MSN on February 04, 2016, 02:26:13 PM
มูลนิธิไอทีตามพระราชดำริฯ และ สวทช. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยใช้นวัตกรรมไอทีพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21


Dr.Pairash Thajchayapong


Dr.Chadamas Thuvasethakul














(3 กุมภาพันธ์ 2559) มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 13 แห่งทั่วประเทศ สานต่อแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประยุกต์ใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพการศึกษา และพัฒนาทักษะที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ให้แก่เยาวชน โดยมี บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนับสนุนโครงการ ไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สร้าง Innovation Space : ขยายโอกาสพัฒนาทักษะนวัตกรรมไอที

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ไอทีในการเพิ่มคุณภาพชีวิต การพัฒนาการศึกษาแลการเพิ่มโอกาสการทำงานให้แก่ผู้ด้อยโอกาส กระทั่งปัจจุบันในปี 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดตั้งเป็น “มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานในระยะต่อไป และช่วยให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริแนวทางในการดำเนินงานส่วนหนึ่งว่า “ให้เผยแพร่ส่วนที่สำเร็จด้วยดีแก่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ หรือเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้รับช่วงต่อในเรื่องของการขยายผลในวงกว้างต่อไป” ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการโครงการฯ จึงได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฎซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ใกล้ชิดกับโรงเรียนในชนบท และมีพื้นที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในการสานต่อและเผยแพร่กิจกรรมการประยุกต์ใช้เทคโนยีสารสนเทศในการเรียนการสอนตามแนวทางของโครงการเทคโนยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

การทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยดังกล่าว จะช่วยให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานในวงกว้าง โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาโรงเรียนในโครงการ และยังสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการจัดการศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต ช่วยเตรียมความพร้อมของครูยุคใหม่ในการใช้ไอซีทีจัดการเรียนการสอนในอนาคต โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาครูยุคใหม่อย่างน้อย 1,200 คน/ปี และสามารถขยายผลโรงเรียนในท้องถิ่น ไม่ต่ำกว่า 120 แห่ง และร่วมสร้างบทเรียนออนไลน์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 อย่างน้อย 12 เรื่อง เพื่อเปิดบริการบทเรียนออนไลน์ฯ และฝึกภาคปฏิบัติให้แก่ครูในท้องถิ่นได้ต่อไป

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 13 แห่งทั่วประเทศ ร่วมต่อแนวพระราชดำริและเผยแพร่กิจกรรมที่สำเร็จด้วยดีในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ไปยังโรงเรียนในพื้นที่ทั่วประเทศ และขยายไปยังนักศึกษาคณะครุศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมของครูในการใช้ไอซีทีจัดการเรียนการสอนกับนักเรียนต่อไป ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยร่วมดำเนินการขยายผลการประยุกต์ใช้ไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จำนวน 4 กิจกรรมคือ กิจกรรมเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (embedded technology) กิจกรรมการใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ด้วยโครงการ (Project-based Learning using ICT) การสร้างชิ้นงาน 3 มิติด้วย 3D-Printer และบทเรียนบนระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลฯ (MOOC) โดยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 13 แห่งใน 4 ภูมิภาค และหน่วยงานเอกชนร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยราชภัฏ 12 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ภาคกลาง จำนวน 3 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระราชูปถัมภ์ฯ และภาคใต้ จำนวน 2 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมดำเนินงานโดยภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การทำงานของห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (Learning Inventions Lab) ที่ได้มุ่งออกแบบเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัว และนำไปประยุกต์ใช้กับเยาวชน ให้เยาวชนได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวและการเขียนโปรแกรม เพื่อเสริมสร้างทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ การคิดอย่างเป็นระบบ คิดเป็น แก้ไขปัญหาเป็น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร ฝึกตนจนติดนิสัยใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิต

3. บริษัทอินเทลไมโครอิเล็กทรอกนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมมุ่งสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี ผ่าน Innovation Space

