happy on January 22, 2016, 09:12:01 PM
ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ “11 ปี อุทยานการเรียนรู้TK park”
มุ่งพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในทุกภูมิภาค  เพิ่มโอกาสประชาชน  เข้าถึงห้องสมุดมีชีวิต


                 เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 13.00 น. ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์  ชั้น 8 ได้จัดกิจกรรมแถลงข่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK park ภายใต้แนวคิด “11th Year TK park : Dream Maker” ขึ้น พร้อมเสวนาในหัวข้อ “We are Dream Maker” กระบวนการสร้างฝัน สู่ห้องสมุดมีชีวิต  และแผนการขยายผลเครือข่ายสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยได้รับเกียรติจากตัวแทนเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ ในทุกภูมิภาคเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมเปิดตัวรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้คนใหม่ “ราเมศ พรหมเย็น” ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

                 นายราเมศ พรหมเย็น  รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับองค์กรที่มีส่วนสร้างความรู้ให้สังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ในทุกเพศทุกวัย และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยนับแต่จุดเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2548 อุทยานการเรียนรู้ได้ดำเนินงานตามภารกิจหลัก 3 ประการคือ สร้างและพัฒนาต้นแบบสิ่งเรียนรู้ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านการเรียนรู้ และเป็นเวทีเปิดให้เด็กและเยาวชนทั่วไปได้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้และสร้างสรรค์ อีกทั้งยังต่อยอดไปตามวิถีของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันนี้อุทยานการเรียนรู้ได้กลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่ปีนี้จะเป็นก้าวใหม่ในทศวรรษของการทำงาน โดยเป็นก้าวที่ต่อยอดและสืบสานจากพื้นฐานเดิมที่อุทยานการเรียนรู้ได้มุ่งมั่นสร้างและพัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบของ “ห้องสมุดมีชีวิต” ทั่วประเทศมากว่า 11 ปี


นายราเมศ พรหมเย็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้

                 “ทศวรรษที่ผ่านมา เราสามารถขยายผลสู่อุทยานการเรียนรู้เครือข่าย 34  แห่ง ในพื้นที่ 25 จังหวัดทั่วประเทศแล้วเราสร้างความฝันให้เกิดขึ้นเป็นความจริงได้ด้วยการร่วมมือกับชุมชนในแต่ละท้องถิ่น และในปีที่ 11 นี้ อุทยานการเรียนรู้มุ่งมั่นผนึกกำลังกับหน่วยงานท้องถิ่นทุกภาคส่วนของประเทศไทยในลักษณะเชิงรุกเพิ่มขึ้นอีกโดยสร้างแผนพัฒนาแหล่งเรียนรู้สู่ภูมิภาคในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” เดินหน้าพัฒนาต้นแบบแหล่งเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิตให้แก่หน่วยงานในท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยให้แก่ชาวไทยมากในทุกภูมิภาค โดยเป็นความรู้ใหม่ๆของโลกซึ่งหมุนอย่างรวดเร็วที่ผสานเข้ากับบริบททางวัฒนธรรมในทุกท้องถิ่นอย่างไม่แปลกแยก

                 การทำงานของอุทยานการเรียนรู้จึงไม่ใช่การสร้างห้องสมุด แต่เป็นสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการกระจายความรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น และใน พ.ศ. 2559-2560 นี้ อุทยานการเรียนรู้ได้วางแผนขยายเครือข่ายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เร็วๆนี้คือที่ จ.ร้อยเอ็ด โดยจะเปิดในเดือนกุมภาพันธ์ ต่อไปคือ จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.ปัตตานี

                 เราไม่ได้ทุ่มเทเงินทองไปสร้างตึก หน้าที่ของเราคือการวางแผนทางกายภาพ และแนวทางการทำงาน แต่ที่สุดแล้วความเป็นห้องสมุดมีชีวิตจะเกิดขึ้นตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น เพราะทุกครั้งที่ขยายเครือข่ายจะมีการทำสำรวจความต้องการของท้องถิ่น ในหลายพื้นที่มีการทำถึงขั้นประชาพิจารณ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้คนที่ใช้ชีวิตในชุมชนนั้นๆ ผมมองว่าจากหน่วยงานเล็กๆ สามารถขยายผลได้ขนาดนี้ระยะเวลาเพียง 11 ปี ถือเป็นความสำเร็จ”

