Facebook on December 28, 2015, 02:48:35 PM
พิธีมอบรางวัล "วรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่" ครั้งปฐมฤกษ์ โชว์พลังเยาวชนในการขับเคลื่อนสังคมผ่านผลงานวรรณกรรม









          กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ด้วยความร่วมมือจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการวรรณกรรมของภูมิภาคอาเซียน จัดพิธีมอบรางวัล "วรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่" หรือ ASEAN Young Writers Award เป็นครั้งปฐมฤกษ์เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ 18 เยาวชนนักเขียนรุ่นใหม่จากทั้ง 10 ประเทศอาเซียนที่ได้สร้างผลงานอันเป็นเลิศทั้งในประเภท "เรื่องสั้นภาษาประจำชาติ" และ "เรื่องสั้นภาษาอังกฤษ" จนได้รับคัดเลือกจากจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมดรวม 1,459 ผลงาน

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลและแสดงความยินดีกับเยาวชนผู้ได้รับคัดเลือก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ บ้านพระยา-บ้านน้อย โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ พร้อมนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางบุศกร คงอุดม เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นักเขียนและกวีซีไรต์ แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน โดยมีนางสาวปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงาน รวมทั้งศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นางชมัยภร บางคมบาง ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเทศไทย ประเภทภาษาประจำชาติ รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเทศไทย ประเภทภาษาอังกฤษ และนางพยอม วลัยพัชรา ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงประชาชาติอาเซียนในฐานะเลขาธิการฯ ร่วมให้การต้อนรับ

          โครงการวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ หรือ ASEAN Young Writers Award จัดให้มีขึ้นในปี 2557 ที่ผ่านมาเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมค่านิยมการรักการอ่านของเยาวชนและคนไทยแล้ว และเป็นอนุสรณ์อันเป็นรูปธรรมของโอกาสที่กรุงเทพมหานครได้รับเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกเมืองหนังสือโลกและองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองหนังสือโลกลำดับที่ 13 และโอกาสฉลองครบรอบ 35 ปี รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ ในปีก่อนหน้านั้น โดยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากบุคคลสำคัญในวงการว่าเป็นเวทีวรรณกรรมระดับภูมิภาคที่เปิดโอกาสให้เยาวชนนักเขียนรุ่นใหม่ในอาเซียนได้แสดงศักยภาพ สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนนักเขียนและนักอ่านทั่วอาเซียน

          ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เอ็ดวิน นาตาซัน ธัมบู นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2522 ซึ่งเป็นรุ่นแรก และประธานคณะกรรมการตัดสิน "รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียนสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่" จากประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า "รางวัล ASEAN Young Writers Award นับเป็นความคิดริเริ่มที่ยิ่งใหญ่และให้คุณประโยชน์หลายประการ ทั้งด้านการส่งเสริมการผลิตผลงานวรรณกรรมในระดับอาเซียน และการเปิดโอกาสให้นักเขียนรุ่นเยาว์จากประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์"

          การประกวดระดับภูมิภาคนี้ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมสัมพันธภาพ ตลอดจนสร้างเสริมเครือข่ายนักเขียนและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในห้วงเวลาของการเปิดประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ จึงเปิดให้มีการส่งผลงานเป็นสองประเภท คือ ภาษาประจำชาติ และ ภาษาอังกฤษซึ่งใช้เป็นภาษากลางของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทภาษาประจำชาติ ทั้ง 10 ผลงานในการประกวดครั้งแรกนี้ ได้แก่ Berubahnya Aku โดย Abdul Hadi bin Mohamed จากประเทศบรูไน, The Kingdom of Cricket โดย Ma Chanpanha จากประเทศกัมพูชา, Jangan Tanya tentang Mereka yang Memotong Lidahku โดย Faisal Oddang จากประเทศอินโดนีเซีย, Make a Date with a New Lover โดย Phonephiloun Kham-inxou จากประเทศลาว, Di Hamparan Perada โดย Mohamad Shamsul Amin bin Md Yusof จากประเทศมาเลเซีย, Daily Ignorance โดย Saw Yu Nwe จากประเทศเมียนมา, Bisita โดย Lenin Carlos Macaraig Mirasol จากประเทศฟิลิปปินส์, Risalah Ikan Paus โดย Muhammad Khairool Haque bin Abdul Kadir จากประเทศสิงคโปร์, ประกายดอกไม้ไฟ โดย นายวรพล ถาวรวรานนท์ จากประเทศไทย และ Cù Lao Chàm Xanh โดย Hà Trang Vân จากประเทศเวียดนาม

