หนังสืออนุสรณ์งานศพ สิ่งทรงคุณค่าที่หลายคนมองข้าม
เมื่อเอ่ยถึงหนังสืออนุสรณ์งานศพ หลายคนคงจะมีทัศนะที่แตกต่างกัน บางคนอาจมองเป็นเพียงของที่ระลึกที่แจกให้แก่ผู้มาร่วมงานเพื่อระลึกถึงผู้วายชนม์ รองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา ได้ให้คำจำกัดความถึงหนังสืออนุสรณ์ผู้วายชนม์หรือหนังสืองานศพไว้ว่า หนังสืออนุสรณ์งานศพเป็นสิ่งแสดงถึงฐานะ ตัวตน ในลักษณะของชนชั้น สะท้อนให้เห็นสังคม คุณค่า ค่านิยม รวมถึงโลกทรรศน์ และสามารถวัดสิ่งต่างๆ ในสังคมได้
ปัจจุบันหนังสืออนุสรณ์งานศพได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสังคมไทย แต่จะมีใครทราบหรือไม่ว่า หนังสืออนุสรณ์งานศพนั้นมีความเป็นมาอย่างไร
หนังสืออนุสรณ์งานศพเกิดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเนื่องมาจากชนชั้นสูง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย-ขุนนาง ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีความรู้ ต้องการที่จะให้องค์ความรู้แพร่หลายในสังคม จึงได้นำงานนิพนธ์ วรรณกรรม วรรณคดี และบทสวดมนต์ต่างๆ มาพิมพ์แจกในงานพระราชพิธี ทว่าการเผยแพร่ดังกล่าวกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นกลางเท่านั้น ซึ่งผลพลอยได้ก็คือ เป็นการบันทึกสังคมไปโดยปริยาย
ต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระราชดำริว่าการพิมพ์หนังสือแจกในวาระต่างๆ ยังไม่เพียงพอ ซึ่งรวมไปถึงการพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานศพด้วย กระทั่งในปี พ.ศ 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วัดวาต่างๆ เริ่มสร้างเมรุเผาศพตามอย่างชนชั้นสูง มีการแจกของชำร่วยเป็นหนังสือประวัติความเป็นมาของผู้ตายอย่างแพร่หลาย แสดงให้เห็นว่าคนไทยเน้นเรื่องเกียรติภูมิ ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างทันสมัย โดยนำเสนอข้อมูลประวัติและผลงานของผู้วายชนม์ ทั้งยังมีคำไว้อาลัยซึ่งสำคัญมาก เพราะสะท้อนถึงตัวตนผู้ตายนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า คุณค่าและความสำคัญอย่างหนึ่งของหนังสืออนุสรณ์งานศพ ก็คือ การเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ สังคม วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ณ เวลานั้น
ด้วยคุณค่าและประโยชน์ของหนังสืออนุสรณ์งานศพในด้านต่างๆ ทั้งสำหรับการสะสมและการนำไปใช้งาน ก่อให้เกิดการแสวงหา จนนำมาซึ่งธุรกิจซื้อขายหนังสืออนุสรณ์งานศพขึ้น ในปัจจุบัน มีแหล่งจำหน่ายสำคัญๆ ได้แก่ แผงขายหนังสือเก่าย่านท่าเตียน-ท่าช้าง ตลาดนัดวรจักร ร้านหนังสือเก่าตลาดนัดจตุจักร บูธขายหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรือร้านจำหน่ายหนังสือเก่าออนไลน์ในเว็บไซต์ต่างๆ
ด้วยเหตุที่หนังสืองานศพถือเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าและมีคุณูปการทางวิชาการมหาศาล สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์หนังสืออนุสรณ์งานศพ หรือหนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพของคนไทย ได้รวบรวมพร้อมจัดทำฐานข้อมูลเพื่อรองรับการศึกษา ค้นคว้าข้อมูลขณะเดียวกันได้จัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์บางฉบับเพื่อการอนุรักษ์ ให้หนังสืออนุสรณ์งานศพได้เผยแพร่และถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษามากขึ้น ไม่จำกัดแค่วงการนักสะสม หรือนักวิชาการในประวัติศาสตร์ที่นิยมศึกษาและค้นคว้าเท่านั้น
ซึ่งปัจจุบัน สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รวบรวมหนังสืออนุสรณ์งานศพไว้ประมาณ 3,000 เล่มเพื่อให้บริการแก่ผู้สนใจที่ห้องหนังสือหายาก ชั้นใต้ดิน 1 หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สำหรับท่านใดที่ประสงค์จะบริจาคหนังสืออนุสรณ์งานศพ สามารถบริจาคได้ที่ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โทรศัพท์ 02-613-3544