                 นายราเมศยังกล่าวด้วยว่านอกจากการขยายเครือข่ายในเชิงกายภาพ อุทยานการเรียนรู้ยังปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ล่าสุดเพิ่งเปิดตัว TK Public Online Library โดยมีหนังสือให้เลือกอ่านผ่านแอปพลิเคชันมากกว่า 7,000 เล่ม นี่คือห้องสมุดสาธารณะออนไลน์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้


ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา

                 ด้านดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้กล่าวว่า อุทยานการเรียนรู้ TK park ที่เซ็นทรัลเวิลด์เป็นเสมือนจุดเริ่มต้น ทั้งในแง่ของวิธีคิดของห้องสมุดมีชีวิตและวิธีการทำงาน โดย 10 ปีที่ผ่านมาคือการสร้างรากฐานอย่างมั่นคง และตั้งแต่ปีที่ 11 นี้จะเน้นทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อร่วมสร้างฝันในทุกท้องถิ่นให้เป็นความจริง

                 “คนทำงานทุกคนคิดเสมอว่าเราจะต้องขยายผลออกไป จำกัดแค่กรุงเทพไม่ได้ การขยายผลสู่ภูมิภาคนั้นไม่ใช่การไปสร้างเอง แต่ทั้งหมดคือความตั้งใจของชุมชน เป็นความร่วมมือระหว่างกัน เราไม่ได้ไปสร้างสาขา แต่ท้องถิ่นคือเจ้าของและบริหารจัดการโดยท้องถิ่นเอง ซึ่ง 11 ปีที่ผ่านมาเราสร้างฐานทั้งหมดมาแล้ว ต่อจากนี้อุทยานการเรียนรู้จะรุกเพื่อที่จะให้สิ่งที่ฝันเป็นความจริงมากที่สุด โดยจะสร้างฝันร่วมกันกับทุกท้องถิ่นที่ที่เราจะขยายไปได้

                 อุทยานการเรียนรู้เริ่มต้นขยายผลครั้งแรกที่ จ.ยะลา ซึ่งเมื่อเก้าปีที่แล้วเป็นพื้นที่สีชมพู โดยทางนายกเทศมนตรีนครยะลาให้ความสนใจและประสานกันมาตั้งแต่ต้น ปัจจุบัน TK park ยะลาประสบความสำเร็จสูงสุด และกลายเป็นต้นแบบให้ท้องถิ่นอื่นๆ โดยเราให้คำปรึกษาการทำงานตามมาตรฐานของห้องสมุดที่มีชีวิตและเน้นความพร้อมของคน เพราะท้องถิ่นสำคัญที่สุด จะทำอะไรต้องดูบริบทของท้องถิ่นเป็นสำคัญ

                 เครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ทุกที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากคนในท้องถิ่นนั้น อาทิเช่น อุทยานการเรียนรู้  บ้านพรุ จ.สงขลา กับอุทยานการเรียนรู้ จ.สตูล ที่เด็กๆมารอเข้าคิวตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลาเปิดทำการ หรืออุทยานการเรียนรู้  จ. ตราด และ จ.ร้อยเอ็ด มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุในชุมชนกับเด็กๆ โดยเป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุมาช่วยถ่ายทอดทั้งความรู้และความเพลิดเพลินให้เด็กๆ ซึ่งมีส่วนช่วยลดช่องว่างระหว่างกันได้มากทีเดียว และยังมีการอบรมการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้นให้ผู้สูงอายุเช่นเดียวกับที่ TK park ส่วนกลาง ซึ่งทุกกิจกรรมได้รับผลตอบรับที่ดีมาก”

                 ด้านดร.กิตติภูมิ นามวงศ์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง จ.ลำปางกล่าวว่า หลังจากที่อุทยานการเรียนรู้ลำปางได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น   มาก่อนในจังหวัดลำปาง  นั่นคือชาวลำปางทั้งเด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชนและผู้สูงอายุ เรียกได้ว่าทุกช่วงวัยเกิดความตื่นตัวเป็นอย่างมาก ที่จะเข้ามาใช้บริการอ่านหนังสือและร่วมกิจกรรมต่างๆในอุทยานการเรียนรู้ลำปาง และนั่นก็ทำให้อุทยานการเรียนรู้ลำปางเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของคนในชุมชนอย่างแท้จริง








