับว่าคุ้มค่า ยิ่งกว่านั้นพนักงานของ Oriental DreamWorks รวม 200 คนก็ได้ช่วยให้ผลงานมีความสมจริงเพิ่มขึ้นอีก "ก่อนหน้านี้เราต้องทำสิ่งต่างๆ ผ่านการค้นคว้าและอ้างอิง" ยูห์ เนลสันกล่าว "มาตอนนี้เรามีทีมงานชาวจีนที่เป็นผู้สร้างจริงๆ แล้ว"
โดยสรุปแล้ว KUNG FU PANDA 3 นับเป็นผลงานของทีมงานจากสองทวีป ซึ่งรวมถึงกองทัพนักแสดง คนทำหนัง ศิลปิน และช่างเทคนิคผู้มีความสามารถ แต่ยังคงมุ่งเน้นไปที่ตัวกังฟูแพนด้าหรือโปเช่นที่เคยเป็นมาตั้งแต่เริ่มต้นแฟรนไชส์ ซึ่งก็ตรงกับความรู้สึกของนักแสดงที่ช่วยให้โปได้มีชีวิตขึ้นมา
"โปอยู่ในใจผมเสมอครับ" แจ็ค แบล็คกล่าว "เขาคือตัวผมเลยล่ะ เวลาคนขอให้ผมทำ 'เสียงแบบโป' ผมมักจะถามว่า 'คุณหมายความว่าไง ก็โปคือตัวผมนั่นล่ะ'
"ผมไม่ได้ซ่อนอยู่หลังม่าน" เขาเสริม "แต่ผมได้แสดงส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณผมออกมา"
https://www.facebook.com/KungFuPandaTH