MSN on February 23, 2016, 02:56:48 PM
กระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่เยี่ยม 2 สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI ภาคเหนือ มุ่งหวังยกระดับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สู่เกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปอย่างครบวงจร
 

ข้าว


ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากรำข้าว


ใบชา


โรงงานใบชา


ดิฐพงศ์ เรืองฤทธิเดช กรรมการผู้จัดการโรงงานใบชาสยาม


นายประสงค์ นรจิตร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม


นายประสงค์ นรจิตร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม (ที่2 จากซ้าย) มอบประกาศเกียรติคุณให้กับ นายดิฐพงศ์ เรื่องฤทธิเดช กรรมการผู้จัดการโรงงานใบชาสยาม(ที่3จากซ้าย) ณ โรงงานใบชาสยาม


นายสุทิน กองทอง กรรมการผู้จัดการโรงสีข้าวเกริก


รูปหมู่ ที่ โรงงานใบชาสยาม


สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สปอ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม 2 สถานประกอบการในภาคเหนือ ที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI ได้แก่ โรงสีข้าวเกริก และโรงงานใบชาสยาม จ.เชียงราย เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยน้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรของประเทศ สร้างภูมิคุ้มกัน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มีความแข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมก้าวไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรอย่างครบวงจร
 
นายประสงค์ นรจิตร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (One Province One Agro-Industrial Product) OPOAI เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2550 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถานประกอบการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับสถานประกอบการ โดยให้ความรู้ คำปรึกษาแนะนำด้านบริหารจัดการลดต้นทุนพลังงาน การพัฒนายกระดับประสิทธิภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้ได้รับมาตรฐานสากล รวมถึงกำหนดให้มีกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งการทำงานเป็นการบูรณาการร่วมกันในลักษณะไตรภาคีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาคให้สถานประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการ จะมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ปรึกษาแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยทีมงานที่ปรึกษาจะเข้าไปศึกษาข้อมูลของสถานประกอบการจาก คณะผู้บริหารของสถานประกอบการนั้น ๆ โดยเฉพาะเพื่อดูว่าสมควรเข้าพัฒนาในแผนงานไหนมากที่สุด และเมื่อได้ข้อสรุป  ทางทีมที่ปรึกษาจะมีแผนการดำเนินงานให้ปฏิบัติจริง และติดตามผลพร้อมทั้งให้คำปรึกษาเป็นระยะ ๆ ซึ่งประโยชน์ที่สถานประกอบการได้รับโดยตรงที่เห็นชัดมากที่สุดคือ ได้รับรู้ถึงข้อบกพร่องของสถานประกอบการเองว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิต การบริหารงาน และอื่น ๆ ซึ่งบางครั้งสถานประกอบการเองอาจจะมองไม่เห็นข้อบกพร่องนั้น ๆ และที่สำคัญการให้คำปรึกษาแนะนำทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
 
ทั้งนี้ ยอมรับว่าในปีแรกของโครงการ OPOAI เรื่องการเชิญชวนผู้ประกอบการให้เข้าร่วมโครงการค่อนข้างยาก เพราะผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจว่าโครงการจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาได้จริง หรืออาจเข้าไปรบกวนกระบวนการผลิต แต่ความเป็นจริงแล้วโครงการ OPOAI เน้นเข้าไปแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนายกระดับสถานประกอบการผ่าน 6 แผนงานการพัฒนา ได้แก่  1. การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน     4. การลดต้นทุนพลังงาน 5. การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และ 6. กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด
 
โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ   แล้วกว่า 1,041 ราย และเพื่อเป็นการติดตาม ให้กำลังใจจึงได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI ภาคเหนือ โดยได้เข้าเยี่ยมชมโรงสีข้าวเกริก ตั้งอยู่ที่ ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย เข้าร่วมโครงการในปี 2558และเข้าเยี่ยมชม โรงงานใบชาสยาม ตั้งอยู่ที่ ต.เวียงกาเหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เข้าร่วมโครงการในปี 2557
                                             
นายประสงค์กล่าวทิ้งท้ายว่า  จากการลงพื้นที่เข้าเยี่ยมสถานประกอบการทั้ง 2 แห่งได้มองเห็นถึงผลสำเร็จของ   ทั้ง 2 กิจการที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก ซึ่งส่งผลดีต่อสถานประกอบการโดยตรงในการดำเนินธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด มีการเติบโตที่มั่งคง และยั่งยืน เนื่องจากสามารถสร้างให้เกิดการจ้างแรงงานในท้องถิ่น และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้มีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่ละทิ้งบ้านเกิดไปทำงานในเมือง โดยมองเห็นคุณค่าของการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ และชุมชนรอบข้างที่มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อาทิ โรงงานใบชาสยามมีการรับซื้อใบชา  ในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งที่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และเกษตรกรที่นำใบชามาขายให้โดยตรงกับทางโรงงาน
 
ขณะที่โรงสีข้าวเกริกก็มีผลการดำเนินงานที่เข้มแข็ง สามารถสร้างความมั่นคงให้คนในพื้นที่ด้วยการวางแผนการเพาะปลูก มีการตกลงราคารับซื้อล่วงหน้าทำให้เกษตรกรรู้รายได้ของตนเอง และสามารถวางแผนการใช้จ่ายในอนาคตได้ ส่งผลให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนใช้จ่ายในครอบครัวได้อย่างดี ซึ่งถ้ามีสถานประกอบการที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างนี้หลาย ๆ แห่งในพื้นที่เชื่อว่าจะสามารถช่วยกันฝ่าวิกฤตสินค้าเกษตรตกต่ำได้อย่างแน่นอน
           
