กลุ่มซีไอเอ็มบีประกาศกำไรก่อนภาษีประจำปี 2558 จำนวน 3,914 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือราว 39,140 ล้านบาท สะท้อนผลสำเร็จหลังการปรับโครงสร้างต้นทุน
ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด ประกาศกำไรก่อนภาษีประจำปี 2558 จำนวน 3,914 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือประมาณ 39,140 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.0 (นับรวมสำรองที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน) โดยมีผลตอบแทนผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยสุทธิที่ร้อยละ 8.6 และในปี 2558 กลุ่มฯจ่ายเงินปันผลรวม 14.00 เซ็น คิดเป็นเงิน 1,193 ล้านริงกิตมาเลเซีย ส่งผลให้อัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ร้อยละ 41.9 ของกำไรประจำปี 2558
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานหลักๆโดยสรุปในปีที่ผ่านมา ได้แก่ รายได้จากการดำเนินงานในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.8 ประกอบกับความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่าย ส่งผลให้กลุ่มฯมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 19.3 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมในปี 2558 ลดลงร้อยละ 3.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.6 ภายหลังมีการดำเนินการตามแผนบริหารค่าใช้จ่ายเชิงโครงสร้าง ประกอบกับการใช้จ่ายอย่างมีวินัย กำไรสุทธิของไตรมาส 4 ปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 237 เนื่องจากกลุ่มฯมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และสำรองหนี้สูญลดลง
ขณะเดียวกันในปี 2558 กลุ่มฯมีผลตอบแทนผู้ถือหุ้นคำนวณเป็นอัตราส่วนเต็มปีที่ร้อยละ 8.6 (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้าง) หากไม่คำนึงถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สินเชื่อของกลุ่มฯเติบโตจากปีก่อนร้อยละ 6.6 และเงินฝากเติบโตร้อยละ 6.9
เต็งกู ดาโต๊ะ ศรี ซาฟรูล์ อาซิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่า แม้กลุ่มซีไอเอ็มบีจะดำเนินงานท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่ยากลำบากในปี 2558 แต่ผลลัพธ์เชิงบวกหลายประการก็เป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการดำเนินงานสูงสุดเทียบกับที่ผ่านมา การเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องของทุกภาคส่วนธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าพาณิชย์ธนกิจระดับภูมิภาค และสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดในด้านธุรกิจวาณิชธนกิจได้อย่างต่อเนื่อง
"กลุ่มซีไอเอ็มบีก้าวผ่านความท้าทายในปี 2558 อย่างไม่ประมาท โดยได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ 'T18 Recalibration' คือ มุ่งเน้นการบริหารค่าใช้จ่ายและเงินกองทุน ซึ่งสะท้อนผลลัพธ์ให้เห็นผ่านโครงสร้างค่าใช้จ่ายที่ลดลง สำหรับแนวโน้มของธุรกิจในประเทศต่างๆ นั้น กลุ่มฯคาดว่าซีไอเอ็มบี มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะยังคงสานต่อผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ในขณะที่อินโดนีเซียจะมีผลประกอบการดีขึ้น แม้จะยังมีประเด็นด้านสำรองหนี้สูญอยู่ นอกจากนี้ จะดูแลคุณภาพสินทรัพย์ในไทยเนื่องด้วยสภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสานต่อการดำเนินการตามโครงการตามแผน T18 ที่สำคัญในปีนี้ ในด้านธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจบริหารธุรกรรมการเงิน ธุรกิจลูกค้าพาณิชย์ธนกิจ และธนาคารดิจิตอล พร้อมกับติดตามดูแลด้านคุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงการบริหารค่าใช้จ่ายและเงินกองทุนอย่างต่อเนื่อง" เต็งกู ซาฟรูล์ กล่าว