MSN on February 29, 2016, 02:30:11 PM
PwC ชี้ FinTech จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมทางการเงินไทย แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว


Vilaiporn Taweelappontong_PwC Thailand


กรุงเทพฯ, 29 กุมภาพันธ์ 2559 – PwC ชี้กระแสเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech) มาแรงทั่วโลก หลังอินเทอร์เน็ต-มือถือได้รับความนิยม ดันนอนแบงก์ และ Start-up เกิดใหม่เพียบ ห่วงแย่งส่วนแบ่งการตลาดแบงก์ หากไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินล้ำสมัยมาตอบโจทย์ลูกค้ายุคดิจิทัลได้ ชี้อนาคตเห็นการควบรวม-พันธมิตรทางธุรกิจเพิ่ม ประโยชน์ทั้งหมดตกแก่ผู้บริโภค

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระแสการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการในธุรกิจการเงิน การธนาคาร และการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงิน การออม การจ่ายเงิน การโอน การแลกเปลี่ยนเงินตรา การระดมทุน การซื้อขายหุ้นหรือประกันชีวิต ที่เรียกกันว่า FinTech กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก หลังจากเทคโนโลยีนี้ถูกประยุกต์มาจากพัฒนาการของ SMAC (กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ 4 ประเภท ประกอบด้วย Social media, Mobile, Analytics และ Cloud) และการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

“กระแส FinTech ได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ในหลายๆประเทศ รวมทั้งไทย และไม่เพียงแต่ผู้เล่นที่เป็นสถาบันการเงินเท่านั้น แต่บริษัทเกิดใหม่ หรือ Start-up หรือแม้กระทั่งบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีก็สามารถเข้าสู่ FinTech ได้เช่นกัน”

 ในช่วงที่ผ่านมา กระแส FinTech ถูกนำมาใช้พัฒนาบริการทางการเงินให้ทันสมัย และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น การชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล (e-Payment) ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของ FinTech ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของกระแสแนวความคิดด้านนี้ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงการบริการได้อย่างรวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมอย่างมาก นอกจากนี้ FinTech ยังครอบคลุมไปถึงการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบอื่น เช่น การกู้ยืมเงินระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้โดยตรง ผ่านการทำข้อตกลงร่วมกันในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาการใช้หนี้ได้ตามความต้องการ (Peer-to-Peer Lending) และการระดมทุนสาธารณะ (Crowd Funding) เป็นต้น

FinTech กระตุ้นแบงก์สร้างพันธมิตร-ควบรวม

ผลสำรวจที่ผ่านมาของ PwC ที่ทำการสำรวจบริษัทในอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคาร ระบุว่า 29% ของผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามมองว่า การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ถือเป็นภารกิจอันดับต้นๆ ที่ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่ง ได้ริเริ่มโครงการทดลอง หรือลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อพัฒนานวัตกรรม หรือคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ

นางสาว วิไลพรกล่าวว่า วันนี้บริษัท FinTech หน้าใหม่เกิดขึ้นมาเยอะ แม้ธนาคารพาณิชย์จะเป็นแหล่งเงินทุนหลัก แต่หากไม่เร่งปรับตัว อาจเสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่ Start-up ที่มีความชำนาญในด้านเทคโนโลยีพวกนี้ได้ ดังนั้น แบงก์จะต้องเตรียมความพร้อมด้านระบบโครงสร้างไอที อีกทั้งต้องสร้างความพร้อมด้านบุคลากร

“ในระยะข้างหน้า เรายังเห็นแนวโน้มการควบรวมกิจการระหว่างแบงก์กับ Start-up มากขึ้น หรืออาจเป็นในรูปแบบพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ หรือ การให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้แบงก์สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว และช่วยย่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งหมด ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทางการเงินทั้งสิ้น” 

Blockchain นวัตกรรมใหม่ของสถาบันการเงิน

นางสาว วิไลพร กล่าวว่า Blockchain  จะเข้ามาเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เพราะนอกจาก Blockchain จะให้กำเนิดสกุลเงินดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) แล้ว หลายฝ่ายยังเชื่อ Blockchain ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ Blockchain คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของบิทคอยน์ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถใช้ซื้อสินค้า หรือบริการออนไลน์ได้โดยตรง สะดวก รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการทำธุรกรรมผ่านทางธนาคาร โดยศักยภาพของ Blockchain ยังสามารถถูกพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing and settlement) และการชำระเงินข้ามแดน (Cross-border payments) ให้มีความรวดเร็ว โปร่งใสได้อีกด้วย

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าเทคโนโลยี Blockchain จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เริ่มเห็นสัญญาณการตื่นตัวจากหลายๆ บริษัททั้งที่อยู่และไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมทางเงิน ต่างให้ความสำคัญและเข้าไปสนับสนุนทางการเงิน หรือพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ร่วมกับบริษัท Start-up มากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมทางการเงิน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็เริ่มตื่นตัว ในการออกกฎระเบียบ หรือเกณฑ์การควบคุม คุ้มครองผู้บริโภคและผู้ลงทุนเช่นกัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดระบุว่า ธปท.ได้ขานรับและเล็งเห็นถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกระแส  FinTech ด้วยการริเริ่มการวางมาตรการป้องกันความเสี่ยงและระบุไว้ในแผนการดำเนินนโยบาย ธปท. ปี 2559

นางสาว วิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ FinTech เป็น Game Changer ของอุตสาหกรรมทางการเงิน โดยเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบสถาบันการเงินไทยและธนาคารพาณิชย์ไทย และเชื่อว่าภายในอีก 1-2 ปีนี้ FinTech จะขยายไปในธุรกิจหลักทรัพย์ กองทุน ประกันชีวิต อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลดีต่อผู้บริโภคในที่สุด เพราะได้รับบริการที่รวดเร็ว สะดวกสบาย และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่ถูกลง

เกี่ยวกับ PwC

PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 208,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 57 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,600 คนในประเทศไทย

© 2016 PricewaterhouseCoopers. All rights reserved.
« Last Edit: February 29, 2016, 03:10:32 PM by MSN »

ps2 on March 01, 2016, 12:43:38 AM
 :) :) :) :)