คุณค่าและประโยชน์ของโพรไบโอติก จุลินทรีย์สุขภาพที่สำคัญต่อร่างกาย
คุณพรชัย สวัสดิ์สุขสบชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด
ผศ.ดร. ลี ยวน คุน อาจารย์ประจำภาควิชาไมโครไบโอโลจี้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
“โพรไบโอติก” จุลินทรีย์สุขภาพที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ผู้บริโภคควรเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางสารอาหารพร้อมทั้งออกกำลังกายควบคู่กันไป เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ (Human Microbiota) เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จุลินทรีย์เหล่านี้อาศัยอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด และหลังจากนั้นจะได้รับจุลินทรีย์จากกิจกรรมประจำวันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารหรือจากการสัมผัส สูดดม และการหายใจ เป็นต้น จุลินทรีย์เหล่านี้จะอาศัยอยู่บนผิวหนังส่วนต่างๆและในอวัยวะภายในของเราโดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหารลำไส้และกระเพาะอาหารจุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์นั้นจะมีหลากหลายสายพันธุ์แตกต่างกันไปตามแหล่งที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมและประเภทของอาหารที่กิน เช่น จุลินทรีย์จากกรดแลคติกเจริญเติบโตในลำไส้โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน ส่วนจุลินทรีย์ที่อาศัยบนผิวหนังจะสามารถอาศัยกรดไขมันจากต่อมเหงื่อได้เช่นกัน
นอกจากนี้จุลินทรีย์แต่ละประเภทยังมีความสามารถในการทำงานในร่างกายมนุษย์แตกต่างกันไป อาทิ จุลินทรีย์ในลำไส้บางสายพันธุ์สามารถผลิตเอนไซม์ออกมาช่วยย่อยอาหารบางชนิดที่ระบบย่อยอาหารของเราไม่สามารถทำได้ รวมถึงการสังเคราะห์วิตามินและสารอาหารบางชนิด ขณะที่บางสายพันธุ์ช่วยส่งเสริมการสร้างภูมิต้านทานตามธรรมชาติ และช่วยให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นดังนั้นหากเรามีจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่มีประโยชน์หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “จุลินทรีย์โพรไบโอติก” ในลำไส้เราแล้ว จะส่งผลให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายของเราเป็นปกติหรือดีขึ้นได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือจุลินทรีย์โพรไบโอติกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของระบบย่อยอาหารนั่นเอง
ผศ.ดร. ลี ยวน คุน อาจารย์ประจำภาควิชาไมโครไบโอโลจี้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า “มนุษย์เราแต่ละคนมีความแตกต่างกันในความต้องการจุลินทรีย์โพรไบโอติก ทั้งปริมาณและสายพันธุ์เนื่องมาจากสุขภาพ และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน คนที่ชอบรับประทานอาหารประเภทหมักดองแบบดั้งเดิม อาทิ ไข่เยี่ยวม้าจากประเทศจีน กิมจิจาก ประเทศเกาหลี ถั่วเน่าหรือนัทโต๊ะจาก ประเทศญี่ปุ่นขนมจีนแป้งหมักในไทย หรืออาหารประเภทนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจะมีโอกาสได้รับจุลินทรีย์โพรไบโอติกมากกว่าคนที่ชอบรับประทานอาหารแบบตะวันตกที่ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ แป้ง ขนมปัง และมันฝรั่งเป็นหลัก นอกจากนี้ ปัจจัยทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล หรือเพศ วัย ก็มีผลต่อความต้องการจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่แตกต่างกันอีกด้วย”
ด้วยปัจจัยหลายหลากที่กล่าวมา รวมถึง ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ สิ่งแวดล้อม วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่ ทำให้ความต้องการจุลินทรีย์โพรไบโอติกของคนแต่ละประเทศแต่ละภูมิภาคหรือจังหวัด มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการคัดสรรและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดสมดุลของจุลินทรีย์โพรไบโอติกในร่างกายและเพื่อให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ที่คัดสรรแล้วทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่ออยู่ในร่างกายเรา
