MSN on November 10, 2015, 09:17:03 AM
กระทรวงวิทย์ / สวทช. ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ และ มทร.ล้านนา ลำปาง จัดงานเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว 6 สายพันธุ์ใหม่ ตั้งเป้าปี ’59 ขยายผลเทคโนโลยีถั่วเขียวสู่ภาคอุตสาหกรรม













(8 พฤศจิกายน 2558) ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา ลำปาง - สวทช. ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ และ มทร.ล้านนา ลำปาง จัดงาน "วันเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว" ในโอกาสครบกำหนดวันเก็บเกี่ยวทำการผลิตขยายเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ 6 สายพันธุ์จำนวน 7 ไร่ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ราว 1 ตัน ตั้งเป้าปี 2559 สามารถผลิตขยายเมล็ดพันธุ์ใหม่ให้เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 500 ไร่ในจังหวัดต่างๆ และขยายผลเมล็ดพันธุ์ดีแก่เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดถั่วเขียวเป็นพื้นที่กว่า 7,700 ไร่ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมแปรรูปจากถั่วเขียว โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขยายผลร่วมกับเกษตรกรต่อไป เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร และเครือข่ายพันธมิตรสถาบันการศึกษาต่างๆ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ด้วยวิกฤตปัญหาภัยแล้งในปัจจุบันและแนวโน้มอันจะเกิดในอนาคตนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องวางแผนและเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการเลือกชนิดพืชให้เหมาะสมในแหล่งผลิต โดยคำนึงถึงการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในการผลิตพืช รวมทั้งการเชื่อมโยงการผลิตสู่การตลาดและอุตสาหกรรมการแปรรูปอย่างครบวงจร เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่ม และความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้ถั่วเขียวเป็นวัตถุดิบ"ถั่วเขียว" เป็นพืชทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร เพาะปลูกง่าย อายุการเก็บเกี่ยวเร็วประมาณ 65-70 วัน การปฏิบัติดูแลรักษาง่าย เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ด้วยวงจรชีวิตที่เป็นพืชอายุสั้น เป็นพืชทางเลือกของเกษตรสำหรับการปลูกทดแทนข้าวนาปรัง ปลูกก่อนข้าวโพดในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ใช้ปลูกก่อนหรือหลังการทำนาหรือทำไร่ ช่วยตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืช ช่วยบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตรึงไนโตรเจนได้ดี สามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดให้ปริมาณไนโตรเจนสูง”

ปี 2558 ประเทศไทยมีพื้นที่ผลิตถั่วเขียวประมาณ 829,145 ไร่ มีความต้องการเมล็ดพันธุ์โดยประมาณ 4,146 ตัน (คิดที่อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัมต่อไร่) แต่รัฐผลิตได้ 617 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของความต้องการเมล็ดพันธุ์ทั้งประเทศ ราคาเมล็ดพันธุ์ในตลาดทั่วไปประมาณ 60 - 70 บาท/กิโลกรัม (กรมวิชาการเกษตรจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ 40 บาท/กิโลกรัม) ผลผลิตถั่วเขียวมีตั้งแต่ 117 - 300กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ การดูแลจัดการ ความต้องการใช้ผลผลิตถั่วเขียวในประเทศประมาณ 100,000 ตันต่อปีโดยประเทศไทยมีโรงงานแปรรูปถั่วเขียวรายใหญ่ๆ ประมาณ 4 โรง ซึ่งมีกำลังการผลิตปีละ 15,000 - 20,000 ตันต่อปี ที่เหลือเป็นโรงงานขนาดกลางและเล็กอีกกว่า 10 โรงงานถั่วเขียวใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งวุ้นเส้น เพาะถั่วงอก และประกอบอาหารอื่นๆราคาผลผลิตที่รับซื้อในท้องตลาดประมาณ 34-38 บาท (ปี 2558) ตลาดนำเข้าถั่วเขียวที่สำคัญคือ พม่า ส่วนตลาดในการส่งออกที่สำคัญ เช่น จีน ซึ่งมีศักยภาพในการรับซื้อได้อีกจำนวนมาก

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสวทช.กล่าวว่า“ปี 2548-2554 สวทช. สนับสนุน ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้ทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพ เพื่อพัฒนาพันธุ์ถั่วเขียวไทย จากผลผลิตของโครงการทำให้ได้ถั่วเขียวสายพันธุ์ดี 6 สายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิต 250-300 กิโลกรัมต่อไร่ จุดเด่นของถั่วเขียวสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาคือ เป็นพันธุ์เหมาะกับการปลูกในฤดูแล้ง ขนาดเมล็ดโต ต้านทานต่อโรคใบจุด โรคราแป้ง ซึ่งจะเป็นพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกได้ต่อไป โดย สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร  และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ได้วางแผนการขยายผลเทคโนโลยีถั่วเขียว 2 รูปแบบ คือ 1) การทดสอบพันธุ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพันธุ์และการผลิตสู่เกษตรกร เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของพันธุ์แต่ละพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการให้ความรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีแก่เกษตรกร เช่น ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ในการทดสอบในพื้นที่ 5 จังหวัด ในพื้นที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิษณุโลก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ศูนย์วิจัยพืชไร่เพชรบูรณ์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ และ สหกรณ์การเกษตรแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก และร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรทดสอบพันธุ์ในแปลงเกษตรกร เช่น ในพื้นที่ จ.อุทัยธานี และพื้นที่อื่นๆ โดยจะเริ่มดำเนินการปลูกในเดือนธันวาคม 2558 นี้ 2) การผลิตขยายเมล็ดพันธุ์ และถ่ายทอดพันธุ์ให้เกษตรกรในวงกว้าง และเชื่อมโยงกับตลาดและภาคอุตสาหกรรม โดยดำเนินการขยายผลผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ และเชื่อมโยงกับโรงงานผลิตวุ้นเส้นถั่วเขียว บ.สิทธินันท์ จำกัด”

“เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2559 คาดว่าจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 500 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ อุทัยธานี นครปฐม เป็นต้น และขยายผลเมล็ดพันธุ์ดีนี้ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดถั่วเขียว เป็นพื้นที่ 7,700 ไร่โดยพื้นที่เป้าหมาย เช่น เพชรบูรณ์อุทัยธานี พิษณุโลก สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 800 ครอบครัวหรือราวๆ 4,000 คน สามารถส่งเมล็ดถั่วเขียวจำหน่ายแก่โรงงานแปรรูปวุ้นเส้นถั่วเขียวจำนวน 1,500 ตัน”ดร.ทวีศักดิ์กล่าวสรุป
« Last Edit: November 10, 2015, 09:23:38 AM by MSN »