ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559
ปัญหาภัยแล้งปี พ.ศ. 2559 มีผลกระทบโดยตรงกับภาคการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบต้นทางของภาคอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม จึงได้จัดหาแหล่งน้ำทดแทน นอกเหนือจากเกษตรกรจะพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงเห็นควรสนับสนุนให้มีการนำน้ำทิ้งของโรงงานที่ผ่านการบำบัดได้ตามมาตรฐานน้ำทิ้งของพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559 ดังนี้
1. โรงงานที่จะนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมต้องเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไม่มีสารโลหะหนักหรือสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ประกอบกิจการอาหารจาก พืช ผัก ผลไม้ เมล็ดพืช หรือหัวพืช นม สัตว์ สัตว์น้ำ น้ำมันพืชหรือสัตว์ อาหารจากแป้ง น้ำตาล ชา กาแฟ โกโก้ ขนมหวาน เครื่องปรุง อาหารสัตว์ เป็นต้น
2. ประเภทโรงงานข้างต้นต้องมีการบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีเงื่อนไข 2 ข้อ ดังนี้
2.1 “ต้องมีการบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 2 (พ.ศ.2539) ต้องมีคุณลักษณะน้ำทิ้งเป็นไป ตามมาตรฐานน้ำทิ้งที่ต้องมีการบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไป ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2539) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน หรือประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้งที่ระบายออกนอก โรงงานให้มีค่าแตกต่างจากที่กำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 2 (พ.ศ.2539) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน”
2.2 “ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน” ทั้งนี้ผู้ประกอบกิจการที่ประสงค์จะนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ให้ดำเนินการ ยื่นขอยกเลิกเงื่อนไข “ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน” เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่ต้องการ แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559
3. มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้พิจารณาและเห็นชอบ
3.1 การพิจารณาเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 5 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับเอกสารประกอบคำขอครบถ้วน และให้อุตสาหกรรมจังหวัดมีหนังสือแจ้งเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ตามแบบ น.2 (หนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขอนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ.2559)
3.2 กำหนดให้อัตราการนำน้ำทิ้งโรงงานออกไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม ไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อวัน
4. เอกสารประกอบการยื่นขอ ได้แก่
4.1สัญญาหรือหนังสือยินยอมระหว่างผู้ประกอบกิจการกับเกษตรกร ผู้ต้องการรับน้ำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม
4.2 หนังสือแสดงสิทธิการใช้ที่ดินของเกษตรกรผู้ต้องการรับน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม
4.3 เอกสารที่แสดงว่าพื้นที่เกษตรกรรมที่จะนำน้ำทิ้งไปใช้มีคันดินหรือการป้องกันโดยรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วไหลออกนอกพื้นที่
4.4 หนังสือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะนำน้ำทิ้งโรงงานไปใช้ประโยชน์ที่ได้เห็นชอบให้เกษตรกรผู้รับน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม
4.5 แบบ น.1 (คำขอยกเลิกเงื่อนไข “ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน” และขอ อนุญาตนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้งปี พ.ศ. 2559)
5.การรายงานผลการนำน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม
5.1 ผู้ได้รับอนุญาต ต้องรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้งที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมให้อุตสาหกรรมจังหวัดผู้เห็นชอบ ทราบทุกเดือน
5.2 อุตสาหกรรมจังหวัดผู้เห็นชอบ ให้รายงานผลการนำน้ำทิ้งโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม แจ้งผลแก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทราบ เมื่อสิ้นสุดการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ (ประกาศใช้บังคับจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559)