กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยข้อเปรียบเทียบเชิงกฎหมาย 4 ด้าน
ไม่หวั่นการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในเวที AEC
การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 นี้เป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยในการขยายการลงทุนเข้าไปยังประเทศสมาชิก AEC โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและมาตรฐานมลพิษอุตสาหกรรมที่หน่วยงานกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศกำหนดไว้ ซึ่งในปัจจุบันมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของข้อกำหนดตามการพัฒนาอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมตระหนักถึงความรับผิดชอบในการช่วยเหลือและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถเข้าไปดำเนินการจัดตั้งโรงงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน และสามารถควบคุมดูแลมลพิษอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ของแต่ละประเทศอย่างเคร่งครัด จึงได้ดำเนิน “โครงการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ กฎ ระเบียบ ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย วัตถุอันตรายและสารเคมี ที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยปัจจุบันได้ทำการศึกษาแล้วเสร็จ 5 ประเทศคือ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และ เมียนมาร์ จนได้ ผลการเปรียบเทียบกฎระเบียบข้อบังคับ 4 ด้านสำคัญ ดังนี้ 1. ด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ทุกประเทศที่ศึกษารวมถึงประเทศไทยด้วย มีกระทรวงสิ่งแวดล้อมหรืออาจเรียกชื่อต่างกันในแต่ละประเทศเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบสูงสุด ซึ่งในส่วนของประเทศไทยยังมีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมอีกหน่วยงานหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่าบางประเทศมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยหน่วยงานท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายของตนเองได้ เช่น อินโดนีเซีย ท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายท้องถิ่นบังคับใช้ได้เอง สปป.ลาว มีการมอบอำนาจให้ท้องถิ่นอนุมัติและอนุญาตโครงการด้านสิ่งแวดล้อมบางประเภทได้ เวียดนาม คณะกรรมการสภาประชาชน จังหวัด สามารถอนุมัติโครงการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดของตนได้ 2. ด้านความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อนำกฎหมายแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกัน พบว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คน ต้องจัดให้มีบุคลากรด้านความปลอดภัยประจำที่โรงงาน และ เวียดนามได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คน ต้องจัดให้มีบุคลากรด้านความปลอดภัยประจำที่โรงงาน นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีกฎหมายอาชีวอนามัยเฉพาะด้าน และกฎหมายลำดับรอง ด้านความปลอดภัยในแต่ละด้านมากที่สุด เช่น ความปลอดภัยในสภาวะการทำงาน การทำงานกับเครื่องจักร หม้อไอน้ำ ระบบไฟฟ้า และการป้องกันอัคคีภัย เป็นต้น 3. ด้านวัตถุอันตรายและสารเคมี พบว่าแต่ละประเทศมีระบบบริหารจัดการด้านนี้คล้ายคลึงกัน โดยพิจารณาจากปริมาณการผลิต การใช้และนำเข้าสารเคมี รวมถึงความเป็นอันตรายของสารนั้นๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดแนวทางการบริหาร ซึ่งสารเคมีชนิดเดียวกันอาจมีการควบคุมไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ปัจจุบัน กัมพูชาและเมียนมาร์ มีเพียงกฎหมายควบคุมสารเคมีสำหรับเกษตรกรรมแต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ส่วน สปป.ลาวอยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายวัตถุอัตรายและสารเคมี สำหรับ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายและสารเคมีด้วยระบบ GHS หรือ Globally Harmonized System of Classification and Labeling of Chemicals คือระบบสากลการจัดกลุ่มความเป็นอันตรายและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก 4. กฎระเบียบข้อบังคับด้านการลงทุน เมื่อพิจารณาการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับการประกอบกิจการของชาวต่างชาติในประเทศที่ได้ทำการศึกษา พบว่าส่วนใหญ่นักลงทุนชาวต่างชาติไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ แต่สามารถเช่าระยะยาวได้ ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและมิใช่ภาษีอากร ตลอดจนหลักประกันและความคุ้มครองมีรูปแบบคล้ายกัน คือ ต้องยื่นขอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง จากการเปรียบเทียบกฎระเบียบข้อบังคับทั้ง 4 ด้านดังกล่าว กรอ.แนะนำว่า ผู้ประกอบการควรติดตามความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายในแต่ละประเทศที่มีการปรับปรุงอยู่เสมอ ส่วนในการลงทุนจริงผู้ประกอบการอาจใช้บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายช่วยดำเนินการในรายละเอียด เนื่องจากแต่ละประเทศมีขั้นตอนและการตีความบังคับใช้กฎหมายแตกต่างกัน และในปีงบประมาณ 2559 กรมโรงานอุตสาหกรรมจะทำการศึกษาเพิ่มเติมอีก 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน รวมทั้งจีน ณี่ปุ่น เกาหลีใต้ ภายใต้ “โครงการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ กฎ ระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย วัตถุอันตรายและสารเคมีที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยในการลงทุนและแข่งขันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้อยู่ในระดับเดียวกัน เกิดการแข่งขันและพัฒนาอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของอุตสาหกรรมสีเขียวได้อย่างยั่งยืน ดร.พสุ กล่าวสรุป สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนธิสัญญาและยุทธศาสตร์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-202-4108 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th