MSN on February 24, 2016, 02:30:48 PM
กลุ่มบริษัทร่วมค้าเจวีซีซียื่นฟ้องขสมก.ต่อศาลปกครอง กรณียกเลิกสัญญา การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ก่อให้เกิดความเสียหาย 1,500 ล้านบาท

นายวศิน เลิศวไลพงศ์ ทนายความของกิจการร่วมค้า เจวีซีซี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ได้ยื่นฟ้องขสมก.ต่อศาลปกครอง ประเด็นการยกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์NGV 489คัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.ประเด็นในการฟ้องร้อง
ตามที่กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ได้เข้าร่วมการประกวดราคาในโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คันตามประกาศองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เลขที่ 11/2558 เรื่องการซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติวงเล็บ (NGV) จำนวน 489 คัน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (ครั้งที่ 3) ลงวันที่ 23 มีนาคม 2558 ซึ่งในการประกวดราคาดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเป็นผู้เสนอราคาตาม และได้ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนที่ประกาศดังกล่าวกำหนด จนผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และได้มีการต่อรองราคา และเจรจาสัญญาตรวจร่างสัญญาและเตรียมที่จะลงนามในสัญญากับ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ตลอดจนได้มีการวางแผนการดำเนินการต่างๆเกี่ยวกับการส่งมอบรถโดยสารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าภายหลังจากที่มีผู้เข้าร่วมประกวดราคารายหนึ่งได้ยื่นคัดค้านการประกวดราคาและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ กวพอ. ( ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) แล้ว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กลับมีหนังสือถึงกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ขอยกเลิกการประกวดราคา และการลงนามในสัญญาซื้อขายรถโดยสาร โดยมีการกล่าวอ้างข้อสังเกตของ กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ที่มีต่อเอกสารการประกวดราคา (TOR) ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกโดย ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) เองทั้งๆ ที่กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ได้มีคำวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้เข้าร่วมประกวดราคารายที่ได้ยื่นคัดค้านว่า การประกวดราคานั้น ชอบด้วยกฎหมายเพราะอุทธรณ์ของผู้เข้าร่วมการประกวดราคาดังกล่าวนั้น ฟังไม่ขึ้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งให้ยกเลิกการทำสัญญาของขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) แต่ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1)  ยังคงยืนยันที่จะยกเลิกการทำสัญญากับกิจการร่วมค้าเจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ซึ่งกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) เห็นว่าการยกเลิกการลงนามในสัญญาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฏหมาย เนื่องจากกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) เป็นผู้ที่ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนของการประกวดอย่างถูกต้องทุกประการ อีกทั้งหากพิจารณาเหตุผลในการยกเลิกการประกวดราคาที่ขสมก.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) อ้างตาม ข้อสังเกตของ กวพอ.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) กล่าวอ้างว่าก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนและทำให้การเสนอราคาของผู้เสนอราคาไม่อยู่บนมาตรฐานเดียวกันนั้น กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) เห็นว่าเป็น ข้อกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะข้อกำหนดดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการจัดหารถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ NGV จำนวน 489 คันเป็นการเร่งด่วนจึงเปิดโอกาสให้มีการจัดหารถ

โดยสารได้จากทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ได้กระทบกระเทือนถึงมาตรฐานของรถโดยสาร ทั้งนี้ดังจะได้เห็นจากเอกสารประกวดราคาข้อ 3.2 (7)  ที่ได้กำหนดว่าหากนำเข้ารถโดยสารจากต่างประเทศต้องได้รับมาตรฐาน ISO แต่หากเป็นโรงงานในประเทศต้องได้รับใบรับรองมาตรฐาน ISO และได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้นไม่ว่าการประกอบรถโดยสารจะเกิดขึ้นในประเทศหรือต่างประเทศ เอกสารประกวดราคาก็ได้กำหนดมาตรฐานในการตรวจสอบรองรับไว้แล้วยิ่งไปกว่านั้น การพิจารณาข้อเสนอเรื่องราคาดังกล่าว เป็นคนละส่วนกับการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคซึ่งปรากฎอยู่ในเอกสารประกวดราคา ข้อ 6.3 ดังนั้นเมื่อขั้นตอนการเสนอราคาและขั้นตอนการเสนอข้อเสนอทางเทคนิคอยู่คนละส่วนกัน การนำข้อพิจารณาเรื่อง แหล่งการจัดหารถโดยสารว่าประกอบจากโรงงานต่างประเทศหรือในประเทศ  ซึ่งเป็นข้อเสนอทางเทคนิค มาพิจารณาปะปนกับขั้นตอนการเสนอราคาที่มีหลักพิจารณาเพียงแค่เป็นการเสนอราคาที่ต่ำที่สุดและตั้งข้อสังเกตว่า กรณีดังกล่าวทำให้การเสนอราคาของผู้เสนอราคาไม่อยู่บนมาตรฐานเดียวกันนั้น จึงเป็นการตั้งข้อสังเกตที่ปราศจากเหตุผลอันอาจรับฟังได้

