FC on September 17, 2015, 08:24:56 AM
โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” พร้อมเปิดฉากการแสดง ๗ พ.ย. – ๖ ธ.ค. ศกนี้







          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงรับสั่งให้มีการจัดการแสดงโขนขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่ออนุรักษ์สมบัติชาติ "โขน" วิจิตรนาฏศิลป์ไทยให้คงอยู่สืบไป ดังนั้นในปี ๒๕๕๘ ทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทเรื่อง รามเกียรติ์ ชุด "ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ" มาจัดแสดง ในระหว่างวันที่ ๗ พฤศจิกายน – ๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้มีส่วนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมคัดเลือกเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อร่วมแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในปีนี้ โดยได้มีการจัดแถลงข่าวพร้อมชมตัวอย่างการแสดง ตอนอินทรชิตเสียพิธี แปลงกายเป็นพระอินทร์ พร้อมด้วยระบำพรหมาศ ณ ห้องเทเวศร์ อาคารหอประชุม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในวันอังคารที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๘

          ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และผู้อำนวยการผลิตการจัดแสดงโขน ชุด "ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ" กล่าวว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบสานและอนุรักษ์ "โขน" ซึ่งถือเป็นสมบัติและเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ และเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณ ที่ผ่านมามูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขน รามเกียรติ์ ๖ ตอนด้วยกัน ได้แก่ ชุด "ศึกพรหมาศ", ชุด "นางลอย", ชุด "ศึกมัยราพณ์", ชุด "จองถนน", ชุด "ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์" และ ชุด "ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ" จนประสบความสำเร็จและได้รับการเรียกร้องให้เพิ่มรอบสำหรับผู้ที่พลาดชมการแสดง ซึ่งทุกครั้งที่มีการแสดงโขนจะมีแบบสอบถามให้ผู้ชมติชมว่าชื่นชอบเรื่องใด ตอนไหน และจะมีการประมวลเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นจะทรงเลือกตอนจากข้อมูลแบบสอบถามด้วยความสนพระราชหฤทัย เนื่องจากพระองค์ทรงทราบตอนของรามเกียรติ์ตลอดทั้งเรื่อง ในปี ๒๕๕๘ ทรงได้เลือกโขน ชุด "ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ" มาจัดแสดงใหม่ หลังจากที่ผู้ชมได้เคยชมความประทับใจไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ และ พ.ศ.๒๕๕๒ แต่ในครั้งนี้ได้นำมาปรับปรุงและจัดการแสดงขึ้นใหม่ โดยคงความงดงาม สนุกสนาน ตามรูปแบบโขนพระราชทานฯ ไว้อย่างครบถ้วน รวมทั้งยังคงจารีตแบบแผนและบท การแสดงตามบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง รามเกียรติ์ ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นหลัก ผสมผสานกับบทคอนเสิร์ต ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ รวมทั้งเพิ่มเติมบทฉุยฉาย จากบทโขนพระราชนิพนธ์ ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"

          ในขณะเดียวกัน ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานคณะกรรมการอำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในปีนี้ทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้มีการเฟ้นหาเพชรเม็ดงามรุ่นใหม่ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมสืบสานวัฒนธรรมของชาติ โดยจัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่มาร่วมแสดงโขนครั้งนี้ เพื่อเป็นการให้

          เยาวชนได้มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ในการอนุรักษ์ เผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยให้คงอยู่ต่อไป โดยการคัดเลือกนักแสดงเอก จำนวน ๕ ตัวละคร คือ พระ(โขน) มีผู้สมัคร ๗๙ คน พระ(ละคร) มีผู้สมัคร ๒๑๓ คน นาง มีผู้สมัคร ๒๖๓ คน ยักษ์มีผู้สมัคร ๑๔๓ คน และ ลิง มีผู้สมัคร ๑๔๗ คน รวมมีผู้สมัครทั้งสิ้นในปี ๒๕๕๘ จำนวน ๘๔๕ คน จนในที่สุดก็ได้เยาวชนไทยผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนประจำปี ๒๕๕๘ ตัวละครละ ๕ คน (ยกเว้นตัวละครนางที่มี ๖ คน) รวมทั้งสิ้น ๒๖ คน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่น่าปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง โดยคณะกรรมการทุกท่านพอใจมากที่เยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาร่วมคัดเลือกเป็นนักแสดง ในฐานะที่ดูแลการประชาสัมพันธ์ จึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่านรีบจองบัตรแต่เนิ่นๆ เพราะจัดแสดงเป็นระยะเวลา ๑ เดือน ซึ่งจัดให้ตามคำเรียกร้องสำหรับผู้ที่พลาดชมครั้งก่อนๆ"

