วช. จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2558 (Thailand Research Expo 2015)”
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2558 (Thailand Research Expo 2015)” ระหว่างวันที่ 16 – 20 สิงหาคม 2558 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. กล่าวว่า มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo) เป็นกิจกรรมสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี 2549 และจัดต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ พร้อมที่จะนำไปใช้ประโยชน์สู่กลุ่มเป้าหมายในมิติต่างๆ ทั้งมิติเชิงนโยบาย เชิงวิชาการ เชิงสังคม/ชุมชน เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม ในการจัดงานที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการวิจัยอย่างแท้จริงที่เริ่มต้นจากการวิจัยเพื่อหาความรู้ สู่การเรียนรู้ และการนำไปใช้ประโยชน์ ที่เรียกว่า “การนำผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง”
สำหรับ 1 ทศวรรษของการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2558 หรือ Thailand Research Expo 2015” ซึ่งเวียนมาบรรจบครบรอบ (10 ปี) ในปี 2558 นี้ วัตถุประสงค์หลักของการจัดงาน คือ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา 2 เมษายน 2558 และให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ในการนำผลงานวิจัยที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นผลผลิตจากการวิจัยมาสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่ “สังคมแห่งการเรียนรู้” ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน (Research for Quality of Life, Sustainable Economy and Society)” โดยมีนกเจ้าฟ้าเป็น Mascot ของงาน กิจกรรมภายในงานแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ โครงการฟาร์มตัวอย่างแบบผสมผสาน จังหวัดเพชรบุรี นิทรรศการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการตามแนวพระราชดำริในด้านต่าง ๆ นิทรรศการของพระบรมวงศานุวงศ์ นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ รวมแล้วมากกว่า 130 หน่วยงาน นำเสนอผลงานมากกว่า 400 ผลงาน ใน 9 ประเด็นกลุ่มเรื่องวิจัย ได้แก่ งานวิจัยเพื่อการพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป งานวิจัยเพื่อพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม งานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรม งานวิจัยเพื่อสร้างธุรกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งานวิจัยเพื่อสุขภาพ การแพทย์ สังคมผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส งานวิจัยเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปกรรม การศึกษา และการพัฒนาชุมชน งานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม งานวิจัยเพื่อความมั่นคงของรัฐและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล และงานวิจัยเพื่อรองรับการสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียน
นอกจากนี้ ในระหว่างการจัดงานยังมีการประชุมในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ การประชุมขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศ จำนวน 10 หัวข้อเรื่อง การประชุม/ขนาดกลางในประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ควรเร่งแก้ไข จำนวน 32 หัวข้อเรื่อง การประชุมกลุ่มเฉพาะเรื่องในประเด็นเฉพาะที่น่าสนใจ จำนวน 68 หัวข้อเรื่อง การนำเสนอผลงานวิจัย/Thailand Research Symposium Thailand Research Symposium และการถ่ายทอดเทคนิคและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย (Twilight Program) จำนวน 19 หัวข้อเรื่อง รวมทั้งมีเวทีกลาง (Highlight Stage) เพื่อสาธิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นที่น่าสนใจ ซึ่งบางผลงานสามารถนำไปสร้างเป็นอาชีพเสริมได้ มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) การประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา การมอบรางวัล Thailand Research Expo 2015 Award ให้แก่หน่วยงานที่จัดแสดงนิทรรศการผลงานในแต่ละกลุ่มเรื่อง มีมุมเจรจาธุรกิจการต่อยอดงานวิจัยเพื่อเป็นเถ้าแก่น้อยของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัยและภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดระยะเวลาการจัดงาน
และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยระหว่างประเทศไทยและประเทศอินเดีย วช. จึงร่วมกับสภาวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศอินเดีย (ICSSR) จัดให้มี “การสัมมนาร่วมทางวิชาการระหว่างไทย-อินเดีย (The 9th NRCT – ICSSR Joint Seminar on Social Science Challenges for Thailand and India) ภายใต้หัวข้อหลัก “ความท้าทายทางด้านสังคมศาสตร์สำหรับประเทศไทยและอินเดีย (Social Science Challenges for Thailand and India)” ในระหว่างวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2558 โดยหวังว่าความรู้จากการสัมมนาจะนำไปสู่การวางแผนการกำหนดทิศทางนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศร่วมกัน
ทั้งนี้ พิธีเปิดงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2558 จะมีขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม 2558 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมเวิลด์ บอลรูม (ชั้น 23) โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานภาคการประชุมและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายด้านการวิจัยท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand) และมอบรางวัล 2015 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand และรางวัล National Ethics Committee Accreditation System in Thailand (NECAST) และในส่วนพิธีเปิดงานภาคนิทรรศการ วช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานภาคนิทรรศการและเปิดการสัมมนาทางวิชาการระหว่างไทย – อินเดีย ครั้งที่ 9 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 เวลา 09.00 น.
งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2558 (Thailand Research Expo 2015)” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 20 สิงหาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 08.00 - 18.00 น. ณ ชั้น 22 และ 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดหัวข้อการประชุมได้ที่
www.researchexpo.nrct.go.th หรือ
www.nrct.go.th ชมฟรีตลอดงาน