อีเอสอาร์ไอชี้โลกกำลังก้าวสู่ “ยุคแห่งการตื่นรู้ทางภูมิศาสตร์” ปักหมุดไทยจัดงานสัมมนา “The 11th Esri Asia Pacific User Conference” ครั้งยิ่งใหญ่แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปลุกภาครัฐและเอกชนหันใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศปฏิรูปฐานข้อมูลสู้ศึก AEC
อีเอสอาร์ไอเผยโลกกำลังก้าวสู่ "ยุคแห่งการตื่นรู้ทางภูมิศาสตร์ (Geo-Enlightenment)" หรือยุคที่ความรู้ทางภูมิศาสตร์จะสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตหรือประกอบธุรกิจ กระตุ้นทั่วโลกตระหนักถึงศักยภาพของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS) ล่าสุดเลือกประเทศไทยจัดงานสัมมนาวิชาการระดับเอเชียแปซิฟิก "The 11th Esri Asia Pacific User Conference" นำโดย มร.แจ็ค แดนเจอร์มอนด์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ อิงค์ และบุคคลสำคัญของโลกด้านการพัฒนาศาสตร์แห่งภูมิสารสนเทศ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านภูมิศาสตร์ ปลุกภาครัฐและเอกชนหันใช้จีไอเอสเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจเตรียมพร้อมรับมือ AEC ที่กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการปลายปีนี้
อีเอสอาร์ไอ (Esri) ผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศหรือ GIS (Geographic Information System) ปักหมุดประเทศไทยนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านระบบภูมิสารสนเทศในงานสัมมนาเชิงวิชาการนานาชาติประจำปี "The 11th Esri Asia Pacific User Conference" รวบรวมบุคลากรจากองค์กรต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร่วมงานเกือบ 1,000 คน พร้อมเผยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันก้าวล้ำมากกว่า30 หัวข้อ ไม่ว่าจะเป็น กรณีศึกษาการประยุกต์ใช้งานจริงของทั้งภาครัฐและเอกชน การนำจีไอเอสมาใช้ในงานทางภาครัฐในระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมถึงหัวข้อสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น พร้อมด้วยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ "Applying Geography Everywhere" โดย มร.แจ็ค แดนเจอร์มอนด์ (Mr.Jack Dangermond) ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ อิงค์ และบุคคลสำคัญของโลกด้านการพัฒนาศาสตร์แห่งภูมิสารสนเทศ
มร.แจ็ค แดนเจอร์มอนด์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ อิงค์ (สหรัฐอเมริกา) บรรยายพิเศษบนเวทีในพิธีเปิดงานว่า "ภูมิสารสนเทศ (GIS) ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นไปของโลก และ 'ความเข้าใจ' นี้เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ค้นพบปัญหาและสามารถค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น การบริโภคหรือใช้ทรัพยากรอย่างเกินขีดจำกัด ปัญหาของห่วงโซ่การผลิตหรือการบริโภคที่ไม่เป็นมิตรต่อแนวคิดด้านความยั่งยืน มลภาวะต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือแม้แต่ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม เมื่อองค์กรประยุกต์ใช้ความรู้ความเข้าใจทางภูมิสารสนเทศนี้ จะทำให้องค์กรได้เห็นทุกแง่มุมของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นระบบนำไปสู่การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่จำเป็นได้อย่างชาญฉลาด ยกตัวอย่างเช่น การประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อศึกษารูปแบบการเดินทางของผู้อพยพในทวีป
แอฟริกามายังตอนใต้ของทวีปยุโรปเพื่อสามารถให้การช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษารูปแบบการแพร่กระจายของเชื้ออีโบลาเพื่อหาแนวทางในการป้องกัน ตลอดจนการศึกษาโครงสร้างทางภูมิศาสตร์เพื่อสร้างการคมนาคมขนส่งสาธารณะใหม่ในกรุงเทพฯ เป็นต้น"
"ตลอดเวลาที่ผ่านมา อีเอสอาร์ไอมีภารกิจหลักในการผลักดันเทคโนโลยีจีไอเอสให้เข้าถึงองค์กรทุกระดับ ซึ่งในปัจจุบันนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชนหลายแห่งทั่วโลกต่างหันมาใช้จีไอเอสเพื่อนำข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศไปวิเคราะห์ในการวางแผนเชิงนโยบายด้านต่างๆ ซึ่งอีเอสอาร์ไอเห็นว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ "ยุคแห่งการตื่นรู้ทางภูมิศาสตร์ (Geo-Enlightenment)" หรือยุคที่ความรู้ทางภูมิศาสตร์จะสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตหรือประกอบธุรกิจใดๆ ก็ตาม เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนเริ่มหันมายอมรับในศักยภาพของวิชาภูมิศาสตร์หรือเทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศว่าเป็นหัวใจสำคัญเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะในยุคแห่งการปฏิรูป"
