MSN on December 15, 2015, 02:33:09 PM
บลจ.กรุงไทยชวนลงทุน LT F- RMF โค้งสุดท้ายหลังดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลงกว่า 22%

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นักลงทุนที่ยังไม่ได้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในช่วงเวลานี้นับ เป็นจังหวะที่ดี และเป็นโค้งสุดท้ายสำหรับการลงทุนในปีนี้ เนื่องจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงกว่า 22% จากจุดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 1,615.89 จุด 

กองทุน LTF และ RMF ของบริษัทมีหลายกองทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนในระยะยาว เช่น กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว ( KTLF ) เป็นกองทุนที่เลือกลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มเทคโนโลยีฯ   

นอกจากนี้ ยังทยอยสะสมหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มขนส่ง การแพทย์ รวมทั้งหุ้นที่ได้รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่นกลุ่มปิโตรเคมี เป็นต้น จุดเด่นของกองทุนนี้มีการจ่ายเงินปันผล และผลการดำเนินงานย้อนหลังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ โดยผลตอบแทน ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2558 ย้อนหลัง 1 ปี -12.23% 3 ปี 8.85% และ5 ปี 40.76% ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐาน ย้อนหลัง 1 ปี-16.54% 3 ปี 0.26% และ 5 ปี 28.96%

ทั้งนี้หากผู้ลงทุนต้องการลงทุนในกองทุน LTF แต่รับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ บริษัทขอแนะนำ กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยาว 70/30 (KTLF70/30 ) เพราะเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไม่เกิน 70% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ส่วนกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ ( KT-WEQ RMF ) เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Templeton Global Fund ( Master Fund )โดยลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลก รวมถึงตลาดเกิดใหม่ เหมาะสำหรับการกระจายความเสี่ยงโดยกองทุนจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน Value Stock โดยนักลงทุนที่สนใจสามารถซื้อกองทุน LTF – RMF ผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย  หรือไปพบกันที่บูธธนาคารกรุงไทย ในงาน Thailand Smart Money วันที่ 18-20 ธันวาคม 2558 ณ Sky Hall ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
 
นางชวินดา กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส1 ปี 2559 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีความผันผวนอยู่ตามตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศ เศรษฐกิจสำคัญๆของโลกที่ออกมาโดยเฉพาะของสหรัฐฯ และจีน รวมถึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ยังคงไม่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนเข้ามา ทำให้ดัชนีแกว่งตัวออกด้านข้างในกรอบเดิมๆ ยังไม่กลับเป็นขาขึ้นโดยดัชนีจะกลับมายินเหนือ 1,400 จุด ได้หรือไม่ขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ หากฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดจะส่งผลบวก  แต่หากฟื้นตัวช้าตลาดมีแนวโน้มซบเซาไปถึงปลายปี 2559

ฝ่ายวิจัยของบริษัท คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจน่าจะค่อยๆฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2559 ซึ่งตลาดหุ้นน่าจะเห็นการขยับขึ้นก่อนเมื่อมีสัญญาณบ่งชี้การฟื้นตัวที่ดีทางเศรษฐกิจ สังเกตได้ที่หุ้นกลุ่มธนาคาร  ในขณะที่หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการประมูลงานโครงการภาครัฐยังคงมีแนวโน้มที่ดี รวมถึงกลุ่มที่ได้รับผลดีจากการรวมกลุ่มประเทศ CLMV และตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองที่จะออกมาเป็นปัจจัยผลักดันในทางบวก โดยมองกรอบการแกว่งตัวในไตรมาสแรกของปี 2559 ไว้ที่ 1,240-1,400

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตามองในไตรมาส1 ปี 2559 ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 23 มีนาคม 2559 โดยคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ย และธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะประชุม FOMC ในวันที่ 26-27 มกราคม 2559 และ 15-16 มีนาคม 2559 ซึ่งมีโอกาสในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมอีกรอบ รวมถึงการประชุมของธนาคารกลางยุโรป(ECB) ในวันที่ 21 มกราคม และ10 กุมภาพันธ์ 2559 คาดว่าจะมีการประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ( QE) เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังจับตามอง มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของจีน หากจีนฟื้นตัวจะทำให้มีแรงซื้อเข้ามาในกลุ่ม สินค้าโภคภัณฑ์ เข้ามาเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งในไตรมาส1/2559 เน้นไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงมีแนวโน้มที่ดีของวงจรการลงทุน ( Investment cycle)ของไทย กลุ่มการส่งออก หรือกลุ่มที่ได้รับผลดีจากการอ่อนค่าของเงินบาท กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่ม CLMV ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2559 จะอยู่ที่ 1,480 จุด