ปัจจุบันประเทศฟินแลนด์และเดนมาร์ค ให้ผู้ป่วยรับประทานจุลินทรีย์ไบโอติกหลังจากรับประทานยาแอนตี้ไบโอติกโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากเมื่อรับประทานยาแอนตี้ไบโอติกแล้ว จะทำให้ความสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายเปลี่ยนแปลง ถ้าร่างกายปรับสมดุลจุลินทรีย์ได้ดังเดิมก็จะไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้น แต่หากภายหลังร่างกายได้รับจุลินทรีย์สายพันธุ์อื่นหรือสายพันธุ์ที่มีโทษ อาจก่อให้เกิดโรคได้ง่ายและมีผลกระทบมากกว่าเดิม เช่น เมื่อผู้ป่วยเกิดอาการท้องร่วงแล้วรับประทานยาแอนตี้ไบโอติก จะทำให้จุลินทรีย์กลุ่มเดิมที่อยู่ในลำไส้ถูกทำลายและกำจัดออกไป ซึ่งถ้าในขณะนั้นร่างกายได้รับจุลินทรีย์กลุ่มใหม่เข้ามา อาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายเปลี่ยนไป ทำให้ผู้ป่วยแพ้อาหารที่ไม่เคยแพ้ได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว จุลินทรีย์กลุ่มเดิมจะกลับเข้ามาสู่ร่างกายตามวิถีการดำเนินชีวิตแบบเดิม ทำให้มีภูมิคุ้มกันกลับมาเป็นปกติดังเดิม เมื่อนั้นระบบภูมิคุ้มกันจะกำจัดจุลินทรีย์กลุ่มใหม่ออกไปในที่สุด
คุณพรชัย สวัสดิ์สุขสบชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด ได้ให้ความรู้เสริมว่า
“การที่จะได้มาซึ่งจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ดี มีประสิทธิภาพต่อร่างกาย จะต้องมีการพัฒนา วิจัย และคัดสรรสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีความเหมาะสม สามารถในการเจริญเติบโตในผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ รวมทั้งความสามารถในการผลิตเอนไซม์หรือน้ำย่อยของจุลินทรีย์โพรไบโอติก รวมทั้งสร้างสารสำคัญต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กรดอะมิโน กรดแลคติค วิตามิน หรือสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารในผลิตภัณฑ์ที่ใส่จุลินทรีย์โพรไบโอติกลงไป บริษัทดัชมิลล์ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ดี จึงได้มีการสนับสนุนงานวิจัยและผลงานเชิงวิชาการที่เกี่ยวกับจุลินทรีย์โพรไบโอติกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ล่าสุดบริษัทฯ ได้ สนับสนุนงาน The 8th Asian Conference on Lactic Acid Bacteria (ACLAB 2015) สัมมนาเชิงวิชาการด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกในหัวข้อ MICROBIOTA AS A FUTURE MEDICAL TOOL FOR BETTER HEALTH ซึ่งเป็นงานสัมมนานานาชาติระดับภูมิภาคอาเซียน จัดต่อเนื่องกันมา 8 ปี และงานนี้ได้รวบรวมนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ด้านชีววิทยามาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และโครงการศึกษาต่างๆ โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นเจ้าภาพหลักจัดงานครั้งนี้ขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 -10 ก.ค.ที่ผ่านมานี้”
ดังนั้นเมื่อเห็นความสำคัญและเข้าใจการทำงานของจุลินทรีย์โพรไบโอติกต่อระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายแล้ว เราในฐานะผู้บริโภคควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การขับถ่าย และการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพร่างกายเรา เพื่อนำความรู้ความเข้าใจดังกล่าวไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง และเพื่อให้ได้จุลินทรีย์โพรไบโอติกในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายในแต่ละวัน ควบคู่ไปกับการเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางสารอาหารพร้อมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสุขอนามัยที่ดี สุขภาพร่างกายและจิตใจดีในระยะยาว