นอกจากนี้ ที่มีการกล่าวอ้างว่า ข้อกำหนดใน TOR ข้อ 10.4 เรื่องการรับรองความถูกต้องของเอกสารนั้นขัดต่อกฏกระทรวงฯ ข้อ 1 (4) ที่ออกตามความใน พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่กำหนดว่าการรับรองความถูกต้องของคำแปลเป็นภาษาไทยให้กระทำโดยสถานฑูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ แต่ TOR กำหนดว่า การรับรองเอกสารสามารถทำได้โดยสถานฑูตของประเทศนั้น ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย นั้น ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เหตุผลดังกล่าวขัดหรือแย้งกับ พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะเมื่อพิจารณาบทบัญญัติในกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวแล้ว จะพบว่าวิธีการรับรองเอกสารนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งนอกจากจะรับรองโดยสถานฑูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศตามข้อ 1 (4) ดังกล่าวแล้วยังสามารถรับรองโดยสถานฑูตของประเทศนั้น ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยตามข้อ 1 (3) ของกฎกระทรวงดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) จึงเห็นว่าข้อสังเกตของกวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ที่ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) นำมากล่าวอ้างนั้นเป็นการเจาะจงบิดเบือนข้อกฎหมาย เพื่อทำให้เห็นว่า TOR ขัดต่อกฎหมาย ทั้งๆ ที่ ข้อกำหนดใน TOR ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีผู้คัดค้านและอุทธรณ์ว่าการประกวดราคาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปยัง กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) เองก็ได้ตอบข้ออุทธรณ์ของผู้คัดค้านมายัง ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ด้วยว่าอุทธรณ์ของผู้คัดค้านรายดังกล่าวฟังไม่ขึ้นอันเป็นการแสดงให้เห็นว่า การประกวดราคาในครั้งนี้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงไม่มีเหตุและไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการยกเลิกการทำสัญญาแต่อย่างใด การยกเลิกการทำสัญญาจึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ที่ระบุว่าหาก กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) พิจารณาอุทธรณ์แล้วเห็นว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้นก็ให้ กวพอ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) แจ้งให้ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ดำเนินการต่อไป ซึ่งหมายถึงการลงนามในสัญญากับกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ต่อไปเท่านั้น

2.    รู้ผลความชัดเจนเมื่อใด / ศาลนัดแถลงคดีวันใด
เมื่อยื่นฟ้องแล้ว กระบวนการขั้นต่อไปคือ ศาลปกครองกลางจะพิจารณาคำฟ้องและพิจารณามีคำสั่งรับคำฟ้องต่อไป จากนั้นศาลปกครองกลางจะดำเนินการส่งสำเนาคำฟ้องไปยังผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ราย ซึ่งประกอบไปด้วย 1. ขสมก.  2. คณะกรรมการบริหารกิจการของ ขสมก. 3. ผู้อำนวยการ ขสมก. 4. กวพอ. และ 5. กระทรวงการคลัง เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีแต่ละรายยื่นคำให้การ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง โดยขณะนี้ศาลปกครองกลางยังไม่ได้มีกำหนดนัดใดๆ

3.    บริษัทเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนเท่าไหร่
เนื่องจากกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ได้มีการดำเนินการบางประการ เพื่อจัดเตรียมส่งมอบรถโดยสารให้แก่ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) แล้ว เช่น การสั่งให้ผู้ผลิตผลิตรถโดยสารประกอบรถตามสเปคที่ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กำหนดและแจ้งให้กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) เร่งดำเนินการ ซึ่งผู้ผลิตได้มีการประกอบรถไปแล้วกว่า 250 คัน อีกทั้ง หากมีการยกเลิกการประกวดราคาครั้งดังกล่าว กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าเสียโอกาสในการรับงานจากลูกค้ารายอื่น ค่าขาดกำไร เป็นต้น นอกจากนี้ การเช่าสถานที่เพื่อจัดเก็บรถโดยสารที่ผลิตเสร็จแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ยังมีความเสียหาย ที่คิดเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เช่น การเช่าสถานที่เพื่อจัดเก็บรถโดยสารที่ผลิตเสร็จแล้ว ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

รวมเงินค่าสียหายทั้งหมดประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในการฟ้องคดีนี้ กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ตระหนักดีว่า โครงการจัดซื้อรถโดยสารตามประกาศดังกล่าว เป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะโดยแท้ ดังจะเห็นได้จากที่ หลังจากกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ได้รับแจ้งว่า เป็นผู้ชนะการประกวดราคา กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) ก็ได้เร่งตระเตรียมการและเตรียมความพร้อมเพื่อส่งมอบรถโดยสารตามสเปคที่ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กำหนดไว้ เพื่อรอส่งมอบรถโดยสารให้ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) แต่เมื่อปรากฎว่า ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาและการลงนามในสัญญา โดยไม่ใช่ความผิดของกิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) และไม่มีเหตุผลอันพึงรับฟังได้ กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) จึงต้องฟ้องคดีต่อศาล โดยการฟ้องคดีนี้ เพียงเพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งของ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ที่ให้ยกเลิกการลงนามในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว เพื่อให้กิจการร่วมค้า เจวีซีซี (ผู้ฟ้องคดี) สามารถดำเนินการตามประกาศฯ ประกวดราคาอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไปได้
« Last Edit: February 25, 2016, 07:49:28 AM by MSN »