นางสาวสติยา ลังการ์พินธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอกนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “ด้วยความเชื่อว่านวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และจะช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน อินเทลจึงมุ่งสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี ผ่าน Innovation Space ที่จัดร่วมกับหลายภาคส่วน รวมถึงโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาหรือแม้กระทั่งครูอาจารย์ได้ลองเรียนรู้ด้วยวิธีการใหม่ๆ ได้ออกแบบและประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) ที่ประยุกต์ใช้หน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์ เช่น ชุดอุปกรณ์ อินเทล กาลิเลโอ (Intel Galileo) สร้างอุปกรณ์ที่สามารถรับข้อมูลจากสภาพแวดล้อมแล้วทำงานตามที่นักเรียนออกแบบโปรแกรมไว้ นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงสู่ระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อบันทึก วิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่อไป ทักษะพื้นฐานเหล่านี้จะมีคุณค่ามากในวันข้างหน้าที่โลกมุ่งเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Internet of Things - IoT) ดังนั้น Innovation Space จึงเป็นทั้งพื้นที่และโอกาสที่เยาวชนไทยจะได้ลงมือประดิษฐ์คิดค้นด้วยเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านนวัตกรรม เกิดแรงบันดาลใจในการใช้เทคโนโลยีไปทำสิ่งที่มีประโยชน์ โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏสนองพระราชดำริเป็นช่องทางสำคัญที่จะขยายโอกาสนี้สู่ท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น”
« Last Edit: February 04, 2016, 03:58:23 PM by MSN »

MSN on February 04, 2016, 03:54:12 PM
บทบาทของเครือข่ายมหาวิทยาลัยสนองพระราชดำริ: โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ดร.อานันท์ สีหพิทักษ์เกียรติ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการเรียนรู้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการดำเนินกิจกรรมการใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวและการเขียนโปรแกรมเพื่อพัฒนายุวนวัตกร ซึ่งเป็นสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การทำงานของห้องปฏิบัติการนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (Learning Inventions Lab) ได้มุ่งออกแบบเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัว เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับเยาวชนในระดับมัธยมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

มีการพัฒนากระบวนการทำงานกับเยาวชนและโรงเรียน เพื่อให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เป็นการเรียนรู้ที่เน้นเสริมสร้างทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ การคิดอย่างเป็นระบบ คิดเป็นแก้ไขปัญหาเป็น ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเป็นกัลยาณมิตร ฝึกตนจนติดนิสัยใฝ่เรียนรู้ไปตลอดชีวิต

มีการออกแบบชุดควบคุมชื่อ GoGo Board เป็นอุปกรณ์ที่สามารถต่อเชื่อมเซ็นเซอร์ชนิดต่างๆ และเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ เป็นอุปกรณ์ที่มีแนวคิดต้นกำเนิดมาจาก MIT ในสหรัฐอเมริกา แต่ทำการพัฒนาวงจรและส่วนประกอบต่างๆ เองภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุปกรณ์นี้ช่วยให้เยาวชนเรียนรู้การสร้างนวัตกรรมสมองกลฝังตัวได้โดยง่าย มีภาษาคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย ทำให้นักเรียนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมมากกว่าการศึกษารายละเอียดทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง
โครงการมีการทำงานกับโรงเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ดังนี้

เริ่มต้นด้วยการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้อุปกรณ์ และเห็นศักยภาพของเครื่องมือนี้
หลังจากนั้นผู้เรียนจะได้คิดหัวข้อโครงงานนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวข้อที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาที่ผู้เรียนพบเห็นในชีวิตประจำวัน หรือในโรงเรียน
เมื่อคิดหัวข้อโครงงานได้แล้วผู้เรียนจะมีเวลาทำแบบจำลองของนวัตกรรมนั้นๆ เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ทำอย่างชัดเจน
เมื่อได้แบบจำลองแล้วขั้นต่อไปคือการทดลองสร้างต้นแบบของนวัตกรรมนั้นขึ้นมาจริง 
ขั้นตอนสุดท้ายคือการทดลองใช้นวัตกรรมนั้นๆ เพื่อประเมินผล โดยอาศัยกระบวนการทำวิจัยอย่างง่าย
หากครูผู้ดูแลมีความสนใจตัวนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมานั้นยังสามารถนำไปใช้เป็นฐานการเรียนรู้ให้กับนักเรียนรุ่นถัดๆ ไปได้ โดยอาจมีการทำคู่มือ และแบบฝึกหัดประกอบด้วย

