MSN on February 24, 2016, 02:27:52 PM
PwC เผยความเชื่อมั่นซีอีโออาเซียนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ปีนี้ทรุดจากปีก่อน





กรุงเทพฯ, 24 กุมภาพันธ์ 2559 – PwC  เผยผลสำรวจ Global CEO Survey พบความเชื่อมั่นซีอีโออาเซียนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และรายได้ปีนี้ลดลงจากปีก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับซีอีโอโลก เหตุกังวลความไม่สงบทางการเมือง ห่วงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้มี ‘อุปสรรค’ ในการทำธุรกิจมากกว่า ‘โอกาส’ แต่ก็ยังเดินหน้าลงทุน โดยไทยยังติด 1 ใน 5 ตลาดน่าลงทุนในสายตาอาเซียน แนะเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการศึกษา เพื่อผงาดขึ้นสู่ตลาดการลงทุนแถวหน้าของอาเซียน เผยการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ซึ่งจะเป็นตัววัดผลสำเร็จของธุรกิจและความท้าทายใหม่ของธุรกิจในศตวรรษที่ 21

นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 19 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ กรุง ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประจำปี 2559 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,409 รายใน 83 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 61 รายใน 7 ประเทศ ว่า ความเชื่อมั่นของซีอีโออาเซียนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทในปีนี้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยผู้นำธุรกิจอาเซียนเพียง 39% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลก (Global Economy) จะดีขึ้นในปีนี้ ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาที่ 49% ถือเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปีนับจากปี 2556 โดย 3 ปัจจัยหลักที่ซีอีโออาเซียนมองว่า เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจและนโยบาย (Economic and policy threats) ได้แก่ ความผัวผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate volatility) ความไม่มั่นคงทางสังคม (Social instability) และความไม่สงบทางการเมือง (Geopolitical uncertainty)
“ความไม่สงบทางการเมืองกลายเป็นประเด็นที่ซีอีโอทั่วโลกต่างพูดถึงและจับตาอย่างใกล้ชิดในปีนี้ โดยซีอีโอมองว่า หากมีสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศปะทุขึ้นอีกครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้คนและภาคธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ” นาย ศิระ กล่าว

นอกจากนี้ ในระยะสั้น หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีแผนการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศในปีนี้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และไทย แม้จะยังไม่แน่นอนก็ตาม ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน ยังเตรียมกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2559-2563 อีกด้วย ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ซีอีโออาเซียนต่างเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ผู้นำธุรกิจอาเซียนเพียง 38% ในปีนี้เชื่อว่า รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ลดลงจากปีก่อนที่ 47% สำหรับ 3 ปัจจัยที่ซีอีโออาเซียนมองว่า เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ (Business threats) ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (88%) ยังเป็นอุปสรรคลำดับแรกที่ซีอีโออาเซียนกังวล ซึ่งประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่ท้าทายหลายบริษัทในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถหลากหลายด้าน ทั้งด้านไอที เทคโนโลยี และทักษะเฉพาะทาง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ทัดเทียมสากล ถัดมาคือ การติดสินบนและคอร์รัปชั่น (80%) และสุดท้าย คือ การขาดความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ และการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ (75%)

“ปีนี้ความเชื่อมั่นของซีอีโอโลกและซีอีโออาเซียนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้บริษัทลดลงทั้งคู่เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่า ภาพรวมของโลกไม่ดีเท่าไหร่นัก จึงไม่น่าแปลกใจที่ซีอีโอทั้งสองกลุ่มต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ในปีนี้มีอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจมากกว่าโอกาส”

ขณะที่แนวโน้มการจ้างงานเพิ่มในอาเซียนก็ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจที่ชะลอตัวเช่นกัน โดยจากผลสำรวจพบว่า  ซีอีโออาเซียนเพียง 59% เท่านั้น ที่มีแผนจะจ้างบุคลากรเพิ่ม ลดลงจากการสำรวจปีก่อน ประมาณ 8%  อย่างไรก็ดี นายศิระ กล่าวเสริมว่า แม้ภาพรวมการจ้างงานจะลด แต่ความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงในภูมิภาคยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ซีอีโออาเซียนให้ความสำคัญกับการเฟ้นหาและบริหารบุคลากรที่เป็นทาเลนต์  โดย 43% ระบุว่า จะเปลี่ยนแปลงวิธีการพัฒนาบุคลากร เพื่อผลักดันให้คนเก่งมากความสามารถขึ้นเป็นผู้บริหารในอนาคต (Building a pipeline of leaders for tomorrow) นอกจากนี้ ยังต้องการจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและพฤติกรรมการทำงาน (Workplace culture and behaviours) รวมทั้ง ระบบการบริหารจัดการผลตอบแทน และสวัสดิการให้แก่พนักงาน (Pay, incentives and benefits provided to employees) เพื่อจูงใจและรักษาทาเลนต์ให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ

ไทยติด Top 5 ตลาดน่าลงทุนของอาเซียน
นาย ศิระ กล่าวต่อว่า แม้ว่าภาพรวมความเชื่อมั่นในปีนี้จะดูแย่ แต่ผู้บริหารในภูมิภาคยังคงมีแผนลงทุนตามปกติ โดยผลสำรวจพบว่า 5 อันดับตลาดน่าลงทุนในปีนี้ อันดับที่ 1 ได้แก่ จีน (49%) ซึ่งแม้ปีนี้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มไม่สดใสนัก แต่จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอาเซียน อันดับที่ 2 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (42%) โดยดูจากกำลังซื้อและตัวเลขจ้างงานที่ฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่วน อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ติดอันดับที่ 3 (19% เท่ากัน) อย่างไม่น่าแปลกใจ เพราะทั้งมูลค่าการลงทุนและอัตราการขยายตัวของภาคธุรกิจของสองประเทศ ประกอบกับอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำและทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีอยู่มาก ทำให้โอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศยังคงมีสูง ตามด้วย อันดับที่ 4 ได้แก่ อินเดีย (13%) ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี

สำหรับประเทศไทยนั้น ยังติด 1 ใน 5 ตลาดที่น่าลงทุนในสายตาซีอีโออาเซียนในปีนี้ (12%) โดยมีจุดแข็งสำคัญด้านแรงงานที่มีทักษะฝีมือเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และการใช้จ่ายของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ผนวกกับไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะการคมนาคม การติดต่อสื่อสาร และการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี ไทยก็ไม่ควรชะล่าใจ โดยยังมีจุดอ่อนบางเรื่องที่ต้องปรับปรุง เช่น ภาคการผลิตในบางจุดยังมีประสิทธิภาพต่ำ ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น การปรับปรุงคุณภาพการศึกษา การกระจุกตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมที่อาจทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ภาระหนี้สินของคนในชนบทและผู้มีรายได้น้อย และการอพยพของแรงงาน เป็นต้น
“ไทยยังน่าลงทุนในสายตาเพื่อนบ้านจากจุดแข็งหลายประการข้างต้น แต่สิ่งที่เราละเลยไม่ได้ คือ ต้องแก้ไขจุดอ่อนหลายๆ ด้านอย่างเร่งด่วน เพื่อไล่ตามอินโดนีเซียและเวียดนามให้ทัน”

นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของภาคเอกชน โดยซีอีโออาเซียนมองว่า ภารกิจสำคัญ 3 อันดับแรกที่ต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ได้แก่ 1. การสร้างแรงงานที่มีทักษะ เพียงพอต่อความต้องการของตลาด (71%) ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน 2. โครงสร้างพื้นฐานเชิงทางกายภาพและดิจิทัล (41%) และ 3. แรงงานที่มีความหลากหลาย (38%)

SDGs ความท้าทายของธุรกิจอนาคต

นาย ศิระ กล่าวว่า ซีอีโออาเซียนในปีนี้ยังแบ่งความท้าทายของการดำเนินธุรกิจออกเป็น 2 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย 1. การตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Addressing greater expectations) และ 2. การประเมินผลสำเร็จของกิจการ (Measuring  success)

ผลจากการสำรวจพบว่า ซีอีโออาเซียนถึง 77% มองว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะเป็นเทรนด์ที่สามารถช่วยตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจได้มากที่สุด ด้วยพลวัตการเปลี่ยนแปลงด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และอื่นๆ
ส่วนความท้าทายในการประเมินผลสำเร็จของกิจการนั้น ผลสำรวจพบว่า ซีอีโออาเซียนกว่า 80% ต่างเห็นด้วยว่า ความสำเร็จในการทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้วัดกันที่ “ผลกำไร” เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เนื่องจากผู้บริหารทั่วโลกเริ่มตื่นตัวในเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม 3 มิติ ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยคำนึงถึงเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจพร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสำคัญเพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ 17 เป้าหมายในอีก 14 ปีข้างหน้า (2558-2573) และเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงไปทั่วโลก

“ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้ ธุรกิจอาเซียนมีแผนที่จะนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาปรับใช้กับองค์กร ผลสำรวจในปีที่ผ่านมาของเราระบุว่า บริษัทในอาเซียนเกือบ 100% มีแผนที่จะนำ SDGs มาใช้ภายในอีก 5 ปีข้างนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SDGs และสอดคล้องกับแผนงานของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ส่งเสริมเรื่อง Environmental, Social and Governance หรือ ESG เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย”

ขณะที่ผลสำรวจครั้งนี้ระบุว่า ซีอีโอทั่วโลก 39% คิดว่าธุรกิจควรที่จะมีการวัดผลในเรื่องผลกระทบของสิ่งแวดล้อม (Environmental impact) เพราะนั่นหมายถึงการสร้างธุรกิจและสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ภาครัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกัน ทั้งในเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เกี่ยวกับ PwC


PwC (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก มีเครือข่ายไปใน 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 208,000 คน สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 57 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,600 คนในประเทศไทย

© 2016 PricewaterhouseCoopers. All rights reserved.
« Last Edit: February 24, 2016, 03:01:23 PM by MSN »