KTAM ขายตราสารหนี้ 6 เดือนชู 1.50% ต่อปี
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้บริษัทเปิดจำหน่าย 2 กองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 66 ( KTFF66 ) เสนอขายวันที่ 14-20 ตุลาคม 2558 อายุ 6 เดือน เน้นลงทุนในเงินฝากประจำ China Construction Bank ( Asia ) , เงินฝากประจำ Bank of China , MTN
ที่ออกโดย Standard Bank of South Africa และ MTN ที่ออกโดย BLADEX ในสัดส่วน 88% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน บมจ.บัตรกรุงไทย ผลตอบแทนประมาณ 1.50 % ต่อปี
ส่วนกองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ทอินเวส 6 เดือน1 (KTSIV6M1) เสนอขายรอบใหม่( Roll Over ) ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน บมจ.บัตรกรุงไทย , บจ.บีเอสแอล ลีสซิ่ง , บจ.หลักทรัพย์เคที ซีมิโก้ และบมจ.ราชธินีลิสชิ่งในสัดส่วน 88% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ผลตอบแทนประมาณ 1.50 % ต่อปี
สำหรับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ มีการปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุตามแรงซื้อกลับของนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วงต้นสัปดาห์อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงขายทำกำไรเพื่อนำเงินกลับไปลงทุนในหุ้น ก่อนจะมีแรงซื้อกลับในช่วงปลายสัปดาห์ หลังเงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาคและมีกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติกลับมาซื้อตราสารหนี้ทั้งของไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิจำนวน 34,107 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุจากแรงขายทำกำไรเพื่อย้ายเม็ดเงินไปลงทุนในหุ้น หลังตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐ ( Fed) ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ประกอบกับรายงานการประชุม Fed เมื่อวันที่ 16-17 กันยายน 2558 ยังระบุว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลกอาจกดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเผชิญความเสี่ยงช่วงขาลงและ Fed ยังต้องการดูแนวโน้มเงินเฟ้อก่อนตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 bps.มาอยู่ที่ 0.65% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12 bps. มาอยู่ที่ 1.41% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13 bps.มาอยู่ที่ 2.12% ต่อปี
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้จะเป็น แนวทางส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ทิศทางของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ และการเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ต่างประเทศ