ผลที่ได้จากกระบวนการนี้คือโครงการนวัตกรรมที่มุ่งแก้ไขปัญหาจริงๆ ในชีวิตของผู้เรียน ทำให้กิจกรรมมีคุณค่าและความหมายกับตัวผู้เรียนมากกว่ากิจกรรมการเรียนในห้องทั่วๆ ไป เช่น โครงการรดน้ำสวนผักอัตโนมัติที่จัดทำขึ้นที่วัดพุทธโกศัย จ.แพร่ เป็นโครงการที่ช่วยให้สามเณรสามารถปลูกผักในแปลงผักที่อยู่ห่างไกลได้โดยไม่จำเป็นต้นเดินทางไปดูแลด้วยตนเองทุกวัน การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ขับเคลื่อนโดยปัญหาที่เกิดกับโรงเรียนและตัวนักเรียนเอง ทำให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจเรียนรู้สิ่งที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ วงจรควบคุมปั๊มน้ำ หลักการเขียนโปรแกรม ตลอดจนทักษะการแก้ไขปัญหา การสื่อสารในกลุ่ม เป็นต้น

ตัวอย่างโครงงานสามเณรในโครงการนี้
https://www.youtube.com/watch?v=dmvugUuxAJ0
https://www.youtube.com/watch?v=S3sbOuifKe8

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติพงษ์ สุวรรณราช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว) มหาวิทยาลัยว่ามีบทบาทในการดำเนินกิจกรรม ดังนี้
1. อาจารย์ผู้สอนของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และครูที่เข้าร่วมโครงการ
ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้งาน และควบคุมคอมพิวเตอร์แบบสมองกลฝังตัว หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Arduino, Raspberry PI, Gogoboard และร่วมถึงบอร์ด Intel Galileo version 2 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการอบรมนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ครูอาจารย์นำเอาความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอด และสอนนักศึกษา นักเรียนเพื่อสร้างชิ้นงานหรือสิ่งประดิษฐ์ต่อไป
ได้เป็นที่ปรึกษาเป็นครูฝึกสอนให้นักเรียน นักศึกษาได้คิด ประดิษฐ์ชิ้นงานระบบสมองกลฝังตัวเพื่อเข้าแข่งขัน ซึ่งนับว่าเป็นเวทีสำคัญที่จะส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ แนวความคิดใหม่ ๆ ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
2. นักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ
ได้มีโอกาสส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวเข้าแข่งขันประจำปี ในปี 2558 ที่ผ่านมามีการจัดประกวดที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ นับเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศได้แสดงผลงานและศักยภาพจากผลงานสิ่งประดิษฐ์ เป็นกิจกรรมส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
ได้รับโอกาสในการอบรมเพิ่มเติมเสริมความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับบอร์ดที่สามารถใช้เป็นระบบสมองกลฝังตัว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจและสามารถต่อยอดไปเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลก
ได้มีโอกาสได้พัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมหรือสร้างสิ่งประดิษฐ์ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นทักษะพิเศษเพิ่มเติมจากนอกห้องเรียนที่สำคัญ ตามแนวทางการเรียนรู้ตามศตวรรษที่ 21
3. นักเรียนของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ได้มีโอกาสเรียนรู้การสร้างสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวจากครูที่ได้รับการอบรมตามโครงการนี้ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาสร้างสิ่งประดิษฐ์ หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ จากโจทย์ที่ได้รับโดยการฝึกการเขียนโปรแกรมเข้าไปควบคุม หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านทางบอร์ดคอมพิวเตอร์สมองกลฝังตัว
ได้มีโอกาสนำชิ้นงานสิ่งประดิษฐ์ที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาเป็นกลุ่มและส่งเข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวที่โครงการนี้ได้จัดขึ้น ทำให้นักเรียนได้เห็นมุมมองใหม่ๆ จากเพื่อนนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ที่ส่งสิ่งประดิษฐ์เข้าประกวด เพื่อจะได้เป็นแนวทางนำมาต่อยอดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ของตนให้ดี และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก
ได้ฝึกใช้ทักษะการแก้ไขปัญหาหรือที่เรียกว่า Project Based Learning โดยอาศัยบอร์ดคอมพิวเตอร์สมองกลเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ดีสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เช่นกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีระ สาธุพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบราชธานี ในการสานต่อกิจกรรมการสร้างชิ้นงาน 3 มิติด้วย 3D-printer ว่า ในปัจจุบันนี้เครื่อง 3D printer ถูกนำไปประยุกต์ใช้ช่วยงานหลายๆ ด้าน ทั้งด้านอุตสาหกรรม และด้านการศึกษา เพื่อขึ้นรูปแบบของโมเดลก่อนที่จะนำแบบจำลองนั้นไปสู่กระบวนการผลิตจริง หรือแม้แต่การขึ้นรูปชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ชำรุดหรือหายาก ตลอดจนหากเราส่งเสริมให้นักเรียนในท้องถิ่นได้มีความรู้ความเข้าเกี่ยวกับเครื่อง 3D Printer อาจช่วยเพิ่มบุคคลกรที่เกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองและ 3D printer ได้ในอนาคต และในการส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โครงการ 3D Printer ยังช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนในรูปแบบ STEM ซึ่งเป็นการบูรณาวิธีการสอนในกลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยจากการดำเนินงานการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอเล็กนิกส์ มีนักเรียนในโรงเรียนในท้องถิ่นของเครือข่ายราชภัฏ ได้จัดทำผลงานโครงงานเกี่ยวข้องอุปกรณ์ อิเล็กทรอเล็กนิกส์ส่งประกวด แต่ในบางครั้งชิ้นงานบางส่วนในโครงงานมีความเฉพาะเจาะจง ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด หรือมีขนาดไม่เหมาะสม เช่น น๊อต ฟันเฟือง ใบพัด อะไหล่ บางอย่าง ดังนั้น เครื่อง 3D Printer จึงเข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดทำชิ้นงานในโครงงานของนักเรียน ซึ่งนักเรียนสามารถออกแบบชิ้นงานของตนเองในเครื่องคอมพิวเตอร์ในรูปแบบ 3D และสามารถสั่งพิมพ์ออกมาเป็นรูปร่างในเครื่อง 3D printer และนำไปใช้ในโครงงานได้ เป็นต้น

