MSN on October 13, 2015, 01:45:35 PM
ปภ. และ สภากาชาดไทย จัดกิจกรรมการจัดการภัยพิบัติอาเซียนและวันลดภัยพิบัติสากล ประจำปี พ.ศ. 2558

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับ สภากาชาดไทย  สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ และหน่วยงานเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมเนื่องในวันการจัดการภัยพิบัติของอาเซียนและวันลดภัยพิบัติสากล ประจำปี 2558 ในวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 ณ ลานกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

   พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับ สภากาชาดไทย สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) สำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center: ADPC) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงานวันการจัดการภัยพิบัติอาเซียน หรือ ASEAN Day for Disaster Management (ADDM) โดยคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน หรือ ASEAN Day for Disaster Management (ADDM) ซึ่งตรงกับวันลดความเสี่ยงภัยพิบัติสากล(International Day for Disaster Reduction, IDDR) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริม การมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติอย่างเข้มแข็ง สำหรับการจัดงานเนื่องในวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียนและวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล ประจำปี พ.ศ. 2558 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะ ผู้ประสานงานหลักของประเทศไทยในคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ได้จัดกิจกรรมดังกล่าว ภายใต้แนวคิด “ASEAN is Resilient as One” หรือ “อาเซียนเข้มแข็ง พร้อมรับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่ว อย่างยั่งยืนและเป็นหนึ่งเดียว” เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ รวมถึงร่วมผลักดันกลไกการจัดการภัยพิบัติอาเซียนให้เป็นระบบอย่างเป็นรูปธรรม

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ดังนี้ ประการแรก เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างความตระหนัก ด้านความปลอดภัย และปลูกฝังจิตสานึกประชาชนในการร่วมกันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ประการที่สอง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในการเตรียมพร้อมรับมือและจัดการภัยพิบัติ ในระดับชาติและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ


สำหรับกิจกรรมสำคัญในการจัดงาน ประกอบด้วย การกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล การเปิดตัวหนังสือของศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) การแสดงดนตรีและมินิคอนเสิร์ต การเสวนาเรื่องการสร้างความยั่งยืน (Resilience) และภูมิปัญญาชาวบ้านในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การเปิดตัวโครงการนวัตกรรมในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการแสดงของเยาวชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติ และกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วน ตระหนักถึงสภาพความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมพร้อมรับมือและจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

พลโท นายแพทย์อำนาจ  บาลี  ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ในฐานะผู้แทนจากสภากาชาดไทย  ได้กล่าวว่า  สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ซึ่งมีภารกิจหลักในการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยอย่างครบวงจร ทั้งการเตรียมความพร้อมในระยะก่อนเกิดภัย การช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยในระยะเกิดภัย และการฟื้นฟูหลังเกิดภัย ได้ให้ความสำคัญของการดำเนินงานด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและจัดให้มีกิจกรรมวันลดภัยพิบัติสากลเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่สภากาชาดไทยร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน ร่วมแรง ร่วมใจกันจัดงานนี้ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในแต่ละปีจะมีการกำหนดประเด็นการจัดงานที่แตกต่างกันไป เช่น ปี 2555(2012) เน้นกลุ่มสตรีและเด็ก ปี 2556(2013) เน้นกลุ่มผู้พิการ  และปี 2557 (2014) เน้นกลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับในปี 2558 นี้ UNISDR กำหนดประเด็นการจัดงานวันลดภัยพิบัติสากล คือ ความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งบอกเหตุทางธรรมชาติเกี่ยวกับภัยพิบัติ ซึ่งถือเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งของทุกคน ทุกชุมชนแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่น ที่ใช้ในการสังเกต บอกเหตุ ถ่ายทอด สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยการจัดงานในครั้งนี้หวังว่าจะช่วยให้ประชาชนทุกคนปลอดภัยจากภัยพิบัติได้ในระดับหนึ่ง
« Last Edit: October 14, 2015, 04:00:08 PM by MSN »