ด้านนายสุทิน กองทอง กรรมการผู้จัดการโรงสีข้าวเกริก สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI ในปี 2588 กล่าวว่า โรงสีข้าวเกริกดำเนินกิจการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารโดยการสี โดยการดำเนินธุรกิจใช้วิธีทำนาแบบ  ครบวงจร (Contract Farming) กับทางโรงสีก่อน และจะไม่มีการรับซื้อข้าวที่ปลูกจากเกษตรกรที่ไม่ได้ทำ Contract Farming โดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันปัญหาด้านคุณภาพของข้าวไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยการจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น ปุ๋ย-ยาปราบศัตรูพืช และมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความรู้แก่เกษตรกร รวมทั้งประกันราคารับซื้อผลผลิตคืนทั้งหมด
 
โรงสีข้าวเกริกเข้าร่วมโครงการ OPOAI จำนวน 1 แผนงาน คือ แผนงานที่ 4 การลดต้นทุนพลังงาน โดยมีเป้าหมายต้องการผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพให้แก่ลูกค้า เนื่องจากแรงงานเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคนที่ทำนาในปัจจุบันอายุ 40 ปีขึ้นไป    จึงต้องหาวิธีการลดต้นทุน และจากการที่ปรึกษาได้เข้าสำรวจสภาพปัจจุบันพบว่า มีการใช้พลังงานมาก และยังไม่มีมาตรการในการลดต้นทุน ทีมที่ปรึกษาจึงเสนอมาตรการประหยัดพลังงาน 3 มาตรการ คือ มาตรการจัดเวลาในการใช้งานเครื่องจักรเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า มาตรการที่สอง คือ มาตรการปรับปริมาณอากาศที่ใช้ในการเผาไหม้เชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสมของเตาเผาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการอบแห้งข้าว และมาตรการที่สาม คือ มาตรการเปลี่ยนขนาดเครื่องจักรต้นกำลังให้มีความเหมาะสมกับภาระงาน และในการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานทั้งสามมาตรการสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของโรงสีเฉพาะในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1,115,156.00 บาทต่อปี หากคิดเป็นร้อยละของการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากการดำเนินมาตรการการประหยัดพลังงานจะเท่ากับ 19.96 ของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งหมด
 
ทั้งนี้จุดแข็งของโรงสีเกริก คือ ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่ปลูกประมาณ 4 พันไร่ เกษตรกร 500-600 ราย มีกำลังการผลิตรวม 1,500-2,000 ตันข้าวสารต่อปี ซึ่งเกษตรกรที่มีความรู้ดีแล้ว จะมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 800–1,200 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับข้าวหอมมะลิที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 600-700 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 40-42 บาท/กิโลกรัม                                           
 
ด้านนายดิฐพงศ์ เรืองฤทธิเดช กรรมการผู้จัดการโรงงานใบชาสยาม สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ OPOAI ในปี 2557 กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ดำเนินกิจการประเภทผลิตและจำหน่ายสินค้าชาตรามือ เข้าร่วมโครงการ OPOAI ใน 2 แผนงาน คือ แผนงานที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์ และแผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการผลิตชาที่ดีและมีคุณภาพ
 
โดยแผนงานที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์ มีการพัฒนาใน 2 ส่วนประกอบด้วย 1. การปรับปรุงระบบการจัดการสินค้าคงคลังบรรจุภัณฑ์ให้มีการจัดวางสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และสามารถเบิกจ่ายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิม 1 นาที สามารถเบิกได้ 50 กล่อง เพิ่มขึ้นเป็น 104 กล่อง คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 และ 2. พื้นที่คลังวัตถุดิบ ทางคลังสามารถเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บวัตถุได้เป็น 2,512,000 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 300% และสามารถลดต้นทุนการขนถ่ายลำเลียงสินค้า  ในคลังวัตถุดิบลดลง 45% ของการทำงานทั้งหมด โดยคิดเป็นเวลาที่สามารถลดได้จากการลำเลียง 702 ชั่วโมงคิดเป็นมูลค่าประมาณ 26,325 บาท/ ปี
 
แผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน ซึ่งแผนงานนี้มีการปรับปรุงเรื่องความสูญเสียจากการไม่มีมาตรฐานการตรวจทางด้านเคมีของผลิตภัณฑ์ชา และความสูญเสียจากการไม่มีมาตรฐานการตรวจทางด้านประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ชา และภายหลังจากที่ดำเนินงานพบว่า จำนวนข้อมูลข้อร้องเรียนของลูกค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดด้านเคมีและด้านประสาทสัมผัสของสินค้าเฉลี่ยคิดเป็นสองครั้งต่อเดือน หรือมูลค่าการเสียโอกาสในการขายสินค้า คิดเป็นมูลค่าสองแสนกว่าบาทต่อปีลดลงเป็นศูนย์ และมีการสั่ง Oder ของร้านกาแฟอเมซอน (Amazon Café PTT) ต่อเนื่อง มียอดสั่งซื้อเข้ามาตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไปประมาณ 88.5 ตันต่อเดือน
                                           
« Last Edit: February 23, 2016, 03:03:24 PM by MSN »