เครือข่ายราชภัฏจึงได้จัดให้มีการอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมสร้างโมเดล 3D เพื่อสร้างชิ้นงานในรูปแบบต่างๆ โดยใช้โปรแกรมที่เป็น open source เช่น blender, designspark mechanical หรือ tinkerCAD และได้จัดอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้ 3D Printer ซึ่งเป็นงานวิจัยของ รองศาสตาจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ให้โรงเรียน โดยให้เครือข่ายราชภัฏแต่ละแห่ง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างชิ้นงานทำโครงงานได้ อีกทั้งยังทำให้นักเรียนเกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ 3D printer อีกด้วย

ดร.ศศิธร โสภารัตน์ วิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการดำเนินกิจกรรมการใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ด้วยโครงการ Project-based Learning using ICT ว่า วิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เห็นถึงความสำคัญว่าจะต้องเตรียมความพร้อมของนักศึกษาครูที่จะใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ด้วยโครงการ ตามแนวคอนสตรักชันนิซึม (Constructionism) ให้กับนักเรียน ซึ่งวิธีการนี้เป็นการจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนจะเรียนรู้ผ่านการสร้างชิ้นงาน ลงมือปฏิบัติแล้วผลจากการทำชิ้นงานดังกล่าวทำให้เกิดความรู้ในเนื้อหาสาระ และเสริมสร้างทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 อาทิ การสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี ควบคู่กันไปด้วยบทบาทสำคัญที่มหาวิทยาลัยดำเนินงาน มีดังนี้

จัดอบรมให้กับนักศึกษาครูที่เตรียมออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เพื่อให้สามารถจัดกรรมตามแนวทางดังกล่าวได้
ติดตามผลนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยดูจากแผนการจัดการเรียนรู้ จากการนิเทศติดตาม โดยคาดหวังว่าอย่างน้อย 70% สามารถที่จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้
มีแผนที่จะบรรจุลงไปในหลักสูตรสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป เป็นหลักสูตรนำร่อง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการนำไปใช้ในหลักสูตรอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย

ผลที่ได้รับคือ เกิดการพัฒนานักศึกษาครู พบว่าเมื่อนักศึกษานำการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ไปใช้ในการฝึกสอน ทำให้นักเรียนสนุกในการเรียน เพราะว่าได้ลงมือปฏิบัติ และเมื่อนักเรียนได้ทำชิ้นงานด้วยไอซีทีแล้ว ทำให้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ เป็นการพัฒนานักเรียนในโรงเรียนได้ควบคู่กันไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรปภา อารีราษฎร์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผู้อำนวยการโครงการ ICT ตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า การดำเนินงานพัฒนาบทเรียนเพื่อเผยแพร่ผ่าน ระบบ MOOC มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้วางแผนการดำเนินงานพัฒนาบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน เยาวชน และชุมชน รวมทั้งพัฒนาบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ในรายวิชาของหลักสูตรที่เปิดสอนทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ โดยในระยะแรก มหาวิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตรอบรมขั้นตอนวิธีและการแก้ปัญหาทางคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย หน่วยการเรียนรู้ 3 หน่วย คือ หน่วยที่ 1 การฝึกกระบวนการคิดด้วยโปรแกรม Scratch จำนวน 10 เรื่อง หน่วยที่ 2 ขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหาทางคอมพิวเตอร์ จำนวน 10 เรื่อง และหน่วยที่ 3 การแก้ปัญหาโจทย์คอมพิวเตอร์ค่ายโอลิมปิกวิชาการ จำนวน 10 เรื่อง ซึ่งการจัดทำบทเรียนเพื่อการเรียนรู้ ได้ดำเนินการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ กิจกรรม และสื่อการเรียนรู้ โดยผู้สอนสร้างขึ้นร่วมกับผู้เรียน นำมาทดลองใช้ในเบื้องต้นกับกลุ่มผู้เรียน ก่อนนำสู่การเผยแพร่ต่อไป ทั้งนี้ กิจกรรม เนื้อหา สื่อและภาพที่นำเสนอในบทเรียน ผู้สอนได้สร้างขึ้นเพื่อการเรียนการสอนจากโปรแกรมที่เลือกใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ได้คัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลงมาจากส่วนใด

MSN on February 04, 2016, 03:55:10 PM
ตัวอย่างผลงาน
โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสนองพระราชดำริ : ไอซีทีส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


   ตัวอย่างผลงานนิทรรศการจัดแสดงผลงานของมหาวิทยาลัยเครือข่าย ผลงานของโรงเรียนที่มหาวิทยาลัยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ตลอดจนผลงานของนักเรียนในโครงการที่ได้ดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา

1)  เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
      และโครงงานไอทีสวนผักออนไลน์  โรงเรียนพุทธโกศัยวิทยา จ.แพร่
   
เนื้อหา:  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำเสนอเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัว ชุดควบคุมชื่อ GoGo Board เป็นอุปกรณ์ที่สามารถต่อเชื่อมเซ็นเซอร์ชนิดต่างๆ และเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ เป็นอุปกรณ์ที่มีแนวคิดต้นกำเนิดมาจาก MIT ในสหรัฐอเมริกา แต่ทำการพัฒนาวงจรและส่วนประกอบต่างๆ เองภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุปกรณ์นี้ช่วยให้เยาวชนเรียนรู้การสร้างนวัตกรรมสมองกลฝังตัวได้โดยง่าย มีภาษาคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย ทำให้นักเรียนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมมากกว่าการศึกษารายละเอียดทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง
โรงเรียนพุทธโกศัยวิทยา นำเสนอโครงงานไอทีสวนผักออนไลน์
   ได้ทำแปลงเกษตรทดลองปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ณ ศูนย์พุทธเกษตร ศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาโพธิวงศาจารย์  ซึ่งมีระยะห่างจากโรงเรียนมากกว่า ๓๐ กิโลเมตร จึงทำให้ไม่สะดวกที่จะรดน้ำทุก ๆ วัน  จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดในการแก้ไขปัญหาโดยจัดทำ เครื่องควบคุมระบบปิด-เปิดน้ำอัตโนมัติ  นี้ขึ้นมาเมื่อปี  ๒๕๕๖ และจากการเก็บข้อมูลของแบบจำลองดังกล่าวจึงนำมาสู่การขยายโครงงานสู่พื้นที่จริงในปี ๒๕๕๗ นี้ เพื่อกำหนดและควบคุมเวลาการรดน้ำตามเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อสภาพอากาศ และความชื้น รวมถึงประหยัดเวลาในการรดน้ำพืชผัก และค่าใช้จ่ายในดูแลพืชผักในแปลงเกษตร ณ ศูนย์พุทธเกษตร ศูนย์ปฏิบัติธรรมมหาโพธิวงศาจารย์


