กสอ. รุกเสริมกลยุทธ์เมคโอเวอร์ SMEs ไทยล้ำนำเทรนด์หวังปักธงเจ้าตลาด AEC ดันยอดส่งออกทะลุ 2.2 ล้านล้านบาท
กสอ. ชี้ตลาด AEC โตไม่หยุด จากปัจจัยผู้บริโภคกลุ่มบีเซ็กเม้นท์ เพิ่มขึ้นเป็น 65% ในอีก 15 ปีข้างหน้า
กรุงเทพฯ 24 สิงหาคม 2558 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมรุกเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทย ผ่าน “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด” โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,520 ราย แล้วทำการคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพต่อยอดพัฒนาสินค้าออกวางขายในเชิงพาณิชย์ 262 ราย เข้ารับการปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค และรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนโดยการผนึกกำลังผู้เชี่ยวชาญร่วมกันโมดิฟายผลิตภัณฑ์ให้ดูโดดเด่นสวยงามสะดุดตา โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำตลาด ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป และกลุ่มอุตสาหกรรมของใช้และของตกแต่งบ้าน พร้อมตั้งเป้าส่งออกในปี 2559 มากกว่า 2.2 ล้านล้านบาทจากมูลค่าการส่งออก1.92 ล้านล้านบาท ในปี 2557 ที่ผ่านมา
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เปิดเผยว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ถือเป็นโอกาสทองของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มยอดขายและยอดส่งออกสินค้าเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาด AEC ในภาพรวมจะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยให้สูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าหลังก้าวสู่อาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2559 มูลค่าการส่งออกในตลาดอาเซียนจะสูงเกิน 2.2 ล้านล้านบาท เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยจำนวนประชากรใน 10 ประเทศสมาชิกที่มากกว่า 600 ล้านคน ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มสัดส่วนชนชั้นกลางในอีก 15 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 65 ส่งผลให้ดีมานด์ความต้องการบริโภคและกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
ทั้งนี้ เพื่อรองรับโอกาสดังกล่าว กสอ. จึงเดินหน้าส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการจัดทำ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด” โดยเปิดรับสมัครผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,520 ราย จากนั้นผู้เชี่ยวชาญทำการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพต่อยอดพัฒนาสินค้าในเชิงพาณิชย์ 262 ราย เข้าพัฒนาเชิงลึก โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และดีไซน์ให้ดูทันสมัย ควบคู่ไปกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้โดดเด่นสวยงาม
สะดุดตา รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศในอาเซียนมีวัฒนธรรมและระดับรายได้ที่หลากหลายโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มประเทศรายได้สูงได้แก่ สิงคโปร์ และบรูไน 2.กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-สูง ได้แก่ มาเลเซีย และไทย และ 3.กลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาร์ อินโดนิเซีย สปป.ลาว และกัมพูชา ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องวางกลยุทธ์การผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องตามความต้องการที่หลากหลายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำตลาด AEC ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่
กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งทั้ง 3อุตสาหกรรม สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละมากกว่า 6 แสนล้านบาท เนื่องจากไทยถือเป็นแหล่งผลิตที่มีวัตถุดิบหลากหลายและมีคุณภาพ รวมทั้งการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความชื่นชอบที่หลากหลายและการหมุนผ่านอันรวดเร็วของเทรนด์แฟชั่น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องมุ่งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างกระบวนการผลิต และสร้างสรรค์วัตถุดิบให้มีรูปแบบ มีคุณภาพ และมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่สอดคล้องกับแนวโน้มแฟชั่น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอันหลากหลาย
กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านการผลิต ด้วยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ ด้านทรัพยากรบุคคลในสายวิชาการและแรงงานที่มีฝีมือ ตลอดจนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ทันสมัย ส่งผลให้ไทยมีศักยภาพส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารต่อปีได้ปริมาณมากโดยในปี 2557 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีมูลค่าการส่งออกราว 9.15 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบจากปีก่อน ซึ่งตลาดส่งออกอาหารที่สำคัญของประเทศไทยก็คือ ตลาดอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 22.1 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือญี่ปุ่น และจีน
กลุ่มอุตสาหกรรมของใช้และของตกแต่งบ้าน สินค้ากลุ่มนี้ไทยถือว่ามีศักยภาพค่อนข้างมาก โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา มีมูลค่าส่งออกทั่วโลกรวมกันราว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้ว่าภาพรวมตลาดทั่วโลกยังคงซบเซา แต่สำหรับตลาดอาเซียนแล้วนั้น ในช่วง 4-5 ปี ได้ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดที่เติบโตสูงและน่าจับตามองที่สุด โดยเฉพาะในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม ตามนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศและก่อนการเข้าสู่การเปิด AEC ซึ่งดึงดูดความสนใจด้านการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ตามมา ทั้งกลุ่มโรงแรม คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ไทยในตลาด AEC นั้น เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนค่อนข้างเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย ส่งผลให้ในปี 2557 ที่ผ่านมา ผู้ประการกลุ่ม SMEsไทย สามารถส่งสินค้าไปขายในตลาดอาเซียน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.92 ล้านล้านบาท โดย 5 อันดับประเทศที่นำเข้าสินค้าไทยสูงสุด คือ มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ อินโดนีเซีย และ สปป.ลาว แต่เนื่องจากในภาพรวมขณะนี้สินค้าสินค้าล้นตลาดและขายไม่ได้ราคา ในระยะยาวผู้ประกอบการจึงประสบปัญหาขาดทุน ประเด็นเหล่านี้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งในส่วนของ กสอ. นั้น ที่ผ่านมาได้สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นใน 5 เรื่องหลัก คือ 1.ติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้ประกอบการทั้งใหม่และเก่า 2.เร่งรัดการเพิ่มผลิตภาพให้กับกิจการ 3.ต่อยอดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ 4.สร้างเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มอุตสาหกรรมให้เกิดเครือข่ายเชื่อมโยงการผลิตในรูปแบบคลัสเตอร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งระบบ และ 5.ดำเนินการอย่างบูรณาการเสริมสร้างปัจจัยที่เอื้อหนุนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ การจัดฝึกอบรมให้ความรู้และบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรม การนำสินค้าไปออกบูธจัดแสดง เผยแพร่และทดสอบตลาดทั้งในและต่างประเทศการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ซื้อชาวต่างชาติ การส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และการเพิ่มศักยภาพทางการตลาดอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ เป็นต้น
ในภาพรวมแม้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยจะค่อนข้างได้เปรียบประเทศคู่แข่งในแง่ความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ มีความสามารถในการปรับตัวภายใต้ภาวะทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเร็วและมีความสามารถในการประยุกต์เอาทักษะด้านการผลิตและบริการมาเป็นจุดแข็งได้ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีจุดอ่อนที่จำเป็นต้องพัฒนาอย่างจริงจังอยู่หลายประการ เนื่องจากที่ผ่านมาเราอาศัยข้อได้เปรียบด้านแรงงานและทรัพยากรมากกว่าความเข้มแข็งทางเทคโนโลยี ปัจจุบันจึงต้องเผชิญแรงกดดันสองทางคือติดอยู่ตรงกลางระหว่างประเทศที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนราคาถูก เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย กับประเทศที่เป็นผู้นำด้านแรงงานที่มีทักษะและมีผลิตภาพสูง เช่น อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน นอกจากนี้ข้อกำจัดในด้านความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ รวมถึงการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมมือกันยกระดับขีดความสามารถและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ทัดเทียมนานาประเทศด้วยเช่นกัน นายอาทิตย์ กล่าวสรุป