                 ขณะที่นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี เปิดเผยถึงอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีที่มีกำหนดเปิดในปลายพ.ศ. 2559ว่า ที่มาของการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์ของ 3 จังหวัดภาคใต้ ทำให้เด็กขาดโอกาสอย่างมากในเรื่องการอ่านและการเรียนรู้ ซึ่งการเกิดขึ้นของโครงการอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีจะทำให้เด็กๆ ได้มีความรู้อย่างเท่าเทียมทั้งด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการศึกษาวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาอย่างถ่องแท้

                 “เราหวังอย่างยิ่งว่า อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีจะกลายเป็นศูนย์กลางของเยาวชนในปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง เพราะที่นี่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาในการย้ายถิ่นฐานของผู้ปกครองและเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีตที่ผ่านมามักมีการส่งเด็กไปเรียนที่อื่นเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะช่วงวันหยุดที่เด็กๆจะไปเรียนที่ จ.สงขลา ประกอบกับการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ก็มีกรอบจำกัด การสร้างอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีจึงเป็นความพยายามที่จะดึงเยาวชนให้กลับมาศึกษาในบ้านเกิด ขณะเดียวกันก็พัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นคนดีต่อสังคม

                 การแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราคงไม่ได้แก้กันด้วยการใช้กำลัง การต้องไปสู้รบกัน เราคงต้องใช้เรื่องของการศึกษากับเศรษฐกิจควบคู่กันไป เพราะฉะนั้นถ้าเศรษฐกิจดีขับเคลื่อนได้ คนในพื้นที่ก็ต้องมีการศึกษาด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจด้วย”

                 ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา จ.ยะลาเปิดเผยว่า การที่ทางเทศบาลนครยะลาได้รับเกียรติให้เป็น TK ภูมิภาค ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าความภูมิใจคือTK park ยะลาได้กลายเป็นประตูที่เปิดไปสู่ความรู้ของผู้คนใน จ.ยะลา

                 “TK park ยะลาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดปัญญาให้กับคนในพื้นที่ เป็นพื้นที่กลางของการเรียนรู้ของเยาวชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เป็นพื้นที่กลางของการสร้างคนให้ยอมรับความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างยั่งยืนในอนาคตของพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครับ”

                 กิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี อุทยานการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิด “11th Year TK park : Dream Maker” จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 – 31 มกราคม 2559 อาทิ  Writer Talk จากฝันออนไลน์ สู่นักเขียนมืออาชีพ โดยกัลฐิดา, แสตมป์เบอรี่ และ กตัญญู สว่างศรี, TK Music Ed 2016  ฟังดนตรีจาก วงวัชราวลี, การเดินทางคือการเรียนรู้ โดย ภาณุ มณีวัฒนกุล กาญจนา พันธุเตชะ และนัท ศุภวาที,  พลังของ Online Activist  โดย วัชระ สุขชุม,  ธัญพร ศิริกังวาน, สาโรจน์ คุณาธเนศ    Startup อย่างไรให้ไปถึงฝัน โดย ชรัตน์ เพ็ชร์ธงไชย, อรนุช เลิศสุวรรณกิจ, เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ และ  Storytelling in the Dark  ละครเพื่อการเรียนรู้จากกลุ่ม After School Thailand

                 พิเศษสุด! กับโปรโมชั่น Dream Makerสมัครสมาชิกใหม่ รับส่วนลด 50% และต่ออายุสมาชิกเดิมได้ฟรี อย่ารอช้า  โอกาสดีๆ มีแค่วันที่ 21 - 31 มกราคม 2559 นี้เท่านั้นดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tkpark.or.th

                 แล้วมาลงมือ "ทำ" ความฝันให้กลายเป็นความจริงที่ “อุทยานการเรียนรู้ TK park” ด้วยกัน