"เพื่อตอบรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อีเอสอาร์ไอจึงกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจทั่วโลกในปีหน้า โดยจะมุ่งมั่นผสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้กับโลก สร้างความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อค้นหานวัตกรรมที่รองรับผู้ใช้งานทุกคน ให้การสนับสนุนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (NGOs) ทั้งซอฟต์แวร์ฟรีและการฝึกสอนเพื่อให้มีศักยภาพเพียงพอในการดำเนินการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาทางวิชาชีพด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านหนังสือหรือสื่อออนไลน์ โดยภายในปีนี้จะมีการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทุกรูปแบบบนทุกแพล็ตฟอร์ม นอกจากนี้ยังมีแผนการส่งเสริมความรู้ทางด้านจีไอเอสให้คนรุ่นใหม่ อย่างนักเรียน นักศึกษา รวมถึงงานสัมมนาวิชาการอย่าง User Conference ที่จัดขึ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน"มร.แจ็คกล่าวเสริม
ด้าน นายไกรรพ เหลืองอุทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการประยุกต์ใช้จีไอเอสในประเทศไทยว่า "ภาครัฐได้มีการขยับตัวในการปรับใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมากขึ้น ในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น การโซนนิ่งการเกษตร การจัดทำแนวเขตที่ดินรัฐแบบบูรณาการ การจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น ส่วนภาคเอกชน จากเดิมที่มีการใช้เทคโนโลยีจีไอเอสในวงจำกัดเพียงไม่กี่อุตสาหกรรม แต่ในปีนี้จะเห็นได้ว่า บริษัทเอกชนหลายแห่งให้ความสำคัญกับการนำจีไอเอสมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มในการลงทุนด้านจีไอเอสเพิ่มขึ้นทั้งด้านบุคลากร ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในวันที่ 31 ธันวาคมนี้อีกด้วย
โดย ทิศทางการดำเนินธุรกิจของอีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จะมุ่งไปสู่การให้การสนับสนุนโครงการของภาครัฐ โดยโครงการของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของอีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) ได้แก่ 1) ฐานข้อมูลเพื่อการวางผังเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2) ระบบแผนที่อัตโนมัติ 3) การขยายส่วนต่อของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบจำหน่ายไฟฟ้า เป็นต้น
การขยายตลาดจีไอเอสไปยังภาคเอกชนมีเพิ่มมากขึ้น ด้วยการนำเสนอโซลูชัน
1) GIS for Property Valuation โดยเน้นไปที่ธุรกิจสถาบันการเงินการธนาคาร ในการใช้ข้อมูลแผนที่เพื่อวิเคราะห์สภาพพื้นที่ ขนาด มูลค่า และราคากลางของสินทรัพย์ เพื่อนำมาประเมินราคาหลักประกันในการปล่อยสินเชื่ออย่างสมเหตุผล ลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้ปริมาณงานที่ได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น
2) SalesMaster เหมาะสำหรับธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ช่วยบริหารทีมขายและดูแลลูกค้า พร้อมระบุตำแหน่งลูกค้าบนแผนที่เพื่อง่ายต่อการติดตามและตรวจสอบ อีกทั้งยังสามารถจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้องกับการขายต่างๆ เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์การขายและการตลาดให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยทั้งสองโซลูชั่นนี้มาในรูปแบบของโมบายแอพพลิเคชันที่พร้อมให้ใช้งานแล้ว
อีกหนึ่งความตั้งใจที่อีเอสอาร์ไอทั่วโลกให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากรด้านภูมิสารสนเทศเริ่มตั้งแต่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ด้วยการจัดกิจกรรม วันแห่งภูมิสารสนเทศนานาชาติ (GIS Day) ในวันพุธที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปีขึ้น ในเมืองไทยร่วมกับอีก 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้นักเรียนได้สัมผัสกับข้อมูลแผนที่และแนวคิดการจัดการข้อมูลทางภูมิศาสตร์ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนในการศึกษาต่อด้านภูมิศาสตร์เพื่อเป็นบุคลากรสำคัญในด้านภูมิสารสนเทศของประเทศชาติในอนาคต โดยในประเทศไทยจัดขึ้นพร้อมกัน ณ สถาบันการศึกษา 10 แห่งทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,000 คนในแต่ละปี นอกจากนี้ อีเอสอาร์ไอยังมุ่งสร้างความรู้ด้านภูมิสารสนเทศให้กับภาคธุรกิจไทย อย่างการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับเอเชียแปซิฟิก "The 11th Esri Asia Pacific User Conference" ในครั้งนี้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการประยุกต์การใช้งานด้านเทคโนโลยีกับผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้งภายในประเทศและนานาชาติอีกด้วย"
อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา The 11th Esri Asia Pacific User Conference ในครั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่และตำแหน่งของไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค รวมถึงเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการปรับใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีคุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด อันจะสามารถพาประเทศก้าวขึ้นสู่ผู้นำแห่งอาเซียนในอนาคต