news on February 05, 2016, 01:53:40 PM
ทรูมูฟ เอช ยื่นแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคขอให้สืบสวนสอบสวน กรณีบล็อกลูกค้าโทรจากเครือข่ายเอไอเอสไม่สามารถติดต่อทรูมูฟ เอช แคร์ 1331



(จากภาพ) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) โดย พันตำรวจเอกอังกูร คล้ายคลึง รองผู้บังคับการ (ที่ 3 จากซ้าย) และนายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา (ที่ 3 จากขวา) รับแจ้งความจาก บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทรูมูฟ เอช) ที่มอบหมายให้นางศุภสรณ์  โหรชัยยะ เป็นตัวแทน

5 กุมภาพันธ์ 2559: บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทรูมูฟ เอช) ได้ยื่นแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ให้สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้ทำผิด ในเรื่องที่ลูกค้าร้องเรียนว่าถูกปิดกั้นมิให้สามารถโทรติดต่อทรูมูฟ เอช แคร์ 1331 เพื่อรับประโยชน์ในการย้ายค่ายเบอร์เดิมจากเครือข่ายเอไอเอส มาเป็นทรูมูฟ เอช ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการสื่อสาร โดยถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง รบกวน และถูกดักรับไว้  ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินทั้งยังเกิดความเสียหายทางแพ่ง

ทรูมูฟ เอช มอบหมายให้นางศุภสรณ์  โหรชัยยะ เป็นตัวแทนเข้าแจ้งความต่อ ปคบ. ให้สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้ทำผิดมาลงโทษ 
 
ทรูมูฟ เอช เข้าใจว่าผู้ได้รับประโยชน์หรือมีส่วนรู้เห็นจากการกระทำผิดในครั้งนี้ น่าจะเป็นบริษัท เอไอเอส และบริษัทในเครือ ประกอบกับได้มีการตอบกลับในโซเชียล มีเดียว่าเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์และเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ เป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การบริหารของผู้บริหารสัญชาติสิงคโปร์ คือ นายแอแลน ลิว ยง ประธานกรรมการบริหาร และนายฮุย เว็ง ซอง หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ 

ทรูมูฟ เอช เห็นว่า การปิดกั้นการสื่อสาร โดยการระงับ ชะลอ ขัดขวาง รบกวน และดักรับไว้ เป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาแผ่นดิน เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปีต่อการ กระทำความผิด 1 ครั้ง (เช่น หากมีการบล็อก 100 ครั้ง ก็มีโทษจำคุกสูงถึง 100x10 ปี เท่ากับ 1,000 ปี เป็นต้น) พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มีโทษจำคุกสูงถึง 2 ปีต่อการกระทำความผิด 1 ครั้ง  และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 เรื่องการห้ามดักฟังโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารใด มีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปีต่อการกระทำความผิด 1 ครั้ง
ตามที่มีการปรากฏในบางกระแสข่าวว่า การปิดกั้นดังกล่าวเป็นการเยียวยาผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบจากการเกิด “ซิมดับ” นั้น ข้อมูลที่ทรูมูฟ เอช ได้รับปรากฏว่า มีการปิดกั้นการสื่อสารเฉพาะที่มาจาก

เครือข่ายเอไอเอส มาที่เครือข่ายทรูมูฟ เอช เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการปิดกั้นการสื่อสารจากเครือข่ายเอไอเอสไปยังเครือข่ายอื่น ดังนั้นการกล่าวอ้างเรื่องเยียวยาเป็นการแก้ตัวแบบเลื่อนลอย 

นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ ตัวแทนทรู มูฟ เอช เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมที่จะทำการปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค เมื่อได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมจากผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งบริษัทจะทยอยส่งหลักฐานทางคดีแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต่อไป 

เท่าที่พบในขณะนี้ เมื่อลูกค้าเครือข่ายเอไอเอส โทรเข้าหมายเลขทรูมูฟ เอชแคร์ 1331 ของทรูมูฟ เอชจะถูก
   1.) ตัดสายโดยทันที  หรือ
   2.) ตัดเข้าระบบตอบรับด้วยเสียงของเครือข่ายเอไอเอสเพื่อทำการประชาสัมพันธ์สินค้าของเครือข่ายเอไอเอส แล้วตัดสาย หรือ

   3.) ตัดเข้าระบบตอบรับด้วยเสียงของเครือข่ายเอไอเอสเพื่อทำการประชาสัมพันธ์สินค้าของเครือข่ายเอไอเอส ก่อนที่จะเข้าคอล เซ็นเตอร์ ของทรูมูฟ เอช
“การแจ้งความให้มีการดำเนินคดีในครั้งนี้ เพื่อให้ ปคบ.ช่วยสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ทำผิดตามอาญาบ้านเมืองซึ่งเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินและรับผิดทางแพ่ง”นางศุภสรณ์ กล่าวสรุป