          ส่วนผลงานเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทภาษาอังกฤษ มี 8 ผลงาน (เนื่องจากไม่มีผู้ได้รับรางวัลจากประเทศอินโดนีเซียและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ประกอบด้วย Through Thick and Thin โดย Nicole Chong Ming Jia จากประเทศบรูไน, I Repeat A Level โดย Oudom Heng จากประเทศกัมพูชา, The Boy Who Reached For the Sun โดย Zafirah Amalina binti Zulkipli จากประเทศมาเลเซีย, Welcome to Joe's โดย Tint Tint Sandi จากประเทศเมียนมา, Hatchlings and Lourd โดย Kyra Camille Castro Ballesteros จากประเทศฟิลิปปินส์, Idling โดย Samuel Ng Aik Siong จากประเทศสิงคโปร์, Daliyah Everlasting โดย นางสาวเชิญตะวัน สุวรรณพานิช จากประเทศไทย และ The Strangers โดย Nguyê?n Thi? Ngo?c Mai จากประเทศเวียดนาม

          ผลงานเรื่องสั้นทั้ง 18 เรื่องเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นเลิศทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ ถึงพร้อมด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์ และมีเนื้อหาสาระจรรโลงสังคม สามารถฝ่าด่านผ่านการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากประเทศไทยและจากนานาประเทศในอาเซียน

          นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ และอดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการตัดสิน ประเทศไทย ประเภทภาษาประจำชาติ เปิดเผยถึงความโดดเด่นในมิติทางสังคมของ "ประกายดอกไม้ไฟ" ซึ่งเป็นเรื่องสั้นชนะเลิศจากประเทศไทย ประเภทภาษาประจำชาติว่า "มีเนื้อหาที่สะท้อนถึงภาวะความรุนแรงในสังคมร่วมสมัย การกระทำต่อกันของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านโครงสร้างเรื่องที่มีการจัดวางได้อย่างลงตัว ด้วยโครงเรื่องย่อย ๆ ที่สะท้อนภาวะภายในตัวละคร ประกอบเข้าด้วยกันกลายเป็นโครงเรื่องใหญ่ที่มีพลัง พร้อมด้วยทำนองภาษาที่ให้ความสะเทือนอารมณ์สูง"

          ในโอกาสเดียวกัน รศ. สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ ประธานหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตรองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสิน ประเทศไทย ประเภทภาษาอังกฤษ กล่าวถึงเรื่อง "Daliyah Everlasting" ซึ่งเป็นเรื่องสั้นภาษาอังกฤษชนะเลิศจากประเทศไทย "เรื่องสั้นเรื่องนี้มีความโดดเด่นที่การเล่าเรื่องและการใช้ภาษาอย่างมีศิลปะ การนำเสนอเรื่องราวที่มีมิติซ้อนมิติอย่างน่าสนใจ อธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ในท่วงทำนองที่ไหลลื่นและเต็มเปี่ยมด้วยความสุนทรีย์"

          นอกจากโล่รางวัลเกียรติยศแล้ว ผู้ชนะการประกวด ASEAN Young Writers Award ยังได้รับเงินรางวัล ๆ ละ 1,000 เหรียญสหรัฐ และได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมสัมพันธ์กับตัวแทนเยาวชนจากชาติอาเซียน รวมถึงได้รับการตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ในภูมิภาคต่อไป ส่วนผู้ชนะเลิศชาวไทยจะได้รับเชิญให้เดินทางไปทัศนศึกษา ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยเยาวชนไทยผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการประกวดจำนวน 30 คน ยังมีโอกาสได้เข้าค่ายฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการเขียนกับศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนและกวีซีไรต์อีกด้วย