happy on October 29, 2015, 06:52:53 PM
“ปลัดอาทิตย์ฯ” รับหนังสือคัดค้านคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯกรณีเหมืองทองคำ
ยันนำผลการตรวจสอบฯ ที่ผ่านมาตรวจพิสูจน์ คาดใช้เวลาไม่นาน

                นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท  อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้รับหนังสือคัดค้านการแต่งตั้งคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว จากตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ 5 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ (พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สระบุรี และลพบุรี) และหนังสือของเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ พร้อมเปิดเผยว่า การทำงานของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ เพื่อต้องการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานราชการจากส่วนกลางที่เกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สถาบันการศึกษา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม

                “การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการ 5 ฝ่ายที่เป็นชุดระดับพื้นที่ โดยเราจะนำผลการตรวจสอบที่ผ่านมาทุกชิ้นมาตรวจพิสูจน์ร่วมกันซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานนัก ในฐานะที่ตนเองเป็นประธานร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าจะทำงานอย่างตรงไปตรงมาไม่ตั้งธงไว้ในใจ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีข้อเท็จจริงและคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์รองรับ พร้อมทั้งมีมาตรการ ข้อเสนอแนะในการแก้ไขด้วย และขอให้วางใจได้ว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการช่วยเหลือดูแลทุกราย ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปจะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ขอโอกาสให้คณะกรรมการฯที่รัฐมนตรีฯแต่งตั้งขึ้นได้ทำงานก่อน ซึ่งหากมีการเริ่มทำงานแล้วก็จะเปิดโอกาสประชาชนที่มีข้อสงสัยได้ซักถามตลอดเวลา” ปลัดอาทิตย์ กล่าว

                ด้าน นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ ตัวแทนชาวบ้าน 5 จังหวัด กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการฯ คือการกลับไปตั้งต้นใหม่ จึงเป็นการเสียเวลา ทำงานซ้ำซ้อน และไม่มีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ อีกทั้งในเรื่องเอกสารแนบท้าย ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด การมาครั้งนี้ก็เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย และขอเวลาเพื่อให้คำตอบกับชาวบ้านภายใน 7 วัน

                ขณะเดียวกัน น.ส.สื่อกัญญา ธีรชาติดำรง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ป่วยฯ และชาวบ้านจากจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ ราว 20 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายผู้ป่วยฯ โดยระบุว่า จากรายชื่อของคณะกรรมการชุดดังกล่าว รายชื่อในส่วนของชาวบ้านไม่เป็นไปตามที่เสนอจากจังหวัดละ 3 คน เหลือเพียงจังหวัดละ 1 คน โดยได้ส่งชื่อมาพิจารณา 21 รายชื่อ เพราะเกรงว่าข้อมูลที่ได้รับจะไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงขอให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว และชาวบ้านบางส่วนก็ต้องการอพยพออกจากพื้นที่ด้วย