2)   กิจกรรมการใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ด้วยโครงการ (Project-based Learning using ICT)
       มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จ.กรุงเทพมหานคร 

เนื้อหา:  นำเสนอการดำเนินกิจกรรม การใช้ไอซีทีจัดการเรียนรู้ด้วยโครงการ (Project-based Learning using ICT) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ที่ขยายผลการดำเนินงานนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อเตรียมความพร้อมของครูยุคใหม่ในอนาคต บาทบาทสำคัญที่มหาวิทยาลัยดำเนินงานมีดังนี้
จัดอบรมให้กับนักศึกษาครูที่เตรียมออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เพื่อให้สามารถจัดกรรมตามแนวทางดังกล่าวได้ 
ติดตามผลนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยดูจากแผนการจัดการเรียนรู้ จากการนิเทศติดตาม โดยคาคาดหวังว่าอย่างน้อง 70%สามารถที่จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้
มีแผนที่ บรรจุลงไปในหลักสูตรสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป เป็นหลักสูตรนำร่อง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการนำไปใช้ในหลักสูตรอื่นๆในมหาวิทยาลัย

3)  โครงงานระบบเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าผ่านระบบเครือข่าย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๕๑ จ.บุรีรัมย์
     ผู้จัดทำ:  นายอภิสิทธิ์ เคารพวงษ์ชัย, นางสาวศิริลักษณ์ ลายพยัคฆ์, นายไชชยา ฐานะ

เนื้อหา: โครงงานนี้เพื่อนำเสนอแนวทางการออกแบบและจัดทำระบบเปิด ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าผ่านระบบเครือข่าย

โดยใช้ Raspberry Pi ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวประกอบด้วยหน้าเว็บควบคุมการเปิด ปิด อุปกรณ์ ไฟฟ้าผ่านระบบเครือข่าย สั่งงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่งผ่าน Raspberry Pi ไปยังรีเลย์ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้าและปฏิบัติตามคำสั่งที่เขียนโปรแกรม ปิด เปิดอุปกรณ์ไฟฟ้านั่น ซึ่งโครงงานนี้จะสามารถสร้างความสะดวกวบายและประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก
   
4) โครงงานรถยนต์เมาไม่ขับ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จ.พะเยา

     ผู้จัดทำ: นายอาริมภ์ ชาติหาญสุวรรณชัย, นายนันทพงษ์ พงศ์พนาไพศาล

เนื้อหา:    เนื่องจากการเสียชีวิตและการบาดเจ็บของประชาชนในช่วงเทศกาล อันเนื่องมาจากการขาดสติจากการดื่มสุราแล้วมาขับรถซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายโดยคนที่เดือดร้อนมักเป็นคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียต่างๆเช่น ทรัพย์สิน เสียชีวิต เป็นคนพิการเป็นต้น โดยมีสาเหตุจากการเมาสุราแล้วขับรถยนต์จากเหตุนี้ทางผู้จัดทำจึงเห็นความเสียหายจากการเมาแล้วขับจึงได้ทำการประดิษฐ์เครื่องตรวจจับปริมาณแอลกอฮอล์เพื่อให้สามารถตรวจวัดปริมาณของแอลกอฮอล์ของผู้ขับได้โดยยึดตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่กฎหมายกำหนดคือ 50 มิลลิกรัม ซึ่งเครื่องนี้จะสามารถลดจำนวนของผู้ที่เมาแล้วขับรถยนต์ได้จำนวนหนึ่งได้แล้วสามารถลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับได้