นานมีบุ๊คส์ประกาศผลรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 11 และเปิดตัวโครงการครั้งที่ 12
กร ศิริวัฒโณ เจ้าของผลงาน “เสียงเดือนในเสียงหวูดรถไฟ” คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน กุลธิดา จันทรวงศ์ และวิภาวี จันทรวงศ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม จากเรื่อง “จุ๊ดจิ๊ดกับจิ๊ดจุ๊ด” ยุวดี สุวรรณศักดิ์ชัย และขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร รับรางวัลชนะเลิศประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ จากเรื่อง “ทายซิ! นี่หูใคร”
นานมีบุ๊คส์ประกาศผลและมอบรางวัลวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 11 ประจำปี 2557 สร้างผลงานเขียนคุณภาพมากถึง 20 เรื่อง โดยนักเขียนที่ได้รับรางวัลจาก 6 ประเภท ทั้ง 26 คน จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีภายในปีนี้ พร้อมเดินหน้าจัดประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 12 เพื่อเป็นเวทีสร้างนักเขียนมืออาชีพ ประดับวงการวรรณกรรมไทย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ประธานกรรมการโครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” มอบรางวัลให้แก่นักเขียนวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 11 ประจำปี 2557 ภายในงานตัวแทนคณะกรรมการทั้ง 6 ประเภท ได้แก่ คุณโตมร ศุขปรีชา, คุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร, รศ.เกริก ยุ้นพันธ์ และคุณศศิธร วัฒนกุล พร้อมด้วยนักเขียนที่ได้รับรางวัล 26 คนร่วมให้สัมภาษณ์
สุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด เปิดเผยว่า “นานมีบุ๊คส์จัดประกวดรางวัล “แว่นแก้ว” ก้าวเข้าสู่ครั้งที่12 แล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมารางวัล “แว่นแก้ว” ได้ผลิตนักเขียนฝีมือเยี่ยมและผลงานเขียนที่มีคุณค่าจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นเวทีอันทรงเกียรติที่จุดประกายนักเขียนรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์งานเขียนคุณภาพส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวงการวรรณกรรมของประเทศไทยให้ก้าวหน้า ยิ่งไปกว่านั้น เวทีนี้ยังมุ่งหมายให้เกิดการส่งเสริมการอ่าน เพิ่มหนังสือดีเป็นทางเลือกให้แก่นักอ่าน และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปพร้อมๆ กัน ใน 15 ปีของรางวัล “แว่นแก้ว” ได้สร้างนักเขียนหน้าใหม่ประดับวงการแล้วถึง 91 คน และได้จัดพิมพ์ผลงานทุกเล่มที่ได้รับรางวัลเป็นจำนวนถึง 98 เล่ม”
“นานมีบุ๊คส์ ยังคงแน่วแน่ในอุดมการณ์สร้างนักเขียนอาชีพ และต้นฉบับงานเขียนที่หลากหลายเปี่ยมคุณภาพ เพื่อพัฒนาวงการหนังสือและสร้างสังคมแห่งการอ่าน เราจึงเดินหน้าจัดการประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 12 ปี 2558 ซึ่งขณะนี้ได้เปิดรับสมัครผลงานเข้าประกวดแล้ว ซึ่งผู้ที่ได้รับการพิจารณาเข้ารับรางวัลทุกๆ รางวัลยังจะได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงขอเชิญชวนผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้แล้ววันนี้ไปจนถึง 20 มกราคม ศกหน้า” สุวดี กล่าว
ผลการประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 11 ประจำปี 2557 แบ่งการประกวดออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม ประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน ประเภท นวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน และประเภทสารคดีสำหรับผู้ใหญ่
(1) ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง “จุ๊ดจิ๊ดกับจิ๊ดจุ๊ด” โดย กุลธิดา จันทรวงศ์ และวิภาวี จันทรวงศ์รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง “แน็กกี้ มังกรใจดี๊ดี” วิภาดา สุทธิโรจน์ และเสมา สุทธิโรจน์ รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ เรื่อง “ขนมฟู้ฟู” โดย สาวิตรีต์ พรหมพิทักษ์กุล และเรื่อง “ตุ้มเม้งอยากกลับบ้าน” โดย อัครเศรษฐ์ ปักษา (นามปากกา น้องกานต์ หน่อมแน้ม) และพบพร ขุมทอง (นามปากกา ลูกหมู)
(2) ประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง “ทายซิ! นี่หูใคร” โดย ยุวดี สุวรรณศักดิ์ชัย และขุนเขา เขจรบุตร (นากปากกา ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง “ไม่เป็นไรนะ...นิดเดียว” โดย ภรณ์ทิพย์ ปิยฤทธิพงศ์ (นามปากกา ชอเชอ) และธนภรณ์ จำปา (นามปากกา เอฟ) และรางวัลชมเชย ได้แก่ เรื่อง “ตุ๊บตั๊บกับลูกโป่งวิเศษ” โดย ศุภธิดา ดำชู และเกียรติศักดิ์ เลิศตระกูล
(3) ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง “เสียงเดือนในเสียงหวูดรถไฟ” โดย กร ศิริวัฒโณ และรางวัลชมเชยจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง “ในสระน้ำ” โดย ศักดิ์สิทธิ์ เทวบิน เรื่อง “ไม้หมอนกับก้อนหิน” โดย ปรียนันทนา พงษ์ไพบูลย์ (นามปากกา มีน พงษ์ไพบูลย์) และเรื่อง “ดินสอแท่งสั้น” โดย ฉวีวรรณ พุ่มแก้ว
(4) ประเภทนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ไม่มีผู้ได้รับรางวัล รางวัลชมเชย จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ เรื่อง “ลวง” โดย มนูญ น นคร (นามปากกา ฉมังฉาย) เรื่อง “หากเพียงแต่จะรู้” โดย พรทิพย์ พรมประโคน เรื่อง “เร้นฟ้าจักรานิรันดร์” โดย สริญญา มูลมา (นามปากกา ณ พิชา) และเรื่อง “เกาะมหาสมบัติ” โดย นฤมล เกษมสุข (นามปากกา ลักษณ์ เกษมสุข)
(5) ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน รางวัลชนะเลิศ ไม่มีผู้ได้รับรางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เรื่อง “อินไซด์นายทวาร”โดย สุกิจ สุวานิช และรางวัลชมเชย จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง “บ้านทุ่งเมืองลุง” โดย ทวี ชูโรจน์ เรื่อง “หัวใจติดปลายนวม” โดย ร.อ.สุวิทย์ เสือกลิ่น (นามปากกา วสุวัต) และเรื่อง “นอกกระปุกออมสิน” โดย กรณิศ รัตนามหัทธนะ
(6) ประเภทสารคดีสำหรับผู้ใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ไม่มีผู้ได้รับรางวัล รางวัลชมเชย ได้แก่ เรื่อง “รอยสักชีวิต” โดย สวงค์ แก่นตาคำ (นามปากกา ส.แม่ปิง)
วิภาวี จันทรวงศ์ ผู้เขียนและวาดเรื่อง จุ๊ดจิ๊ดกับจิ๊ดจุ๊ด รางวัลชนะเลิศ ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม กล่าวว่า “นิทานภาพเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการนำคำสอนของแม่ที่ว่า หากใครที่คอยช่วยเหลือเราไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ให้เราระลึกไว้เสมอ หากมีโอกาสตอบแทนเมื่อไหร่ก็ควรจะทำทันที ซึ่งนิทานเรื่องนี้จะช่วยส่งเสริมให้เด็กรู้จักและตระหนักถึงความกตัญญูผ่านเรื่องราวของหนูพี่น้องสองตัวที่ตอบแทนพระคุณลุงช้างที่ได้ช่วยชีวิตทั้งสองไว้”
ยุวดี สุวรรณศักดิ์ชัย ผู้เขียนและวาดเรื่อง ทายซิ! นี่หูใคร รางวัลชนะเลิศ ประเภทหนังสือภาพส่งเสริมความรู้ กล่าวว่า “นิทานเล่มนี้จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั้งสี่ด้าน ทั้งด้านร่างกาย เด็กๆ จะได้ฝึกกล้ามเนื้อมือในการพลิกเปิด ซ้ำไปซ้ำมาสนุกกับการทายสัตว์ต่างๆ ด้านอารมณ์ความบันเทิงสนุกสนานในการเล่นทายสัตว์ต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้พุ่มไม้ อีกทั้งยังส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา เด็กๆ จะได้ฝึกจินตนาการ คิดเชื่อมโยงรูปร่างจากเงาในพุ่มไม้ กับภาพที่ปรากฏขึ้นจริง ได้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว และเรียนรู้เรื่องตัวเลข จำนวนนับ ผ่านจำนวนสัตว์แต่ละชนิด สุดท้ายด้านสังคม ผู้แต่งยังตั้งใจสอดแทรกคุณธรรมไว้ในเนื้อหาของนิทาน เพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ มีความรักและหวงแหนต้นไม้ และสัตว์ป่าให้คงอยู่สืบไป”
กร ศิริวัฒโณ ผู้เขียนเรื่อง เสียงเดือนในเสียงหวูดรถไฟ รางวัลชนะเลิศ ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน กล่าวว่า “ผมได้แรงบันดาลใจจากปัญหาที่เด็กไทยมีคุณภาพไม่เป็นที่พึงพอใจของสังคม อันเนื่องมาจากเด็กคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาไม่ค่อยได้ ประกอบกับในความเป็นจริงมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาทางครอบครัว ขาดความอบอุ่นและไร้ที่พึ่งทางใจ ไม่มีเพื่อน มีการเก็บกดทับถม หลายคนแสดงออกในทางที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อต่อตัวเองครอบครัวและสังคม จากปัญหาดังกล่าวผมจึงได้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน และทางออกหนึ่งของปัญหานี้ที่เราทุกคนต้องสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างมีเหตุผล มองปัญหาทุกปัญหาในมุมบวก หากใครมีปมด้อยก็ให้นำปมด้อยของตัวเป็นมาสร้างเป็นจุดเด่น และอยากให้เด็กทุกคนมีเพื่อน ไม่เคียดแค้นและรู้จักให้อภัย”
โครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล “แว่นแก้ว” ครั้งที่ 12 ประจำปี 2558 แบ่งการประกวดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-8 ปี แบ่งออกเป็น ประเภทนิทานภาพส่งเสริมคุณธรรม และประเภทหนังสือภาพเสริมความรู้ กลุ่มหนังสือสำหรับเยาวชน อายุ 12-18 ปี แบ่งออกเป็น ประเภทนวนิยายสำหรับเยาวชน และประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน กลุ่มหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ อายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งออกเป็น ประเภทนวนิยายสำหรับผู้ใหญ่ และประเภทสารคดีสำหรับผู้ใหญ่ โดยมีรางวัลชนะเลิศประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน, รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน และรางวัลชมเชย ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน นอกจากนี้หนังสือจะได้จัดพิมพ์และจำหน่ายโดยบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด พร้อมค่าลิขสิทธิ์นอกเหนือจากเงินรางวัล ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานได้ ตั้งแต่วันนี้ – 20 มกราคม 2559 ประกาศผลในเดือนพฤษภาคม 2559 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.nanmeebooks.comติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2662-3000 ต่อ 5272 หรือ 5215 โทรสาร 0-2662-0919 E-mail:
editorial@nanmeebooks.com