          ด้าน อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดงโขน กล่าวว่า "การแสดงปีนี้ เป็นตอนที่มีชั้นเชิงนาฏศิลป์ที่งดงามหลายตอน โดยจัดรูปแบบการแสดงโขนฯ ตามแบบโขนหลวง โดยเพิ่มตอนต้นเรื่องซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่า ศึกมังกรกัณฐ์ โดยมีแนวคิดในการสร้างฉากท้องพระโรงกรุงโรมคัล ให้งดงามแปลกตาเป็นรูปแบบศิลปกรรมไทยที่ได้รับอิทธิพลจีนที่งดงาม โดยยึดหลักรูปแบบศิลปกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพิ่มเติมบทฉุยฉาย จากบทโขนพระราชนิพนธ์ ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งบทนี้กล่าวได้ว่าไม่แพร่หลายมากนัก แต่มีความงดงามเป็นอย่างยิ่ง กระบวนท่ารำที่รักษาไว้ในกรมศิลปากร และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งการแสดงครั้งนี้ได้ตัดทอนให้มีความเหมาะสมกับเวลา สำหรับผู้ที่เคยได้ชมมาแล้ว ก็จะได้เห็นความแปลกใหม่ เพราะมีการปรับเปลี่ยนปรับปรุงทุกอย่างให้งดงามยิ่งขึ้น ไม่ว่าในเรื่องฉาก บท เพลง และเทคนิคต่างๆ"

          "ฉากการแสดงในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ฉากอันวิจิตรตระการตาทั้งหมด ๖ ฉากใหญ่สำคัญที่ใช้เทคนิคการแสดงสมัยใหม่เข้าผสมผสานเพื่อให้การแสดงตื่นเต้นเร้าใจยิ่งขึ้น ได้แก่ ฉากที่ ๑ ขัดตาทัพ (ท้องพระโรงกรุงโรมคัล), ฉากที่ ๒ พลับพลาพระราม, ฉากที่ ๓ สนามรบ, ฉากที่ ๔ ข่าวศึก (ท้องพระโรงกรุงลงกา), ฉากที่ ๕ เสียพิธี และ ฉากที่ ๖ ศรพรหมาศ ผมอยากให้คนที่สนใจได้มาชมการแสดงในครั้งนี้ เพราะเราตั้งใจเอาความงดงามในอดีต รวมทั้งจารีตตามแบบฉบับโขนหลวง มาถ่ายทอดให้อย่างสมบูรณ์ที่สุดผ่านความตั้งใจของนักแสดง นักดนตรี รวมถึงทีมงานเบื้องหลังกว่า ๘๐๐ ชีวิต รวมทั้งคณะกรรมการที่จัดการแสดงครั้งนี้ ทุ่มเทกำลังกายและกำลังความคิดในการสรรค์สร้างเพื่อถวายพระเกียรติองค์อัคราภิรักษ์ศิลปินที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ถวายพระราชสมัญญาแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นที่เคารพสูงสุดของปวงชนชาวไทย"

          บรรยากาศภายในงานคึกคักไปด้วยศิลปินชั้นครูของเมืองไทยที่ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย อาทิ ทัศนีย์ ขุนทองศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย-คีตศิลป์) ประจำปี 2555, ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, นัฐพงศ์ โสวัตร, ดร.ดุษฎี มีป้อม, สุดสาคร ชายแสม, สุรัตน์ จงดา, พีรมณฑ์ ชมธวัช พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ อาทิ นันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, คุณหญิงปราณี เอื้อชูเกียรติ, คุณหญิงสุพัตรา จารุจรณ, วิมลภัทร์ เปี่ยมพงศ์สานต์ ฯลฯ

          สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด "ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ" ได้กำหนดจัดการแสดง รอบประชาชน จำนวน ๒๔ รอบ รอบนักเรียน จำนวน ๒๐ รอบ รวม ๔๔ รอบ ในระหว่างวันที่ ๗ พฤศจิกายน – ๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา โทร.๐๒-๒๖๒-๓๔๕๖ หรือทาง www.thaiticketmajor.com บัตรราคา ๖๒o, ๘๒o, ๑,๐๒๐ และ ๑,๕๒๐ บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา ๑๒o บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.khonperformance.com